Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เหตุการณ์การเมืองไทยช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปลุกกระแสความสนใจของคนทั่วประเทศ ให้พูดถึงพรรคการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้ง ทีมข่าวเวิร์คพอยท์พาไปย้อนดูไทม์ไลน์ ที่มาที่ไป ก่อนจะมาถึงวันนี้

1) 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารยึดอำนาจมาจาก รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2561 ถึงเหตุผลที่ยึดอำนาจว่า “ไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะทำการรัฐประหาร เพียงแต่ตนไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้”

2) หลังฉีกรัฐธรรมนูญเดิม พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเมื่อร่างเสร็จจะจัดให้มีการเลือกตั้ง คาดกันว่าจะใช้เวลาไม่นาน เหมือนท่อนสำคัญของเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แต่งว่า “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน”

3) แต่ในการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 6 กันยายน 2558 ได้มีการคว่ำร่าง เท่ากับต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด นายบวรศักดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง ได้เอ่ยประโยคสำคัญทางการเมือง ในภายหลังว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

4) มีการตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่มารับไม้แทน เมื่อ 5 ตุลาคม 2558 โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

5 ) ในร่างรัฐธรรมนนูญฉบับมีชัย มีการออกแบบการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้เลือกตั้งทั้ง ส.ส.แบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ นายมีชัย บอกว่าระบบนี้จะทำให้คะแนนไม่ตกหล่น เพราะนำทุกคะแนนมาคำนวณ ส.ส. และไม่ผูกขาดเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่

6 ) ขณะเดียวกันมีการเขียนในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ มีวุฒิสภา 250 จากการแต่งตั้งโดย คสช. (ต่างจากเนื้อหาปกติที่กำหนดให้มีการสมัครมาจากการเลือกกันเอง) และในกรณีถ้า ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ให้ ส.ว.ร่วมเข้ามาปลดล็อกเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้

7) รัฐธรรมนูญที่กำหนดกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พร้อมคำถามพ่วงโดยเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. คำถามพ่วงนี้เขียนไว้ยาวแต่แปลได้ว่า “เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกไหม”

8) ผลการลงประชามติ เสียงส่วนใหญ่ 16.8 ล้านเสียงรับรัฐธรรมนูญนี้ อีก 10.5 ล้านเสียงไม่รับ แต่ก็มีเสียงโต้แย้งว่า ไม่เปิดช่องให้มีการรณรงค์จากฝ่ายไม่เห็นด้วย และหลายคนลงมติเพียงเพราะอยากให้เลือกตั้งเร็วๆ รวมทั้งไม่เข้าใจความหมายของคำถามพ่วง

9) จากนั้นมีการจัดทำกฎหมายลูก แต่ก็มีเงื่อนไขต่างๆ ทำให้การเลือกตั้งทอดระยะเวลาออกไป เช่น การกำหนดเงื่อนไขกฎหมายมีผลหลังประกาศใช้นับไปอีก 90 วัน

10) รวมมีการเลื่อนการเลือกตั้งทั้งหมดจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศรวม 5 ครั้ง นับตั้งแต่ครั้งล่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ จนมาลงเอยที่ 24 มีนาคม 2562

11) การที่คำถามพ่วง ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยผ่านการลงประชามติ ทำให้ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งจะต้องได้เสียงโหวตจาก ทั้ง ส.ส. 500 คน (แบ่งเขต 350 คน+ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน) และ ส.ว. ที่มาจาก คสช.แต่งตั้ง 250 คน รวมกัน เท่ากับ 750 คน ผู้ได้รับเลือกต้องได้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งคืออย่างน้อย 376 เสียง

12 ) มีการคำนวณว่าหาก ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนรวมตัวกันโหวตไปในทางเดียว เท่ากับผู้ที่ได้เสียงโหวตทั้งหมดนี้จะต้องการเสียง ส.ส.อีกแค่ 126 จาก 500 ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 250 นี้จะเลือกขั้นตอนสุดท้ายโดยหัวหน้า คสช. ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

13) กลับมาที่การเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” กติกานี้มีผลกับพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดโดยตรงเพราะการคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้ พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง เพราะใช้ฐานคะแนนเดียวกันในการคำนวณ ส.ส.

12) พรรคเพื่อไทย จึงแก้เกมในโค้งสุดท้ายด้วยการแตกพรรค แยกสมาชิกบางส่วนไปเป็น พรรคไทยรักษาชาติ เพราะคำนวณว่าหากเกาะกลุ่มรวมกันพรรคเดียว อาจจะได้ ส.ส.เขต มากแต่อาจจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.เป็นคนแรกที่ใช้คำเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” คือแยกกันก่อนจะไปรวมกันภายหลัง

13 ) ทั้ง 2 พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. ไม่ครบจำนวน 350 เขต เกือบทั้งหมดจะหลบให้กัน มีทับซ้อนอยู่ไม่กี่เขต แกนนำทั้ง 2 พรรคไม่ยอมรับข้อกล่าวหาว่าฮั้วกัน แต่ยอมรับว่าทั้ง 2 พรรค เติบโตจากรากเดียวกัน คือ พรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค

14) กติกาที่เพิ่มเติมอีกอย่าง คือ การกำหนดว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่ให้พรรคการเมืองส่งรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคเสนอพรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ เพื่อว่าเมื่อหลังเลือกตั้งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเหล่านี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภา

15) มีข่าวมาตลอดว่า พรรคพลังประชารัฐ ที่ตั้งขึ้นใหม่ คล้ายกับชื่อนโยบายประชารัฐของรัฐบาล จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเท่ากับว่า ความกังวลเรื่อง ส.ว. 250 เสียงจะโหวตไปทางเดียวมีเค้าลางความเป็นไปได้ เพราะหัวหน้า คสช.ที่จะแต่งตั้ง ส.ว.เหล่านี้ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง

16) พรรคเพื่อไทยเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกฯ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ เรียกกระแสตอบรับได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีของนายชัชชาติ ที่มีเสียงตอบรับโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่คำถามคือ เท่านี้จะเพียงพอหรือไม่หากจะเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะได้เสียง ส.ว.ทั้งหมดสนับสนุน

17) ต้นสัปดาห์รับสมัครรับเลือกตั้ง มีกระแสข่าว พรรคไทยรักษาชาติ จะแก้เกมโดยมีการเปลี่ยนแปลงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เดิมคาดว่า จะเป็นแกนนำพรรคและหัวหน้าพรรคอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นบุคคลสำคัญนอกวงการการเมือง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ดึงเวลาในการตอบรับคำเชิญเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไปจนถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร 8 ก.พ.

18) เช้าวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติเดินหมากการเมืองครั้งสำคัญ ด้วยการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคต่อ กกต. ท่ามกลางความตื่นตะลึงของคนที่ติดตามข่าว และมองว่าจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่หลังจากนั้น ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตัดสินใจตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

19) การเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิง กลายเป็นกระแสคลื่นลูกใหญ่ทางการเมือง ทุกสายตาจับจ้องไปที่พรรคไทยรักษาชาติ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เก็บตัวเงียบตลอดทั้งวันในทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ช่วงเย็นจะออกมาพร้อมกับรอยยิ้มและทำท่าเก๊กหล่อให้กับผู้สื่อข่าว

20) ตกดึกของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 22.40 น. มีประกาศพระราชโองการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใจความสำคัญคือ พระราชวงศ์อยู่เหนือการเมือง เท่ากับว่าทูลกระหม่อมหญิงจะไม่สามารถทำงานการเมืองและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้

21) เช้าวันรุ่งขึ้น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนโพสต์รูปและข้อความใน IG หลังพระราชโองการว่า
“ขอขอบคุณพวกเราคนไทยทุกๆคน สำหรับความรักและน้ำใจ ที่มีต่อกันในวันที่ผ่านมานี้ และขอบคุณที่ให้กำลังใจ และให้ความสนับสนุนดิฉันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ขอบอกอีกครั้งด้วยความจริงใจว่า อยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้า เป็นที่ชื่นชมและยอมรับของนานาประเทศ อยากเห็นพวกเราชาวไทยทุกคนมีสิทธิ และโอกาส มีความกินดีอยู่ดี มีความสุขทั่วถึงกัน และขอขอบคุณด้วยความรัก อย่างจริงใจนะคะทุกคน ขออวยพรให้ทุกคนโชคดีมีความสุข #ILoveYou

22) เบื้องหลังการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ บทความที่เขียนโดยคอลัมนิสต์สายทหาร ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 ก.พ. ระบุว่า เย็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้วีดิโอคอลกับใครบางคนในต่างประเทศ ที่มีการยืนยันว่าให้ พลเอกประยุทธ์ เดินหน้าตามเดิม โดยมี 2 คนสำคัญที่อยู่ต่างประเทศในขณะนั้น คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ไปรักษาสุขภาพในยุโรป และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ที่ไปภารกิจต่างประเทศ

23) หลังสถานการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ทางการเมือง มีผู้ไปร้องต่อ กกต. ว่า พรรคไทยรักษาชาติ กระทำการขัดต่อกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเสนอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หลังการพิจารณา 3 วัน กกต.ก็ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการ

24) ตามขั้นตอนหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครทั้งหมดของพรรคไทยรักษาชาติ จะหมดสิทธิ์เข้าสู่สนามเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง (อาจจะตลอดชีวิต) แต่หากตัดสินหลังผลเลือกตั้งออกแล้ว ส.ส.ที่ได้รับเลือกจะหาพรรคสังกัดใหม่ได้ นักวิเคราะห์มองว่า ถ้ามีการยุบพรรคก่อน เท่ากับกลยุทธ์แยกพรรคสู้ หรือที่เรียกว่า “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” จะสูญเปล่าทันที

25) ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ความจริงอย่างหนึ่งคือเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้จุดความสนใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งในปีนี้เป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก ELECT บอกว่าในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีการพูดถึงเรื่องการเมืองก้าวกระโดดไปกว่า 4 ล้านครั้ง จากปกติโดยเฉลี่ยอยู่ในหลักแสน

26) ท้ายสุดแล้ว ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม จะบ่งบอกคำตอบของหลายๆ คำถามที่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องจารึกไว้ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่ผันผวนอย่างยิ่งทางการเมืองไทย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า