SHARE

คัดลอกแล้ว
      • ประเทศไทยสูญเสียไปเยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราไม่ได้สูญเสียเพียงรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะคนและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
      • การท่องเที่ยวไทย ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ‘New Tourism’ ผ่านหลักการ ‘5 สูง’ จะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มั่นคง ยั่งยืน และกระจายรายได้

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ Game Changer อย่างไวรัสโควิด-19 เข้ามาพลิกเกมกระดานทั้งโลกให้ทุกคนต้องใช้ชีวิตในวิถีใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วเกินไปจนยากจะปรับตัวทำให้มีพลเมืองจำนวนไม่น้อยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไม่เวิร์คอีกต่อไป เพราะผู้คนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ฉะนั้นการรับฟังทุกฝ่ายในสังคมเพื่อหาทางออกร่วมกันจึงสำคัญที่สุดในตอนนี้ โจทย์ใหม่ไม่ใช่เพียงการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด แต่จะใช้ชีวิตกับโรคระบาดนี้อย่างไรหากมันไม่มีทางสูญหายไปจากชีวิตเรา?

Thailand Policy Lab (ห้องปฏิบัติการนโยบายที่ก่อตั้งโดยสภาพัฒน์ฯ และ UNDP) และ Thailand Future Foundation จับมือกันสร้างกิจกรรม ‘Clubhouse Series’ ภายใต้หัวข้อ Lessons from the Crisis หรือถอดบทเรียนจากวิกฤติ เพื่อเป็นตัวกลางชวนผู้มีส่วนร่วมในปัญหาทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาพูดคุยเพื่อค้นหาทางออกที่ดีที่สุดไปพร้อมกัน

สำหรับ Clubhouse Series ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาเป็นเรื่อง “New Tourism” หรือการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หลายคนคงอยากรู้ว่าถ้าเมืองไทยไม่พึ่งพาการท่องเที่ยว จะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หรือรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด การพูดคุยในครั้งนี้มีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานมาให้ความคิดเห็น ได้แก่ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ หรือ โกจง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบาย

และนี่คือข้อสรุปจากการพูดคุยตลอด 2 ชั่วโมงในวันนั้น

ลดการท่องเที่ยวกระจุกให้กระจายรายได้ไปพื้นที่อื่นผ่านหลักการ 5 สูง

รายได้ที่หายไปกว่า 1 ใน 5 จากการท่องเที่ยว

ดร.ยุทธศักดิ์พูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยว่ามีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศ จากปกติที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละ 40 ล้านคน ลดลงในพริบตาเหลือปีละไม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญแน่นอน ยิ่งรัฐออกมาตรการห้ามการรวมกลุ่มและเดินทาง ก็ยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว วิกฤติครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่จะงัดทุกอย่างที่เคยอยู่ใต้พรมออกมาให้รับรู้โดยทั่วกัน

แม้เมืองไทยจะเด่นเรื่องการท่องเที่ยว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับไม่มีการกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้น 22 จังหวัดในไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 90% ส่วนจังหวัดที่เหลือรายได้อยู่ที่ประมาณ 10% แสดงให้เห็นว่าแม้ GDP จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่เมืองไทยก็ยังคงต้องเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเดิมๆ

หลักการ 5 สูง เพื่อกอบกู้และกระจายรายได้ท่องเที่ยวของชาติ

ดร.ยุทธศักดิ์เสนอว่าต่อจากนี้เมืองไทยไม่จำเป็นต้องรับนักท่องเที่ยวแบบเน้นจำนวน เพราะการรับนักท่องเที่ยวมาหมดและเน้นแค่จำนวนได้ทิ้งปัญหาไว้มากพอสมควร หากต้องการให้ทุกอย่างดีขึ้น คนในอุตสาหกรรมต้องมี Mindset ของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พอทุกอย่างกลับมาดีแล้วทำแบบเดิม เป้าหมายข้างหน้าของการท่องเที่ยวในเมืองไทยคือ Sustainable Tourism และ High Value Sustainable Economy ซึ่งสามารถอธิบายเป็นหลักการ ‘5 สูง’ ได้ดังนี้

      1. นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง ให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าราคา
      2. สินค้าคุณภาพสูง การท่องเที่ยวมีเอกลักษณ์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
      3. มีผลกระทบที่สูง แก้ปัญหาในอดีต สร้างสมดุลให้เกิดทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
      4. ทักษะสูง เพราะความภูมิใจในงานบริการแบบไทยไม่เพียงพอแล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นให้เข้ากับภาวะ New Normal
      5. เทคโนโลยีสูง ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาดท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ

เราเสียเวลาไป 2 ปีแล้วที่ไม่ได้พัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง

สำหรับชำนาญ หรือ ‘โกจง’ ผู้เป็นตัวแทนของภาคเอกชน เขามองว่าบทเรียนอันมากมายในครั้งนี้ทำให้ทุกคนได้ทบทวน จากที่เคยทำธุรกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ต้องเริ่มคิดหนักเรื่องการวางแผนเพราะตลาดการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ตอนนี้ภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแรง เพราะกว่า 2 ปีแล้วที่ไม่มีรายรับเข้ามาเลยและไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ตอนนี้ไม่มีใครช่วยใครได้เพราะโดนเหมือนกันหมดทุกคน ลามไปจนถึง Supply Chain ที่ก็แย่ไม่ต่างกัน เป็นปรากฏารณ์การล้มแบบโดมิโน ยิ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นรายได้ 20% ของ GDP ก็แสดงว่าทำให้ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ต้องเหนื่อยไปตามๆกัน

โกจงเสริมว่าอันที่จริงคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหนื่อยมานานแล้ว ตั้งแต่เรื่องการตลาดที่สู้คนอื่นไม่ได้ และไม่มีแพลตฟอร์มดีๆ ให้ใช้ โจทย์ใหม่ของการท่องเที่ยวในเมืองไทยคือไทยเที่ยวไทยและต่างชาติเที่ยวไทยโดยมีสัดส่วน 50:50 เพื่อลดความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจ และควรสร้างให้เกิดความยูนีคแบบ “เราเป็นเราเขาจึงมา” พร้อมใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เช่น ระบบการจ่ายเงิน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล รวมถึงต้อง Upskill และ Reskill บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ต้องทำเมืองน่าอยู่เป็นเมืองน่าเที่ยว ไม่ใช่เมืองน่าเที่ยวแต่กลับไม่น่าอยู่ เอาสิ่งที่เคยมีมาซ่อมสร้างใหม่แล้วร้อยเรียงเรื่องราว “เราเสียเวลาไป 2 ปีแล้วที่ไม่ได้พัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง”

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเรื่องงานฝีมือ แต่สิ่งที่เราแพ้คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและระบบสาธารณูปโภค โกจงให้ตัวอย่างบนเกาะพีพีซึ่งเป็นบ้านของเขาเอง ปี พ.ศ. 2547 สึนามิได้พัดทุกอย่างบนเกาะไปจนราบเรียบ ทุกอย่างต้องสร้างใหม่หมด ทั้งที่ตรงนี้มีโอกาสในการวางผังเมืองให้เป็นระบบ แต่ไม่มีใครทำ สุดท้ายก็สร้างกันสะเปะสะปะเหมือนเดิม ตรงนี้รัฐต้องเข้ามาช่วยคิด แต่ก็ต้องแก้ปัญหาการทำงานแบบบนลงล่างมาก่อนแล้วด้วย ไม่มีใครสามารถทำเองได้เพราะติดกฎข้อบังคับหลายอย่าง ถ้าไม่ช่วยกันถอดบทเรียนและวางแผน เวลาผ่านปัญหาอะไรมาได้ วันหนึ่งก็ต้องกลับไปเจอเหมือนเดิม

การท่องเที่ยวยุคใหม่ ต้องมีอัตลักษณ์

“ประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวแบบ Demand Push เราชอบไปดูว่าเขาอยากได้อะไร เราก็ทำแบบนั้น แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นแบบ Supply Pull คือพยายามพัฒนาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเอง จากนั้นนักท่องเที่ยวก็จะมาเอง”

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากบทความที่อาจารย์มิ่งสรรพ์เคยเขียนบรรยายสภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย อาจารย์พยายามขมวดประเด็นที่ได้จาก ดร.ยุทธศักดิ์และโกจงว่ามีส่วนไหนที่เห็นร่วมกันบ้าง ซึ่งสิ่งที่ทั้งสามคิดตรงกัน ก็คือลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่ง และปรับสินค้าของเราจาก One time product ให้เป็น All time product จากเมื่อก่อนที่ต้องรอนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อซื้อแล้วจากไป เปลี่ยนเป็นสินค้าที่ขายได้ทั้งปี

ยกตัวอย่างเช่นมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเคยมาขี่ช้าง พอเขากลับไปก็เห็นว่ามีลูกช้างตัวเล็กๆ ในสถานที่เดียวกันผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเสนอให้เขาอุปการะลูกช้างตัวนี้ และต้องเลี้ยงดูโดยการซื้ออาหารให้กินอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นอาจทำเสื้อทีเชิร์ตรูปลูกช้างพร้อมชื่อที่เขาตั้งให้ เขาก็อาจจะสั่งซื้อไปให้ตัวเองและคนรอบตัว สินค้าทุกอย่างต้องไม่ใช่แค่บริการ แต่ต้องขายพ่วงอย่างอื่นได้ด้วย แล้วถ้าอยากขายเรื่อยๆ ก็ต้องพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น อย่างเวลาเราไปพิพิธภัณฑ์ จะเห็นว่ามีร้านขายของที่ระลึกซึ่งราคาสูงแต่สวยไม่เหมือนที่อื่น ทุกคนก็จะเข้าไปซื้อเพราะให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง

ต่อไปนี้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อีกหน่อยเราจะรวบรวมข้อมูลท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน แล้วคัดกรองออกมาเป็น Mass Customization จนได้เป็นกลุ่มย่อยที่เฉพาะเจาะจงลง ทัวร์จะถูกลดความนิยมลง นักท่องเที่ยวมักจะมาเอง ฉะนั้นการเพิ่มห่วงโซ่การผลิต ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวความสะดวกมากขึ้น ทั้งการขนส่ง ที่พัก ร้านอาหาร และบริการต่างๆ การผลิตก็จะไม่แคบ ไม่เป็นเศรษฐกิจศาลพระภูมิเหมือนภูเก็ตที่มีอยู่เสาเดียว แต่จะมีกี่ร้อยกี่พันเสาก็ได้

อาจารย์เล่าต่อว่าการท่องเที่ยวหลังจากนี้จะเป็นยุค Post Industrial คนทำงานมีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น จาก Make and Sale จะเป็น Sense and Response จาก Mass Tourism จะเป็น Intensive Tourism นักท่องเที่ยวยุคใหม่จะใจกล้าใจถึง กล้าตัดสินใจ ถ้าเมืองไทยทำการบ้านและปรับปรุงการระบบได้ดี เราก็จะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มา เมืองเราเป็นแบบไหนก็จะได้นักท่องเที่ยวแบบนั้น ถ้าเราเป็นเมืองท่องเที่ยวแสนถูก ก็จะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพถูกๆ แต่การท่องเที่ยวแบบมีอารยะจะดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มและทำให้บรรยากาศของเมืองดีขึ้นด้วย ฉะนั้นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงไม่ได้มีผลดีเพียงเศรษฐกิจ แต่ส่งผลกระทบต่อบริบทางสังคมด้วย

การท่องเที่ยวก็เหมือนกระจกส่องประเทศว่าน่าอยู่แค่ไหน

จากในช่วงแรกที่แขกรับเชิญทั้ง 3 ได้มาสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาเรื้อรังที่กัดกินอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ในครึ่งหลังของการพูดคุย พวกเขากำลังนำเสนอทางออกจากเลนส์ที่ตัวเองสวมใส่อยู่ พวกเขามีทั้งสิ่งที่เห็นตรงกัน และสิ่งที่เห็นแตกต่างกันบ้าง

โกจงคิดว่าตอนนี้เป็นเวลาอันดีที่ทุกคนจะมองเป้าเดียวกัน คือมองหานักท่องเที่ยวคุณภาพสูงหรือนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้รักษาสิ่งแวดล้อม ทุกประเทศพูดเรื่องนี้กันหมด สิ่งที่โกจงเชื่อคือการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็ว ตัวอย่างที่เบตง แค่มีการสร้างสะพานอัยเยอร์เวงก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบให้เอื้อต่อการลงทุน เราไม่เคยมีแผนบูรณาการการท่องเที่ยว เมื่อต้องการรับแขกที่มีคุณภาพ เขาก็ต้องการการดูแลที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน แล้วตอนนี้บุคลากรเราได้รับการ Reskill และ Upskill หรือยัง?

โกจงมักจะยกตัวอย่างเมืองกระบี่ว่าเป็นตัวสร้างสมดุลที่ดี ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนพัทยาที่เป็นเมืองน่าเที่ยว แต่กลับไม่น่าอยู่ วันนี้พัทยาต้องการการซ่อมสร้าง แต่เรายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจน สมมติเราไปต่างประเทศ เราจะรู้แล้วว่าถ้าชอบเที่ยวแบบนี้ให้ไปเมืองไหน การสร้างเรื่องราวของแต่ละจังหวัดเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะเอกชนไปจัดการตรงนี้ไม่ได้ ลูกค้ากลุ่มนี้รู้เยอะ ถ้าไม่พัฒนาเขาก็อาจจะไม่มา

ดร.ยุทธศักดิ์เสริมต่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้างแต่จะทำหรือเปล่า? ภาพที่เห็นเป็นภาพเดียวกันหรือเปล่า? การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต้องมองทั้ง 2 ส่วนคือ Demand กับ Supply ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเมืองไทยรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทเข้ามาหมด ถ้าอยากได้กลุ่ม 5 ดาวก็ต้องสร้างบรรยากาศแบบนั้นให้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราต้องใจแข็ง ของแบรนด์เนมเขาไม่เคยลดราคา สินค้าของเราต้องลดราคาไหม เราไม่ได้ร่วมมือกันรอดแค่ 1-2 ปี แต่ต้องมองไป 5-10 ปีข้างหน้า เป้าหมายของเราคือพยายามกลับมาเป็นที่หนึ่งให้ได้ ต้องหานักท่องเที่ยวที่จะมาสร้างมูลค่าและประสบการณ์ที่แตกต่างนอกเหนือจากราคาที่เราจะได้

ส่วนการซ่อมสร้างก็ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน ททท. เชื่อเสมอว่าเอกชนคือคนสำคัญ อย่างที่โกจงพูดว่าตอนนี้เอกชนกำลังอ่อนแรง อย่างแรกเลยคือต้องทำให้เอกชนลุกขึ้นมาให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปต่อกันในทิศทางที่มองเห็น ถ้าทำแบบเดิมก็เหมือนสูญเสียไปแต่ไม่ได้อะไรกลับมา

สร้าง Tourism Clinic เสริมนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง

โกจงพูดเสริมต่อจากผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขาบอกว่าภาคเอกชนเข้าใจและอยากเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ต้องมีการรวมตัวของนักวิชาการ นักประสบการณ์ และนักการเมือง Pain Point ตอนนี้ที่เขาเห็นคือคนในอุตสาหกรรมเข้าไม่ถึงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช่ โกจงอยากทำ Tourism Clinic เอาไว้สอนการท่องเที่ยวและการตลาด ตอนนี้คือเวลาที่ดีที่สุดแล้วที่จะสำรวจจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ พวกเขาไม่มีใครอยากถอยหลัง อยากเดินไปข้างหน้ากันทุกคน คนในอุตสาหกรรมไม่อยากทำลายธรรมชาติเพราะต้องทำมาหากินกับเขาไปนานๆ

อาจารย์มิ่งสรรพ์เสริมประเด็นต่อจากโกจงเรื่องความร่วมมือของรัฐว่าต้องไม่ทำเองมากเกินไป ต้องปล่อยให้คนอื่นที่มีความถนัดทำบ้าง เช่นเรื่องแอปพลิเคชันที่จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในอนาคต ในตอนนี้บางจังหวัดทำแอปฯ แล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีคนเข้าไปใช้และโดนแฮ็ก รัฐต้องลงทุนพัฒนาให้ตอบโจทย์คนใช้จริง เป็น One Stop Service ครอบคลุมระบบนิเวศในทุกมิติ ส่วนเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ตอนนี้นักท่องเที่ยวเที่ยวแบบระนาบ จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาศูนย์กลางเพื่อให้คนอยากเที่ยวเมืองรอง ต้องทำเมืองให้น่าอยู่เหมือนที่โกจงบอก ที่พักดี ห้องน้ำดี และรองรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วย ต้องมองการท่องเที่ยวเป็นระบบ ไม่ใช่มองเป็นแค่อุตสาหกรรม

เราไม่ควรแข่งกันถูก ดร.ยุทธศักดิ์เสริม ตอนนี้เรื่องที่ต้องจัดการคือ Over Supply ต้องช่วยให้ผู้ประกอบการเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ เช่น เพิ่มเรื่องสุขภาพไปในโปรแกรมท่องเที่ยว หรือส่งเสริมการเที่ยวเมืองรองเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ นักท่องเที่ยวหลายคนอยากไปเที่ยวเมืองรอง แต่ติดเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่อาจยังไม่พร้อม ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างแบรนดิ้งให้ดีขึ้น

ถ้ามีการนำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง ดร.ยุทธศักดิ์อยากนำเสนอหลักการ ‘3i’ คือ

      1. Digital Industry ใครทำ-ใครใช้
      2. Digital Invest ใครให้งบนำมาใช้ในการลงทุน
      3. Digital Innovation ใช้นวัตกรรมอะไร

สิ่งเหล่านี้ต้องทำทันที ต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนและเลือกพื้นที่นำร่องก่อน ถ้าไม่ทำ พอนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็จะทำเหมือนเดิม ดร.ยุทธศักดิ์ยอมรับว่าตอนนี้ก็พร้อมในการเริ่มต้น แต่อยากให้เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง

เราไม่ควรต้องสูญเสียกันมากมายขนาดนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย อย่างน้อยๆ หากเราสามารถถอดบทเรียน และคุยกันมากขึ้นว่าอนาคตการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทยช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยั่งยืน และนำพาประเทศไปข้างหน้า ถ้าเราได้เริ่มคุยกัน อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มต้นแล้ว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า