Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าเราต้องเสียภาษีในอัตราที่คิดเป็น 30-50% ของรายได้ ให้รัฐไปจัดทำ ‘รัฐสวัสดิการ’

เราจะรู้สึกอย่างไร? โอเคกับสิ่งนี้หรือไม่?

แต่สวีเดนกลับประสบความสำเร็จเรื่องนี้มาก ทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ และการที่ชาวสวีเดนยอมจ่ายภาษีแพงลิบ

สวีเดนทำได้อย่างไร บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

——–

[ สรรพากรไม่ใช่สิ่งที่ชาวสวีเดนรังเกียจ ]

หากจะพูดถึงเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ หรือการที่รัฐนำเงินจากภาษีไปพัฒนาบริการต่างๆ เช่น บริการสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การประกันการว่างงาน และระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว

หนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มากก็คือ สวีเดน

โดยในสวีเดน มีหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘สแกตเตอเวอเก็ต’ (Skatteverket) ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีและออกเลขประจำตัวประชาชนให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ

และเพราะเป็นหน่วยงานที่ว่ามีหน้าที่ดูแลชาวสวีดิชตั้งแต่เกิด เจ็บป่วย ไปจนถึงการตาย ทำให้หน่วยงานนี้มีความสำคัญและมีขนาดใหญ่มาก ทั้งในเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่และอำนาจการควบคุมพลเมือง

แต่ถึงจะมีอำนาจล้นฟ้าและเก็บภาษีจากทุกคน แต่สแกตเตอเวอเก็ตก็ไม่ใช่หน่วยงานที่คนเกลียด แถมกลับเป็นองค์กรที่ชาวสวีเดนให้ความไว้วางใจและพึงพอใจในผลงานมากเป็นอันดับ 5

เพราะมั่นใจว่าการบริการเป็นไปอย่างยุติธรรม สะดวก รวดเร็ว เป็นมิตรต่อคนที่มาใช้บริการ และมีบริการออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ

ที่น่าสนใจคือ ประเทศสวีเดนดูเหมือนจะมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเรื่องภาษีมาก เห็นได้จากคำว่า Skatt ในชื่อหน่วยงาน ที่ในภาษาสวีเดนไม่ได้หมายถึงภาษีอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ‘ทรัพย์สมบัติ’ ด้วย

ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่เราจะเห็นคำว่าภาษีมีความหมายโดยนัยเป็นเชิงบวกแบบนี้

แล้วสแกตเตอเวอเก็ตเก็บภาษีชาวสวีดิชปีละเท่าไหร่?

สวีเดนเป็นประเทศที่มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า หรือใครมีรายได้มากก็จ่ายภาษีมาก ไม่มีการเก็บภาษีมรดกและภาษีความมั่งคั่ง

ซึ่งภาษีส่วนใหญ่จะจัดเก็บโดยท้องถิ่นก่อน เงินส่วนที่เหลือจากผู้มีรายได้สูงจึงค่อยแบ่งไปให้รัฐบาลระดับชาติ

โดยคนที่มีรายได้ราว 440,000 สวีดิชโครนต่อปี จะต้องเสียภาษีประมาณ 30-33% ให้กับท้องถิ่น (อัตราภาษีขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ)

หากมีรายได้มากกว่า 440,000 แต่ไม่เกิน 640,000 สวีดิชโครนต่อปี จะต้องเสียภาษีระดับประเทศอีก 20% ส่วนคนที่มีรายได้เกิน 640,000 สวีดิชโครนต่อปี ต้องเสียภาษี 25%

หรือเรียกได้ว่า ชาวสวีเดนบางคนเสียภาษีรวมๆ แล้วคิดเป็น 50% ของรายได้เลยก็ว่าได้ ขณะที่คนไทยเสียภาษีสูงสุดที่ราวๆ 35%

ซึ่งเอาจริงๆ คนสวีเดนก็ไม่ได้มองเรื่องภาษีเป็นเรื่องสนุกขนาดนั้น

เพราะถึงขั้นประดิษฐ์คำศัพท์เฉพาะขึ้นมาว่า สแกตเทอแทรต (Skattetrat) ซึ่งหมายถึงความเหน็ดเหนื่อยในการจ่ายภาษี

แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็ยังยินดีจะจ่าย เพราะภาษีที่จ่ายให้รัฐก็พอๆ กับการจ่ายค่าเทอมลูกและค่ารักษาพยาบาล หากพวกเขาต้องจ่ายเอง

นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสวีเดน สามารถนำเงินภาษีมาใช้พัฒนารัฐสวัสดิการได้อย่างเป็นรูปธรรม

——–

[ รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของผู้คน ]

สิ่งที่ทำให้ระบบรัฐสวัสดิการของสวีเดนยังอยู่ได้ ขึ้นอยู่กับกลไกสำคัญ 2 อย่าง คือ ประชาชนต้องมีความตั้งใจที่จะจ่ายภาษีสูงๆ และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน

ตรงนี้ทำให้รัฐมีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เมื่อถึงวัยทำงาน

และต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะเพื่อจะได้รับค่าจ้างสูงๆ ด้วย

เมื่อ ‘การเตรียมคน’ เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐก็ยิ่งต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพและเท่าเทียมกันทั้งประเทศ รวมทั้งส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง

นำมาสู่การพัฒนาสวัสดิการให้กับผู้คนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต นั่นคือ การคุ้มครองทางสังคม เช่น การประกันการว่างงาน มีศูนย์ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งคิดเป็น 42% ของรายจ่ายรัฐบาล

รองลงมาคือบริการด้านสุขภาพ 14% และการศึกษา 13%

โดยสิ่งที่ผู้เสียภาษีในสวีเดนจะได้รับคือ ระบบบริการสุขภาพ ที่แม้จะไม่ฟรีแต่ก็จ่ายในราคาเพียง 100-300 สวีดิชโครน หรือราว 300-900 บาทเท่านั้น

ส่วนเยาวชนที่อายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับการตรวจรักษาสุขภาพฟันและร่างกายฟรี

และในเรื่องการส่งเสริมการดูแลลูกและสร้างครอบครัว รัฐบาลสวีเดนก็มีสวัสดิการให้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

-พ่อแม่เด็กได้วันลาหยุด 480 วันต่อเด็ก 1 คน

-ภายใน 480 วันนี้พ่อและแม่สามารถตกลงกันเองได้ว่าแต่ละคนจะใช้วันลากี่วันเพื่อเลี้ยงลูก และสิทธินี้สามารถใช้ได้จนกระทั่งลูกมีอายุ 8 ปี

-รัฐบาลยังให้เงินอุดหนุนศูนย์รับดูแลเด็ก

-เมื่อลูกๆ ป่วย รัฐบาลจะจ่ายเงินให้พ่อแม่ของเด็กได้ลาอยู่บ้าน เพื่อดูแลลูกจนแข็งแรงดี และสามารถไปเรียนหนังสือได้

จนยูนิเซฟจัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูเด็กมากที่สุดในโลก

นอกจากเรื่องรากฐานของชีวิตอย่างเรื่องครอบครัว สวีเดนก็ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของคนวัยทำงานไม่แพ้กัน คือ

-ลูกจ้างที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้วันหยุด 25 วันต่อปี โดยที่ยังได้รับเงินค่าจ้าง

-จ่ายเงินอุดหนุนเมื่อตกงาน โดยเงินก้อนนี้จะไม่ทำให้คนรวย แต่จะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้หากตกงาน

ภายใต้เงื่อนไขว่า ในช่วง 200 วันแรกของการว่างงาน ผู้ที่ตกงานจะได้รับเงินประกันตนจำนวน  80% ของเงินเดือนก่อนตกงาน แต่ไม่เกิน 680 สวีดิชโครนต่อวัน

หลังจากนั้นอีก 100 วันถัดไป หากยังว่างงานอยู่ เงินจะลดเหลือ 70% ของเงินเดือน แต่ผู้ใช้สิทธิจะต้องจ่ายภาษีเงินได้สำหรับการประกันการว่างงาน และจ่ายธรรมเนียมค่าเป็นสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ

และผู้ใช้สิทธิจะต้องมีความตั้งใจที่จะหางานใหม่และพร้อมเริ่มงานเมื่อได้รับการจ้างงานที่เหมาะสมด้วย

[ รัฐสวัสดิการที่ส่งเสริมให้คนคิดนอกกรอบ ]

ไม่ใช่แค่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาให้กับประชาชนเท่านั้น แต่สวีเดนยังมีกลไกที่ส่งเสริมให้คนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และลงทุนทำธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

หากมองไปในบริษัท ก็จะเห็นบริษัทจากสวีเดนหลายรายด้วยกัน เช่น

-สปอติฟาย (Spotify)

-คิง (King) ผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเกมสุดฮิตอย่าง Candy Crush

-อิเกีย (Ikea)

จนทุกวันนี้ สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีโครงข่ายรองรับทางสังคม ทำให้ชาวสวีเดนที่ริเริ่มจะทำธุรกิจขนาดเล็กไม่เจ็บตัวเยอะหากธุรกิจล้มเหลว

พอเป็นแบบนี้ ประชาชนก็กล้าที่จะคิดและกล้าลงมือทำมากขึ้นนั่นเอง

บวกกับการที่รัฐนำเงินภาษีไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบรถไฟ การโทรคมนาคม และโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้คนสวีเดนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

รวมถึงการที่รัฐส่งเสริมการศึกษาและงานวิจัย ก็มีส่วนช่วยให้ผู้คนนำงานวิจัยเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสังคม

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) ระบุว่า สวีเดนเป็นประเทศที่ธุรกิจสตาร์ทอัพมีโอกาสอยู่รอดมากที่สุด

โดย 74% ของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งหมดในประเทศสามารถอยู่รอดได้เกิน 3 ปี และธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ๆ ภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ซึ่งนั่นคือเป้าหมายสูงสุดของรัฐสวัสดิการ คือ ประชาชนมีงานทำ และมีความสามารถในการจ่ายภาษีเพื่อค้ำชูรัฐสวัสดิการต่อไป

นอกจากนี้ การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง และการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้แต่ละพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ได้อย่างเสรี

พรรคการเมืองต่างๆ เอง ก็พยายามเสนอมาตรการภาษีใหม่ๆ เพื่อหารายได้เข้ารัฐและนำมาปรับปรุงสวัสดิการ

กลายเป็นระบบที่ ‘วิน-วิน’ กับทุกฝ่าย ประเทศก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดีนั่นเอง

เรียบเรียงจากบทความ “รัฐสวัสดิการสวีเดน ความอุ่นใจในชีวิต ที่ช่วยให้คนผลักดันประเทศไปข้างหน้า” ของเกตน์สิรี ทศพลไพศาล https://workpointtoday.com/sweden-welfare-tax/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า