Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือกองทุน กยศ. ของประเทศไทย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมต้องมีบุคคลที่เป็นผู้ค้ำประกัน ผลจากเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้ผู้ค้ำประกันส่วนหนึ่งต้องแบกรับภาระในทางคดีความ[1] อันเนื่องมาจากการถูกฟ้องร้องจากกองทุน กยศ. เนื่องจากผู้กู้ยืมซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ค้ำประกันให้นั้น ไม่ยอมชำระหนี้ที่ตนได้ทำการกู้ยืมไป ซึ่งในท้ายที่สุดกองทุน กยศ. ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันเหล่านี้[2] ปัญหาความลักลั่นดังกล่าว จึงควรสำรวจว่าในประเทศอื่น ๆ ที่มีระบบการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานั้น รัฐได้วางกฎเกณฑ์หรือกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินเช่นใด การมีผู้ค้ำประกันเป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นเดียวกับประเทศไทยหรือไม่ เพียงใด

 

ออสเตรเลีย

การชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้จะผูกกับมาตรการทางภาษี โดยดูจากจำนวนเงินรายได้ของผู้กู้ยืมหากถึงเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าผู้กู้ยืมกำลังศึกษาอยู่ ก็ต้องชำระเงินกู้ยืมเช่นกัน[3] หากผู้กู้ยืมมีรายได้สูง การชำระเงินกู้ยืมกลับคืนก็จะสูงตามด้วย[4]

นอกจากนี้ หากผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติหรือวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือการศึกษาปฐมวัย ผู้กู้ยืมจะได้รับประโยชน์ โดยรัฐจะลดจำนวนเงินที่เคยกู้ยืมลง[5]

 

นิวซีแลนด์

นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การให้กู้ยืม ได้แก่

  1. นักศึกษาที่เรียนเต็มเวลา สามารถทำการเงินกู้ยืมได้ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ
  2. นักศึกษาที่เรียนนอกเวลา สามารถกู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน

กรณีที่ผู้กู้ยืมพักอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศ การกู้ยืมเหล่านี้จะไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ย[6] เงินกู้จะทำการชำระคืนเมื่อผู้กู้เริ่มทำงานและมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (ปัจจุบันเกณฑ์อยู่ที่รายได้มากกว่า 19,448 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ต่อปี)[7] ซึ่งนายจ้างจะหักเงินกู้ยืมจากเงินเดือนในอัตราคงที่ เงินกู้ยืมที่ถูกหักเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมโดยหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีของรัฐ

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเดินทางออกนอกประเทศนานกว่า 184 วัน (6 เดือน) จะต้องทำการชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย การจ่ายเงินคืนนี้อาจหยุดพักชั่วคราวได้หากผู้กู้ยืมไม่มีรายได้ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ แต่ดอกเบี้ยที่ต้องชำระพร้อมต้นเงินกู้ดังกล่าวยังคงเดินหน้าต่อไป

 

สหราชอาณาจักร

เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหราชอาณาจักรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยเมื่อหน่วยงานได้ทำการชำระเงินงวดแรกให้แก่ผู้กู้ยืมจนกระทั่งเมื่อผู้ได้รับเงินกู้ยืมเต็มจำนวน แต่การชำระหนี้จะเริ่มต้นในปีภาษีถัดไปหลังจากที่ผู้กู้ยืมได้สำเร็จการศึกษาหรือเลิกศึกษาต่อ ซึ่งจำนวนในการชำระหนี้จากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้มีรายได้เท่าไร ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนที่กู้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด[8] ในกรณีที่มีรายได้เหนือกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ในปัจจุบันอยู่ที่ 25,000 ปอนด์ต่อปี) นายจ้างของผู้กู้ยืมจะดำเนินการหักรายได้ในส่วนดังกล่าวของผู้กู้ยืมพร้อมกับภาษีและประกันสุขภาพให้กับรัฐ หากผู้กู้หยุดทำงานหรือได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์การชำระคืน ผู้กู้จะไม่ต้องจ่ายเงินที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา จนกว่าจะได้รับรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดอีกครั้ง ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับดัชนีราคาค้าปลีกในสหราชอาณาจักร (Retail Price Index (RPI)) ซึ่งเป็นมาตรการในการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพภายในประเทศ[9] อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับปรุงปีละหนึ่งครั้งในเดือนกันยายน

หากผู้กู้ทำการกู้ยืมเงินก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2550 การชำระหนี้อาจสิ้นสุดลง เมื่อ

  • ผู้กู้มีอายุ 65 ปี
  • ผู้กู้เสียชีวิต หรือ
  • ผู้กู้เป็นผู้พิการถาวรและไม่สามารถทำงานได้

หากผู้กู้ยืมเงินหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2550 การชำระหนี้อาจสิ้นสุดลง เมื่อ

  • ผู้กู้ยืมมีอายุ 35 ปี (ในส่วนของรัฐบาลสก็อตแลนด์มีความพยายามที่จะลดระยะเวลาดังกล่าวเป็น 30 ปีภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561)
  • ผู้กู้เสียชีวิต หรือ
  • ผู้กู้เป็นผู้พิการถาวรและไม่สามารถทำงานได้

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ทำการชำระหนี้  หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีสิทธิเร่งรัดหนี้ของผู้กู้ยืม กล่าวคือ ดำเนินการโดยให้ศาลออกคำสั่งเพื่อให้ผู้กู้ยืมทำการชำระคืนเงินกู้ในงวดเดียว ลักษณะนี้เป็นมาตรการทางแพ่งซึ่งใช้กับบุคคลผู้กู้ยืมทั้งที่อยู่ในและนอกสหราชอาณาจักร[10]

 

สหรัฐอเมริกา

การชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเริ่มต้นเมื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาหรือลงทะเบียนเรียนที่มีจำนวนหน่วยกิต ลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดีในบางมลรัฐจะกำหนดช่วงเวลาผ่อนผันเพื่อช่วยให้ผู้กู้ยืมมีเวลาในการชำระเงินและเลือกแผนการชำระหนี้ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าในช่วงเวลาการผ่อนผันดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ไม่ทำการชำระเงินกู้ยืมหรือชำระล่าช้า สถานะการชำระหนี้จะถูกรายงานไปยังเครดิตบูโร รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่ไปดำเนินการในเรื่องการที่รัฐจะไม่คืนเงินในกรณีที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย[11]

แม้ว่าผู้กู้ยืมจะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่สามารถหางานทำได้ ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา อย่างไรก็ดีในบางสถานการณ์อาจเป็นเหตุให้ผู้กู้ยืมได้รับการยกเว้นช่วงเวลาหรือจำนวนเงินบางส่วนที่ไม่ต้องชำระเงินกู้ เช่น การเข้ามาเป็นครูภายใต้โปรแกรมที่รัฐกำหนด (Teacher Loan Forgiveness Program) เช่น การสอนหนังสือเต็มเวลา และต่อเนื่องกันเป็นจำนวน 5 ปีการศึกษา ในโรงเรียนที่มีรายได้น้อยหรือในหน่วยงานบริการการศึกษา ผู้กู้ยืมที่เข้าโปรแกรมสอนหนังสือลักษณะนี้ อาจได้รับการยกเว้นหนี้กู้ยืมประมาณ 17,500 ดอลล่าร์สหรัฐขึ้นอยู่กับวิชาหรือหลักสูตรที่สอน[12]

 

แคนาดา

การชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเริ่มเมื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษา ย้ายไปเรียนนอกเวลา ออกจากสถาบันการศึกษา หรือออกจากสถาบันการศึกษาเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน[13] ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกหลังออกจากสถาบันการศึกษา แม้ผู้กู้ยืมยังไม่ต้องชำระเงินคืน แต่ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจะยังเดินหน้า ซึ่งผู้กู้ยืมอาจทำการชำระดอกเบี้ยระหว่างนี้ก่อนครบ 6 เดือนก็ได้ ทั้งนี้ผู้กู้ยืมมีทางเลือกในการเลือกอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมว่าต้องการคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ + 5% หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อัตรา + 2.5% อย่างไรก็ดีในบางพื้นที่ของแคนาดาไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่อย่างใด[14] ในกรณีที่ผู้กู้ยืมชำระเงินกู้ยืมเต็มจำนวนภายในระยะเวลา 6 เดือนแรก รัฐจะไม่คิดดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมต้องจ่ายแต่อย่างใด[15]

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จังหวัดออนตาริโอ (Ontario) จะส่งรายชื่อผู้ผิดนัดชำระหนี้ไปยังเครดิตบูโร ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถทำนิติกรรมบางประเภท เช่น การเช่ารถ การจำนองหรือการทำบัตรเครดิต รวมถึงการไม่สามารถรับเงินคืนจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย[16]  ส่วนมลรัฐบริติช โคลัมเบีย รัฐได้อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถระงับการออกหรือการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้แก่ผู้ที่ไม่ทำการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

มาเลเซีย

PTPTN[17] (National Higher Education Fund Corporation) เป็นสถาบันของรัฐที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนชาวมาเลเซีย มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแบบคงที่ 1% หากผู้กู้ชำระเงินกู้ทั้งหมดภายใน 6 เดือนหลังจากจบการศึกษาจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย 1% กล่าวคือ กลายเป็นการกู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบไม่มีดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้กู้ยืมได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง[18] เงินกู้ยืมจะถูกแปลงเป็นทุนการศึกษาได้รับการยกเว้นการจ่ายเงินคืนเงินกู้[19]

ทั้งนี้จำนวนเงินที่ให้ทำการกู้ยืมขึ้นอยู่กับ

  1. รายได้ครัวเรือน ถ้าครอบครัวมีฐานะยากจนก็จะสามารถทำการกู้ยืมได้มากขึ้น
  2. เงินให้กู้ยืมสำหรับสถาบันการศึกษาเอกชนจะมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการกู้ยืมเพื่อไปเรียนในสถาบันการศึกษาของรัฐ เนื่องจากค่าเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาเอกชนมีอัตราที่สูงกว่า
  3. หลักสูตรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จะกำหนดจำนวนให้กู้ยืมสูงกว่าหลักสูตรด้านมนุษยศาสตร์

การได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในระหว่างการศึกษาผู้กู้ยืมต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.0 มิฉะนั้นจะไม่ได้รับเงินกู้ยืมสำหรับภาคการศึกษานั้นๆ หากเกรดกลับมาสูงกว่า 2.0 ในภาคการศึกษาที่ตามมา ผู้กู้ยืมจะได้รับคืนสถานะการกู้ยืมเงินเช่นเดิม

หากผู้กู้ไม่จ่ายคืนเงินกู้ยืมจะได้รับการแจ้งเตือนและอาจขึ้นบัญชีดำ (blacklist) ต่างๆ และถูกปรับ รวมถึงการถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกจากประเทศโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และห้ามต่ออายุหนังสือเดินทางด้วย

จากตัวอย่างของประเทศที่มีระบบการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย พบว่า การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีเป้าหมายเพื่อให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในบางประเทศการกู้ยืมเงินอาจมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำหรือบางประเทศอาจไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด มีข้อสังเกตว่าในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ทำการชำระต้นเงินกู้ (พร้อมดอกเบี้ย) บทลงโทษที่เกิดขึ้นอาจพ่วงกับมาตรการทางเอกสารราชการ เช่น การห้ามเดินทางออกนอกประเทศของมาเลเซียหรือการห้ามทำนิติกรรมบางประเภทในประเทศแคนาดา แต่ไม่มีประเทศใด กำหนดเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต้องมีผู้ค้ำประกันดังกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีมาตรการจูงใจ เช่น หากทำการชำระต้นเงินกู้ยืมอย่างรวดเร็วจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เช่นในประเทศแคนาดา หรือหากผลการเรียนดีเยี่ยมจะได้รับการปรับเปลี่ยนจากการกู้ยืมเงินเป็นการให้ทุนการศึกษา เช่น ประเทศมาเลเซีย

บทความโดย เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อ้างอิง

[1] กยศ. ยกระดับทวงหนี้เข้มข้น 23 ศิษย์แสบ เบี้ยวหนี้ ทำ ‘ครูวิภา’ โดนฟ้องบังคับคดีอ่วม ที่มา:  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1375558

[2] “กยศ. ชี้แจงกรณีครูผู้ค้ำประกันถูกยึดทรัพย์” ที่มา: https://www.studentloan.or.th/index.php/news/detail/228

[3] “When you must repay your loan” ที่มา: https://www.ato.gov.au/Individuals/Study-and-training-support-loans/When-must-you-repay-your-loan/

[4] “Compulsory repayments” ที่มา: https://www.ato.gov.au/Individuals/Study-and-training-support-loans/Compulsory-repayments/

[5] “Bonuses, benefits and discounts” ที่มา: https://www.ato.gov.au/Individuals/Study-and-training-support-loans/Bonuses,-benefits-and-discounts/

[6] “Paying off your student loan if you’re employed (Working in New Zealand)”” ที่มา: https://www.ird.govt.nz/studentloans/working/employed/student-loan-repayments-employed.html

[7] “Paying back your student loan” ที่มา:  https://www.govt.nz/browse/education/tertiary-education/paying-back-your-student-loan/

[8]  “Repaying your student loan” ที่มา: https://www.ucas.com/student-finance-england/repaying-your-student-loan

[9] ดัชนีราคาค้าปลีกเป็นมาตรวัดสำคัญสำหรับการวัดภาวะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร

[10] “Repaying the student loan” ที่มา: http://www.saas.gov.uk/my_money/loan_repayments.htm

[11] “Learn about how, when, and to whom you make your federal loan payments” ที่มา: https://studentaid.ed.gov/sa/repay-loans/understand

[12] “Wondering whether you can get your federal student loans forgiven for your service as a teacher?” ที่มา: https://studentaid.ed.gov/sa/node/90

[13] “Paying back your Canada Student Loan” ที่มา: https://www.canada.ca/en/employment-social-development/services/education/student-loan/pay-back.html

[14] เช่น  Newfoundland and Labrador, เกาะ Prince Edward และ Nova Scotia

[15] “Repayment seminar” ที่มา: http://www.inst-hse.ca/files/Repayment_Presentation_Feb_2015_Canada_Webinar.pdf

[16] “Student loan repayment” ที่มา: https://www.legalline.ca/legal-answers/student-loan-repayment/

[17] PTPTN หรือ Perbadanan Tabung Pendidikan Tinggi Nasional

[18] เกียรตินิยมอันดับหนึ่งหมายถึง CGPA อย่างน้อยเท่ากับ 3.67 / 4.00 หรือสูงกว่า

[19] “Your Complete Guide to PTPTN Loan in Malaysia” ที่มา:  https://eduadvisor.my/your-complete-guide-to-ptptn-loan-in-malaysia/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า