Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“ภาคเหนือตอนนี้เรียกว่าเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ สกปรกและมีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก เป็นวิกฤตของประเทศแต่เสียงประชาชนคนเชียงใหม่ไม่ดังเข้าหูผู้มีอำนาจพอที่จะให้ภาคเหนือมีอากาศบริสุทธิ์”

เสียงสะท้อนของภาคประชาชนที่ต้องการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์เอื้อให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ จากวงเสวนา “นโยบายของประชาชนเพื่อประชาชน” โดยมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และสถาบันนโยบายสาธารณะ ร่วมมือกันจัดกิจกรรม Alliance Against the Haze หรือ ‘เพื่อน / สู้ / ควัน’ ขึ้นที่ร้าน The Goodcery ซึ่งต้องการให้มีนโยบายดูแล ป้องกัน และเยียวยาพื้นที่ประสบภัย PM 2.5 ในเชียงใหม่และภาคเหนือ 

ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ ผอ.สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เรื่องฝุ่น หมอกควัน ยังคงเป็นแค่ข้อถกเถียงว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์จริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้นิยามว่าเป็น ‘ปัญหา’ อย่างชัดเจน แต่ต่อมาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นมากกว่าปัญหาและกระทบต่อชีวิตผู้คนแน่นอน ถ้ามองภาพกว้างทุกอย่างถูกเชื่อมโยงกันหมด ไม่มีใครทำอะไร ที่ไหน กินอะไร สร้างอะไร ทิ้งอะไร ที่ไม่กระทบกับคนอื่นและโลกใบนี้

สอดคล้องกับมุมมองจาก ชนกนันทน์ นันตะวัน ผู้ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สม-ดุล เชียงใหม่ ตลอด 5 ปี ปัญหา PM 2.5 ถูกมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียส ทั้งที่สถานการณ์ย่ำแย่มาก ซึ่งระยะหลังช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีคนพูดถึงปัญหาหมอกควันเพิ่มขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ได้พยายามผลักดันให้ค่าฝุ่นลดต่ำลงมา ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่เมื่อค่าฝุ่นลดลงตามเกณฑ์มาตรฐาน การแก้ปัญหาในระยะยาวกลับกลายเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ ช่วงที่ค่าฝุ่นเริ่มเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้มพบว่าทุกอย่างนิ่งไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา

กระทั่งค่าฝุ่นสีแดงเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่ยังคงเห็นการทำกิจกรรมกลางแจ้งนอกอาคารโดยไม่มีการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันและระงับการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง จนกระทั่งค่าฝุ่นเป็นสีม่วงผู้คนเริ่มตื่นตระหนกเพิ่งจะเห็นปฏิกิริยาจากหน่วยงานภาครัฐออกมาพูดถึงเรื่องนี้

“ตลกดี เรามีประสบการณ์กันมาเยอะแต่เพิ่งมารู้ตัวตอนที่สถานการณ์วิกฤตแล้ว รัฐยังควบคุมดูแลไม่ได้ดี ยังแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาฝุ่นควันแล้ว แต่กลับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ทั้งระบบ ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ธรรมชาติท้องถิ่นและการกินการบริโภค” ชนกนันทน์ กล่าว

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่มาตลอด 3 ปีกว่า พยายามสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมากว่า 500 หมู่บ้านเกี่ยวกับเรื่อง PM 2.5 เมื่อเชียงใหม่ถูกเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร ที่มีโรงงาน การคมนาคม ที่ดูจะหนาแน่นกว่าเชียงใหม่ ซึ่งมีรถอยู่ล้านกว่าคันกับป่าประมาณ 70% แต่กลับได้รับผลกระทบมากกว่าเสียอีก จึงเชื่อว่าปัญหา PM 2.5 เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงพื้นที่การเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด) ที่ใหญ่กว่าไทยด้วยซ้ำ

เดิมทีรัฐโทษชาวบ้านชาวเขา ซึ่งจริงๆ ควรจะต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏว่า PM 2.5 สัมพันธ์กับการพัฒนาพืชเชิงเดี่ยว การเติบโตของประเทศทั้งด้านการขนส่ง โรงงาน โรงไฟฟ้า จึงอยากเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูล Big Data อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ สร้างการรับรู้เพื่อให้เขามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา อยากเห็นการบูรณาการมีส่วนร่วมครั้งใหญ่ที่อยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แก้ปัญหาให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

“การบริหารจัดการของรัฐมีปัญหาเยอะ ทำตาม พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมไฟไหม้ จึงจะแอคชันการป้องกันการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละปีช่วยไม่ได้ จะต้องมีแผนการแก้ปัญหายั่งยืนระยะสั้น กลาง ยาว เราเสนอว่าต้องเปลี่ยน พ.ร.บ.บริหารจัดการ เป็นกฎหมายเชิงรุก มีแผนมีงบมีคน มีกลไกการติดตามดูแลอย่างชัดเจนต่อเนื่องตลอดเวลาโดยการกระจายอำนาจมาสู่ชุมชน เพราะที่ผ่านมาใช้ระบบคำสั่งจากกรุงเทพฯ ต้องมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มายังผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็สั่งไปที่นายอำเภอ นายอำเภอก็สั่งไปที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน เสนอว่าต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ รัฐแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะทุกคนมีส่วนสร้าง PM 2.5” ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

ไทยเทียบ สิงคโปร์-โตเกียว(เมืองหลวงญี่ปุ่น) แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร

ผศ.ดร.อรอร บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ไทยติดกับดักเรื่องระบบราชการ การบริหารไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหา แต่สิงคโปร์ไม่มีแบบนี้ ถ้ารัฐไม่ทำก็ตายหมดเพราะประเทศเขาอยู่ด้วยการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีใครมาลงทุน ท่องเที่ยว เรียน และทำงาน ก็ไม่สามารถแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจกับประเทศอื่นได้ แค่อยากบอกว่าต้องมีหลักการ สิ่งที่ไทยขาดรวมถึงทิศทาง คือเอากฎหมายบางตัวมาใช้ในบางเรื่องแต่ไม่ใช้ตลอดไป ยกตัวอย่าง เมื่อครั้งสิงคโปร์ PM 2.5 เยอะ มองแทบไม่เห็นตึกต่างๆ เขาใช้เวลาไม่นานตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินให้ทุกคนต้องรู้ว่าห้ามออกข้างนอก สวมหน้ากากอนามัย ประกาศว่ารัฐบาลจะทำอะไร เขาใช้มาตรการนั้นอย่างทันทีไม่รีรอ ย้อนกลับมาที่เชียงใหม่กลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะกลัวเรื่องเศรษฐกิจ แต่สิงคโปร์มองระยะยาวในการแก้ปัญหา รัฐบาลเก็บข้อมูลทันทีที่มีการเผา จุดที่พบ Hotspot อยู่จุดไหน ส่วนใหญ่บริษัทอะไรที่ปล่อยมลพิษ บริษัทเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์หรือไม่  รัฐบาลมีข้อมูลชัดเจนทำให้สิงคโปร์สามารถจัดการปัญหาฝุ่นไม่เกิน 2 ปี

เช่นเดียวกับโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบปัญหา PM 2.5 จากปักกิ่ง ผู้ว่าฯ โตเกียวยกหูโทรหาผู้ว่าฯ ปักกิ่งทันที อยากเห็นภาพของไทยทำแบบนี้ได้บ้าง รัฐเปิดพื้นที่ในการจัดการปัญหาอย่างเต็มที่ด้านการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นให้แข็งแรงมากขึ้น

ชนกนันทน์ กล่าวว่า กฎหมายติดขัดที่ระดับโครงสร้าง อยากผลักดันให้มีกฎหมายที่บังคับแหล่งที่ปลดปล่อยมลพิษ ภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคเกษตร หรือคมนาคม เปิดเผยข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกป้อนข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและชี้นำในการแก้ไขปัญหา ตอนนี้การแก้ปัญหายังใช้วิธีการเดาเพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิง การแก้ปัญหาของภาครัฐสุดท้ายไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนและผลักภาระให้ประชาชน ต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศเอง ซื้อหน้ากากอนามัยสวมใส่กันเอง

ชัชวาลย์ กล่าวเสริมทันทีว่า เพราะเสียงประชาชนดังไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ ตอนนี้ประชาชนดูแลตัวเอง อยากเสนอนโยบายลดพืชเชิงเดี่ยวหรือการปลูกข้าวโพดที่ทำให้ดอยหัวโล้น ใช้สารเคมีเยอะ ดินพังทลายเยอะ และเปลี่ยนมาเป็นพืชยั่งยืนมากขึ้น รัฐต้องกล้าเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ปลดปล่อยมลพิษ เพื่อหาทางออก ซึ่งควรจะได้รัฐบาลที่แข็งแกร่งมากๆ รวมถึงต้องทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในป่า 10 ล้านกว่าชีวิต ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยาน เขตป่าสงวนแห่งชาติ แก้กฎหมายให้ความมั่นคงกับพวกเขาเรื่องที่ดินทำกิน ให้คนกับป่าอยู่ได้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้น่าจะไม่มีความหวัง หวังว่ารัฐบาลหน้าจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพสวัสดิการเชื่อมโยงถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในมิติต่างๆ 

ทุกคนมีส่วนสร้างฝุ่นควัน ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า