Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศถูกพัฒนาไปไกลมากในหลายประเทศ อย่างโครงการ dearMoon ทริปโคจรรอบดวงจันทร์ที่จัดโดย SpaceX ของอีลอน มัสก์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจริงในปีนี้ และยังมีบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่ทำธุรกิจนี้เช่นกัน 

ทำให้ดูเหมือนว่า การไปอวกาศดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก แล้วประเทศไทยล่ะ? อยู่จุดไหน และมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนกับธุรกิจทัวร์อวกาศ TODAY Bizview จะสรุปให้ฟังในบทความนี้

[ ไทยยังห่างไกลกับคำว่า ‘อุตสาหกรรมทัวร์อวกาศ’ มาก ]

ถึงแม้ประเทศไทยไม่เคยมีทัวร์อวกาศ หรือเคยส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ แต่ไทยก็มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้อยู่พอสมควร ตั้งแต่ปี 1991 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจร นั่นก็คือ ‘ดาวเทียมไทยคม’ 

ทำให้หลังจากนั้นเอง ประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อพัฒนาให้ระบบอินเทอร์เน็ตมีความเร็วที่สูงขึ้น หรือจะเป็นระบบทีวีดิจิทัลที่ถูกใช้อยู่ทุกวันนี้ รวมไปถึงบริการอื่นๆ อีกด้วย ปัจจุบันไทยมีดาวเทียมไทยคมให้บริการอยู่ 4 ดวง คือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์), ไทยคม 6, ไทยคม 7 และไทยคม 8

ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เผยอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศไทย ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 ราย และมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ 90% ของมูลค่าตลาด มาจากการซื้อขายชิ้นส่วนดาวเทียมจากบริษัทต่างชาติ รวมไปถึงการบำรุงรักษา 

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก ที่ไทยจะมีโอกาสในอุตสาหกรรมทัวร์อวกาศ เพราะไทยยังมีอุปสรรคหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคลที่ยังขาดแคลนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เรียนจบสายฟิสิกส์ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ต่างๆ

นอกจากนี้ ไทยยังขาดความพร้อมด้านธุรกิจ ไม่มีกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำอย่างจริงจัง เพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัยความรู้เทคโนโลยีระดับสูง หรือ Deep Tech ถึงแม้ตอนนี้อาจจะมีสตาร์ทอัพในวงการอวกาศให้เห็นแล้วบ้างในไทย แต่ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนในการทำวิจัยจำนวนมาก พูดง่ายๆ คือ มากกว่ากลุ่มที่ทำแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ 2-3 เท่า 

[ ทำความรู้จักกับ ‘การเดินทางไปอวกาศ’ ]

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และ องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้นิยามการเดินทางไปอวกาศ คือการเดินทางทางอากาศที่ระยะความสูงเกิน 50 ไมล์เหนือระดับน้ำทะเล แต่เรื่องนี้ยังมีการถกเถียงอยู่พอสมควร เพราะผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การเดินทางออกจากเส้น Kármán ที่ระยะความสูง 60 ไมล์เหนือระดับน้ำทะเล ก็คือการเดินทางสู่อวกาศ

ส่วนรูปแบบการบินไปอวกาศจะมีอยู่ 2 ประเภท นั่นก็คือ ‘Orbital Flight’ และ ‘Suborbital Flight’ โดย Orbital Flight จะเป็นการบินยานอวกาศรอบโลกด้วยความเร็วที่สูงกว่าความเร็วโคจรรอบโลก หรือเพียงพอที่จะไม่ตกกลับสู่โลก  ส่วน Suborbital Flight จะไม่ได้มีการบินโคจร แต่จะบินขึ้นไปตรงๆ เปรียบเสมือนการกระโดดขึ้นสู่อวกาศ และใช้ความเร็วที่ต่ำกว่า Orbital Flight ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่บริษัทท่องเที่ยวอวกาศเอกชน

ในปัจจุบัน บริษัทท่องเที่ยวอวกาศ มีผู้เล่นหลักอยู่จำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น Blue Origin บริษัทท่องเที่ยวอวกาศของ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ซึ่งหากใครที่ต้องการจะเดินทางไปยังอวกาศกับ Blue Origin จะต้องจ่ายค่าตั๋วราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านดอลลาร์ ไปจนถึงมากสุด 28 ล้านดอลลาร์ หรือเริ่มต้นราว 34 ล้านบาท ไปจนถึง 950 ล้านบาท 

ส่วน Virgin Galactic ของ Richard Branson ราคาเริ่มต้นที่ 4.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 15.28 ล้านบาท โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา Virgin Galactic ได้นำผู้โดยสาร เดินทางขึ้นสู่อวกาศอย่างปลอดภัย และทำระยะทางได้ประมาณ 53 ไมล์ ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่วัน Jeff Bezos และผู้โดยสารอีก 3 คน ก็ไปอวกาศได้อย่างสำเร็จเช่นกัน และทำระยะทางได้ไกลถึง 62 ไมล์ 

แต่บริษัทที่เดินทางแบบ Orbital Flight แบบเต็มรูปแบบ ต้องยกให้ SpaceX ของ Elon Musk ที่ทำการบินครั้งแรกได้ไกลถึง 120 ไมล์ มากกว่าอีก 2 บริษัทรวมกัน ส่วนราคาค่าเดินทางของ SpaceX เริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบล้านดอลลาร์ ไปจนถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 339 ล้านบาทจนถึง 3.4 แสนบาทเลยทีเดียว

[ จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวอวกาศ และสถานการณ์ในปัจจุบัน ]

ช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 โครงการ Apollo หรือโครงการการบินอวกาศ ที่ดำเนินการโดย NASA ได้ส่งนักบินอวกาศไปสำรวจอวกาศ และโคจรรอบดวงจันทร์ โดยในทริปนั้น มีนักบินอวกาศทั้งหมด 24 คน  และมีนักบินที่ได้ลงไปเหยียบบนดวงจันทร์ถึง 12 คนด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์

ต่อมาในปี 2001 เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการท่องเที่ยวในอวกาศ โดย Dennis Tito ผู้ประกอบการชาวอเมริกัน ได้ริเริ่มไปเที่ยวอวกาศด้วยยานอวกาศ Soyuz  (โซยุซ) ของรัสเซีย ที่จัดขึ้นโดยบริษัท Space Adventures โดยมีรายงานเผยว่า Tito ได้ให้ทุนสนับสนุนถึง 20 ล้านดอลลาร์สำหรับการบินในครั้งนั้น และยังใช้เวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ด้วย 

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเอง ทำให้หลายคนมีแรงบันดาลใจ อยากขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์บนอวกาศบ้าง จนตอนนี้การท่องเที่ยวในอวกาศเริ่มดูจะเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศเติบโตอย่างรวดเร็ว เร็วขนาดที่มีนักเชี่ยวชาญเคยบอกว่า ในเวลาเพียงไม่กี่ปี การเดินทางไปยังอวกาศจะเป็นเรื่องง่ายเหมือนการจองเที่ยวบินไปยุโรป 

ข้อมูลจาก Grandview Research บอกว่า ในปี 2021  มีการบินไปยังอวกาศไปทั้งหมด 146 ครั้ง โดย 51 ครั้งมาจากสหรัฐอเมริกา 55 ครั้งจากจีน และ 25 ครั้งจากรัสเซีย โดยการบินเชิงพาณิชย์กินส่วนแบ่งมากถึง 56.7% ส่วนรูปแบบการบิน Suborbital Flight กินส่วนแบ่งตลาดถึง 49.5% อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีแนวโน้มว่า Orbital Flight จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด

ส่วนในปี 2022 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดการท่องเที่ยวอวกาศทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 695.1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.36 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2030 มูลค่าจะแตะ 8.67 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.94 แสนล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (ระหว่างปี 2022-2030) อยู่ที่ 37.1%

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการมองว่า การท่องเที่ยวอวกาศยังคงอยู่ในช่วงของการตั้งไข่ เพราะยังมีหลายอย่างที่ต้องทำอีกมาก อย่างบริษัทท่องเที่ยวอวกาศรายใหญ่ๆ ยังอยู่ในช่วงปรับแต่งยานพาหนะอยู่เลย และบางบริษัทยังต้องรอการอนุมัติจาก FAA เพื่อเริ่มดำเนินการต่อไปด้วยซ้ำ

[ dearMoon Project ภารกิจเยือนดวงจันทร์ ]

โครงการ dearMoon ถูกพูดถึงครั้งแรก ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2018 โดยมี ยูซากุ มาเอซาวา (Yusaku Maezawa) มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและนักสะสมผลงานศิลปะ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ ที่ได้คิดค้นและให้ทุนสนับสนุนโครงการนี้ โดยมาเอซาวาได้มอบเงินให้กับ SpaceX ประมาณ 500-1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะใช้ยานอวกาศ Starship ของ SpaceX

วัตถุประสงค์ของโครงการ dearMoon คือการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวในอวกาศ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมเดินทางทุกคน ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้คนรุ่นใหม่อยากสำรวจอวกาศ 

สำหรับผู้ร่วมเดินทางในโครงการนี้จะมี มาเอซาวา ลูกเรือ 1-2 คน และศิลปินในสาขาต่างๆ อีก 8 คน ที่จะถูกคัดเลือกจากการสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เปิดให้สมัครตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา โดยยอดการสมัครมีมากกว่า 1 ล้านคน จาก 249 ภูมิภาคทั่วโลก โดยผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

ซึ่งช่วงเดือนธันวาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา มาเอซาวาได้ประกาศรายชื่อผลการคัดเลือกศิลปินที่จะได้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น T.O.P หรือ ชเว ซึง-ฮย็อน (Choi Seung Hyun) แรปเปอร์สมาชิกวง BigBang จาก เกาหลีใต้, Tim Dodd ยูทูปเปอร์สายอวกาศและวิศวกรรมจรวด จากช่อง ‘Everyday Astronaut’, และ Steve Aoki ดีเจและโปรดิวซ์เซอร์ 

โดยการเดินทางจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 6 วัน ก่อนที่จะกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย และหลังจากการบินในครั้งนี้ จะมีงานศิลปะจัดแสดงขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมสันติภาพทั่วโลกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศชื่อแล้ว แต่ยานอวกาศ Starship ของ SpaceX ก็ยังไม่ผ่านการทดสอบเที่ยวบินในระดับวงโคจร เพราะยังติดปัญหาการขอใบอนุญาตขึ้นบินทดสอบจาก FAA ทำให้โครงการ dearMoon อาจจะต้องถูกเลื่อนจากกำหนดการณ์ออกไป แต่ถ้าโครงการนี้สามารถดำเนินไปด้วยดี SpaceX อาจกลายเป็นบริษัทอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลกที่สามารถพาพลเรือนไปเที่ยวโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ไม่ใช่เพียงการส่งคนไปเยี่ยมชมอวกาศเฉยๆ

[ การท่องเที่ยวอวกาศ มีความสำคัญอย่างไร? แล้วกระทบสิ่งแวดล้อมแค่ไหน? ]

Rui Alves เขียนในบทความจาก Medium ว่า การท่องเที่ยวในอวกาศจะส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดที่สูง ผลักดันให้บริษัทท่องเที่ยวอวกาศพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว 

ถึงแม้ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่า การท่องเที่ยวอวกาศจะช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ที่สำคัญแก่นักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ แต่ข้อมูลอาจนำมาใช้สำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคต ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล รวมถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 

ที่สำคัญ การเดินทางในอวกาศอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการปล่อยจรวดสร้าง carbon footprint ปริมาณมหาศาล รวมถึงการปล่อยเขม่าที่อาจทำร้ายชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์และชั้นโอโซน จากการศึกษาในปี 2010 พบว่าเขม่าที่ปล่อยออกมาจากเที่ยวบินท่องเที่ยวอวกาศ 1,000 เที่ยวอาจทำให้แอนตาร์กติกาอุ่นขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนาพอ ทำให้การออกแบบส่วนประกอบของจรวดต่างๆ ใช้ครั้งเดียวและทิ้งเลย ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทก็หันมาออกแบบส่วนประกอบบางอย่าง เช่น บูสเตอร์ หรือถังเชื้อเพลิง และผลิตจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ถือเป็นการลดขยะได้บางส่วน หรือจะเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่จาก Falcon-9 ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 100 ครั้ง

ถึงแม้วันนี้ อาจจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับการท่องเที่ยวอวกาศ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมนี้เติบโตเป็นอย่างมาก และได้พัฒนาไปอีกหลายขั้น และยังมีการพูดถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยทำให้การโคจรรอบดวงจันทร์โดยพลเรือน ก็ดูจะเป็นไปได้จริงมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อว่า แล้วประเทศไทยหล่ะ จะมีโอกาสไปดวงจันทร์เหมือนโลกได้หรือเปล่า? 

ที่มา : 

https://spaceth.co/dear-moon-finalists/  

https://www.beartai.com/brief/sci-news/1182660  

https://www.britannica.com/story/how-many-people-have-been-to-the-moon  

https://dearmoon.earth/  

https://www.rd.com/article/space-tourism/  

https://spoc.rtaf.mi.th/index.php/2019-09-04-02-55-55/2019-isr-spoc-rtaf/39-spoc-main/q-n-a-isr/426-karman-line  

https://www.longtunman.com/36137  

https://spaceflightnow.com/2022/08/04/blue-origin-ns-22-live-coverage/  

https://www.afar.com/magazine/space-tourism-the-past-present-and-future  

https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/space-tourism-market-report  

https://finty.com/us/business-models/spacex/  

https://www.nytimes.com/2022/05/07/travel/space-travel-tourism.html  

https://www.sciencefocus.com/science/environmentally-friendly-space-travel/  

https://www.vox.com/recode/22589197/space-travel-tourism-bezos-branson-rockets-blue-origin-virgin-galactic-spacex 

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1027147  

https://workpointtoday.com/thai-space-economy/  

https://medium.com/illumination/space-tourism-the-pros-and-cons-of-the-ultimate-luxury-travel-26e7b2fa9311 

#TODAYBizview

#MakeTomorrowTODAY

#สาระความรู้เพื่อวันนี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า