ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้รับการร้องเรียนจากพ่อของเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานเมื่อปี 2552 แต่ไม่ความคืบหน้าว่าจะมีการลงโทษทางวินัยกับเจ้าพนักงานอย่างใด โดยมีคำอ้างว่าต้องรอคำตัดสินของศาล ขณะที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ท.ได้ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการสร้างพยานเท็จขึ้นมา ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้ลงพื้นที่ค้นหาความจริง พบพยานสำคัญที่จะเล่าเรื่องทั้งหมด
หนึ่งในตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย นายฤทธิชัย ชื่นจิตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และถูกเจ้าพนักงานระดับรองผู้กำกับและสารวัตร 2 นาย ซ้อม เพื่อให้นายฤทธิชัยยอมรับว่าเป็นผู้กระชากสร้อย ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้ทำ และคำบอกเล่านี้สอดคล้องกับบันทึกคำให้การในสำนวนที่ส่งฟ้องศาลชั้นต้น ที่ระบุว่ามีการใช้ถุงครอบและตำรวจนายหนึ่งเตะเข้าที่ซี่โครงด้านขวา และใช้มือและเท้ากดจนเกิดรอยช้ำตามร่างกาย โดยมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน
แม้ว่าผ่านมากว่า 8 ปี บาดแผลทางกายจะหายไป แต่บาดแผลทางใจยังคงอยู่ นายฤทธิชัยมีอาการป่วยทางจิตเวชจากอาการหวาดระแวง ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการผ่านเหตุการณ์เลวร้าย และทำให้เขาต้องหยุดเล่นกีตาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เล่นเก่งจนได้รางวัลมาแล้ว
การร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ นำโดยผู้เป็นพ่อของเหยื่อ นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งได้ยื่นร้องเรียนมาแล้ว 48 ครั้ง มีเพียงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 2 ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในปี 2553 และพบว่ามีมูลเรื่องการซ้อมทรมาน จึงส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ท.สำนักงานใหญ่ในปี 2556 แต่เชื่อว่ามีการสร้างพยานเท็จ โดยให้นักข่าวท้องถิ่นและประชาชน สวมรอยเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ เพื่อยืนยันว่าไม่มีการกระทำดังกล่าว ทำให้คณะอนุกรรมการมีมติให้ยุติการสอบสวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับคำให้การของตำรวจในเหตุการณ์