Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กรมการขนส่งทางบก คาดอีก 1 ปีใบขับขี่ใหม่-ค่าปรับใหม่เพดานตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท มีผลบังคับใช้ หวังอุดช่องเด็กต่ำกว่า 15 ปี ตายจากอุบัติเหตุปีละกว่า 2,000 คน ขณะตำรวจจะไม่มีโอกาสเรียกรับผลประโยชน์จากค่าปรับ เพราะส่งเข้ากระบวนการชั้นศาล

วันนี้ (24 ส.ค.2561) นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กฎหมายด้านการขนส่งทางบกฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ซึ่งการขอแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีส่วนในการสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสการเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า

และจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุดเฉลี่ยปีละ 1,688 คน ทั้งนี้จากการศึกษาจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พบว่ากรณีความผิดเกี่ยวกับการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถในประเทศญี่ปุ่น มีโทษปรับไม่เกิน300,000 เยน (88,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และถูกตัดแต้ม 12 คะแนน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (800,000บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิตด้วย

“รถจักรยานยนต์ 20 ล้านคันที่จดทะเบียน มีใบอนุญาตขับขี่แค่ 12 ล้านฉบับ และมีช่องว่างที่ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่นำรถของพ่อแม่มาขับขี่ ดังนั้นจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการพิ่มการอบรมให้กับเด็กกลุ่มนี้ ” กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าว

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยต่อไปว่า เพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของ กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งรวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้มากขึ้น รวมถึงปรับบทลงโทษกรณีผู้ขับขี่กระทำผิด โดยความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ เสนอให้ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมที่ปัจจุบันตาม พรบ.รถยนต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และพรบ.ขนส่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท,

ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมตามพรบ.รถยนต์มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พรบ.ขนส่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และพรบ.จราจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ ไม่เกิน 40,000 บาท ,

ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปรับโทษสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จากเดิมตาม พรบ.รถยนต์ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และพรบ.ขนส่ง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฉบับใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

ทั้งนี้ จากการเสนอแก้ไขปรับเพิ่มโทษกรณีความผิดดังกล่าว จะทำให้การพิจารณาโทษตามฐานความผิดอยู่ในดุลพินิจของชั้นศาล ซึ่งจะทำให้ ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่ผู้ขับขี่ ซึ่งต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างทั่วถึง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ได้นำสถิติเรื่องของความสูญเสียชีวติบนท้องถนน พบว่า ใบขับขี่คือ เครื่องมือในการเตรียมความพร้อมของคนที่จะขับขี่ยานพาหนะออกสู่ท้องถนน เพราะจากสถิติพบว่า เด็กที่ขับขี่ จยย. อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ โดยเรียนรู้การขับขี่ จยย. จากครอบครัว และเพื่อน แต่ไม่ได้เรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยและถูกต้อง จึงต้องมีการรณรงค์ให้มีการขับขี่มีคุณภาพ ลดการสูญเสีย ดังนั้น ใบขับขี่ จึงต้องออกยาก และยึดคืนง่าย และหากมีการบังคับใช้จริง จะตัดวงจรกลุ่มเด็กต่ำกว่าอายุ 15 ปีที่เสียชีวิต เพราะเดิมบทลงโทษแทบจะไม่มีผลทั้งต่อครอบครัวและการบังคับใช้จริง แต่ถ้าเพิ่มโทษจริง และเข้าสู่ชั้นศาล อย่างน้อย ผู้ปกครองที่เป็นเจ้าของรถก็ต้องรับผิดชอบ

“จากสถิติพบว่ามีเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตตัวเลข 1,688 คน แต่ถ้าขยับช่วงอายุ 15-25 ปี จะพบว่าส่วนหนี่งไม่มีใบขับขี่ ถ้ามีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเราสามารถลดการเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน”

ทางด้าน รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้นำสถิติของผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ บนถนนสาธารณะ ซึ่งได้สุ่มเก็บตัวอย่างประมาณ3000 คน เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ขับขี่รถกระบะ 5% ไม่มีใบขับขี่ รถยนต์ 9% ไม่มีใบขับขี่ และ รถจักรยานยนต์ ไม่มีใบขับขี่ถึง30% เมื่อดูสถิติการเสียชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พบว่า 60% ของผู้เสียชีวิต นั้นไม่มีใบขับขี่ มนจำนวนนั้นเป็นผู้ที่อายุต่ำกว่า 24 ปี

ขณะที่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผบก.ส.3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชนภาพรวมบนถนนสาธารณะ ต่อไปหากกฎหมายใหม่ เรื่องไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะต้องส่งศาลพิจารณาอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ

ส่วนกรณีที่หลายคนมีความกังวลว่า อัตราโทษปรับเรื่องการไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ที่มีอัตราสูงถึง50,000 บาท ว่าจะเป็นช่องว่างให้ตำรวจ กระทำการทุจริตหรือไม่นั้น ในเรื่องดังกล่าว ผบ.ตร. กำหนดมาตรการชัดเจน ว่าหากมีการตรวจสอบพบการกระทำผิดของตำรวจจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและวินัยอย่างเข้มงวด หากใครทำผิดจะไม่มีการช่วยเหลืออย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในการเปรียบเทียบปรับ จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและไม่ให้เป็นภาระของประชาชน มากเกินไป ซึ่งปัจจุบันหากไม่พกใบอนุญาตขับขี่ จะปรับไม่เกิน 1,000 บาท

“เดิมพ.ร.บ.จราจรโทษสุงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แต่ปรับจริงแค่ 500 บาท และในกฎหมายใหม่ ตำรวจไม่มีสิทธิ์ปรับ การพิจารณาอัตราโทษตามเพดาน 10,000-50,000 บาท ขึ้นกับดุลยพิจนิจของศาล ใบขับขี่ใหม่จะลงโทษเหมือนกับกรณีเมาแล้วขับถูกปรับ”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า