ประเด็นคือ – อาการของคุณตาวัย 82 ปี ดีขึ้นเเล้ว ภรรยาเผย โจ๋ขอขมาบน สน. ยอมรับผิดทั้งหมด ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ซึ่งเธอก็ได้กล่าวตักเตือน และให้อภัยกับผู้ต้องหา
วันที่ 15 มี.ค. 61 นางฉลวย จริตเอก อายุ 71 ปี ภรรยา และน.ส.วนิดา มณีพันธ์ ลูกสาว ของนายจรูญ มีพันธ์ วัย 82 ปี (คุณตาขี่ซาเล้ง) ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อมาดูอาการของนายจรูญ โดย น.ส.วนิดา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางครอบครัวรู้สึกโกรธ เธอไม่เคยเห็นหน้านายนราธร โสดติยัง ผู้ต้องหามาก่อน คาดว่าน่าจะเป็นเด็กวัยรุ่นในละแวกดังกล่าว นายนราธรอ้างว่า ที่ทำร้ายนายจรูญเพราะอารมณ์ชั่ววูบประกอบกับมีอาการเมา หลังจากที่อาการของพ่อดีขึ้น จึงไม่ติดใจเอาความ แต่ในเรื่องทางคดี คงให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการไปตามขั้นตอนไป
ส่วนนางฉลวย ภรรยา เผยว่า หลังจากเกิดเหตุ นายนราธรก็ได้มาขอขมาที่ สน.ห้วยขวาง แล้ว ผู้ต้องหายอมรับผิดทั้งหมด ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ซึ่งเธอก็ได้กล่าวตักเตือนไปว่า วันหลังอย่าใจร้อน และให้อภัยกับผู้ต้องหา
ทั้งนี้ทางครอบครัวเปิดเผยต่อว่า นายจรูญมีอาการหูตึงมานานแล้ว มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ความดัน เเละยังมีอาการหลงลืมบ้างตามอายุ ล่าสุดที่เข้าไปพูดคุยก็รู้สึกตัวดี แต่บ่นว่าปวดหลังเล็กน้อย แต่อย่างไรแพทย์ก็ยังต้องให้พักรักษาตัวต่ออีกสักระยะ
ส่วนที่หลายคนมองว่าครอบครัวทำไมปล่อยให้นายจรูญออกมาขี่ซาเล้งเก็บของเก่า ทั้งๆ ที่อายุมากแล้ว เรื่องนี้น.ส.วนิดาและนางฉลวยยืนยันว่า ทางครอบครัวเคยห้ามแล้ว แต่นายจรูญไม่ฟัง เพราะนิสัยเป็นคนขยัน ไม่ชอบอยู่บ้านเฉยๆ นายจรูญเคยบอกว่า กลัวลูกหลานจะไม่ส่งเสียเลี้ยงดู หลังเกิดเรื่องก็คงจะต้องให้เลิกถาวร และอาจจะให้ไปอยู่กับญาติๆ ที่จังหวัดลพบุรี
ต่อมา นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือทางกฎหมาย และแจ้งสิทธิฯ กับครอบครัวของนายจรูญ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินแก่ผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดนั้น โดยสิทธิตาม พ.ร.บ.ฯ กรณีทั่วไป ประกอบด้วย
• ค่าใช่จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท
• ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
• ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
• ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
• ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องและค่าอาหารวันละไม่เกิน 1,000 บาท
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้แจ้งสิทธิแก่ผู้เสียหายเบื้องต้นแล้ว พร้อมให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหาย รวมถึงแนะนำแนวทางการขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และอำนวยความสะดวกในการขอรับคำขอ หลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้เสียหายได้ทราบถึงสิทธิในการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย