Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สภาฯ ล่ม วันนี้ ระหว่างลงมติร่างพ.ร.บ.เข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ‘เพื่อไทย’ เรียกร้อง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ยุบสภา ด้าน ‘วิปรัฐบาล’ ซัดเป็นข้อเรียกร้องปากว่าขาสั่น ขณะที่ ประธานสภาฯ ยืนยัน นัดประชุมวันศุกร์ที่ 25 พ.ย.นี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (23 พ.ย. 65)  ระหว่างที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น วาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการฯ (กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้ว

เริ่มต้น ที่การลงมติมาตรา 7 จำนวนผู้เข้าชื่อในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ตกค้างมาจากการพิจารณาสัปดาห์ที่แล้ว แต่สมาชิกอยู่กันบางตา นายชวน ต้องเสียเวลารอสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมนาน กว่า 15 นาที จึงมีสมาชิกมาแสดงตน 244 เสียง เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 7 เสียง จากจำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน

จากนั้นในการลงมติ มาตรา 9/1 ที่ กมธ.เสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็น ก็เกิดปัญหาอีกครั้ง เมื่อ นายชวน ถามว่า จะเห็นด้วยกับความเห็น กมธ. เสียงข้างน้อยหรือไม่ ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างน้อย 163 ต่อ 75 คะแนน  ทำให้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงขอให้ถามคำถามใหม่ เนื่องจาก ส.ส. หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ประธาน ถามว่า เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมากหรือไม่ เหมือนตามปกติที่เคยถามมา ทำให้คะแนนคลาดเคลื่อน แต่ ส.ส. ฝ่ายค้านไม่ยอม ระบุ จึงไม่สามารถลงมติใหม่ได้

ในที่สุดนายชวน จึงขอมติที่ประชุม จะอนุญาตให้ตั้งคำถามและลงมติใหม่หรือไม่ ทำให้ ส.ส. ฝ่ายค้านเล่นแง่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม เสียเวลารอนานกว่า 30 นาที องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ กระทั่งเวลา 12.50 น. นายชวนสั่งพักประชุม เพื่อไปหารือแนวทางแก้ปัญหา

จากนั้น เวลา 13.30 น. กลับมาเปิดประชุมใหม่อีกครั้ง ที่ประชุมยังคงถกเถียงกันเรื่องจะให้ลงมติ มาตรา 9/1 ใหม่หรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมลงมติให้ลงมติใหม่ ด้วยคะแนน 202 ต่อ 16 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 14

ทำให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่พอใจระบุว่า การให้ลงมติใหม่จะเป็นบรรทัดฐาน สร้างประเพณีปฏิบัติที่ผิด พอโหวตแพ้ก็อ้างเข้าใจผิด อนาคตจะเกิดปัญหา ถ้าแพ้ก็อ้างเข้าใจผิดอยู่เรื่อยๆ

ขณะที่ นายชวน ชี้แจงยืนยันว่า เมื่อมีความเข้าใจผิดในการลงมติก็สามารถลงมติใหม่ได้ เป็นเรื่องที่มีโอกาสผิดพลาดเกิดขึ้นได้ไม่เกี่ยวกับคะแนน ยืนยันไม่เคยทำอะไรที่ล่วงละเมิดหรือเอาเปรียบคนอื่น ไม่คิดทำ และว่าเหตุเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นอีก 4 ปีอาจเกิดครั้งนี้ครั้งเดียว สำหรับตนแล้วโกง 1 คะแนน หรือซื้อเสียงสักบาท ตนก็ไม่ทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมโหวตให้ลงมติมาตรา 9/1 ก็ยังเกิดปัญหาขึ้น เมื่อ ส.ส. ในห้องประชุมอยู่กันบางตา นายชวนจึงแจ้งว่า เที่ยวนี้ไม่รอนาน เพราะถ้าไม่ครบก็คือไม่ครบ หลังจากที่รอองค์ประชุม 5 นาทีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าจะมีสมาชิกครบองค์ประชุม

“ไม่ได้บ่นนะครับแต่ในฐานะที่อยู่ในสภาฯ มาพอสมควร เห็นครั้งนี้ที่เกือบจะเลื่อนลอย ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าวันนี้ องค์ประชุมจะครบหรือเปล่า ไม่มีคนดูแล ไม่มีคนคอบตรวจสอบอันนี้เป็นสภาฯ ชุดหนึ่งที่ แปลกไปจากที่เราเห็นมา” นายชวน กล่าวตอนหนึ่งก่อนสั่งปิดการประชุมสภาฯ ในวันนี้

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวด้วยว่า ดูด้วยตาแล้วคงยากที่จะครบองค์ประชุม ขอบคุณคนที่มา ส่วนใครที่ไม่มาจะขอเปิดชื่อให้ชาวบ้านไปถามกันเองว่า ทำไมไม่มาประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และได้ขอปิดประชุมในเวลา 14.05 น.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นำแถลงภายหลังที่ประชุมสภาฯ องค์ประชุมล่มวันนี้ว่า องค์ประชุมไม่ครบเป็นเหตุให้สภาฯ ล่ม ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เสถียรภาพทางการเมืองของฝั่งรัฐบาลมีไม่มาก ไม่สามารถคงสภาวะการประชุมไว้ได้ สาเหตุหนึ่งมีการพูดถึงการเชิญสมาชิกบางกลุ่มไปเช็กชื่อกันที่บ้านป่ารอยต่อในวันที่มีการประชุมสภาฯ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาฯ

เรากำลังพิจารณาคือร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายค้าน และพรรค พท. ไม่เห็นชอบกับสิ่งที่กมธ. แก้ไขมา เพราะเปลี่ยนไปจากหลักการเดิม คือ เมื่อประชาชนเข้าชื่อแล้วสมาชิกจะหลุดออกจากตำแหน่งทันที โดยที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งเราเป็นห่วงว่าช่วงเข้าสู่การเลือกตั้ง การจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเมื่อการประชุมมาถึงมาตรา 9/1 ซึ่งมีการสงวนคำแปรญัตติของสมาชิกฝ่ายค้านท่านหนึ่ง ที่ให้ระบุว่า ภายหลังการเข้าชื่อถอดถอน ให้มีการลงมติของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ว่าจะให้มีการถอดถอนหรือไม่

ผลการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสภาฯ คือ ให้มีการเพิ่มมาตรา 9/1 ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายค้านในการลงมติ แต่กลับมีการท้วงติงของสมาชิกบางท่านว่ามีการเข้าใจผิด และอยากให้มีการลงมติใหม่ ซึ่งกระบวนการทางสภาฯ ในข้อบังคับการประชุมไม่สามารถทำได้ เราจึงท้วงติงว่าวิธีการดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับการประชุม แต่ประธานในที่ประชุมยังคงตั้งคำถามว่าจะลงมติอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสุดท้ายผลการลงมติคือให้มีการลงมติใหม่ได้ ฝ่ายค้านจึงไม่ขอเป็นองค์ประชุมให้กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการลิดรอน และปล้นมติคืนกลับไป ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมไว้ได้

“จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่าจะมีข่าวว่ารัฐบาลชื่นมื่นดี แต่ดูภาวะในสภาเช่นนี้ เชื่อว่าสภาฯ เดินต่อลำบาก จึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งมีเวลาเหลือไม่มาก ช่วงฮันนีมูนของท่านหมดแล้ว ถ้าท่านยุบสภาฯได้ก็ควรยุบ คืนอำนาจให้ประชาชน” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีสภาฯ ล่มวันนี้

โดยนายชินวรณ์ กล่าวว่า เกิดความเข้าใจผิดในการลงคะแนนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงคะแนนใหม่ ก็ถือว่าเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ตามข้อบังคับข้อที่ 9 ถ้าเห็นว่า คะแนนมีความผิดพลาด เนื่องจากความเข้าใจผิดจากการตั้งประเด็นญัตติ จึงมีการเสนอนับคะแนนใหม่ได้ ฉะนั้นจึงมีการสั่งนับคะแนนใหม่และโหวตว่าจะมีการลงมติให้นับคะแนนใหม่หรือไม่ ขอยืนยันว่าเป็นการวินิจฉัยถูกต้องของประธานสภาฯ และไม่เคยมีมาก่อนในสมัยประชุมสภาฯ นี้ จะมากล่าวหาประธานสภาฯ ไม่ดำเนินการตามข้อบังคับหรือกระทำที่อาจจะนำไปสู่พวกมากลากไปนั้น ตนคิดว่า ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประธานสภาฯ ย้ำแล้วว่า ได้ดำเนินการตามตามหลักนิติธรรมตามข้อบังคับชัดเจน และวันนี้ผลการลงคะแนนว่าคะแนนเสียงข้างมาก เห็นด้วยตามที่ประธานสภาฯ วินิจฉัย แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้แสดงตนด้วย

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาเรียกร้องว่าให้มีการยุบสภาฯ เพราะสาเหตุนี้นั้น ตนคิดว่ายังไม่ใช่เป็นเหตุและปัจจัยที่สำคัญ เพราะเป็นกฎหมายของสภาฯ ระหว่างกรรมาธิการ (กมธ.) และส.ส.ในสภาฯ และไม่ใช่กฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นเหตุผลในการพิจารณา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมายืนยันว่าแล้วจะอยู่ยาว สิ่งที่ฝ่ายค้านเรียกร้องน่าจะเป็นอาการปากว่าขาสั่นมากกว่า

“ผมอยากเรียกร้องไปพรรคฝ่ายค้านมากกว่าว่าได้ไปหาข้อมูลมาอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 แล้วหรือไม่ ซึ่งเปรียบเสมือนการดีเบตกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า” นายชินวรณ์ กล่าว

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในที่ประชุม นายชวน ไม่ได้ขานจำนวนองค์ประชุมที่ล่ม ซึ่งปรากฏว่า มีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 228 คน จากจำนวนองค์ประชุม 237 คน

แบ่งเป็นฝ่ายค้าน ดังนี้

พรรคเพื่อไทย มีผู้แสดงตน 11 คน จาก 131 คน

พรรคก้าวไกล มีผู้แสดงตน 6 คน จาก 50 คน

พรรคเสรีรวมไทย มีผู้แสดงตน 3 คน จาก 11 คน

พรรคประชาชาติ ไม่มีผู้แสดงตน จาก 7 คน

พรรคเพื่อชาติ มีผู้แสดงตน 1 คน จาก 6 คน

พรรคพลังปวงชนไทย ไม่มีผู้แสดงตน จาก 1 คน

พรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่มีผู้แสดงตน จาก 1 คน

ส่วนฝ่ายรัฐบาล ดังนี้

พรรคพลังประชารัฐ มีผู้แสดงตน 77 คน จาก 96 คน

พรรคภูมิใจไทย มีผู้แสดงตน 59 จาก 62 คน

พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้แสดงตน 42 คน จาก 52 คน

พรรคเศรษฐกิจไทย มีผู้แสดงตน 3 คน จาก 16 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา มีผู้แสดงตน 6 คน จาก 12 คน

พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีผู้แสดงตน 4 คน จาก 6 คน

พรรครวมพลัง มีผู้แสดงตน ทั้ง 5 คน

พรรคพลังท้องถิ่นไทย มีผู้แสดงตน 3 คน จาก 5 คน

พรรคชาติพัฒนา มีผู้แสดงตน 3 จาก 4 คน

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มีผู้แสดงตน 1 คน จาก 2 คน

ขณะที่ พรรคเล็ก ฝ่ายรัฐบาล ที่มี ส.ส. 1 คน คือ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรครวมแผ่นดินไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่แสดงตน ส่วนพรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่แสดงตน

โดยสรุป ส.ส. ฝ่ายค้าน แสดงตน รวม 21 คน จาก 207 คน พรรคร่วมรัฐบาล แสดงตน 207 คน จาก 267 คน

ส่วนเรื่องรายชื่อนั้น นพ.สุกิจ บอกว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เมื่อประธานไม่ได้ประกาศในที่ประชุมว่า มีจำนวนเท่าไหร่ ก็จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า