ตำรวจไทยไม่สามารถนำตัวอดีตพระพรหมเมธี กลับมาดำเนินคดีทุจริตเงินทอนวัดได้ หลังผู้ต้องหายื่นคำร้องขอลี้ภัย และทางการเยอรมนีให้การคุ้มครองทันที ตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย
จากกรณี อดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีทุจริตเงินทอนวัด ได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองฯ ควบคุมตัวที่สนามบินนานาชาติ แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.สตม. , พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช รองผบก.ป. และพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และคณะอัยการ เดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อสอบปากคำและนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 61 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำตัวอดีตพระพรหมเมธี กลับมาดำเนินคดีได้ เนื่องจากผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัย ต่อมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประเทศเยอรมนี ได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF)
โดยเมื่อคณะเจ้าหน้าที่ไทยเดินทางไปถึงสนามบินนานาชาติ แฟรงก์เฟิร์ต แต่ไม่สามรถพบกับผู้ต้องหาได้ โดยทางการเยอรมนีแจ้งว่า เนื่องจากอดีตพระพรหมเมธี ได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัย และได้รับความคุ้มครองในทันที ตามระเบียบดับลิน (Dublin Regulation) เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป และเยอรมนีต้องปฎิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า คำร้องขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธี หากถูกปฎิเสธ ก็สามารถยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก โดยสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF) ใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน
ซึ่งการขอลี้ภัย มี 4 ประเภท ดังนี้ 1.ขอลี้ภัยทางการเมือง 2.ขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.ขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน และ 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง
และคาดว่า อดีตพระพรหมเมธี ขอยื่นลี้ภัยในประเภทที่ 1 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่าถูกละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ และในประเภทที่ 2 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่า ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หึ่ง “อดีตพระพรหมเมธี” ยื่นขอลี้ภัยที่เยอรมนี “บิ๊กป้อม” รับตำรวจไทยยังไม่เจอตัว