https://www.facebook.com/workpointTODAY/videos/1550702838409756/
“ลูกท้อง… เด็กอายุ 15 วันที่เราเชิญผู้ปกครองมา เรายังตกใจ ถามว่าเอาพี่สาวมาเหรอ ไม่ใช่… แม่ คุณแม่อายุ 30 ตัวแม่เองก็ท้องตอนอายุ 15 เหมือนกัน ผลของการที่เขาไม่ได้เรียนต่อ พอลูกเขาอายุ 15 ลูกเขาก็ท้องต่อ”
ตลอดหลายสิบปีในอาชีพครูของ อ.เจี๊ยบ – ชัชรวี ประดับมุข วนเวียนอยู่กับการช่วยเหลือนักเรียนที่ ‘ท้องไม่พร้อม’ แก้ปัญหา ด้วยความเชื่อว่า เด็กที่พลาดควรได้รับโอกาสเริ่มต้นใหม่
อ.เจี๊ยบ เป็นครูแนะแนวอยู่ที่โรงเรียนวัดอุดมรังสี เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ปีการศึกษาที่ผ่านมาเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เธอต้องช่วยหาทางออกให้กับนักเรียนหญิงชั้น ม.3 ที่ท้องก่อนวัยอันควร ในแต่ละครั้งที่ อ.เจี๊ยบ พบว่าเด็กมีปัญหามักจะเริ่มต้นจากการสังเกตเห็นพฤติกรรมที่แปลกไป
“อาการมันฟ้องค่ะ หยุดเรียนวันยุวกาชาด เพราะต้องใส่เสื้อไว้ในกระโปรงรัดเข็มขัด ครูก็เลยถามเขา หนูแปลกๆ ไปนะลูก มีอะไรเล่าให้ครูฟังได้นะ ท้องหรือเปล่า บางทีเดี๋ยวนี้ก็ต้องถามตรงๆ เลยค่ะ” ส่วนคำตอบที่ได้รับจะเป็นการปฏิเสธเสียงแข็งในทีแรก ก่อนยอมรับพร้อมบอกว่า “หนูกลัวโดนไล่ออก”
“เขาไม่ไล่ออกแล้ว เขามีวิธีการ หนูสามารถเรียนจบพร้อมเพื่อนได้ แต่ว่าต้องดูแลตัวเองนะ” อ.เจี๊ยบ บอกกับนักเรียนของเธออย่างอ่อนโยน และมองว่าการที่เด็กยอมรับว่าท้องจะปลอดภัยต่อสุขภาพของเขามากกว่า เพราะบางครั้งนักเรียนต้องเดินขึ้นบันไดไปเรียนชั้น 4 ชั้น 5 หรืออย่างในวิชาพละ ถ้าเด็กไม่บอกแล้วไปทำกิจกรรมหนักๆ ก็อาจเป็นอันตราย
วิธีแก้ปัญหาของ อ.เจี๊ยบ อาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ปีการศึกษา 2559 ที่โรงเรียนวัดอุดมรังสี มีนักเรียนชั้น ม.3 ท้องในวัยเรียนทั้งหมด 3 คน หลังทราบเรื่อง อ.เจี๊ยบ เชิญผู้ปกครองของนักเรียนทั้ง 3 มาพูดคุย เพื่อดูว่าผู้ปกครองของเด็กแต่ละคนมีแนวคิดอย่างไร
“เราจะเสนอว่าเด็กสามารถเรียนต่อได้นะ โดยคุณครูแต่ละท่านจะสั่งงานให้กลับไปทำที่บ้าน แล้วเอากลับมาส่งในช่วงเวลาที่นัดหมาย ทำแบบนี้จนเด็กผ่านกระบวนการเรียนการสอน ถึงเวลาก็ให้เขามาสอบ ให้เขาจบการศึกษา เพราะเรารู้ว่าภาวะการท้องของเขา เขาต้องไปหาหมอบ้างอะไรบ้าง พอเขาคลอดเรียบร้อยแล้วจะได้มีโอกาสไปเรียนต่อ”
แต่ที่ อ.เจี๊ยบ ทำแบบนี้ได้สำเร็จ ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน คุณครูคนอื่นๆ และผู้ปกครอง
“เด็กทุกคนควรได้โอกาสตรงนี้ การท้องนี่ไม่ใช่ว่าใครจะอยากท้อง แต่ความผิดพลาดมันเกิดขึ้น จะด้วยอุบัติเหตุหรือด้วยเด็กขาดองค์ความรู้ในเรื่องของการป้องกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกัน เด็กก็จะไม่มีทางออก เราให้โอกาสเด็กเป็นสำคัญ อย่ามองว่าเด็กท้องแล้วจะต้องเป็นปัญหากับทางโรงเรียน หรือว่านักเรียนคนอื่นจะเอาเป็นตัวอย่าง เราป้องกันเด็กคนอื่นอยู่แล้ว ไม่มีครูคนไหนอยากเห็นเด็กท้องในวัยเรียนหรอกครับ” คนิษฐ มีรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอุดมรังสี สะท้อนแนวคิดการแก้ปัญหา
การศึกษาสำคัญต่ออนาคตของเด็ก 2 คน
“ครูยกตัวอย่างให้ฟัง ลูกท้อง… เด็กอายุ 15 วันที่เราเชิญผู้ปกครองมา เรายังตกใจ ถามว่าเอาพี่สาวมาเหรอ ไม่ใช่… แม่ คุณแม่อายุ 30 ตัวแม่เองก็ท้องตอนอายุ 15 เหมือนกัน ผลของการที่เขาไม่ได้เรียนต่อ พอลูกเขาอายุ 15 ลูกเขาก็ท้องต่อ” หากวงจรนี้ยังดำเนินต่อไป อ.เจี๊ยบ มองว่าสังคมไทยจะดูแลกันลำบากขึ้น
“อย่างน้อยเลยนะคะ ครูว่าปัจจุบันนี้การศึกษาบ้านเราน่าจะต้องจบปริญญาตรี ถ้าแค่ ม.3 มันก็ทำให้ชีวิตดีขึ้นยาก หรือถ้าไม่จบปุ๊บก็จะเหลือวุฒิแค่ ป.6″
ข้อมูลปี 2561 จากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า รายได้ของคนที่จบการศึกษาระดับประถมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8,300 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,600 บาทต่อเดือน ในขณะที่มีการประเมินว่าปัจจุบันการเลี้ยงลูก 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนเรียนจบมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินอย่างน้อย 1.3 ล้านบาท
วัยรุ่นไทย 10-19 ปี คลอดลูกเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 7,000 คน
ข้อมูลจากรายงานประจำปี สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2560 วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี คลอดลูกมากกว่า 84,000 คน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 7,000 คน (อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อ 18 ก.พ. 2562)
โดยเด็กส่วนมากที่ท้องในวัยเรียนมักต้องลาออกจากโรงเรียนและไม่มีโอกาสกลับมาเรียนต่อ แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งระบุในมาตรา 6 (3) ว่าสถานศึกษาต้องช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการยังประกาศกฎกระทรวงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 ระบุว่าสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์อยู่ออกจากสถานศึกษา
แต่ในทางปฏิบัติมีอีกหลายกรณีที่โรงเรียนขอให้เด็กที่ท้องลาออกไปเงียบๆ
“เคสโทรเข้ามาเล่าว่าเคยคุยกับครูแล้วว่าหนูท้อง แล้วหนูจะเรียนต่อได้ไหม ครูบอกว่าเรียนได้นะ พ.ร.บ.ก็มี น้องเขาก็โล่งอกไปเปลาะหนึ่ง จนสักประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เขาโดนเรียกเข้าไปคุยเรื่องตั้งครรภ์ว่าจะลาออกหรือเปล่า พรุ่งนี้มายื่นใบลาออกเลยนะ” ภาณุศาสตร์ ทองทศ ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ เล่าถึงเคสของเด็กหญิงชั้น ม.6 คนหนึ่งที่จำต้องลาออกกลางคัน ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่เดือนเธอจะเรียนจบแล้ว
https://www.facebook.com/workpointTODAY/videos/648311038871511/
อยากให้โรงเรียนแก้ปัญหา โดยไม่มองว่าเด็กเป็นตัวปัญหา
“ทุกครั้งที่เด็กออกไปจากระบบการศึกษา เราขาดคุณภาพของสังคมไปแล้วหนึ่งคน เราไม่รู้ว่าเด็กคนนั้นมีอะไรดีบ้าง เราไม่รู้ว่าตัวตนในอนาคตของเด็กคนนั้นจะก้าวไกลได้แค่ไหน เราตัดสินเขาโดยบอกว่า เขาท้อง เขาต้องออกจากโรงเรียน เมื่อเด็กไม่ได้เรียนต่อแล้วเป็นเด็กไม่มีการศึกษา คุณภาพชีวิตเขาจะดีขึ้นหรือเปล่า” ภาณุศาสตร์กล่าวในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชน
เขายังบอกอีกว่าโรงเรียนคือกลไลที่ช่วยให้เด็กดีขึ้น เด็กไม่ใช่ชื่อเสียง ไม่ใช่เกียรติยศ ดังนั้นถ้าโรงเรียนมองเด็กเป็นศูนย์กลาง โรงเรียนต้องพัฒนาเด็ก ช่วยเด็กแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มองว่าเด็กทำให้โรงเรียนดีขึ้นหรือแย่ลง ผู้ใหญ่ต้องไม่มองเด็กเป็น ‘ตัวปัญหา’ จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
คล้ายกับแนวคิดของ อ.เจี๊ยบ ที่กล่าวทิ้งท้ายว่า “ครูต้องเปิดกว้าง ต้องยอมรับค่ะ ยอมรับว่าสภาพสังคมมันเปลี่ยนไป เราอย่าเอาตัวเองไปตัดสินว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ ไม่มีเด็กคนไหนอยากผิดหรอกค่ะ บางทีเขาพลาดก็ต้องให้โอกาสเขา อย่างน้อยเขาจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่”