Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2565 ประเทศไทยยังคงต้องต่อสู้ไปกับสถานการณ์โควิด-19 หลังจากมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ที่ทำให้ติดเชื้อง่าย แพร่กระจายเร็ว แม้อาการจะไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงตามมาอีก กลายเป็นปีที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง และต่อสู้กับโรคร้ายกันมาตลอดทั้งปี

ทีมข่าวสำนักข่าว TODAY รวบรวมประเด็นโรคต่างๆ ที่คนไทยต้องเผชิญมาตลอดปีที่ผ่านมา

📍ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง โควิด ‘โอไมครอน’ แพร่เร็ว ระบาดหนัก

หลังจากปลายปี 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด ‘โอไมครอนรายแรก’ จากนั้นมานับตั้งแต่ต้นปี 65 ยอดคนติดเชื้อโอไมครอนสูงขึ้นและเริ่มเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา ซึ่งโอไมครอน ติดเชื้อเร็วและแพร่กระจายได้มากกว่า ทำให้ยอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นหลักหมื่นต่อวัน ไม่นานโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยก็เป็นโอไมครอน 100% ไม่พบสายพันธุ์อื่นที่เคยระบาดในไทยก่อนหน้านี้ทั้งอัลฟา เดลตา และเบตา

ขณะที่การรักษาก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดของโรค นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงเมื่อ 25 ก.พ. 2565 ว่า เนื่องจากโอไมครอน ความรุนแรงของโรคจะไม่มากเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคระบาดไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่น เมื่อโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย และประชาชนมีภูมิต้านทานมากเพียงพอ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

มีปรับระบบการรักษา เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล “เจอ แจก จบ” แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์  2.ยาฟ้าทะลายโจร 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ

และเกิดดราม่า หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ที่ติดโควิด-19 หลังกลับจากการประชุมที่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 6 เข็ม ซึ่งนายอนุทินได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ในการรักษา จนเกิดคำถาม ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ออกมายืนยันว่านายอนุทินได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นไปตามเกณฑ์ เนื่องจากมีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือโรคอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะเสี่ยง แพทย์ที่ทำการรักษาได้ประเมินแล้วว่าต้องได้รับยาดังกล่าว พร้อมยืนยันการให้ยาโมลนูพิราเวียร์กับนายอนุทิน ไม่ใช่สิทธิพิเศษแต่อย่างใด

📍 ‘โควิด’ ขาลง ปรับสู่ ‘โรคประจำถิ่น’

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิดในไทย วันที่ 9 พ.ค. 2565 ว่ามีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับทั่วโลก เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้หลังสงกรานต์สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมาจึงมีการประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิด

หลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.ชุดใหญ่) วันที่ 20 พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ว่าที่ประชุมเห็นชอบผ่อนคลายผับ-บาร์ต่างๆ ให้เปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565

หากย้อนมองการระบาดของโอไมครอนตั้งแต่ช่วงต้นปี ในเดือนมกราคม ศบค. ได้มีการปรับระดับพื้นที่สีโควิดทั่วประเทศ เป็นพื้นที่สีส้ม พื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีฟ้า โดยมีผลตั้งแต่ 24 ม.ค. 2565

ต่อมา วันที่ 18 มี.ค. 65 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ไฟเขียวปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ หรือการปรับเปลี่ยนสี โดยพื้นที่ควบคุมหรือสีส้ม จาก 44 จังหวัด เหลือ 20 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด สีเหลือง จาก 25 จังหวัด เพิ่มเป็น 47 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาอยู่ในโซนสีเหลืองมากขึ้น ส่วนพื้นที่สีฟ้า นำร่องการท่องเที่ยว เพิ่มจังหวัดเชียงใหม่และเพชรบุรีเป็นทั้งจังหวัด และย้ำว่าทุกพื้นที่ยังปิดสถานบริการและสถานบันเทิงอยู่ต่อไป

ถัดมาอีก 1 เดือน ที่ประชุม ศบค. วันที่ 22 เม.ย. 65 เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ (โซนสี) ทั่วประเทศ เหลือเพียงพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด พร้อมปรับมาตรการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารที่ผ่าน SHA+/ Thai Stop COVID 2 Plus/ มาตรการ COVID Free Setting ได้ไม่เกิน 24.00 น. และมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ให้เป็นไปตามความเหมาะสม

วันที่ 20 พ.ค. 2565 ศบค. เห็นชอบแบ่งโซนพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19 สีเขียว สีฟ้า และสีเหลือง ผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิงในพื้นที่สีฟ้าและพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

กระทั่ง 17 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมศบค. ปรับเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง สีเขียว ทั่วประเทศ เริ่ม 1 ก.ค. 2565

📍ยุบ ศบค. – ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 23 ก.ย. 65 ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีผล 30 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป

ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา นับรวมแล้วประเทศไทยอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมานานถึง 2 ปี 6 เดือน

นอกจากนี้ยังปรับโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 65 และใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อ บริหารสถานการณ์ บูรณาการทุกฝ่ายได้ปกติ สำหรับผู้ป่วย แนะผู้ป่วยปฏิบัติตามมาตรการ DMHT สวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่แออัด ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ฉีดวัคซีนตามกำหนดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และรับการรักษาฟรีตามสิทธิ หากอาการวิกฤตใช้ UCEP Plus ได้

ขณะที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2564 ให้บริการแก่ผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะเป็นกลุ่มแรก เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงและเพื่อทดสอบระบบการดำเนินงาน ก่อนที่จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 7 มิ.ย. 2564 และให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ซึ่งสอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแผนการประกาศให้โรคโควิด-19 เปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. 2565 รวมเป็นเวลา 477 วัน ให้บริการประชาชนไปแล้วกว่า 3.5 ล้านคน รวมมากกว่า 6.5 ล้านโดส

📍 ‘ฝีดาษลิง’ โรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด

นอกจากสถานการณ์โควิดแล้ว ปีนี้ยังมีโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร (Monkeypox Virus) ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการวิชาการให้ฝีดาษลิงคงการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ส่วนการป้องกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำมาตลอด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก หรือผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุกสะอาด และไม่สัมผัสสัตว์ป่วย

อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงที่เข้ามาในประเทศไทยในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายเร็ว ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเท่าไรนัก โดยเฉพาะหลังจากผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกที่พบในไทย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี หลบหนีไปจากจังหวัดภูเก็ต

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่าผู้ป่วยรายนี้ให้ข้อมูลตอนเข้าประเทศไทยว่า จะมาเรียนภาษาที่เชียงใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่า เขาไปทำอะไร เมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เวลาเป็นโรคอะไร ส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือหลบหนีในประเทศไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นพฤติกรรมที่แย่มากและเป็นพฤติกรรมไม่ดี ขณะนี้กำลังให้ตำรวจตามล่า ยืนยันว่ามีบทลงโทษและใช้กฎหมายทุกอย่างที่มีทั้งพ.ร.บ.โรคติดต่อ และอาจมีการเนรเทศและถูกดำเนินคดี ต้องจับกุมตัวให้ได้เร็วที่สุดและจะขึ้นรูปทั่วประเทศ

สุดท้ายตำรวจกัมพูชาสามารถรวบตัวผู้ป่วยรายนี้ได้ โดยได้หนีจากจังหวัดภูเก็ตมาที่จังหวัดสระแก้ว และผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณเกาะกง ก่อนว่ายน้ำข้ามไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา

หลังจากพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกแล้ว ไทยก็พบผู้ป่วยฝีดาษลิงอีกเป็นระยะๆ แต่จำนวนไม่มากนัก โดยผู้ป่วยคนล่าสุดรายที่ 12 เป็นชายวัย 25 ปี มาจากโอมานมาเที่ยวภูเก็ตในเดือนตุลาคม

📍อย่าประมาท ‘ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก’

นอกจากโควิดและฝีดาษลิงแล้ว ยังมีโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดตามฤดูกาล แม้ว่าจะดูเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ รายสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 46 ประเด็น : โรคไข้เลือดออก (วันที่ 14 – 20 พ.ย. 2565) โดยได้นำข้อมูลจากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 9 พ.ย. 2565 พบผู้ป่วยสะสม 34,257 ราย อัตราป่วย 51.76 รายต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 24 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.07

จำนวนผู้ป่วยมากกว่า ปี พ.ศ. 2564 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 3.7 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมาได้แก่ อายุ 45-54 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่มีอาการไข้อย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อหรือกระดูก ปวดกระบอกตา หรือมีผื่น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว ร้อยละ 58.8 ได้รับยา NSAIDs ร้อยละ 29.4 และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 23.5 ตามลำดับ

ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีแนวโน้มระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลระบาดร่วมกับมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันตนเองจากโควิด-19 พร้อมย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต และหากยังเข้ม สวมหน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

📍รวมโรคแปลกคนดัง ‘โรคคนแข็ง-โรคลืมใบหน้า-อัมพาตหน้าครึ่งซีก’

นอกจากนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา เรายังได้ยินชื่อโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินจากการป่วยของคนดังระดับโลก

‘เซลีน ดิออน’ เลื่อนทัวร์คอนเสิร์ต เพราะป่วย ‘โรคคนแข็ง’

เซลีน ดิออน นักร้องวัย 54 ปี เจ้าของเพลงประกอบภาพยนตร์ไททานิค เพลง My Heart Will Go On แจ้งเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรป เพื่อรักษาตัวหลังป่วยเป็นโรคคนแข็ง ซึ่งเป็นโรคหายากที่พบเพียง 1 ในล้าน โดยโรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นโรคหายาก ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกโดยการสุ่มและกล้ามเนื้อจะแข็ง มักเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อลำคอและแขนขา จะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยหากอาการเกิดในช่วงที่กำลังทำกิจการ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้  จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่อยากออกจากบ้าน เพราะกลัวเสียงรบกวนรอบตัว และโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยังไม่ทราบสาเหตุที่มาของโรคได้ และยังไม่มียารักษา

‘โรคลืมใบหน้า’ อาการป่วยที่ทำให้นักแสดงฮอลลีวูด ‘แบรด พิตต์’ ไม่อยากออกจากบ้าน

แบรด พิตต์ (Brad Pitt) นักแสดงฮอลลีวูดรุ่นใหญ่วัย 58 ปี ออกมาเปิดเผยกับนิตยสารฉบับหนึ่งว่า เขาไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้คนได้ และบางครั้งก็ลืมแม้กระทั่งใบหน้าตัวเอง เขากำลังเผชิญกับโรคประหลาดคือ “โรคลืมใบหน้า” หรือ Prosopagnosia Face Blindness (โพโซแพกโนเซีย) เป็นอาการทางสมอง ซึ่งทำให้เขาไม่อยากออกจากบ้านไปพบผู้คน

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคลืมใบหน้าเป็นภาวะบกพร่องของสมองในการรับรู้และประมวลผล สูญเสียการจดจำใบหน้าอย่างสมบูรณ์ โดยภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ที่เป็นมาแต่กำเนิด และภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ที่เป็นภายหลัง ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของสมองที่มักเป็นที่ซีกขวา เกิดในวัยผู้ใหญ่ อาการหลักคือ ผู้ป่วยจะจดจำใบหน้าคนไม่ได้ แม้เป็นคนที่ผู้ป่วยรู้จักมักคุ้นมาก่อน หากสงสัยว่ามีคนใกล้ชิดมีภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้หรือมีความผิดปกติด้านการมองเห็นอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

‘อัมพาตหน้าครึ่งซีก’ ทำ ‘จัสติน บีเบอร์’ เลื่อนทัวร์คอนเสิร์ต

‘จัสติน บีเบอร์’ ป๊อปสตาร์ชื่อดังออกมาเผยว่า เขาป่วยเป็นโรคแรมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าซีกขวาได้ จำเป็นต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตกะทันหัน ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า คล้ายกับโรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่7 อักเสบ (Bell’s palsy) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ

สาเหตุของโรคมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง สำหรับแนวทางการรักษา นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถค่อยๆ ฟื้นตัวและดีขึ้นเองได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า, การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า