Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดใจในการแถลงข่าววันนี้ (15 ม.ค. 2567) โดยตอบประเด็นร้อนทั้งการไม่ลดดอกเบี้ยในขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี พร้อมรับปากจะดูแลกำไรของกลุ่มธนาคาร

‘ปิติ ดิษยทัต’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกตั้งคำถามว่าสูงเกินไปหรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และเงินเฟ้อติดลบ ควรจะลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น

ธปท.เข้าใจและเห็นใจหลายคนที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมานาน มีปัญหาปากท้องและมีความท้าทายในหลายๆ ด้าน ซึ่งทาง ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้นิ่งนอนใจว่าเศรษฐกิจดีแล้วและไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาของเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สะสมมา และการที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแบบทั่วถึงนั้น เป็นสิ่งที่นโยบายการเงินไม่สามารถจะแก้ได้ง่ายๆ เพราะหลายอย่างต้องใช้ยาที่ตรงกับต้นตอของปัญหา

‘การใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ย มีต้นทุนและมีความเสี่ยง ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง ความเสี่ยงนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของเงินเฟ้อ แต่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างปัญหาที่จะตามมาภายหลัง ซึ่งยากที่จะแก้ เช่น การก่อหนี้เกินตัว’

ภายใต้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Targeting) แบบยืดหยุ่นที่ ธปท.และธนาคารกลางต่างประเทศดำเนินการมา ก็ไม่ได้ดูเพียงเงินเฟ้อระยะสั้น แต่ต้องดูและช่างน้ำหนักหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน และต้องมองไปข้างหน้าในระยะปานกลางด้วย เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลาก่อนส่งผ่านไปเศรษฐกิจจริง

ทั้งนี้ นโยบายการเงินจะพิจารณา 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว นำโดยการกลับมาของนักท่องเที่ยว ภาคบริการ และอุปสงค์ภายในประเทศ โดยฟื้นตัวกลับมาเกินช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง เช่น รายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระยังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควรและยังไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่สมดุล เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจยังไม่กลับมาครบครันทุกเครื่อง เช่น ภาคการผลิตและภาคการส่งออกที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวขึ้นนั้นเน้นภาคบริการเป็นหลัก

แม้แบงก์ชาติจะมองว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น โดยการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออก แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจทำให้ประโยชน์ที่เราได้จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีไม่มากเท่าที่ควร

‘ถ้าถามว่า ทำไมเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดและไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น เพราะเหตุผลของการที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศ หรือปัจจัยต่างประเทศที่นอกเหนือการควบคุม อัตราดอกเบี้ยไม่สามารถจะทำให้เรามีสินค้าส่งออกที่ซับซ้อน ไฮเทคมากขึ้น ไม่สามารถเพิ่มเสน่ห์การท่องเที่ยวไทยได้’

2. เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน การที่เงินเฟ้อปรับลดลงมาเป็นข่าวดี สะท้อนว่าประชาชนไม่ได้มีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าครองชีพที่สูง กระบวนการลดลงของเงินเฟ้อที่ผ่านมาของประเทศไทยถือว่าเร็วและดีกว่าต่างประเทศค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป

การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำหรือติดลบเล็กน้อย สะท้อนระดับราคาที่ไม่ได้เพิ่มภาระให้กับประชาชน อีกส่วนสะท้อนว่าสินค้าบางประเภทที่เคยปรับขึ้นเยอะจากปัญหาอุปทาน การที่ปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายลงในตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ การปรับลงและติดลบของเงินเฟ้อเป็นภาพที่ กนง.ประเมินเอาไว้แล้ว โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากอาหารสดและราคาพลังงาน เป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่เข้ามาอุดหนุน หากหักผลของมาตรการออกไป เงินเฟ้อจะยังบวกอยู่ แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน

หากพิจารณารายสินค้า จะเห็นว่าประมาณ 75% ราคายังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ ดังนั้น การที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบ ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าปรับตัวลดลงถ้วนหน้า ไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่หดไป ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

‘ถ้าถามว่าทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วไม่ลดอัตราดอกเบี้ย หลักๆ มี 4 เหตุผล คือ 1) ปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน 2) การลดนี้ไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่ว 3) เงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวที่ 2% และ 4) การลดลงของเงินเฟ้อส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาอุปทานที่คลี่คลายลงในบางสินค้า’

ทั้งนี้ กนง.คาดการณ์เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องในเดือน ก.พ. ก่อนจะขยับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมายในปีนี้ที่ 1-2%

3. เสถียรภาพของการเงิน ซึ่ง กนง.จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างหนี้ที่เพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์ และการแสวงหาผลกำไร (Search for Yield) โดยปัญหาที่ไทยเผชิญ ณ ตอนนี้ คือหนี้ระดับสูง

นอกจากจะฉุดรั้งกำลังซื้อของประชาชนแล้ว ยังสร้างความเปราะบางให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ลดความสามารถในการรองรับ Shock หรือแรงกระแทกที่มาจากข้างนอก ดังนั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย จะต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วย

อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดควรจะสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจที่แท้จริง หากกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการกู้ยืมทรัพยากรหรือรายได้ในอนาคตมาใช้ในวันนี้

หากรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ โดยตอนนี้ประเทศไทยเผชิญภาวะหนี้ระดับสูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ แม้ช่วงหลังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ไม่สามารถสร้างศักยภาพรายได้ในอนาคต

ดังนั้น การจะบรรลุ 3 เป้าหมาย กนง.จะต้องพิจารณาภาวะการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาหลายมิติ นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย จะต้องผสมผสานเครื่องมืออื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดมากกว่า

‘การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ก็ต้องพยายามให้มันอยู่ในระดับที่พอดี ไม่สูงเกินไปที่จะเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ ไม่ต่ำเกินไปที่จะสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพ ทั้งภายในและในต่างประเทศ และไม่สะสมความไม่สมดุลทางการเงิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินพร้อมที่จะดูข้อมูลที่เข้ามาและปรับจุดยืนนโยบาย หากคิดว่าเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับการประเมินภาพเศรษฐกิจว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

เมื่อถามถึงประเด็นกำไรของกลุ่มธนาคารที่อยู่ในระดับสูงเกินไปหรือไม่นั้น ธปท. ระบุว่า ธปท.และธนาคารพาณิชย์มีการหารือกันมากขึ้นหลังเกิดประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้และเงินฝาก (NIM) ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเรื่องของการบริหารสินทรัพย์หนี้สิน ซึ่งต้องเข้าไปดูว่ามีตัวไหนที่จะทำให้รายรับด้านดอกเบี้ยหายไปได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่นช่วงที่ผ่านมาที่ไม่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้น จะเป็นส่วนหนึ่งให้รายรับด้านดอกเบี้ยหายไปเช่นกัน

ขณะที่การสร้างแข่งขันเพื่อให้การนำเสนอบริการถูกลงนั้น ปัจจุบัน ธปท.ให้ใบอนุญาตธนาคารเพิ่มเติมผ่านธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นและจะมอนิเตอร์ต่อเนื่องต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า