Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐสภา นัดลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกกฎหมายท้องถิ่น-กระจายอำนาจ  7 ธ.ค.นี้

ในการประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแบะประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ ในวาระแรก

เวลา 22.15 น. วันนี้ (30 พ.ย. 65)  ปรากฏว่า หลังจาก ส.ส., ส.ว.  ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน และนายธนาธร ในฐานะผู้เสนอร่าง ได้อภิปรายสรุปเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชวน  ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า วิปทั้ง 3 ฝ่าย เห็นชอบ และขอนัดประชุมรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) ลงมติร่างฯ ดังกล่าวในวาระแรก ในวันพุธที่ 7 ธ.ค. 65  เวลา 09.30 น. จากนั้นเวลา 13.00 น. จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (เฉพาะ ส.ว.)  ส่วนในวันที่ 20 และ 21 ธ.ค. 65 ไม่มีนัดประชุมรัฐสภา และจะมีการประชุมครั้งสุดท้าย ในวันที่ 28 – 29 ธ.ค. 65 จากนั้น นายขวน ได้สั่งปิดการประชุม ในเวลา 22.23 น. รวมเวลาการประชุมในวันนี้ทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง 23 นาที

รวมไฮไลต์การอภิปรายของ “คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล”

 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อภิปรายนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการชูขวดน้ำประปาจาก อบต.พนมไพร อ.ค้อใหญ่ ร้อยเอ็ด พร้อมกล่าวว่า น้ำประปาในตำบลส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีสภาพเช่นนี้ มีปัญหาขุ่นข้น กำหนดเวลาเปิดปิด ประชาชนต้องดิ้นรนหาน้ำสะอาดเอง การจะลงทุนเพื่อปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาด สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อตำบล ซึ่ง อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีอิสระและไม่มีงบประมาณของท้องถิ่น หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ท้องถิ่นต้องใช้คือการวิ่งเต้นของบประมาณจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหลายเรื่องผ่านไปหลายสิบปี โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิด และถ้าเราถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนแก่จนตายและส่งต่อไปถึงลูกหลานของเรา เราต้องการสังคมแบบนี้ต่อไปหรือ สังคมที่คนหนุ่มสาวต้องเดินทางไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่เพราะไม่มีงานอยู่ที่บ้าน โครงการพัฒนาจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์คนพื้นที่เต็มไปหมด เต็มไปด้วยปัญหาถนนที่ส่งผลถึงความเป็นความตายในการเดินทางไปโรงพยาบาลไปโรงเรียน น้ำประปาที่ซักผ้าล้างหน้า แปรงฟันยังไม่ได้ ระบบชลประทานที่คลุมแค่ 23% ของพื้นที่เพาะปลูก

“ไม่มีนโยบายใดแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ทันที แต่ถ้าจะมีชุดนโยบายสักชุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนดีกว่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง” ธนาธรกล่าว

ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยมีหลักใหญ่ใจความ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คืออำนาจและอิสระในการบริหาร ยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเอง ร่างฯ นี่คือการทำให้หลักการนี้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความอีก ว่าอำนาจในการให้บริการสาธารณะเป็นของใคร นี่คือการทำให้ท้องถิ่นมีอิสระและอำนาจเต็มที่ในการออกแบบพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ อยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางแน่นอน

เรื่องที่ 2 คือการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสม ร่างฯ นี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ได้รับส่วนแบ่งงบประมาณร้อยละ 30 ในปัจจุบัน ให้เป็นร้อยละ 50 ในอนาคต การจัดสรรงบประมาณใหม่เช่นนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณอีกต่อไป งบประมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนเข้าถึงงบประมาณได้ผ่านตัวกลางเดียวคือบัตรเลือกตั้ง เลือกคนที่จะมาใช้งบพัฒนาพื้นที่ด้วยตัวเอง สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ออกแบบการจัดบริการสาธารณะแบบที่ประชาชนต้องการได้ด้วยตัวเอง

“ลองจินตนาการดูว่า ประเทศไทยมี 7,255 ตำบล ถ้าทุกตำบลมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ หลักสูตรสอดคล้องกับงานในพื้นที่ สอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมๆ กันได้ มีสวนสาธารณะให้ผู้คนมาใช้ชีวิต มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดให้ชุมชน มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ มีน้ำประปาที่ไม่ใช่แค่ใสสะอาด แต่ยังดื่มได้ด้วย มีการคมนาคมสาธารณะที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ มีห้องสมุดที่มีคุณภาพ มีการจัดเก็บขยะที่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ได้มาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ถ้าทุกตำบลมีบริการสาธารณะแบบนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน? นี่คือประเทศไทยที่เราทุกคนจินตนาการถึงได้ คำถามคือเราอยากสร้างอนาคตแบบนี้ร่วมกันหรือไม่ เรากล้าฝัน ทะเยอทะยานที่จะสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ การจัดสรรงบประมาณและอำนาจให้เป็นทำ จะทำให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ภายใน 10-15 ปี” ธนาธรกล่าว

สรุปว่า หากจะมีอะไรที่สะท้อนการรวมศูนย์ของไทยได้ดีที่สุด ก็คือรัฐสภาแห่งนี้ ทุกวันก่อนเริ่มประชุม ส.ส. จะต้องใช้เวลาคนละ 2 นาที ปรึกษาหารือ ซึ่งตัวเลขจากสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ร้อยละ 65 ของเรื่องปรึกษาหารือ เป็นเรื่องถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับขาดงบและอำนาจในการแก้ปัญหา จนประชาชนต้องพึ่งพา ส.ส. ให้นำเรื่องมาสู่สภา กว่าเรื่องจะถูกแก้ ก็ผ่านไป 2-3 ปี ไม่ทันกับความต้องการของประชาชน เพราะฉะนั้น ตนขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา ให้ช่วยกันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อจบปัญหาในรุ่นจองเรา ให้ท้องถิ่นได้ทำหน้าที่รับใข้ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมขอให้ทุกท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โหวตผ่านร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และให้ผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ในสภา ออกกฎหมาย ต่างฝ่ายต่างจะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายธนาธร กล่าว

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อภิปรายนำเสนอร่างฯ ว่า การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยมีการพูดคุยมายาวนาน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 และเกิดผลเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์แบบ จึงมีความจำเป็นต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่ตกค้างมาอย่างน้อย 5 ประการ

ประการแรก อปท. ในประเทศไทยยังคงมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด หลายครั้งเป็นไปอย่างล่าช้า มีอำนาจเฉพาะที่กฎหมายกำหนด แต่หากมีภารกิจอื่นในพื้นที่ที่ท้องถิ่นต้องการทำ แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจ ก็ทำให้ปัญหาความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

ประการที่สอง ปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างอำนาจของราชการส่วนกลางและอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งถูกเอาไปวางไว้ในทุกๆ จังหวัด ซ้ำซ้อนกับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดสภาพอำนาจซ้ำซ้อน บางกรณีก็เกี่ยงกันทำ บางกรณีก็แย่งกันทำ

ประการที่สาม ปัญหาเรื่องงบประมาณและรายได้ของ อปท. ไม่เพียงพอ ถ้าท้องถิ่นไม่มีรายได้ ไม่มีความเป็นอิสระทางงบประมาณเพียงพอ ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ ทุกวันนี้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นอยู่ที่ 35% แต่เอาเข้าจริง หลายๆ เรื่องเป็นงานฝากที่ราชการส่วนกลางเอาไปให้ท้องถิ่น เช่น การจ่ายเบี้ยสวัสดิการ เงินสวัสดิการต่างๆ เงินส่วนนี้ ท้องถิ่นไม่สามารถเอาไปคิดอ่านทำอะไรได้

ประการที่สี่ การกำกับดูแลของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ทำไปทำมากลายเป็นบังคับบัญชามากขึ้น เริ่มมีหนังสือเวียน ระเบียบ ข้อสั่งการต่างๆ เข้าไปสั่งการท้องถิ่นให้ทำนั่นทำนี่ หรือบางครั้งก็สำรวมนิดหน่อยโดยการใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” ทั้งๆ ที่หลักการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนกลางและภูมิภาคไม่ใช่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่จะไปสั่งการให้ท้องถิ่นทำอะไรได้ เต็มที่ไปได้ไกลสุดคือการประสานงานร่วมมือกัน

และประการที่ห้า การมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่หมายความว่ากระจายระบบราชการแข็งตัวตึงตัวเอาไปไว้ที่ท้องถิ่น แต่จะต้องกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนพลเมืองในท้องถิ่น นั่นก็หมายความว่าพลเมืองจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นอกไปจากแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ปัญหาทั้งหมดนี้ที่ได้รวบรวมสังเคราะห์มาพร้อมกับการไปศึกษางานวิจัยของนักวิชาการจำนวนมาก นำไปสู่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น ที่มีสาระสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น รับรองหลักการกระจายอำนาจ, กำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะให้ท้องถิ่น, แก้ไขปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น, ยืนยันหลักการท้องถิ่น 2 ประเภท คือแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ, การประกันเรื่องหลักการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น, ขยับสัดส่วนรายได้ส่วนกลาง-ท้องถิ่น ไปสู่ร้อยละ 50-50 พร้อมทั้งกำหนดแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น การกู้เงินและออกพันธบัตรท้องถิ่น, เพิ่มรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น มากกว่าแค่ให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะเอง, ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล, การกำหนดขอบเขตอำนาจกำกับดูแลของส่วนกลาง, การมีส่วนร่วมของประชาชน, กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอนอำนาจเพื่อกำหนดสภาพบังคับ และแผนการจัดออกเสียงประชามติว่าประเทศไทยจะเอาอย่างไรกับราชการส่วนภูมิภาค

การกระจายอำนาจในโลกนี้มีหลายรูปแบบ หลายประเทศกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์แต่ยังเก็บราชการส่วนภูมิภาคไว้ เช่น ฝรั่งเศส สเปน บางประเทศกระจายอำนาจสมบูรณ์โดยยกเลิกภูมิภาคไปเลย เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร การตัดสินใจจึงควรเป็นการถามประชาชนผ่านการทำประชามติ และไม่ใช่ทำแบบทันที แต่มีโรดแมปแผนการต่างๆ มาเสนอ และทำภายใน 5 ปี สิ่งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าท้องถิ่นทำอะไร ภูมิภาคทำอะไร ถ้าประชาชนตัดสินใจว่ายกเลิก ส่วนภูมิภาคก็ไม่ใช่จะหายไป แต่จะถูกยุบไปรวมอยู่กับท้องถิ่นหรือส่วนกลางเท่านั้นเอง และร่างนี้ไม่ได้ยุ่งอะไรกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต่อให้ร่างนี้ผ่านกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คงอยู่

นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ในซีกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่มีพรรคไหนบอกว่าไม่กระจายอำนาจ แต่อาจเห็นแตกต่างกันบ้างซึ่งเราสามารถไปปรับปรุงแก้ไขกันได้ต่อไปในวาระที่ 2 เช่นเดียวกันในสมาชิกวุฒิสภา ได้ยิน ส.ว.อภิปรายหลายครั้ง ท่านก็พูดชัดเจนว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจ ขอเรียนว่าร่างนี้อาจช่วยให้วุฒิสภาแสดงออกให้สังคมได้เห็น ว่าวุฒิสภาไม่ได้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้แจงร่างฯ ว่า แม้การกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ทุกปัญหาในประเทศหายไปทันที แต่การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้หลายปัญหาที่สะสมมายาวนานถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทุกการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่ยังลังเล ตนจึงขอชี้แจงให้คลายข้อกังวลใน 3 ประเด็นหลัก

ข้อกังวลแรก ที่บางฝ่ายแสดงความเห็นว่าหากกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นบางแห่งอาจยัง “ไม่พร้อม” ที่จะรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งหมดแทนที่ส่วนกลาง ตนอยากชวนให้มองว่า “ความพร้อม” ในการจัดทำบริการสาธารณะ มีอย่างน้อย 3 คุณสมบัติที่สำคัญ (1) มีความเข้าใจพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน (2) มีวาระที่ชัดเจนและระยะเวลาเพียงพอในการทำงาน (3) ต้องผ่านสนามแข่งขันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจและยอมรับว่าคุณเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าคนอื่นๆ เมื่อพิจารณาจาก 3 เกณฑ์นี้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ กลับน่าจะยิ่งมีความพร้อมมากกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง เมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่น ถนนหน้าบ้านใครพัง โรงพยาบาลไหนขาดงบ ท้องถิ่นก็แก้ได้หมด ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าถนนเป็นของหน่วยงานอะไรหรือลุ้นว่า ส.ส. บ้านเราอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล นอกจากนั้น ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ยังช่วยให้รัฐส่วนกลางให้มีความพร้อม มีเวลา และมีสมาธิมากขึ้น กับบทบาทสำคัญที่ส่วนกลางควรทำ เช่น การกำหนดมาตรฐานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน หรือการทำภารกิจที่เกินเลยขอบเขตท้องถิ่น อาทิ การต่างประเทศ การคลัง

ข้อกังวลที่สอง หากกระจายอำนาจ จะเพิ่มการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ตนไม่ปฏิเสธว่าปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่น มีอยู่จริง แต่ก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าการแก้ไขปัญหาคือการรวมศูนย์อำนาจมาที่ส่วนกลาง แต่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เราแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนขอยกการวิเคราะห์ของ Robert Klitgaard นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ที่สถาบันวิจัย TDRI เคยนำมาต่อยอด ซึ่งบอกว่าปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทุจริตมี 3 ส่วนสำคัญคือ ดุลพินิจ การผูกขาด ความไม่โปร่งใส ซึ่งเราจะเห็นชัดว่าการรวมศูนย์อำนาจ มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจาก (1) ระบบรวมศูนย์ ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการจำนวนมหาศาลทั้งหมด แต่หากกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการถามประชาชน ว่าต้องการเห็นนโยบายหรือโครงการไหน (2) ระบบรวมศูนย์ ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ จะมีความผูกขาดโดยปริยาย แต่หากกระจายอำนาจ งบทั้งหมดจะถูกกระจายไปตาม อปท. หลายพันแห่ง แต่ละแห่งจะพิจารณาโครงการต่างๆในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และ (3) ระบบรวมศูนย์ งบประมาณจะอยู่ห่างไกลจากประชาชน และภาษีจากทุกพื้นที่จะถูกยำรวมกัน ประชาชนจะรู้ตัวยากขึ้นว่าตนเองกำลังโดนโกงหรือไม่ แต่หากเรากระจายอำนาจ งบประมาณจะอยู่ในหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนจะยิ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ง่ายขึ้น รู้ตัวได้เร็วขึ้นและอาจรู้สึกหวงแหนงบประมาณมากขึ้นหากโดนโกง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงควรเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง เช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การเข้าชื่อถอดถอนท้องถิ่น หรือ การคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่เปิดโปงการทุจริต

ข้อกังวลที่สาม การกระจายอำนาจจะนำไปสู่สหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตนขอย้ำใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจ การเป็นสหพันธรัฐ และ การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะการแบ่งแยกดินแดนหมายถึงการสร้างรัฐใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากรัฐเก่า และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง โดยที่รัฐเก่าไม่มีอำนาจอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐใหม่อีกต่อไป เช่น ประเทศติมอร์-เลสเต ที่แยกตัวมาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการเป็นสหพันธรัฐ คือการที่อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งระหว่างส่วนกลางและส่วนมลรัฐ จนทำให้อำนาจเกี่ยวกับภารกิจบางส่วน ถูกแบ่งมาอยู่กับมลรัฐอย่างถาวร โดยที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อีกต่อไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับการกระจายอำนาจ เรากำลังพูดถึงแค่การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังอยู่กับส่วนกลาง นั่นหมายถึงว่า ในเชิงกฎหมาย ส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจ ในการปรับระดับการกระจายอำนาจ ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อยู่เสมอ การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ และหากทำสำเร็จ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิม ส่วนประเด็นที่สองคือ การกระจายอำนาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่น ประเทศสกอตแลนด์ เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แตกต่างจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร จึงมีความต้องการในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ตนเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) จึงตัดสินใจจัดประชามติในปี 1997 เพื่อถามคนสกอตแลนด์ว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจและจัดตั้งสภาสกอตแลนด์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชน 74% เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย ถัดมาเกือบ 20 ปี ในปี 2014 สหราชอาณาจักร ก็มีการจัดประชามติอีกครั้งหนึ่ง ถามชาวสกอตแลนด์ว่าต้องการให้สกอตแลนด์แยกออกมาเป็นเอกราชหรือไม่ ผลปรากฎในรอบนี้ มีเพียง 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย โดย 55% ไม่เห็นด้วย จึงทำให้สหราชอาณาจักรยังคงรักษาการเป็นรัฐเดี่ยวไว้ได้ อย่างหวุดหวิด ในกรณีของสหราชอาณาจักร หลายคนจึงยอมรับว่าการกระจายอำนาจในวันนั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาให้ประเทศเขายังคงเป็นรัฐเดี่ยวจนถึงทุกวันนี้

“ผมได้เพียงแต่หวังว่า ตัวอย่างของอังกฤษและสกอตแลนด์จะช่วยตอกย้ำ ให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านเห็นว่าการกระจายอำนาจที่เรากำลังพิจารณากันในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นคนละเรื่อง กับการเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน อย่างที่หลายคนกังวล แต่การกระจายอำนาจนี่แหละ กลับจะเป็นหนทางที่ดี่สุด ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐเดี่ยวที่ท่านหวงแหน ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้” พริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์จากปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมา จากบทเรียนและหลักฐานที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และจากทิศทางของโลกในอนาคต เชื่อว่าเราคงเห็นตรงกันว่าประเทศเราต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้อาจเห็นต่างกันในรายละเอียด ว่าควรกระจายไปถึงขั้นไหน

“สมาชิกรัฐสภาหลายท่าน อาจจะพยายามบอกว่าร่างของเราเป็นร่างที่กระจายอำนาจแบบสุดโต่ง แต่ผมมองต่าง การปฏิเสธการกระจายอำนาจ และคงไว้ถึงการบริหารรัฐรูปแบบเดิมต่างหาก คือการรวมศูนย์อำนาจแบบสุดโต่ง จึงอยากเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการเมืองไทย ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการกระจายอำนาจฉบับนี้ เพื่อเดินหน้าเปิดบทสนทนาให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ เพราะโจทย์สำคัญที่เราต้องขบคิดในวันนี้ คงไม่ใช่คำถามว่า การกระจายอำนาจนั้นดีหรือไม่ดีสำหรับประเทศ แต่คือเราจะออกแบบการกระจายอำนาจกันอย่างไรเพื่อปลดล็อกให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ก้าวหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” นายพริษฐ์กล่าว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสนับสนุนร่างฯ ฉบับนี้ว่า จากวิกฤติโควิด วิกฤติค่าครองชีพ วิกฤติราคาพลังงานที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าศักยภาพของโครงสร้างรัฐรวมศูนย์แบบปัจจุบันไม่สามารถพาประเทศไปข้างหน้าได้ ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างบิ๊กแบง (Big Bang) รัฐราชการรวมศูนย์แบบที่เรามีอยู่ในขณะนี้ พาประเทศต่อไปข้างหน้าไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

เกือบทุกคนคงเห็นตรงกัน ว่าประเทศต้องกระจายอำนาจ บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระจายแบบ Big Bang โดยมองว่าปฏิบัติได้ยาก แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปในเรื่องที่ยาก ผ่าตัดประเทศเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง ประเทศของเราก็จะเป็นกบต้มไปเรื่อยๆ จนพังพินาศไปอย่างไม่ทันรู้ตัว บางท่านอาจมองว่าร่างนี้สุดโต่ง แต่คำว่า “สุดโต่ง” เป็นเรื่องสัมพัทธ์ ไม่ใช่สัมบูรณ์ เทียบกับในอดีตร่างนี้อาจถูกมองว่าสุดโต่ง แต่เทียบกับสถานการณ์โลกในตอนนี้ ร่างนี้อาจไม่ทันกินด้วยซ้ำไป

หากรัฐสภาแห่งนี้ปฏิเสธที่จะรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ประเทศไทยของเราจะสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาลที่จะผ่าตัดพลิกโฉมประเทศไทยใน 3 เรื่อง

โอกาสแรกคือการระเบิดศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากที่ประเทศไทยเคยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ก็จะกลายเป็น 7,852 เครื่องยนต์ ทุกตำบล ทุกเมือง ทุกจังหวัดที่ถูกปลดล็อกจะสามารถกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย

โอกาสที่ 2 ที่อาจสูญเสีย คือการเพิ่มศักยภาพให้การบริหารงานภาครัฐอย่างมหาศาล ดังที่แสดงในการศึกษาของ OECD ยิ่งประเทศมีระดับการกระจายอำนาจสูงขึ้น ระดับประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐก็สูงขึ้น ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือส่วนกลาง

และโอกาสที่ 3 ที่จะสูญเสียไปมหาศาล คือการแก้ปัญหาสำหรับอนาคตในเรื่องภาคเกษตร เพราะใน 20-30 ปีข้างหน้า ผลผลิตการเกษตร ข้าว อ้อย มัน จะลดลง 20-30% เกิดวิกฤติราคาอาหารอย่างแน่นอน จากสภาพภูมิอากาศ ตามข้อตกลง Paris Agreement ประเทศพัฒนาแล้วต้องส่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยประเทศกำลังพัฒนารวม 3.5 ล้านล้านบาท เฉพาะในปี 2564 สภาพยุโรปส่งเงินไปช่วยทั่วโลกมากกว่า 8 แสนล้านบาท และให้ลงมาที่ท้องถิ่นเพราะเขาเชื่อว่าภาวะโลกรวนต้องใช้ความยืดหยุ่น รวดเร็ว ของท้องถิ่น รอรัฐบาลกลางไม่ได้ แต่ในเงิน 8 แสนล้านเหล่านี้มาช่วยท้องถิ่นไทยได้ 0 บาท เพราะท้องถิ่นไทยไม่สามารถกู้เงินได้

“นี่คือสาเหตุที่เราต้องปลดล็อกท้องถิ่นในวันนี้ เพื่อปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของทุกจังหวัด ทุกเมือง ทุกตำบล ให้ความเจริญกระจายไปทุกหย่อมหญ้า สร้างเครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยฝ่ามรสุมความเสี่ยงของโลกในอนาคตได้ ถ้าประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนไปอย่าง Big Bang จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระจายอำนาจในวันนี้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเอาประเทศไทยออกจากสภาวะกบต้มและขับเคลื่อนให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า