Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อพ่อแม่อันเป็นที่รักล้มป่วยด้วยโรคร้าย ลูกหลานตระกูลงิ้วอย่าง หลิน – สุจรรยา จรัสแนว จึงคิดนำงิ้ว ที่เป็นความทรงจำดีๆ ของทั้งเธอและพ่อแม่ มาสร้างสรรค์เป็น “โรงงิ้วจิ๋ว” สิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยให้ทุกคนในบ้านมีชีวิตดีขึ้น

เบื้องหลังของคนทำโรงงิ้วจิ๋ว

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นโรงงิ้วจิ๋วที่เราเห็นกันอยู่นี้ เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย ความกตัญญู และความสร้างสรรค์ ของคนสู้ชีวิตอย่างหลิน ผู้หญิงวัย 45 ปี ลูกสาวคนโตของครอบครัวงิ้วแห่งหนึ่ง

หลินเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กว่า ตนเองเป็นสายเลือดคนเล่นงิ้ว ที่ผูกพันกับงิ้ว เพราะอากงเป็นนักแสดงงิ้ว แสดงที่โรงงิ้วเฉลิมราษฏร์ ซอยแปลงนาม เมื่อ 40 ปีก่อน รับบทเป็นเปาบุ้นจิ้น ซึ่งคนสมัยนั้นคุ้นเคยดี เพราะได้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ส่วนแม่ก็เล่นงิ้วมาตั้งแต่ 9 ขวบ และขึ้นมารับบทเปาบุ้นจิ้นแทนที่อากง ได้โอกาสแสดงในที่ใหญ่ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรม สวนอัมพร สนามกีฬาหัวหมาก อยู่เสมอ แต่ภายหลังที่คนเริ่มไม่นิยมชมการแสดงงิ้วแล้ว ทำให้โรงงิ้วเฉลิมราษฎร์ปิดตัวลง ทั้งแม่และพ่อเลยต้องย้ายเข้าคณะงิ้วเร่ ออกแสดงตามงานศาลเจ้าทั่วไป ทั้งในไทยและมาเลเซีย ซึ่งเวลาไปออกแสดง พ่อแม่ต้องไปนานหลายสัปดาห์ บางทีนานเป็นครึ่งปี

นั่นจึงทำให้หลินซึมซับความเป็นงิ้วมาตั้งแต่เด็ก และขณะเดียวกันหลินต้องกลายเป็นคนสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กด้วย เพราะความเป็นพี่คนโตที่ต้องดูแลน้องชาย จึงต้องทำทั้งงานบ้าน งานพิเศษ ช่วยดูแลน้องชาย ตอนพ่อแม่ไม่อยู่ แน่นอนว่าหลินไม่เคยบ่น แต่หน้าที่ต่างๆ เหล่านั้นก็ทำให้เธอเป็นคนไม่ค่อยร่าเริง อย่างเลี่ยงไม่ได้

ต่อมาหลังเรียนจบปริญญาตรี หลินทำงานทั้งในบริษัทเอกชน และงานราชการ พร้อมกับช่วยงานคณะงิ้วหลายอย่าง เช่น เปิดเว็บไซต์ให้ความรู้ รวบรวมบันทึกการแสดง เพื่อเผยแพร่ให้คนได้รู้จักงิ้ว เป็นต้น เพื่อให้สิ่งที่มีค่าของครอบครัว ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้ คือความกตัญญูต่อครอบครัว และอาชีพงิ้วที่เลี้ยงดูให้ตัวเองเติบโตขึ้นมาได้

ความกตัญญูต่อครอบครัวงิ้ว

ครอบครัวของหลิน แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ราบรื่นเป็นปกติดีมาตลอด จนกระทั่งเกิดจุดหักเหที่ทำให้ทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไป คือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2559) พ่อของหลินได้ล้มป่วยด้วยอาการติดเชื้อวัณโรคในสมอง เพราะเวลาไปออกงาน พ่อต้องไปล้างห้องน้ำเก่าเกรอะ แต่ไม่ยอมใส่รองเท้า ทำให้คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง นั่งและเดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง รายได้ตอนนั้น จึงมาจากการเล่นงิ้วของแม่คนเดียว

หลินต้องลาออกจากงานมาช่วยแม่ดูแลพ่อ คอยกายภาพให้ พาไปหาหมอ จนพ่ออาการดีขึ้น กลับมาเดินได้ พูดรู้เรื่อง ภายใน 3 ปี แต่ก็ยังมีรอยโรคในสมองอยู่ แต่ไม่นาน แม่ก็ล้มป่วยไปอีกคน เพราะในปี 2562 แม่ในวัย 62 ปีก็ล้มป่วยไปอีกคน เพราะเส้นเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน ตอนไปแสดงที่มาเลเซีย พูดไม่ได้ ขยับแขนได้ข้างเดียว ได้แต่ยักคิ้ว แต่สมองไม่รับรู้อะไรแล้ว

ในฐานะลูกคนโตที่ต้องดูแลพ่อที่ป่วย และต้องดูแลแม่เพิ่มอีกคน หลินในตอนนั้นไม่ได้ปริปากบ่น หรือปฏิเสธ แต่กลับให้คำมั่นสัญญากับพ่อว่าจะดูแลพ่อกับแม่เอง

ขณะเดียวกันก็มีน้องชายมาช่วยดูแลพ่อแม่บ้าง วันเว้นวัน แต่ไม่ได้พักอยู่ด้วยกัน แต่หลินไม่เคยเกี่ยง เพราะคิดว่า “ทำมากกว่าไม่เห็นเป็นไร เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากความเหนื่อยของเรา ก็คือพ่อแม่เราเอง”

สู้ชีวิตจนจิตใจบอบช้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้เธอจะไม่ได้ปริปากบ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กิจวัตรการดูแลคนป่วยทั้ง 2 คนตลอดทั้งวัน นานวันเข้า ก็ทำให้รู้สึกเครียด ท้อ ร้องไห้บ่อยมาก จนถึงคิดจบชีวิตพร้อมกันทั้งบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีรายได้ แต่มีภาระค่าใช้จ่ายเดือนละหลายหมื่น ทั้งค่ารถพยาบาลพาแม่ไปหาหมอ เดือนละ 5-6 ครั้ง ค่าผ้าอ้อม 2 คน ค่าผ้าก๊อช และชุดทำแผล แต่ตอนนั้น ทั้งบ้านไม่มีรายได้เลย

แต่หลังจากได้เรียนรู้เรื่องบาปกรรมจากในโทรทัศน์ หันมาพึ่งพาธรรมะ และการทานยา เธอก็ได้เปลี่ยนความคิด โดยบอกกับตัวเองว่า “แม่ไม่ใช่ภาระของลูก ขอบคุณที่แม่เข้มแข็ง มีชีวิตอยู่ต่อ ให้ลูกได้มีโอกาสดูแล”

กำลังใจจากคนภายนอก

ต่อมา หลินได้รับการช่วยเหลือ และกำลังใจจากหลายคน ไม่ว่าจะเป็นหมอ-พยาบาลรวบรวมเงินกัน เพื่อจ่ายค่ารถพยาบาลให้แม่ได้กลับบ้าน แท็กซี่ใจบุญที่ช่วยพาพ่อแม่ไปส่งโรงพยาบาล ญาติและเพื่อนๆ ​แม่ อีกหลายคนที่ให้เงินช่วยเหลือ รวมถึงน้องเป่าเปา (ลูกสาวคุณบี้-คุณกุ๊บกิ๊บ) ที่มีคลิปน่ารักๆ ออกมาให้ชม ทำให้หลินมีกำลังใจที่จะสู้​ และดูแลพ่อแม่ต่อไป

ก่อร่างสร้างโรงงิ้วจิ๋วเพื่อครอบครัวและสืบสานงิ้ว

เมื่อโควิดมาถึง หลายคนลำบาก ต้องหยุดพักการช่วยเหลือไป หลินจึงต้องกลับมาพึ่งพาตัวเอง ในการหารายได้เข้าบ้าน โดยเอาสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในทุกช่วงชีวิตอย่าง “งิ้ว” มาสร้างสรรค์เป็นโรงงิ้วจำลองขนาดจิ๋ว เพื่อวางขาย

“จริงๆ หลินประดิษฐ์โรงงิ้วจำลองตั้งแต่ตอนพ่อป่วยครั้งแรก เพราะอยากให้เขาทำอะไรที่คุ้นเคย ได้ฝึกกายภาพ และฟื้นความทรงจำ เลยคิดอยากทำโรงงิ้วจำลอง โดยให้พ่อเอาตะเกียบมาผูกเชือก ทำเป็นโครงโรงงิ้ว เหมือนตอนพ่อเคยทำงาน ส่วนอื่นๆ ของโรงงิ้ว หลินคิดออกแบบเอง หากระดาษกับเศษผ้า มาแต่งแบบง่ายๆ”

“จุดเด่นของโรงงิ้วจิ๋ว คือมีช่องใส่โทรศัพท์ เอาไว้เปิดคลิปแสดงงิ้วของแม่ให้พ่อดู เวลาเปิดงิ้วให้พ่อดู พ่อจะชอบใจ พอแม่ป่วยติดเตียง หลินก็เอาโรงงิ้ว มาตั้งให้แม่ได้ดูคลิปตัวเอง เพราะหวังให้พ่อกับแม่มีความสุข อยากให้แม่ฟื้นกลับมาไวๆ แต่หลังจากที่แม่รักษาตัวได้เกือบ 1 ปี ก็เสียชีวิต”

หลังจากนั้น หลินที่เหลือพ่อเพียงคนเดียว ซึ่งป่วยอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง จากรอยโรคติดเชื้อในสมอง ก็มีเวลาให้ทำโรงงิ้วจิ๋วขาย เพื่อหาเงินมาดูแลพ่อ โดยปรับปรุงจากโรงงิ้วจิ๋วที่ทำให้แม่ดูก่อนเสียชีวิต ให้มีความแข็งแรงขึ้น และสวยงามขึ้น จากเดิม ที่ใช้ไม้ตะเกียบทำเป็นโครงสร้าง ก็เปลี่ยนเป็นใช้แท่งไม้อย่างดี ลวดลายต่าง ๆ ด้านหน้าโรงงิ้ว ก็ตัดต่อเองในคอมเครื่องเก่า แล้วไปจ้างร้านอัดรูปล้างให้ ก่อนเอามาติดลงแผ่นอะลูมิเนียม ตกแต่งด้วยผ้าระบาย พู่จีน และหลอดไฟ ซึ่งทำด้วยมือทุกขั้นตอน และให้พ่อช่วยทำบางอย่าง เพื่อช่วยเตือนความทรงจำให้พ่อ เช่น มัดเชือกกับโครงไม้ติดกาว

“หลินไม่ได้มีความรู้งานประดิษฐ์ แต่ทำด้วยใจรักที่มีให้พ่อแม่ และการแสดงงิ้ว ที่อยากให้คนรุ่นหลัง ยังได้เห็นโรงงิ้ว เพราะหาดู ยากแล้ว”

แนะนำโรงงิ้วจิ๋ว

โรงงิ้วที่หลินทำ มี 4 ขนาด คือเล็กสุด ใส่มือถือ และใหญ่สุดใส่ไอแพด 12 นิ้วได้ ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ตั้งหน้าตี่จู้เอี๊ย เปิดงิ้วถวายไหว้เจ้า ใช้ในงานกงเต็ก เผาส่งไปให้บรรพบุรุษ ใช้เปิดให้อากงอาม่า ดูแก้เหงา หรือเปิดให้เด็กๆ ที่กลัวเสียงงิ้วดู จะได้ไม่กลัว และตอนนี้ได้เพิ่มสินค้าใหม่เป็น “โรงลิเกจิ๋ว” ด้วย เพื่อให้คนที่ไม่ดูงิ้ว เลือกแบบโรงลิเกได้

งานทุกชิ้นใช้เวลาทำนานหลายวัน รายได้ในการขาย 1 โรง ได้กำไรประมาณ 200-300 แทบไม่พอจุนเจือครอบครัว แต่หลินคิดว่าดีกว่ารอเงินช่วยเหลือจากคนอื่น จึงตั้งใจทำต่อไป

 

อุดหนุนโรงงิ้วจิ๋ว ได้ที่ FACEBOOK: คนเล่นงิ้ว

หมายเหตุ: อาการซึมเศร้าของหลินยังไม่ได้หายสนิท ยังคงต้องทานยาเป็นระยะ ถ้าบางครั้งไม่ไหว ก็จะหยุดทำโรงงิ้ว เพื่อปรับสภาพอารมณ์ เพราะถ้ายิ่งฝืน โรงงิ้วจะออกมาไม่ดี งานที่สั่งมาจึงเสร็จช้าไปบ้าง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า