SHARE

คัดลอกแล้ว
จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อทีมยักษ์ใหญ่ที่เคยได้ชื่อว่าใช้เงินมากมายในวงการฟุตบอล อย่างบาร์เซโลน่า, เรอัล มาดริด ต้องประสบปัญหาขาดทุน มีหนี้สินมหาศาล จนต้องกู้ยืมเงินเพื่อหมุนเวียนภายในทีม หรือแม้กระทั่ง อินเตอร์ มิลาน ก็เผชิญ กับภาระหนี้สินมหาศาล ทั้งๆ ที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศในรอบ 10 ปี
นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะในแง่ของมูลค่าสโมสรรวม ทีมเหล่านี้ถือเป็นทีมระดับแม่เหล็กที่มีแฟนบอลมากมาย มีรายได้มหาศาลจากทั้งในและนอกสนาม  จากทั้งแฟนบอลและสปอนเซอร์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่ทำให้ทีมเหล่านี้ต้องพบวิกฤติหนี้ท่วมจนแทบล้มก็คือ โควิด-19 นั่นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ธุรกิจในวงการฟุตบอลที่มีจำนวนเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาล  ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?
ทาง Today BIZVIEW ได้รวบรวมนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสโมสรชั้นนำในยุโรป แนวคิดที่น่าสนใจในการจัดการสโมสรช่วงวิกฤติ
บาร์เซโลน่า จากเจ้าบุญทุ่ม… สู่หนี้ท่วม
หากกล่าวถึงสโมสรฟุตบอลที่มูลค่ามากที่สุดในโลก (จากการจัดอันดับของบริษัท Deloitte ในปี 2020) และเต็มไปด้วย ประวัติศาสตร์ เพียบพร้อมไปด้วยนักเตะระดับโลก รวมไปถึงนักเตะระดับซุปเปอร์สตาร์ของวงการอย่าง ลีโอเนล เมสซี่ คงจะไม่มีใครไม่รู้จักทีม บาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟุตบอลสเปนอย่างแน่นอน
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนประธานบริหารของทีมในช่วงปี 2014 จนถึง 2020 ภายใต้การดูแลของ โจเซฟ มาเรีย บาโตวมิว
บาร์เซโลน่า ได้ใช้นโยบายถลุงเงินทุ่มซื้อสตาร์ระดับโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป้าหมายคือ แชมป์ ลาลีกา รวมไปถึง แชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก นำมาสู่ฉายา เจ้าบุญทุ่ม ที่แฟนๆและสื่อกีฬามอบให้กับพวกเขา
จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2019 พวกเขาทุ่มเงินมากถึง 954 ล้านยูโร ( ราว 35,000 ล้านบาท) ซื้อนักเตะเข้าสู่ทีมเพื่อไล่ล่าความสำเร็จ จนนำมาผลงานสู่แชมป์ลีกสูงสุด 4 สมัยและแชมป์ฟุตบอลยุโรป 1 สมัย  ในช่วงเวลาดังกล่าว เรียกได้ว่าผลงานในสนามถือว่ายอดเยี่ยมเป็นที่น่าพอใจสำหรับแฟนบอลของสโมสรและแฟนคลับทั่วโลก
แต่ดูเหมือนว่านโยบายดังกล่าวต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงลิ่ว  เพราะพวกเค้าต้องแบกรับภาระค่าเหนื่อยมหาศาลจากนักเตะภายในทีมที่สูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์ จากรายจ่ายทั้งหมดกระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้วิกฤติทางการเงินของสโมสรเลวร้ายลงกว่าเดิม

ลิโอเนล เมสซี บาร์เซโลนา AFP0963

ก่อนจะกล่าวถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลกันก่อน
เมื่อโครงสร้างรายได้หลักของสโมสรฟุตบอลมาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. รายได้จากการขายตั๋วเข้าชมเกมส์และกิจกรรมภายในสนามรวมไปถึงการขายสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับสโมสร
2. รายได้จากผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ของสโมสรทั้งในสนามและนอกสนาม
3. รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการแข่งขันในรายการต่างๆทั้งในประเทศ รวมไปถึงรายการระดับทวีป
ลำพังแค่รายได้จากการขายตั๋วเข้าชมเกมส์ที่สนาม คัมป์ นู ของสโมสรที่มีความจุราวๆ 100,000 ที่นั่ง ต่อเกมส์ก็มีมูลค่า
มากถึง 3.3 ล้านยูโร ( 122 ล้านบาท ) ประเมินรายได้ที่หายไปคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 145 ล้านยูโร/ปี ( 5,300 ล้านบาท) ควบคู่ไปกับการลดลงของค่าลิขสิทธิ์รายได้จากการแข่งขันยิ่งส่งผลเลวร้ายต่อสถานะการเงินของสโมสรอย่างช่วยไม่ได้
แม้จะมีความพยายามในการลดรายจ่ายและทำข้อตกลงกับนักเตะในทีมเพื่อลดค่าเหนื่อย ก็ดูเหมือนว่าช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น จากการที่สโมสรได้ประกาศผลประกอบการขาดทุนหลังหักภาษีภายในปี 2019-2020 ที่ราวๆ 97 ล้านยูโร (ราว 3,600 ล้านบาท) และยังมีหนี้สินหมุนเวียนรวมๆเกือบ 1.1 พันล้านยูโร (40,000 ล้านบาท) ซึ่งมาจากการกู้ยืมธนาคาร
  
รวมไปถึงหนี้สินจากการซื้อนักเตะเข้าสู่ทีม ทำให้มีหนี้ที่ยังผ่อนจ่ายไม่หมดกับสโมสรที่ขายนักเตะให้กับทีม เช่น ลิเวอร์พูล, อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม หรือ บอร์กโดซ์
ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดที่จะปล่อยตัวซุปเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของสโมสรอย่าง ลีโอเนล เมสซี่ ไอคอนแห่งวงการลูกหนังโลกออกจากทีม ด้วยความเชื่อที่ว่า บาร์เซโลน่า จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 100 ล้านยูโรต่อปี (3,700 ล้านบาท)
ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ขัดต่อความต้องการของแฟนบอลในทีมและนำไปสู่การสังเวยตำแหน่งประธานสโมสรของ บาโตวมิว ที่ต้องอำลาตำแหน่งไปทั้งด้วยความผิดพลาดในการบริหารและรวมไปถึงคดีความที่เกิดจากการใช้สื่อโซเซียลโจมตีนักเตะภายในทีมอย่างลับๆ
ทำให้ประธานสโมสรคนเก่าอย่าง โจน ลาปอร์ต้า ได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้งหลังจากที่เคยแพ้การเลือกตั้งประธานในปี 2013 (สโมสรในสเปนใช้วิธีการโหวตเลือกตั้งประธานโดยสมาชิกภายในสโมสรฟุตบอล) ซึ่งสิ่งแรกที่ ลาปอร์ต้า ทำคือ การกู้ยืมเงิน 500 ล้านยูโร จากสถาบันการเงิน โกล์ดแมน แซคส์ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและใช้หนี้ระยะสั้นอีกทั้งยังมีแนวคิดในการขายชื่อสนาม คัมป์ นู แก่สปอนเซอร์เพื่อนำเงินเข้าสู่สโมสรอีกทาง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบาร์เซโลน่าถือว่าน่าเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับชื่อเสียงของสโมสร ฐานความนิยมของแฟนบอลทั่วโลกทำให้สโมสรมีความสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายอย่างคาดไม่ถึง จากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดบวกกับวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งชนวนปัญหาที่มีอยู่แล้วให้หนักยิ่งกว่าเดิม
บทเรียนมหาอำนาจลูกหนังสเปน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมบาร์เซโลน่าก็แทบจะไม่แตกต่างอะไรจากทีมคู่ปรับตลอดกาลอย่าง ราชันชุดขาว เรอัล มาดริด อีกหนึ่งมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังจากเมืองหลวงของสเปนพวกเขาประสบปัญหาภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนโยบาย กาแลคติกอส ของประธานสโมสร ฟลอเรนติโน่ เปเรซ (มาจากคำว่า รวมดาราโลก ซึ่งก็คือการใช้เงินทุ่มซื้อนักเตะค่าตัวแพงที่มีชื่อเสียงเข้าสู่ทีม)
มีการแข่งขันอย่างดุเดือดทั้งในและนอกสนามระหว่างสองสโมสร เพราะแฟนบอลของทั้ง สองทีมย่อมยอมไม่ได้หากทีมรักของตนจะต้องพ่ายแพ้คู่ปรับร่วมประเทศ
แม้มูลค่ารวมของสโมสร เรอัล มาดริด จะอยู่ที่อันดับ 2 น้อยกว่า บาร์เซโลน่า เพียงเล็กน้อย แต่มูลค่ารวมหนี้สินของทีมกลับพุ่งสูงถึง 901 ล้านยูโร (ราว 33,000 ล้านบาท)  จากการทุ่มซื้อนักเตะไม่ต่างจากคู่แข่งร่วมเมือง  พวกเขาใช้จ่ายเงินในการซื้อนักเตะเข้าสู่ทีมนับตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2020 มากถึง 755  ล้านยูโร (27,900 ล้านบาท)  ทำให้สโมสรก็ต้องประสบภาวะที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะมหาศาลเฉกเช่นเดียวกับคู่ปรับร่วมประเทศ
สิ่งดีๆไม่กี่อย่างที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤติโควิด-19 คือ เรอัล มาดริด ได้ใช้โอกาสช่วงโควิด-19 ในการปรับปรุงสนาม ซานติอาร์โก้ เบอร์นาบิว เพื่อเตรียมพร้อมรับแฟนบอลที่จะกลับสู่สนามในฤดูกาล 2021-2022 ต่อไป
อินเตอร์ มิลาน เมื่อ แชมป์ นำมาสู่ความ ช้ำ
ข้ามฟากจากสเปน มาสู่ประเทศ อิตาลี  ภายใต้การนำทีม อินเตอร์ มิลาน โดยเจ้าของทีมอย่างกลุ่ม ซูหนิง บริษัท อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แห่งประเทศจีน เลือกที่จะทุ่มเงินเพื่อซื้อนักเตะเข้าสู่ทีมในช่วง 2 ปี หลังสุดรวมๆแล้วไม่น้อยกว่า 300 ล้านยูโร (ราว 11,000 ล้านบาท) พร้อมทั้งจ้าง อันโตนิโอ คอนเต้ โค้ชฝีมือดี ด้วยค่าจ้างที่สูงเป็นอันดับต้นๆของโลกที่ราว 11 ล้านยูโร/ปี (ราวๆ 400 ล้านบาท) เข้ามาคุมทีม
ส่งผลให้ทีมทำผลงานในสนามอย่างยอดเยี่ยมจนคว้าแชมป์ สคูเด็ตโต้ (แชมป์ลีกสูงสุดของสโมสรฟุตบอลในประเทศอิตาลี ) ในปี 2020-2021 โค่นบัลลังค์แชมป์เก่าที่ครองแชมป์มาอย่างยาวนานนับ 10 ปี อย่างสโมสรยูเวนตุสลงได้สำเร็จ
แต่ความสำเร็จในสนามก็ต้องแลกมาด้วยหนี้สินจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น โดยสัญญาณของปัญหาดังกล่าวเริ่มก่อตัวขึ้น
หลังจากเกิดวิกฤต โควิด-19 ได้ไม่นาน  กลุ่มซูหนิง จำเป็นต้องยุบสโมสร เซียงจู ซูหนิง สโมสรฟุตบอลในประเทศจีนซึ่งพวกเขาดูแลอยู่ ทั้งๆที่ทีมเพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดในประเทศจีนในปี 2019-2020 เนื่องจากไม่สามารถรักษาสภาพคล่องและจ่ายหนี้สินคงค้างชำระได้ทันก่อนเริ่มต้นการแข่งขันฤดูกาล 2020-2021
ประกอบกับนโยบายของทางการจีนที่จำกัดการลงทุนภายนอกประเทศของบริษัทที่มีที่ตั้งในประเทศจีน ทำให้กลุ่มซูหนิง ไม่สามารถอัดฉีดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ทีม อินเตอร์มิลาน ได้อีกต่อไป ส่งผลให้หนี้สินรวมของทีมมีมูลค่าสูงถึง  630 ล้านยูโร ( ราว 23,000 ล้านบาท) มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆ ทีมที่แข่งขันภายในลีกสูงสุดของประเทศอิตาลี
ส่งผลให้ประธานสโมสรอย่าง สตีเฟ่น ชาง จากกลุ่มซูหนิง ต้องตัดสินใจที่จะลดค่าเหนื่อยภายในทีมลงให้ได้ 10-15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งวางแผนที่จะขายนักเตะที่โค้ชไม่อยากให้ขาย 1-2 คน อีกทั้งยังประกาศหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่กับทีม (คล้ายๆกับการขายหุ้นในทีมบางส่วนแลกกับการนำเงินสดมาเสริมสภาพคล่องให้สโมสร)
จากความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้บริหารและโค้ช ทำให้ทีมต้องยกเลิกสัญญากับ อันโตนิโอ คอนเต้ โค้ชผู้ซึ่งทาง สโมสรคว้าแชมป์มาหมาดๆ และสโมสรจำเป็นต้องร้องขอให้นักเตะในทีมงดรับโบนัส ที่จะจ่ายให้หลังจากคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศอิตาลี อีกด้วย
ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับ อินเตอร์ มิลาน ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนร่วมลีกอิตาลีทุกๆ ทีม ทั้ง ยูเวนตุส, เอซี มิลาน และ โรม่า รวมถึงสโมสรอื่นๆ มีรายงานตัวเลขหนี้สินรวมของทุกสโมสรในอิตาลีที่มูลค่า 2.8 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านยูโร เมื่อเปรียบเทียบจากปีก่อนเรียกว่าชอกช้ำกับอย่างถ้วนหน้าและหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
ดอร์ทมุนด์ vs ชาลเก้ 04 1 เมือง 2 สโมสร และ 2 ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจมาจากเมือง เกลเซ่นเคียร์เช่น ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสองสโมสรที่เป็นอริตลอดกาลอย่าง ชาลเก้ 04 และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลติดอันดับต้นๆ ของโลกจาก จำนวนความจุของสนามรวมกันทั้งสองสโมสรเฉียดๆ 150,000 ที่นั่ง และแฟนบอลเข้าชมในสนามเต็มแทบจะทุกนัด
หากย้อนกลับไปสัก 10 ถึง 20 ปีก่อน สถานะทางการเงิน ของทั้งสองสโมสรเรียกได้ว่าแตกต่างกันมาก สโมสรชาลเก้ 04 มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมาก ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สินสะสม ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น ในสนาม
นอกจาก รองแชมป์บุนเดสลีกา เมื่อฤดูกาล 2009-2010 แต่โดยรวมก็ยังเกาะกลุ่มหัวตารางได้ในทุกๆฤดูกาลที่ทำการแข่งขัน
แตกต่างจาก ดอร์ทมุนด์ ซึ่งประสบปัญหา ในด้านการเงิน พวกเขาจำเป็นต้องขายนักเตะ ออกจากทีม แทบจะทุกๆปี เพื่อใช้หนี้ และมีงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ยในการเสริมทัพนักเตะเข้าสู่ทีมแทบจะทุกปีนับตั้งแต่ปี 2000 มาจนถึง 2010
แต่ด้วยมันสมองและฝีมือของผู้อำนวยการกีฬาของทีม ดอร์ทมุนด์ อย่าง มิชาเอล ซอร์ก สโมสรเลือกใช้นโยบายด้าน การบริหารทีมโดยให้ความสำคัญกับทีมแมวมองที่จะค้นหานักเตะอายุน้อยฝีเท้าดี จากสโมสรต่างๆ ทั่วโลกเข้าสู่ระบบเยาวชนของทีม  รวมไปถึงการมองหานักเตะที่มีค่าตัวไม่แพงจากลีกฟุตบอลรองๆของทวีปยุโรปเข้าสู่ทีมเพื่อปลุกปั้นรวมถึงขายต่อทำกำไรหากทีมได้รับข้อเสนอที่น่าสนใจ
ผลลัพธ์ที่ตามมาทำให้ดอร์ทมุนด์กลายเป็นสโมสร ที่ทำกำไรจากการซื้อขายนักเตะ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นกอบเป็นกำ ยกตัวอย่างดีลซื้อขายนักเตะที่สำคัญ เช่น
– ขาย คริสเตียน พูลิซิซ ให้เซลซี ด้วยค่าตัว 65 ล้านยูโร  ซึ่งเป็นนักเตะที่สโมสรดึงจากประเทศ
 สหรัฐฯเข้าสู่ระบบเยาวชนโดยมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก
– ขาย อุสมาน เดมเบลเล่ ให้ บาร์เซโลน่า ด้วยค่าตัวสูงถึง 135 ล้านยูโร  หลังจากที่ซื้อมาจาก สโมสร แรนส์ ในฝรั่งเศสด้วยค่าตัวเพียง 15 ล้านยูโร เท่านั้น
เมื่อประกอบกับผลงานของทีม ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาลปัจจุบันที่จบในอันดับ 3 ของตารางการแข่งขันในประเทศ จึงเรียกได้ว่าเป็นการบาลานซ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งการจัดการภายในสนามและภายนอกสนาม ซึ่งสาเหตุหลัก มาจากบทเรียนที่พวกเขาเคยได้รับในอดีตในด้านปัญหาการเงิน รวมไปถึงความกล้าที่จะตัดสินใจให้โอกาสนักเตะทุกๆ คนแม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ทำให้สโมสรกลายเป็นจุดหมายที่นักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีอยากเข้ามาร่วมทีม เพราะมีพื้นที่ใช้โชว์ผลงานในสนามได้เต็มที่
บทเรียนสวนทางชาลเก้ 04
หากสิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสรดอร์ทมุนด์คือ ความสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสร ชาลเก้ 04 คงไม่ต่างจากคำว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะนับตั้งแต่ฤดูกาล 2017-2018 หลังจากที่ทีมคว้าตำแหน่งรองแชมป์ลีกสูงสุดในประเทศเยอรมัน  ‘ชาลเก้ 04’ ได้ตัดสินใจที่จะเน้นไปที่การใช้เงินเพื่อเสริมทัพและดึงนักเตะค่าตัวแพงเข้าสู่ทีมมากมาย
แต่ด้วยฝีมือของทีมบริหารที่ขาดความเชี่ยวชาญในตลาดการซื้อขายนักเตะ ส่งผลให้ได้นักเตะที่ฝีเท้าเกรดธรรมดา แต่ค่าตัวแพง  อีกทั้งเมื่อนักเตะมีผลงานไม่ดีในสนาม ทำให้สโมสรต้องขาดทุนเมื่อปล่อยให้นักเตะย้ายทีม เรียกได้ว่า ซื้อมาแพงแต่ขายถูก นั่นเอง
นอกเหนือจากนี้ นักเตะที่มีผลงานดีและขึ้นสู่ทีมผ่านระบบเยาวชนของสโมสรหลายราย ทีมผู้บริหารกลับปล่อยให้สัญญาเหลือระยะเวลาน้อย จนไม่สามารถเจรจาให้นักเตะต่อสัญญาอยู่กับทีมต่อไปได้ นักเตะก็ย้ายทีมฟรีๆ ส่งผลให้สโมสรไม่ได้รับเงินค่าตัวจากขายนักเตะเลย ตัวอย่างเช่น
– เลออน โกเรซก้า กองกลางทีมชาติเยอรมัน ที่ประเมินกันว่ามีค่าตัวถึง 50-60 ล้านยูโร ทีมก็เสียฟรีไปให้กับ สโมสร บาเยิร์น มิวนิค โดยไม่ได้อะไรตอบแทนแม้แต่ยูโรเดียว
– โจเอล มาติป กองหลังทีมชาติแคเมอรูน ประเมินว่ามีค่าตัว 20-25 ล้านยูโร ทีมก็เสียฟรีให้กับสโมสร ลิเวอร์พูล และไม่ได้ค่าตัวสู่สโมสรเช่นกัน
และในที่สุดเมื่อวงการฟุตบอลต้องเผชิญกับโควิด-19  ปริมาณหนี้สะสมของสโมสรก็พุ่งสูงถึง 200 ล้านยูโร (ราว 7,400 ล้านบาท) ทำให้พวกเขาขาดสภาพคล่องและมีรายงานว่าการจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะในฤดูกาลล่าสุดเป็นไปอย่างล่าช้า
ทำให้นักเตะหลายคนย้ายออกจากทีมด้วยค่าตัวที่ถูกมาก เหลือเพียงแค่กลุ่มนักเตะ ที่มีฝีเท้าระดับกลางๆ ซึ่งเมื่อลงเล่นก็ยากที่จะเอาชนะคู่แข่งขันในสนามได้
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผลงานในสนามของพวกเขาย่ำแย่มาก โดยใน 20 เกมแรก พวกเขาชนะเพียง 1 เท่านั้น แม้จะมีความพยายามในการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถึง 3 ราย แต่ผลงานในสนามก็ไม่ดีขึ้น จนท้ายที่สุดสโมสรก็ต้องตกชั้นจากลีกสูงสุด ในรอบ 40 ปี ถือเป็นความล้มเหลวอย่างแท้จริง ทั้งผลงานในและนอกสนาม จนไม่แน่ใจว่า ชาลเก้ 04 จะได้กลับมาสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในตอนไหน
ด้วยผลลัพธ์ที่แตกต่างของทั้งสองทีม ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดี สำหรับการบริหารทีมฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็มีหลายสโมสร ที่เลือกใช้กลยุทธ์แบบ ดอร์ทมุนด์ คือทำให้ทีมเป็นตัวกลางในการปลุกปั้นพัฒนาเยาวชนหรือผู้เล่นโนเนม แล้วขายทำกำไรไปยังสโมสรที่ใหญ่กว่า
ตัวอย่างทีมที่พอจะมองเห็นได้ชัดและคนไทยคุ้นหูก็คือ เลสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การบริหารของกลุ่ม คิงพาวเวอร์ ที่ปั้นนักเตะที่ไม่มีชื่อเสียงและมีค่าตัวที่ถูกมากๆ  เช่น เอ็นโกโล่ กองเต้, ริยาซ มาเรซ และ เจมี่ วาร์ดี้ สู่นักเตะค่าตัวระดับ 40-60 ล้านยูโร ด้วยระบบเครือข่ายทีมแมวมองที่ยอดเยี่ยม 
มารีน เอฟซี แข่งนัดเดียวแต่รอดตายไปได้ 10 ปี ภายใต้วิกฤติโควิด-19 จากไอเดียสุดสร้างสรรค์
ขณะที่สโมสรฟุตบอลแทบจะทั่วโลก ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินและค่าใช้จ่ายภายในทีม กลับมีหนึ่งสโมสรที่พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากการแข่งขันเพียงนัดเดียว  และที่สำคัญพวกเค้าไม่ใช่ทีมเงินถุงเงินถัง เพราะพวกเค้าคือสโมสร มารีน เอฟซี จากลีกระดับดิวิชั่น 8 ของประเทศอังกฤษ
ซึ่งหากนับระดับความห่างจากสโมสรในลีกสูงสุด เรียกว่าเทียบกันไม่ได้ในทุกๆ มิติ  เพราะนักกีฬาในทีมก็คือ นักเตะ พาร์ทไทม์ ที่ประกอบอาชีพอื่นๆควบคู่กับการเตะฟุตบอลอยู่เลย โดยหลังจากที่สโมสร มารีน เอฟซี ม้ามืดจากลีกดิวิชั่น 8 ของประเทศอังกฤษ ทำผลงานยอดเยี่ยมผ่านเข้าสู่รอบ 3 ของการแข่งขันฟุตบอลถ้วยในประเทศอย่าง เอฟเอ คัพในปี 2020-2021 พวกเค้ามีโอกาสจับฉลากและได้เปิดบ้านพบกับทีมดังจากลีกสูงสุดอย่าง ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์
โดยหากอยู่ในสถานการณ์ปกติสโมสรจะขายตั๋วได้เพียง 500 ที่นั่งจากความจุสนาม คิดเป็นรายได้ 5,000 ปอนด์ และรวมกับเงินรางวัลจากการเข้ารอบอีกราวๆ 15,000 ปอนด์รวมๆแล้วสโมสรจะได้รับเงินเพียง 20,000 ปอนด์ (ราว 880,000 บาท) เท่านั้น
แต่ด้วยไอเดียอันสร้างสรรค์ของสโมสร มารีน เอฟซี พวกเขาเลือกที่จะทำการขายตั๋วแบบ เวอร์ช่วล หรือเทคโนโลยีภาพเสมือน (Virtual ticket) ที่จะทำให้ผู้ชมสามารถรับชมเกมส์ได้อย่างใกล้ชิด จากทุกมุมมองของสนามเหมือนนั่งชมติดขอบสนาม อีกทั้งยังมอบสิทธิในการที่ผู้ซื้อจะสามารถร่วมจัดตัวนักเตะในทีม มารีน เอฟซี เพื่อลงทำการแข่งขันสำหรับเกมส์ ฟุตบอลลีกของพวกเค้าเองด้วย
ไอเดียนี้ โดนใจผู้ชมทั้งกลุ่มแฟนบอลของ มารีน เอฟซี แฟนบอลทั่วอังกฤษ และรวมไปถึง โชเซ่ มูริญโญ่ อดีตผู้จัดการทีมของ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ที่ก็ซื้อตั๋วนี้ด้วยเช่นกัน
กระแสความสนใจที่เกิดขึ้นถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้ท้ายที่สุดสโมสรสามารถขายตั๋วได้ มากถึง 30,000 ใบ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300,00 ปอนด์(ราว 13.2 ล้านบาท)   และแม้ว่าสุดท้ายพวกเขาจะแพ้ไปด้วยสกอร์ 5-0 แต่สิ่งที่ได้กลับมา เรียกได้ว่าเกินความคาดหวังอย่างมหาศาลและจะช่วยให้สโมสรนี้ อยู่รอดไปได้อีก 10 ปี เลยทีเดียว
สมดุลที่ลงตัวระหว่างความสำเร็จในสนามและสถานะทางการเงิน และการจัดการสโมสรฟุตบอลหลังวิกฤติโควิด-19
หากอ้างอิงถึงเรื่องราวที่กลุ่มคิงพาวเวอร์  เจ้าของสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ เคยได้กล่าวไว้ถึงการบริหารทีมฟุตบอลตั้งแต่ ล้มลุกคลุกคลานในช่วงเริ่มต้นที่เข้ามาซื้อทีมใหม่ๆว่า“ฟุตบอลไม่เหมือนธุรกิจประเภทอื่น หากคิงพาวเวอร์ยอดขายไม่ดี เรายังรู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องใช้เงินทำการตลาดส่วนไหนเพื่อเพิ่มยอดขาย แต่กับฟุตบอล ต่อให้ใช้เงินเต็มที่ ก็ยังไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์การแข่งขันที่เกิดในสนามได้อยู่ดี” ว่ากันง่ายๆคือ การบริหารทีมฟุตบอลแค่การใช้เงินอย่างเดียว อาจไม่ได้การันตีความสำเร็จในสนามได้
และตราบใดที่ฟุตบอลยังต้องแข่งขันห้ำหั่นระหว่างสโมสรทั้งในและนอกสนาม รวมไปถึงความคาดหวังต่อความสำเร็จของทีม บวกกับความอดทนที่นับวันยิ่งน้อยลงจากเจ้าของทีมและแฟนบอล ทำให้ในอนาคตเราจะยังคงได้เห็นการทุ่มใช้เงินเพื่อซื้อความสำเร็จอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ความสำเร็จในสนามย่อมนำมาสู่ความสำเร็จนอกสนามด้วยเช่นกัน(ในรูปแบบของสปอนเซอร์และฐานแฟนบอล)
แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ก็อาจจะทำให้หลายๆสโมสรก็ต้องกลับมาฉุกคิดและทบทวนแผนการดำเนินการของทีมตัวเองอีกครั้งว่า คุ้มแล้วหรือไม่? กับการใช้เงินเพื่อความสำเร็จ เพราะ คงไม่มีความหมาย หากท้ายที่สุด แชมเปี้ยนส์ในสนาม จะนำมาสู่ความชอกช้ำต่อฐานะทางการเงินในระยะยาว ที่อาจจะทำให้สโมสรต้องเหลือเพียงแค่ชื่อในท้ายที่สุด
อ้างอิง บาร์เซโลน่า-เรอัลมาดริด
อ้างอิง อินเตอร์มิลาน
อ้างอิง ชาลเก้ 04 – ดอร์ทมุนด์
อ้างอิง ความเสียหาย – ความพยายามลดรายจ่ายรวมของสโมสร

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า