SHARE

คัดลอกแล้ว

จากเคยทำกำไรจากการขายปูได้ประมาณกว่า 100,000 บาทต่อเดือน หรือ 1,200,000 บาท ต่อปี

ลุงอ๊อด หรือ สมปอง อ่ำเอี่ยม วัย 63 ปี เจ้าของฟาร์มอ๊อดปูดำ จ.ชุมพร บอกในรายการปัญญาปันสุขว่า “แทบหมดตัว” จากวิกฤตโควิด-19 เพราะขายปูไม่ได้ จากที่เคยส่งออกไปต่างประเทศก็ต้องหยุดทันที จะขายปูส่งตามร้านอาหารทะเลเจ้าประจำก็ไม่มีใครซื้อเพราะร้านอาหารปิดหมด ผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายนอกบ้าน ทำให้ยอดขายปู 100 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 10 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ รายได้เหลือ 10,000 บาท

ลุงอ๊อด ยอมรับว่า “หมดตัว” เพราะนำเงินเก็บก้อนสุดท้าย 80,000 บาท มาช่วยซื้อลูกปูที่ชาวบ้านจับมาขายเอามาเลี้ยงต่อในฟาร์ม เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของทุกคน กลัวชาวบ้านไม่มีเงิน

เมื่อเงินเก็บหมด แต่ชาวบ้านก็ยังเอาลูกปูมาขายเรื่อยๆ ลุงอ๊อดตัดสินใจยอมขายที่ดิน นำเงินที่ได้มา 2 ล้านกว่าบาท มาช่วยชาวบ้านในการซื้อลูกปูต่อ จนชีวิตและธุรกิจย้อนกลับสู่การเป็นหนี้อีกครั้ง

“มีเงินเท่าไหร่ก็ช่วยซื้อ ถ้าเราไม่ซื้อคนเฒ่าคนแก่ที่เขามีอาชีพดักปูขายก็ไม่มีเงิน ผมสงสารเขาตรงนั้น พอว่าโควิดลูกหลานตกงาน กลับมาอยู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ก็ต้องเลี้ยง คนไทยไม่ช่วยกันตอนนี้จะช่วยกันตอนไหน มรเท่าไหร่ก็ช่วยไปให้หมดนั่นแหละ ต้องขายที่ดินก็ยอมเพราะสงสารเขา”

ฟาร์มอ๊อดปูดำ ในพื้นที่กว่า 16 ไร่ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร

ฟาร์มปูมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ในพื้นที่ขนาดกว่า 16 ไร่ กับปูที่เลี้ยงไว้ 24,000 ตัว ในพื้นที่ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร โควิด-19 ทำเอาแทบร้าง เมื่อไม่มีรายได้ ส่งผลให้ต้องเลิกจ้างแรงงานชั่วคราวไปกว่า 30 คน ตอนนี้ทำเฉพาะปูนิ่ม เพราะนำไปเก็บอัดแช่แข็งไว้ได้เพราะบางวันก็ยังพอขายได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ส่วนปูเนื้อจะขายไม่ได้เลย และส่วนหนึ่งก็แจกชาวบ้านไปเพราะเขาก็ตกงานไม่มีจะกินครอบครัวเดือดร้อนเหมือนกัน

แม้จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 แต่จิตใจที่เป็นนักสู้ของผู้ชายคนนี้ ได้ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จในอาชีพเลี้ยงปูทะเล จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติถึง 4 ปี ได้แก่ปี พ.ศ.2552, 2553, 2557, 2560 และรางวัลต่างๆ อีกมากมาย ได้ไปศึกษาดูงานและถ่ายทอดความรู้ที่ต่างประเทศ จนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน  และฟาร์มอ๊อดปูดำ จ.ชุมพร ยังเป็นฟาร์มแรกของประเทศผสมพันธุ์ปูได้เอง (ด้วยวิธีผสมเทียม)  โดยวิธีคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของปูให้มีความสมบูรณ์ที่สุด (ดูที่ขนาดตัว/ขนาดกล้าม/สี/และความสมส่วนของอวัยวะต่างๆ)  จากนั้นผสมเทียมปูโดยคัดปูนิ่มตัวเมียมาฉีดน้ำเชื้อจากปูตัวผู้เข้าสู่หน้าอก ทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน ปูนิ่มตัวเมียจึงจะเริ่มมีไข่เต็มหน้าอก โดยปู 1 ตัวจะได้ไข่จำนวน 1,000,000 ฟอง เมื่อทิ้งไว้สักระยะ ไข่ปูจะกลายเป็นลูกปูตัวเล็กมากเรียกว่า “ลูกไร” จะปล่อยสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนปูและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปู เมื่อปูเติบโตในธรรมชาติ ชาวบ้านก็จะได้จับปู มาขายที่ฟาร์ม ชาวบ้านก็จะมีอาชีพที่สร้างรายได้

สมปอง อ่ำเอี่ยม (ลุงอ๊อด) วัย 63 ปี เจ้าของฟาร์มอ๊อดปูดำ จ.ชุมพร

ลุงอ๊อด เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เริ่มต้นธุรกิจเมื่ออายุ 32 ปี จากติดลบเป็นหนี้รวมกว่า 4 ล้านบาท จากขอยืมเงินพ่อ นำบ้านพร้อมที่ดิน จังหวัดเพชรบุรีไปจำนองธนาคารเอาไว้ และยืมเงินจากอาและน้ามาเพิ่มเติมเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท เพื่อตั้งตัวลงทุนสร้างบ่อกุ้งที่จังหวัดเพชรบุรี แต่แล้วเงินก็หมดไปกับการขุดบ่อ ซื้อพันธุ์กุ้งกุลาดำ และอาหารกุ้ง เลี้ยงกุ้งได้ 6 ปี เกิดโรคระบาดตัวแดงดวงขาวทำให้กุ้งกุลาดำที่ลุงเลี้ยงไว้ตายทั้งหมด 200,000 ตัว มีหนี้สินทันที บ้านและที่ดินของพ่อที่จำนองไว้กับธนาคารก็ถูกยึด พ่อและน้องต้องย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม

จากนั้นลุงอ๊อดย้ายอยู่จังหวัดชุมพร โดยอาศัยที่ดินของพ่อภรรยา 12 ไร่ หันมาเพาะเลี้ยงปูดำ เพราะมองว่าปูมีความทนทานต่อโรคมากกว่า และราคาขายก็สูงมากกว่ากุ้ง เขาเริ่มจากการจับปูดำในคลองวันละ 100 กว่าตัว ทุกวัน จนปูในบ่อมีเป็น 1,000 ตัว แต่ก็คิดว่าการเดินหน้าธุรกิจครั้งนี้ต้องไม่ประมาท ล้มไม่ได้อีกแล้ว ลุงอ๊อดจึงมองหาผู้เชี่ยวชาญ เพราะตัวเขาเองไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอเรื่องการเลี้ยงปูประกอบกับอยากเลี้ยงปูนิ่มเพิ่มเติม  เขาหาข้อมูลจนพบว่าในจังหวัดระนองมีฟาร์มปูนิ่ม จึงขอเข้าไปศึกษาดูวิธีการเลี้ยงปูจากฟาร์มต่างๆ แต่กลับถูกปฏิเสธ

“เขาบอกไม่ให้เข้า เพราะเป็นความลับของฟาร์มเขา แล้วตอนนั้นปี 2539 ศูนย์เรียนรู้มันไม่มี พอเขาไม่ให้เข้าก็ไม่โกรธน่ะเป็นเขตของเขา ลุงเลยไปซื้อกล้องส่องทางไกลขึ้นเขาไปแอบดู 2-3 ชั่วโมง แล้วจำไปทำเอง”

เขาไม่ลดละความมุ่งมั่น จึงไปซื้อกล้องส่องทางไกลราคา 500 บาท เดินทางขึ้นไปบนเขาหามุมสูง เพื่อส่องกล้องดูวิธีการเลี้ยงปูนิ่มที่ฟาร์มแห่งนั้น แอบเห็นว่าการเลี้ยงมีการทำเป็นแพปู และมีกล่องดำๆ ใส่ปูลอยอยู่ในน้ำ ลุงอ๊อดจึงจำวิธีนี้มาและนำมาสร้างแพที่ฟาร์มของตนเอง

ต้นทุนที่น้อยนิด เขาเริ่มจากการไปซื้อไม้จากร้านขายของเก่านำมาเป็นแพปู และไปเก็บตะกร้าพลาสติกเก่ามาทำตะกร้าปู โดยใช้เงินตัวเองจำนวน 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายอีกอย่าง คือลุงต้องใช้เงินไปซื้อปลาตัวเล็กๆ จากตลาด นำมาหั่นเป็น 2-3 ส่วนต่อตัว เป็นอาหารปู

ปูนิ่มที่ลอกคราบในตะกร้า จะมีปูและคราบปูอยู่ (คล้ายๆ เหมือนมีปูสองตัว)

เมื่อทดลองเลี้ยงไปสักระยะ ลุงอ๊อดค้นพบวิธีการเลี้ยงปูนิ่ม จากลูกปูดำขนาด 50 กรัม เลี้ยงต่อไป 15 วัน ปูจะลอกคราบ 1 ครั้ง และปูจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว เขาจะปล่อยให้ปูลอกคราบ 3 ครั้ง เมื่อลอกครั้งที่ 3 แล้ว ปูนิ่มจะมีขนาด 150 – 200 กรัม แล้วจับขึ้นมาพักในน้ำจืด เพื่อให้กระดองปูยังนิ่มอยู่ แล้วจึงส่งขายในทันทีและได้ราคาดี  ซึ่งการจับปูนิ่มขาย จะต้องหมั่นเอาใจใส่เข้าไปตรวจดูตะกร้าปูทุกๆ 6 ชั่วโมง ในเวลา 12.00 น., 19.30 น. และ 04.00 น. ปูที่ลอกคราบสังเกตง่าย เพราะในตะกร้าจะมีปู และคราบปูอยู่ (คล้ายๆ เหมือนมีปูสองตัว) เขาใช้เวลาเรียนรู้ทั้งการเลี้ยงปู การขาย และมองหาตลาดพิสูจน์ตัวเองมากกว่า 15 ปี เมื่อลุงอายุ 48 ปี ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปู ปลดหนี้ 4 ล้าน ภายใน 10 ปี เพราะปูที่เลี้ยงไว้ ทั้งปูดำและปูขาว ขายได้ราคา สร้างรายได้ดีมาก

  • ปูดำขายกิโลกรัมละ 1,400 บาท (ขนาด 300 ถึง 700 กรัม)
  • ปูขาว (เนื้ออร่อยกว่าปูดำ) กิโลกรัมละ 1,500 บาท (ขนาด 300 ถึง 700 กรัม)
  • ปูไข่ (ปูดำเพศเมีย) กิโลกรัมละ 350 บาท (ตัวเล็ก ขนาด 200 กรัม)
  • ปูไข่ (ปูดำเพศเมีย) กิโลกรัมละ 800 บาท (ตัวใหญ่ ขนาด 1,000 กรัม)
  • ปูนิ่ม (ปูดำลอกคราบ) กิโลกรัมละ 400 บาท  (ขนาด 300 ถึง 700 กรัม)

ลุงอ๊อด กับน้องพีท คนงานคู่ใจวัย 20 ปี กำลังช่วยกันเช็คปูนิ่มหลังลอกคราบ

เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2563 ลุงอ๊อดบอกว่าเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ปูนิ่มลอกคราบ ทำให้เริ่มมีรายรับเข้ามาบ้าง ในรอบ 8 วัน กลับมาทำเงินได้ถึง 170,000 บาท และช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 วันได้ 50,000 บาท เป็นผลจากร้านอาหารที่รับซื้อเริ่มเปิดตัว

ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มอ๊อดปูดำ ภูมิปัญญาหรือปราชญ์ชาวบ้าน ที่เด็ก ๆ เรียกว่า ครูลุงอ๊อด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงปูที่สั่งสมประสบการณ์อาชีพเลี้ยงปูดำมากว่า 30 ปี ให้กับเด็กนักเรียน โรงเรียนต่างๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงาน

ลุงอ๊อด ยังคงฝังใจตอนที่เริ่มต้นอาชีพเลี้ยงปู ไปขอดูงานจากใครก็ไม่มีใครสอน ทุกวันนี้เขาทำฟาร์มให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดชุมพร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เขาทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเอง แม้ว่าดวงตาจะเป็นต้อกระจก การมองเห็นเริ่มเลือนลาง แต่ก็ตั้งใจจะสอนทุกคนที่อยากรู้เรื่องปู โดยมีนักเรียน นักศึกษา ระดับประถมศึกษา ถึงชั้นมหาวิทยาลัยหมุนเวียนเข้ามาศึกษาดูงาน

“ปัญญาปันสุขให้กล่องผมมา และให้สังกะสีผมมาอย่างหรูเลย ผมก็จะทำให้ดีที่สุด อนาคตที่เขาให้มาผมจะประคับประคองศูนย์การเรียนรู้ฯ ตรงนี้ให้ดีที่สุด เพราะว่าผมต้องการให้คุณปัญญาและคนดูเห็นว่าผมตั้งใจทำ ผมจะไม่ทำให้ผิดหวัง”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า