SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เราจะรักใครสักคนเพียงคนเดียวจนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ เมื่อเธอมีความรักแค่ครั้งเดียว กับคนคนเดียว ตลอดช่วงชีวิตของเธอ workpointTODAY จะพาไปดูอมตะความรัก 74 ปีแห่งราชวงศ์ แบบเข้าใจง่าย ใน 21 ข้อ

1) ย้อนกลับไปในวันที่ 22 กรกฎาคม 1939 กษัตริย์จอร์จที่ 6 และ พระราชินีเอลิซาเบ็ธ (ควีนมัม) เดินทางไปที่วิทยาลัยราชนาวี ในเมืองดาร์ทมัธ เพื่อดูการเรียนการสอน รวมถึงตรวจความพร้อมของกองเรือ เพราะสงครามโลกกำลังจะปะทุขึ้นในไม่ช้า โดยในวันนั้น พระธิดาสองคน คือเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ (วัย 13 ปี) และ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (วัย 9 ปี) ก็เดินทางไปด้วย

2) ระหว่างที่กษัตริย์จอร์จที่ 6 ไปทรงงาน ก็จะให้พระธิดาทั้งสองคน ไปเยี่ยมชมรอบๆ วิทยาลัยราชนาวี โดยคนที่รับหน้าที่ดูแล พาชมสถานที่ และคอยสร้างความบันเทิงให้พระราชธิดาของกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ คือนักเรียนนายร้อย ที่ชื่อฟิลิป อายุ 18 ปี

ฟิลิป เป็นเจ้าชาย เพราะเขามีเชื้อสายของราชวงศ์กรีซและเดนมาร์ก และมีศักดิ์เป็นญาติห่างมากๆ ของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ โดยทั้งคู่มี ‘เชียด” เดียวกัน (Great-Great-Grandmother) นั่นคือควีนวิคตอเรีย

ความจริงทั้งสองคน เคยอยู่ในสถานที่เดียวกันมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1934 งานสมรสของเจ้าชายจอร์จ กับ เจ้าหญิงมาริน่า และครั้งที่สอง ในปี 1937 ในพิธีราชาภิเษกของคิงจอร์จที่ 6 แต่ทั้งคู่ไม่เคยได้คุยกันมาก่อน การพบปะที่ดาร์ทมัธ เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ทั้งสองคนทำความรู้จักกัน

3) เจ้าชายฟิลิป ทำหน้าที่อย่างตั้งใจให้พี่น้องเอลิซาเบ็ธ-มาร์กาเร็ต โดยมีภาพถ่ายที่บันทึกว่า เขาชวนเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเล่นกีฬาโครเกต์ด้วยกัน (Croquet) และพาทั้งคู่ไปทำกิจกรรมรอบๆ วิทยาลัยราชนาวี

ด้วยรูปลักษณ์ของความเป็นหนุ่มรูปงามของเจ้าชายฟิลิป สูง 183 เซนติเมตร ดวงตาสีฟ้า และผมสีบลอนด์ ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธสะดุดตาทันที โดยมาร์กาเร็ต โร้ดส์ ญาติและเพื่อนสนิทของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Vanity Fair ว่า ตั้งแต่เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเจอกับเจ้าชายฟิลิปในวันนั้น “เธอไม่เคยมองใครอีกเลย”

แต่ ณ เวลานั้น เจ้าชายฟิลิป ยังไม่ได้มองเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธในฐานะหญิงสาว โดยแมเรียน ครอว์ฟอร์ด (ชื่อเล่น ครอว์ฟี่) ครูพี่เลี้ยงของเอลิซาเบ็ธเล่าว่า “ในขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธละสายตาจากเขาไปไมได้ แต่เจ้าชายฟิลิปไม่ได้ให้ความสนใจเธอเป็นพิเศษ” สาเหตุเพราะตอนนั้นเจ้าชายฟิลิปอายุ 18 แล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ เพิ่งจะอายุ 13 ปี ยังเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเท่านั้น

เจ้าชายฟิลิป เคยถูกถามว่า เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกอยากจะแต่งงานกับเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ เขาตอบว่า “ที่แน่ๆ ไม่ใช่ที่ดาร์ทมัธ” ณ เวลานั้น ดูเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเป็นปลื้มข้างเดียวเสียมากกว่า

4) หลังจากที่ทั้งคู่รู้จักกันเพียงแค่เดือนเศษ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และเมื่อกองทัพอิตาลีบุกโจมตีกรีซ ทำให้เจ้าชายฟิลิปในฐานะพลเมืองกรีซ จึงเข้าร่วมสงครามด้วย นั่นทำให้เอลิซาเบ็ธกับฟิลิปแทบไม่ได้เจอกันอีก โดยในช่วง 3 ปีต่อจากนั้น ทั้งคู่ได้เจอกันแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

5) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนมีบทสนทนากันผ่านจดหมาย โดยเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ญาติของเจ้าชายฟิลิป เขียนในอัตชีวประวัติว่า ในปี 1941 เธอเจอกับเจ้าชายฟิลิปที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และเห็นเจ้าชายฟิลิปกำลังตั้งใจอย่างมากที่จะเขียนจดหมาย เธอจึงถามไปว่า “เขียนถึงใครเหรอ?” เจ้าชายฟิลิปตอบว่า “ลิลี่เบ็ท – เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธแห่งอังกฤษ”

จดหมายที่ตอบโต้กันระหว่างทั้งสองคน ค่อยๆ สร้างความสนิทสนมให้มากขึ้น ทั้งคู่มีการแชร์เรื่องราว และแลกเปลี่ยนรูปภาพกัน โดยเจ้าชายฟิลิปจะเก็บรูปของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ ในห้องพักของเขา ภายในเรือหลวง HMS Whelp ส่วนเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ จะเก็บภาพของเจ้าชายฟิลิป ในลิ้นชักโต๊ะแต่งตัวของเธอ ที่พระราชวังวินด์เซอร์

ทั้งคู่ได้รู้จักกันมากขึ้นผ่านตัวอักษร แต่ด้วยภาระหน้าที่ ทำให้ได้เจอกันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงปลายปี ที่มีกิจกรรมวันคริสต์มาสที่พระราชวังวินด์เซอร์เท่านั้น

6) เข้าสู่ปี 1943 เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ ร่วมเล่นละครเวทีเรื่องอะลาดิน (Aladdin Pantomime) เพื่อช่วยหาทุน มอบให้กับทหารแถวหน้าที่ไปร่วมรบในสงครามโลก ภายในงานมีแขกราว 400 คนเข้ามาดูละครเวที หนึ่งในนั้นคือเจ้าชายฟิลิป โดยเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเมื่อเห็นฟิลิป เธอพูดกับครูพี่เลี้ยงครอว์ฟอร์ดว่า “ครอว์ฟี่ รู้ไหมว่าใครมาดูเราแสดง! ฟิลิปมา!” นอกจากนั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธยังบอกกับครูพี่เลี้ยงด้วยว่า ฟิลิปนี่ล่ะคือคนที่ใช่สำหรับเธอแล้ว (The One)

7) ในช่วงเวลาที่ไม่เจอกัน ต่างคนก็ต่างเติบโต ปี 1945 เจ้าชายฟิลิป ปฏิบัติหน้าที่ในเรือหลวง HMS Whelp ที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาหลายเดือน ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ วัย 18 ปี ก็เข้าร่วมสังกัดหน่วยทหารสนับสนุน และเป็นผู้หญิงคนแรกของราชวงศ์ระดับสูง ที่เข้าร่วมงานกับหน่วยทหาร ในฐานะเจ้าหน้าที่แบบ full-time ต่างคนต่างสู้เพื่อประเทศของตัวเอง จนกว่าสงครามจะสิ้นสุดลง

8 ) วันที่ 2 กันยายน 1945 สงครามโลกก็จบลง เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ทำให้เดือนมกราคม 1946 เจ้าชายฟิลิป เปลี่ยนบทบาทจากการล่องเรือ มาทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักเรียนนายเรือ ที่เมืองคอร์แชม ที่ห่างจากลอนดอนไม่มากนัก นั่นทำให้เขากับเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ มีโอกาสได้พบเจอกันบ่อยขึ้น

ปี 1946 เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ อายุ 20 ปี ส่วนเจ้าชายฟิลิปอายุ 25 ปี ทั้งคู่เติบโตเป็นหนุ่มสาวกันแล้ว ไม่ใช่เหมือนตอนที่รู้จักกันครั้งแรกที่วิทยาลัยราชนาวีดาร์ทมัธ

9) เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ เคยอธิบายว่าความรักที่สั่งสมมา พัฒนาอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เธอเขียนว่า “เราเริ่มเจอกันบ่อยขึ้น ตอนที่ฟิลิปรับงานเป็นอาจารย์สอนนักเรียนนายเรือที่คอร์แชม ก่อนหน้านี้ เราแทบไม่รู้จักกันจริงๆ เลย ในช่วงสุดสัปดาห์เราจะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน และในช่วงปิดเทอม เขาใช้เวลา 6 สัปดาห์อยู่ที่บัลมอรัล มันเป็นโชคดีจริงๆ ที่เขาได้งานบนบก! เราทั้งคู่ชอบเต้น เราไปเต้นกันที่ร้านเซอร์โก้ และ ร้านกวาลิโน่ รวมถึงในงานปาร์ตี้ต่างๆ”

10) เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ จะพำนักอยู่ที่พระราชวังบัคกิงแฮมในลอนดอนเป็นหลัก โดยสลับกับพำนักที่พระราชวังบัลมอรัลในสกอตแลนด์ โดยช่วงที่เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธอยู่ในลอนดอน เจ้าชายฟิลิปจะขับรถสปอร์ต MG ของตัวเอง จากโรงเรียนที่คอร์แชมซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังบัคกิงแฮม ราวๆ 100 ไมล์ เพื่อร่วมกินอาหารเย็นด้วยกัน

11) ตอนนี้ทั้งสองคนต่างก็หลงรักกัน จดหมายฉบับหนึ่งที่เจ้าชายฟิลิปเขียนถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ มีเนื้อความว่า “การได้หลงรักใครสักคนอย่างหมดหัวใจแบบนี้ ทำให้ปัญหาทุกอย่างมันดูเล็กน้อยไปหมดจริงๆ”

12) ในฤดูร้อนปี 1946 เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ เชิญเจ้าชายฟิลิปมาใช้เวลาร่วมกันที่พระราชวังบัลมอรัล และในช่วงนี้เอง ที่เจ้าชายฟิลิปขอแต่งงานกับเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ เธอตอบตกลงทันที โดยไม่ขออนุญาตคุณพ่อของตัวเอง กษัตริย์จอร์จที่ 6 ด้วยซ้ำ

13) แม้เอลิซาเบ็ธจะตอบตกลงไปแล้ว แต่เจ้าชายฟิลิป จำเป็นต้องขอพระบรมราชานุญาต จากกษัตริย์จอร์จที่ 6 และ ควีนมัมอย่างเป็นทางการอยู่ดี โดยแซลลี่ บีเดลล์ สมิธ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของราชวงศ์อังกฤษ เล่าว่า กษัตริย์จอร์จชอบเจ้าชายฟิลิปเพราะฉลาด มีอารมณ์ขัน และมีทัศนคติที่ดี อย่างไรก็ตามพระองค์ขอเวลา 6 เดือน ให้ผ่านวันเกิดอายุครบ 21 ปีของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธไปก่อน ค่อยประกาศต่อหน้าสาธารณชนถึงการหมั้นหมาย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเวลาที่เจ้าหญิงจะได้ทบทวนตัวเองจริงๆ ว่าการแต่งงานครั้งนี้ เธอคิดดีแล้ว ไม่ใช่ตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น

14) ช่วงเวลาที่ผ่านไป ทั้งสองคนยังคงหนักแน่นในความรักของตัวเอง มีจดหมายหนึ่งฉบับ ที่เจ้าชายฟิลิป เขียนถึงควีนมัม แม่ของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธมีใจความว่า “ลิลี่เบ็ท คือสิ่งเดียวในโลกที่เป็นเรื่องจริงในชีวิตของผม และความตั้งใจของผม คือทำให้เราสองคนกลายเป็นคู่รักที่ไม่เคยมีใครเหมือนมาก่อน”

15) หลังจากผ่านวันเกิด 21 ปีของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ (21 เมษายน 1947) การประกาศหมั้นหมายก็ยังไม่เกิดขึ้น สื่อหลายสำนักรายงานว่า ปัญหาติดอยู่ที่ ฝั่งราชวงศ์ไม่พอใจนัก หากองค์หญิงรัชทายาทต้องไปแต่งงานกับคนต่างสัญชาติ ดังนั้นเจ้าชายฟิลิปจำเป็นต้องสละสัญชาติกรีซ และฐานันดรในราชวงศ์กรีซ และแปลงมาเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติอังกฤษเสียก่อน จึงจะสามารถหมั้นหมายกันได้

สุดท้ายเจ้าชายฟิลิปก็ยอม และเลือกใช้นามสกุล เมาท์แบตเท่น (Mountbatten) ซึ่งแปลงมาจากสกุลของฝั่งแม่ (Battenberg)

ดังนั้นจากเจ้าชายฟิลิป จึงกลายเป็น ฟิลิป เมาท์แบตเท่น โดยในเวลาต่อมา เจ้าชายฟิลิปก็ได้ฐานันดรจากกษัตริย์จอร์จที่ 6 ให้กลายเป็น เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ

16) วันที่ 9 กรกฎาคม 1947 สำนักพระราชวังได้ประกาศการหมั้นหมายของทั้งสองคน โดยฟิลิปมอบแหวนเพชร 3 กะรัต ให้กับเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ โดยเพชรดังกล่าวนำมาจากมงกุฎของเจ้าหญิงอลิซ คุณแม่ของฟิลิปนั่นเอง ในการหมั้นหมายครั้งนั้น หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน เขียนบทความไว้ว่า “มันชัดเจนว่าการแต่งงานครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เธอเลือกเอง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดแจงใดๆ จากผู้อื่น”

17) สำหรับพิธีสมรสนั้น กษัตริย์จอร์จที่ 6 ในตอนแรกตั้งใจจะจัดให้เล็กที่สุดเป็นการภายใน ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ เพราะต้องการประหยัดงบ เนื่องจากประเทศเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลก และเจอวิกฤติน้ำท่วม ผู้คนยังอดอยาก ดังนั้นมันไม่ถูกต้องที่ราชวงศ์จะจัดงานยิ่งใหญ่ โดยไม่คำนึกถึงพสกนิกร แต่สุดท้ายรัฐบาลอนุมัติงบมาให้ โดยกล่าวว่า พิธีสมรสของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ จะทำให้ประชาชนมีเรื่องราวให้ได้เฉลิมฉลอง และส่งผลบวกต่อประเทศมากกว่า

พิธีสมรส ของเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ กับ ฟิลิป เมาท์แบตเท่น จึงถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ โดยมีประชาชนหลายพัน มายืนร่วมชื่นชมบรรยากาศแห่งความสุข และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วทั้งโลก

18) หลังจากสมรสกันแล้ว ทั้งคู่ไปฮันนีมูนที่หลายเมือง ก่อนจะปิดทริปที่บัลมอรัล ซึ่งเป็นสถานที่ ที่การขอแต่งงานเกิดขึ้น โดยในช่วงฮันนีมูน เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเขียนจดหมายถึงควีนมัม มีเนื้อความว่า “ท่านแม่ ลูกหวังว่าเด็กๆ ที่ลูกจะนำมาสู่โลกใบนี้ จะเติบโตในบรรยากาศของความรักและความยุติธรรม เหมือนที่ลูกกับมาร์กาเร็ตได้ใช้ชีวิตจนโตขึ้นมา และลูกก็เชื่อว่า จะสามารถใช้ชีวิตคู่โดยมีกันและกันไปได้อีกหลายปี เพราะฟิลิปเขาเหมือนกับเทวดาเลย เขาทั้งใจดีและเอาใจใส่เสมอ”

19) หลังจากแต่งงานกัน 4 ปี ในช่วง ค.ศ. 1951 กษัตริย์จอร์จที่ 6 มีสุขภาพทรุดโทรม ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนในฐานะองค์หญิงรัชทายาท เธอต้องเดินทางไปทั่วโลก เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับผู้นำประเทศต่างๆ ทำให้เจ้าชายฟิลิป ตัดสินใจลาออกจากงานทหารเรือที่ตัวเองรัก เพื่อไปอยู่เคียงข้างเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธที่เดินทางไปทั่วโลก

20) เดือนกุมภาพันธ์ 1952 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น เมื่อกษัตริย์จอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ ที่เป็นรัชทายาทสายตรงอันดับหนึ่ง จึงขึ้นครองราชย์ กลายเป็นสมเด็จพระราชินี หรือ ควีนเอลิซาเบ็ธโดยอัตโนมัติ ส่วนเจ้าชายฟิลิป จากที่เป็นพระสวามีของเจ้าหญิงรัชทายาท ตอนนี้เขากลายเป็นพระสวามีของราชินีแห่งอังกฤษเรียบร้อยแล้ว

21) ควีนเอลิซาเบ็ธ กับ เจ้าชายฟิลิป อยู่เคียงข้างกันมาตลอด โดยทั้งคู่มีบุตร-ธิดา รวมกัน 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายชาร์ลส์, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

ในขณะที่ชีวิตของราชวงศ์ที่อังกฤษนั้น มีการหย่าร้างเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ควีนเอลิซาเบ็ธ กับ เจ้าชายฟิลิป ใช้ชีวิตร่วมกันเรื่อยมา จนถึงวันสุดท้ายในชีวิตของเจ้าชายฟิลิปในปี 2021 ทั้งสองพระองค์แต่งงานกันมา 74 ปี โดยไม่เคยหย่าร้างกันเลย

สำหรับควีนเอลิซาเบ็ธ นี่คือรักแรก รักเดียว และรักสุดท้ายในชีวิต ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตในวันที่ 8 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา และสถานที่ ที่ควีนเอลิซาเบ็ธ เสด็จสวรรคต ก็คือพระราชวังบัลมอรัล สถานที่ ที่เธอถูกขอแต่งงาน และใช้ช่วงเวลาฮันนีมูนกับเจ้าชายฟิลิปนั่นเอง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า