Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ว่อนโซเชียลฯ อ้างเอกสาร ‘มีชัย’ ให้ความเห็นปมนายกฯ 8 ปี นับตั้งแต่ รธน.60 บังคับใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (6 ก.ย. 65) โลกออนไลน์มีการเผยแพร่อ้างเป็นเอกสารเสนอความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลงนามโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเนื้อหา ระบุว่า กราบเรียน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น สั่งให้ข้าพเจ้าในฐานะ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด” ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160) ที่มา (มาตรา 89) วิธีการได้มา (มาตรา 159 และมาตรา 272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 164) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้นจึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

3. การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” เป็น “คณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่… โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ”

4. ผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป

สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกรที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่าเป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุม เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณา ความมุ่งหมายของมาตรา 183 ที่บันทึกไว้ว่า

“ประธานกรรมการ กล่าวว่า การตีความว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตรากฎหมายโดยกำหนดให้ตนเองได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ย่อมถือเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการไปโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโดยหลักสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ และการกำหนดค่าตอบแทนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ไนรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญได้ ซึ่งเป็นความที่ฝืนต่อความเป็นจริง”

“ข้าพเจ้าคงไม่พูดเช่นนั้น เพราะย่อมรู้อยู่เป็นพื้นฐานว่า การตราพระราชกฤษฎีกาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 175) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ หรือฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ผ่านทางพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง (นายมีชัย ฤชุพันธุ์)”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกสารดังกล่าวมีจำนวน 3 หน้า และถูกส่งต่อในบรรดาสื่อมวลชน แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าเป็นเอกสารถูกต้องหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

“ปม 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์” รัฐบาลวิเคราะห์ 3 แนวทางที่เป็นไปได้

workpointTODAY ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ชวนร่วมกิจกรรม Thailand Talks เพื่อพูดคุยกับคนเห็นต่างในหลากหลายประเด็น ตอบคำถามด้านล่างเพื่อลงทะเบียน

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า