Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=LdZh6xWM3ds&feature=youtu.be

บ่ายวันอังคาร หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกในวันก่อนหน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่เวิร์คพอยท์เพื่อให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว

ประเด็นสำคัญที่ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ต้องถาม คือเรื่องของจุดยืนในการจับมือกับขั้วการเมืองอื่นในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งจากคำตอบวันนี้คุณอภิสิทธิ์ยังไม่ตอบว่าจะเลือกใครระหว่าง “เพื่อไทย” หรือ “พลังประชารัฐ” โดยบอกว่า “ให้เราไปร่วมรัฐบาลโกงกิน ไม่เอา และไม่ร่วมรัฐบาลที่ทำเศรษฐกิจล้มเหลว สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไม่เอาครับ”

ประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรถึงจะไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ หากมีแนวโน้มว่าหลังการเลือกตั้งต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่น

อภิสิทธิ์ : ยืนยันว่า เป้าหมายคือการเข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล วิธีการคือต้องได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด หน้าที่เราคือนำเสนอแนวคิดนโยบายว่า นั่นคือคำตอบสำหรับประเทศ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็สนับสนุนเรามากๆ เราก็จะอยู่ในฐานะที่จะไปจัดตั้งรัฐบาล นี่คือคุณค่าของกระบวนการการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยที่จะได้ตรงนี้

มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประชาธิปัตย์อาจไปจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

อภิสิทธิ์ : ก่อนจะไปจับมือต้องรู้ก่อนว่าแต่ละคนมีนโยบายอย่างไร ประชาชนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน สมมุติว่า ประชาธิปัตย์ได้มา 150 พรรคอื่น 60, 70 คำถามคือ ถ้าจะคุยกัน 3 พรรค ใครจะต้องเป็นหลัก แบบนี้ประชาธิปัตย์ก็ต้องเป็นหลัก แต่ในทางกลับกันถ้าพลังประชารัฐได้ 200 พลังประชารัฐเป็นหลัก แต่ไม่ว่าใครเป็นหลักก็ตาม ใครจะมาร่วมกับเราหรือเราจะร่วมกับใคร เกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือไปทำงานร่วมกันแล้วเราผลักดันนโยบายของเราได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ควรที่จะไปเป็น

ถ้าพลังประชารัฐเป็นหลักแล้วประชาธิปัตย์ไปเข้าร่วม จะโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่

อภิสิทธิ์ : ถ้าแนวทางหลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมว่าคงจะยาก เพราะเรามองเห็นว่าการบริหารเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ไปไม่ได้ และการไม่เชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ การไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ หลายเรื่องมากจนเกินไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นปมเป็นปัญหาเป็นเงื่อนไขว่า มันไม่สอดคล้องกับหลักคิดของเรา แต่วันนี้ผมยังไม่ทราบ เพราะพลังประชารัฐยังไม่เปิดนโยบายจุดยืนเขาเป็นทางการ ในกรณีที่เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามามาก แต่ในกรณีที่ประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามาก คำถามก็ต้องกลับกัน เขาจะมาสนับสนุนเราไหม ในฐานะที่ประชาชนให้การสนับสนุนเรามามาก

แล้วประชาธิปัตย์จะไปจับมือกับอีกขั้ว คือพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปได้หรือไม่

อภิสิทธิ์ : กลับมาจุดเดิม ถ้าอุดมการณ์แนวทางไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปจับมือ ประชาธิปัตย์ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งเดียว ที่อยู่มาได้ 70 กว่าปี เพราะเราต้องตัดสินใจที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับประเทศ เราตั้งใจไปเป็นแกนนำรัฐบาล เราค่อนข้างมั่นใจว่า เรามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล แต่ว่าถ้าให้เราไปร่วมรัฐบาลโกงกิน ไม่เอา และไม่ร่วมรัฐบาลที่ทำเศรษฐกิจล้มเหลว สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไม่เอาครับ

อย่างนั้นถ้าจุดยืนไม่ตรงกัน ประชาธิปัตย์พร้อมเป็นฝ่ายค้านใช่ไหม 

อภิสิทธิ์ : ใช่ครับ

ถ้าประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากเป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล จะเลือกใครระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “พลังประชารัฐ”

อภิสิทธิ์ : ถ้าเราเป็นพรรคใหญ่ต้องไปถามพรรคอื่นว่าจะมาร่วมกับผมหรือไม่ แล้วผมก็ต้องดูว่าพรรคไหนเขาพร้อมจะสนับสนุนแนวทางอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์อันนี้ต้องเป็นตัวตั้ง เป็นตัวอื่นไม่ได้ ถ้าไปร่วมกับใครที่ไม่เชื่อในการทำงานกับเราจะร่วมกันได้อย่างไร

แสดงว่า มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมกับทั้งเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ หรือเป็นไปได้ที่ไม่ใช่ทั้งสองพรรคนี้

อภิสิทธิ์ : ใช่ครับ แต่นั่นคือเราเป็นแกนนำนะ เราไม่ได้ไปสนับสนุนใครนะ เป็นหลักสากล ถ้าเราเป็นแกนนำเราก็ต้องดูว่าใครพร้อมจะสนับสนุนเรา มีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ที่จะทำให้ไม่สามารถเดินอุดมการณ์ของเราได้

มีคำกล่าวว่า สุดท้ายประชาธิปัตย์เกลียดคุณทักษิณมากกว่าเกลียดทหาร

อภิสิทธิ์ : ผมไม่ได้ทำงานบนพื้นฐานความเกลียด ผมทำงานบนพื้นฐานที่จะสร้างความหวังสร้างที่พึ่งให้กับประชาชน และผมคิดว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังอยู่กับความเกลียดเราก็จะไม่ได้การเมืองที่เราต้องการ สุดท้ายเราก็จะวนกลับมาอยู่ที่เดิม วันนี้ประชาธิปัตย์บอก ผมมาชวนเลยเอาความเกลียดออกไปเอาความจริงมาดู แล้วมาดูว่าเราจะมีความหวังเราจะพึ่งใคร ในการจะให้ประเทศมันเดินข้างหน้า หลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆได้ วันนี้จะได้พ้นจากความยากจนความเหลื่อมล้ำ พ้นจากวังวนเผด็จการประชาธิปไตย หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้ พ้นจากการที่เราเป็นประเทศระดับรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่เจริญแล้วสักที

พรรคเพื่อไทย ประกาศว่าถ้าเลือกเขาจะไม่ได้นายกฯ ชื่อ ประยุทธ์

อภิสิทธิ์ : วันนี้ผมยังไม่ทราบเลยครับ อย่างพรรคเพื่อไทยเลือกแล้วได้ใครเป็นนายกฯ เป็นไปได้อย่างไรคุณเป็นพรรคการเมืองแต่คุณบอกได้จะไม่ให้ใครเป็น แต่คุณไม่สามารถบอกได้ว่าจะให้ใครเป็น ผมถามว่า เราเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ใครเป็นนายกฯ หรือเราจะเลือกใครไปเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็เลยบอกว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วประชาชนเจ้าของสิทธิ์ อย่าจำนนกับคำถาม กรอบที่คนพยายามยัดเยียดให้ วันนี้เรารอคอยมา 5 ปี คุณจะเลือกวนเวียนอยู่กับเรื่องตัวบุคคล หรือคุณจะเลือกอนาคตให้ประเทศเดินไปข้างหน้าออกจากวังวนการเมืองเดิมๆ หลุดพ้นจากความยากจนความเหลื่อมล้ำ ลงทุนกันสักทีในอนาคตของประเทศ โครงสร้างพื้นฐานการศึกษา เลือกเอาครับ ผมว่า คนส่วนใหญ่ต้องการการหลุดพ้นแล้ว อย่าไปยอมรับโจทย์ หรือกรอบใดๆ ที่ใครมายัดเยียดให้ อำนาจอยู่ในมือคุณเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศแล้วเดินหน้าดีกว่า

อย่างนี้ “กั๊ก” ใช่ไหม

อภิสิทธิ์ : ไม่กั๊กล่ะครับ กั๊กยังไงล่ะครับ ก็เลือกผมให้เกิน 250 ก็ไม่ต้องถามผมแล้ว จะได้ไม่ต้องถามผมเลยเพราะไม่ต้องไปจับมือกับใครแล้ว ง่ายที่สุด วันนี้เลือกอนาคตให้ประเทศครับอย่าเลือกตามกรอบหรืออะไรที่ใครยัดเยียดให้

ไม่กังวลหรือเพราะคนอาจอยากเห็นว่าเลือกพรรคไหนจะได้ใครเป็นนายกฯ

อภิสิทธิ์ : ไม่กังวลครับ เพราะผมกำลังบอกว่า เลือกพรรคประชาธิปัตย์ผมให้ภาพว่าคุณได้อะไร แต่คุณกำลังไปติดกรอบอยู่ว่าเอาตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง แล้วไปเที่ยวถามว่า พรรคนี้เอาคนนั้นไหม พรรคนี้ไม่เอาคนนี้ไหม แล้วประชาชนประเทศชาติไปไหนล่ะครับ

มองภาพหลังเลือกตั้งคิดว่า รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานหรือไม่

อภิสิทธิ์ : ทุกอย่างเร็วเกินไป เราไปเลือกตั้งทั้งทีเพื่อเราไปถามประชาชน แต่นี่ประชาชนยังไม่ทันให้คำตอบจะมาหาคำตอบกันเอง ผมว่ามันแปลก เรื่องจัดตั้งรัฐบาลก็ส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนจะอยู่นานเท่าไหร่ ผมบอกอย่างนี้ว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมา ไม่ตรงกับที่ประชาชนเขาต้องการ ซึ่งบังเอิญครั้งนี้มีช่องว่างช่องโหว่อยู่ เช่นการไปเอาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจับมือกับเสียงข้างน้อย ผมว่าอย่างนี้เป็นปัญหาแน่อยู่ไปก็ไม่ราบรื่นแน่

หรือถ้าใช้ศัพท์ “ร้อยพ่อพันแม่” ไปหยิบตรงนั้นมาตรงนี้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีอุดมการณ์แค่ว่าอยากจะมาเป็นรัฐบาล เพราะอยากจะไปมีตำแหน่ง อยากจะได้ผลประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลก็คงอยู่ได้อีกไม่นานเหมือนกัน แต่ว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่เขาให้การสนับสนุนมาชัดเจน คือเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มีแนวทางการทำงานตกลงกันชัดเจน ผมก็มองไม่เห็นว่าทำไมรัฐบาลแบบนั้นจะอายุสั้น ถ้าอยากให้มีเสถียรภาพทางการเมืองมีรัฐบาลที่อายุยาว ต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนต้องรวมตัวด้วยอุดมการณ์แนวคิดนโยบาย

  • นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เลือกประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพราะพรรคอื่นยังไม่ทำ เลือกนโยบายด้านการศึกษาก่อน เพราะการลงทุนกับคนเป็นเรื่องสำคัญ เช่น นโยบายเด็กเข้มแข็ง เพราะเราเห็นว่า ต้องมีสวัสดิการให้กับเด็กเหมือนประเทศอื่น สวัสดิการรัฐไม่ใช่ประชานิยม รวมทั้งการประกันราคาสินค้าเกษตร ที่สมัยเป็นรัฐบาลเคยริเริ่มไว้ ซึ่งไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดและทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี

ถ้าได้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกๆที่จะทำคือการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวประมง ที่เผชิญกับกฎของสหภาพยุโรป (IUU) ที่รัฐบาลนี้ทำให้มูลค่าการประมงของไทยหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนเรื่องบัตรคนจน จะทำต่อแต่ต้องปรับให้เป็น สวัสดิการของรัฐจริง มีกระบวนคัดกรองผู้มีรายได้น้อยตัวจริง รวมทั้งเปิดให้สามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากผู้มีรายได้น้อยด้วยกันได้

สำหรับเรื่องที่ “ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ” (หลานชาย) เสนอนโยบายสมัครเกณฑ์ทหารนั้น เป็นการปรับปรุงทหารเกณฑ์ ด้วยการดูแลสวัสดิการ ลดปัญหาการทำร้าย จะมีการสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาสมัครเป็นทหารเกณฑ์อย่างครอบคลุมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วให้เด็กเยาวชนที่ไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์ ไปฝึกรด. หรือจิตอาสา ทำงานบริการสังคมเพื่อฝึกวินัยให้มากขึ้น

ส่วนที่ประกาศว่า หากไม่ได้ ส.ส. ถึง 100 คน จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ไม่ใช่เรื่องความมั่นใจ แต่เป็นความรับผิดชอบ เพราะนำพาไปแล้วได้ไม่ถึง 100 เสียงก็ไม่สมควรเป็นผู้นำองค์กรต่อไป แต่ทั้งนี้ตั้งแต่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงร้อยละ 30 มาโดยตลอดก็ต้องพยายามทำให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือคำตอบจากอดีตนายกรัฐมนตรี กับภารกิจครั้งใหม่ในการพาพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปมากจากวันที่เขาลงสนามการเมือง ติดตามชมสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ทั้งทางเวิร์คพอยท์ทีวีและข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า