Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ฉันชื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก ฉันอายุ 16 ปี และมาจากประเทศสวีเดน ทุกๆ วันศุกร์ฉันหยุดเรียนเพื่อไปประท้วงเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่อาคารรัฐสภาสวีเดน พร้อมๆ กันกับเยาวชนอีกหลายหมื่นคนทั่วโลก

หากจะพูดถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้ ชื่อของเด็กสาวชาวสวีเดนวัย 16 ปี เกรต้า ธันเบิร์ก คงจะเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง

เกรต้า ธันเบิร์ก คือผู้ริเริ่มขบวนการ หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike) หรือขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) ซึ่งเป็นขบวนการที่กลุ่มนักเรียนทั่วโลกนัดกันหยุดเรียนทุกวันศุกร์และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ผู้นำโลก นักการเมืองและรัฐบาลในประเทศของตนดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงการเลือกตั้งของสวีเดนในปี 2018 เกรต้าตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาประท้วงที่หน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนทุกวัน นาน 3 สัปดาห์ ซึ่งในขณะนั้นเธอเริ่มต้นประท้วงด้วยตัวคนเดียว เธอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน

จากการประท้วงที่เริ่มต้นด้วยเด็กสาวธรรมดาๆ คนหนึ่ง ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวในระดับโลก การเคลื่อนไหวของเกรต้าได้สร้างการตระหนักรู้ในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่  ในปี 2019 จำนวนผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว Climate Strike เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2 ล้านคนใน 135 ประเทศทั่วโลก

ในประเทศไทยเอง ก็มีการนัดกันหยุดเรียนเพื่อทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่องด้วยเหมือนกัน เช่น ในกรุงเทพมหานคร และ เชียงใหม่ เป็นต้น (https://www.instagram.com/climatestrike_thailand/)

เกรต้า ธันเบิร์ก เกิดและเติบโตที่ประเทศสวีเดน เธอเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง โดยคุณแม่ของเธอ มาเลนา เอิร์นแมน (Malena Ernman) เป็นนักร้องโอเปร่าชื่อดัง ส่วนคุณพ่อ สวานเต ธันเบิร์ก (Svante Thunberg) เป็นนักแสดง และคุณปู่ โอลอฟ ธันเบิร์ก (Olof Thunberg) เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับ

ที่น่าสนใจคือบรรพบุรุษทางฝ่ายคุณพ่อ เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ.1903 และเป็นผู้ที่ค้นพบข้อสรุปที่ว่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์เป็นคนก่อในชั้นบรรยากาศนั้น จะส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น หรือเกิดสภาวะโลกร้อนนั้นเอง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกรต้าหันมาสนใจประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศ คือตอนเมื่อเธอได้เรียนรู้วิธีประหยัดพลังงานที่โรงเรียน โดยขณะนั้นเธอเรียนอยู่เกรด 3 และมีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เธอได้รับรู้เกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือสภาวะโลกร้อน

เธอถูกสอนให้ปิดไฟเพื่อประหยัดพลังงาน ถูกสอนให้นำกระดาษกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่งผลให้เธอเริ่มตั้งคำถามว่า หากมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้จริง แต่ทำไมผู้คนกลับไม่มีใครสนใจและไม่มีใครพูดถึง

เมื่อเกรต้าอายุ 11 ปี เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger Syndrome) ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก นอกจากนั้นเธอยังเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และมีปัญหาด้านการพูด (selective mutism) กล่าวคือเธอจะพูดต่อเมื่อเธอคิดว่าจำเป็นเท่านั้น

แต่การเป็นโรคนี้กลับไม่ได้เป็นปัญหากับเธอแต่อย่างใด เกรต้ากล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยออทิสติกสามารถจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนใจได้นานๆ ส่งผลให้เธอสามารถจดจ่อและศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างลึกซึ้งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา

และนอกเหนือจากการพูดเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนจนกลายเป็นคนดังระดับโลกแล้ว เธอยังได้ลงมือปฏิบัติ โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเองด้วย

เกรต้าหยุดรับประทานเนื้อสัตว์ หยุดซื้อของที่ไม่จำเป็น และในปี 2015 เธอหยุดเดินทางด้วยเครื่องบิน  โดยครอบครัวของเกรต้าก็ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วย ด้วยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เดินทางด้วยจักรยาน ใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในยามจำเป็นเท่านั้น รวมถึงปลูกผักกินเองในครอบครัว

เกรต้ายังได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อรณรงค์และเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลก นักการเมือง และผู้คนทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเธอได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการประชุมระดับนานาชาติหลายเวที เช่น การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 หรือ COP24  และการประชุมผู้นำเศรษฐกิจของโลก หรือ WEF ในปี 2018

และหนึ่งในสุนทรพจน์ที่ตราตรึงใจและกลายเป็นกระแสไปทั่วทั้งโลก คือครั้งที่เธอพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป

ป่าถูกทำลาย อากาศเป็นมลพิษ แมลงและสัตว์ป่าสูญพันธุ์ มหาสมุทรถูกทำให้เป็นกรดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มอันหายนะ ซึ่งถูกเร่งโดยวิถีการดำรงชีวิตของพวกเรา พวกเราโชคดีที่เกิดมาในส่วนที่มั่งคั่งของโลก ทำให้เห็นว่ามันเป็นสิทธิของเราที่จะดำเนินชีวิตแบบเดิมต่อไป

นอกจากนี้เกรต้ายังได้เข้าพบและกล่าวกับนักการเมืองและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์แห่งสหราชอาณาจักร ที่กรุงลอนดอน

พวกคุณหลายคนดูเหมือนจะกังวลว่า พวกเรากำลังสูญเสียเวลาเรียนหนังสืออันมีค่ายิ่ง แต่ฉันให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่า พวกเราจะกลับไปเรียนหนังสือ ต่อเมื่อคุณรับฟังวิทยาศาสตร์และให้อนาคตแก่พวกเรา พวกเราขอมากเกินไปรึเปล่า?

การเคลื่อนไหวที่ทรงพลังของเกรต้าทำให้เธอได้รับรางวัลเสรีภาพ (Freedom Prize) ในประเทศฝรั่งเศส โดยงานมอบรางวัลถูกจัดขึ้นที่แคว้นนอร์มังดีในวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

รางวัลนี้ไม่ได้เป็นรางวัลสำหรับฉันเพียงเท่านั้น แต่เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ร่วมกันเคลื่อนไหวในขบวนการ Fridays For Future ทุกคน เพราะว่าเราได้ประสบความสำเร็จร่วมกัน

นอกจากนี้ เกรต้า ธันเบิร์ก ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2019 โดยสมาชิกรัฐสภานอร์เวย์ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเคลื่อนไหวของเธอ ซึ่งหากได้รับรางวัล เธอจะเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุดที่เคยมีมา

และการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของเธอ ได้สร้างความสนใจให้ผู้คนทั่วทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อเธอเลือกที่จะเดินทางโดยเรือใบ Malizia II ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากเมืองพลีมัท สหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนกันยายนนี้

โดยเธอให้เหตุผลในการเลือกเดินทางด้วยเรือแทนที่จะนั่งเครื่องบินว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเธอในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเรือใบที่เธอโดยสารนั้นใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และกังหันไฟฟ้าใต้น้ำ

เกรต้า เดินทางถึงนครนิวยอร์กเมื่อวันวันพุธที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการต้อนรับและการสนับสนุนของประชาชนหลังจากการเดินทางนาน 2 สัปดาห์

การเดินทางเป็นไปได้ด้วยดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ฉันไม่รู้สึกแย่เลย ฉันรู้สึกดีและสนุกไปกับมัน ถึงแม้จะมีช่วงที่ลำบากบางครั้ง แต่มันก็ผ่านไปได้ด้วยดีอย่างเหลือเชื่อ และโชคดีมากที่ฉันไม่ได้รู้สึกคลื่นไส้ แน่นอนว่ามันอาจจะดูแปลกสำหรับทุกคน แต่สำหรับฉันแล้วนั้นมันดีมากจริง ๆ

หลังจากถึงนิวยอร์กแล้ว เกรต้าได้พักผ่อนเล็กน้อย และได้เข้าร่วมการประท้วงที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติกับกลุ่มเยาวชนชาวอเมริกัน

จากเด็กสาวธรรมดาผู้สนใจประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นผู้จุดประกายการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่สำคัญที่สุดการเคลื่อนไหวหนึ่งในยุคนี้  แสดงให้เห็นว่าหากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ คนธรรมดาก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยไม่ต้องรอให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเป็นคนเริ่ม

นานเกินไปแล้ว ที่นักการเมืองและผู้ที่มีอำนาจลอยนวลโดยการไม่ลงมือทำอะไรเพื่อต่อสู่กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเราจะทำให้มั่นใจว่า พวกเขาจะไม่สามารถหนีปัญหานี้ได้อีกต่อไป พวกเราจะหยุดเรียนและออกมาประท้วง จนกว่าพวกเขาจะทำอะไรซักอย่างเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า