Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสิทธิเด็กในการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย ชื่อ ‘ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา’ ฉบับปี 2566  รายงานดังกล่าวอธิบายว่าเหตุใดสิทธิเด็กในการชุมนุมอย่างสงบจึงถูกขัดขวาง และอธิบายถึงการทำงานที่ผิดพลาดของสถาบันที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเด็กในช่วงการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบในประเทศไทยระหว่างปี 2563-2565 

รายงานฉบับนี้เกิดจากการสัมภาษณ์เด็ก 30 รายที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงทางการเมืองอย่างสงบ โดยทำการวิจัยตั้งแต่มิถุนายน – พฤศจิกายน 2565 

ครอบครัว ครู และรัฐ มีส่วนในการสร้างความรุนแรงต่อเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่ามีเด็กได้รับความรุนแรงจากครอบครัว โดยเฉพาะแกนนำที่เป็นเด็กและยังอยู่ภายใต้การอุปถัมป์ของครอบครัว เนื่องจากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองให้เข้าร่วมการชุมนุม และบ่อยครั้งที่รัฐใช้อำนาจกดดันไปยังผู้ปกครองของเด็ก ทำให้เสียกำลังใจในการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

นอกจากนี้มีรายงานว่าคุณครูภายในโรงเรียนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่งมอบข้อมูลส่วนตัวของเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแก่หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย 

เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมการชุมนุมกล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ทราบหน่วยงานเข้ามาขอข้อมูลส่วนตัวของตนกับพ่อแม่ ทั้งชื่อ และข้อมูลที่อยู่อาศัย โดยชี้ว่าโรงเรียนได้ส่งมอบข้อมูลส่วนตัวให้กับหน่วยงานดังกล่าว ทั้งยังมีกรณีที่ครูเรียกเด็กนักเรียนไปพูดคุยกับตำรวจนอกเครื่องแบบในห้องปกครองหลังจากโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และถูกสั่งให้ลบโพสต์ดังกล่าว นอกจากนี้ครูและตำรวจนอกเครื่องแบบยังพูดจาข่มขวัญให้เกิดความหวาดกลัวในการเข้าร่วมการชุมนุม

ความกังวลในความปลอดภัยของเด็กที่เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มสูงขึ้น 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในรายงานว่า ข้อกังวลความปลอดภัยในการชุมนุมของเด็กเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการชุมนุมมากขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้น กระทั่งสถานการณ์การประท้วงรุนแรงบานปลายเป็นเหตุให้เด็กที่เข้าร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต เช่นกรณี ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ เด็กอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่คอขณะชุมนุมอยู่บริเวณสถานีตำรวจดินแดงจนเป็นอัมพาตกว่า 72 วัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา  

ทั้งยังมีความกังวลด้านความปลอดภัยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่กระทำต่อเด็กระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว โดยระหว่างปี  2563-2564 มีการจับกุมเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่แสดงหมายศาลถึง 51 ครั้ง มีการส่งตัวเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมไปคุมขังที่ บก.ตชด.ภาค 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนในท้องที่ที่จับกุมตัว จึงเป็นการจับกุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศถือว่าเป็นการคุมขัง ‘โดยพลการ’ เนื่องจากเด็กใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ซึ่งถูกรับรองไว้ในข้อ 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบของเด็กถูกมองเป็นอาชญากรรม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอ้างอิง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่ามีเด็กอย่างน้อย 283 ราย ถูกตั้งข้อหารวม 210 คดี จากการแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง โดยมีนักกิจกรรมถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายที่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว อาทิ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ถูกนำมาใช้เพื่อพุ่งเป้าจัดการกับเด็กที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง

และชี้ว่า รัฐบาลใช้กฎหมายตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่บัญญัติมาบังคับใช้กับการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเด็กในโลกออนไลน์ โดยการตั้งข้อกล่าวหาที่คลุมเครือและกว้างขวาง ทำให้รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นช่องทางดำเนินคดีกับ ‘ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ’ เนื่องจากว่าการชุมนุมถูกจัดตั้งผ่านระบบออนไลน์ เด็กบางคนใช้โซเชียลเพื่อเผยแพร่ความคิดเห็นและพูดคุยกับเพื่อน ๆ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

วิธีพิจารณาความไม่ประกันสิทธิพิจารณาคดีและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติของผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก

จากการสัมภาษณ์เด็กที่ร่วมการชุมนุมทางการเมือง มีเด็ก 12 ราย พูดถึงการสืบเสาะประวัติเยาวชนที่มีคำถามไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศ มีการก้าวก่าย และการถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ มีการสอบถามเด็กผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า ‘เคยมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันหรือไม่และบ่อยแค่ไหน?’ ทำให้เกิดความคับข้องใจในเด็กที่ถูกถาม 

เด็กผู้ให้สัมภาษณ์ในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญอีกประการคือการขาดผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระในห้องพอจารณาคดี โดยเฉพาะเด็กที่เข้าสู่การพิจารณาคดีอาญาร้ายแรง เช่นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดียุยงปลุกปั่น ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กกังวลใจว่าอาจถูกลดทอนความโปร่งใสของกระบวนการศาลและไม่อาจทำให้หลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็กบรรลุผลได้

ทางการใช้กลยุทธข่มขู่-สอดแนม

รายงานยังระบุว่าทางการใช้กลยุทธ์ข่มขู่และสอดแนมเพื่อสร้างความหวาดกลัวและบรรยากาศความกลัวต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก เพื่อบั่นทอนกำลังใจในการเข้าร่วมชุมนุมของเด็ก มีรายงานว่าเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมถูกติดตามจากพื้นที่การชุมนุมกลับมายังที่พักอาศัย และยังปักหลักสอดแนมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับที่พักอาศัยหลายครั้ง มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของชาวบ้านรอบที่พักอาศัย ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเกิดความภาวะอกสั่นขวัญแขว นอนไม่หลับ  และเกิดความเครียดจนต้องออกจากที่พักอาศัยเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกสอดแนม

นอกจากนี้ยังรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยของเด็กจะถูกเจ้าหน้าหรือหน่วยงานรัฐสอดแนมและติดตามแล้วยังมีการสอดแนมเด็กหญิงชาวไทยใหญ่ที่ขึ้นอภิปรายประเด็นแรงงานข้ามชาติที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีกรณีของเด็กหญิงที่ร่วมชุมนุมแสดงออกทางศาสนาถูกผู้ใหญ่บ้านส่งข้อความเสียงมาพูดคุยให้เกิดความหวาดกลัวในการเข้าร่วมชุมนุม 

รายงานระบุว่าประเทศไทยมีสถาบันหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยทุกหน่วยงานที่กล่าวมากล่าวว่ามีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมชุมนุม อาทิ การถูกละเมิดสิทธิ มีปัญหากับครอบครัวหลังเข้าร่วมการชุมนุม  ทว่าไม่เคยมีเด็กร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังชี้ว่าการทำงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กบิดเบี้ยว จากอำนาจในการคุ้มครองเด็กถูกนำไปใช้เพื่อกดทับมากกว่าคุ้มครองสิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบ เช่นกรณีที่มีการจับกุม “อันนา” หนึ่งในนักกิจกรรมเด็กพร้อมนักกิจกรรมเด็กรวม 3 คนเมื่อวันที่ 15 เม.ย.65 ภายในร้านอาหารบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงแลัเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์อยู่ในพื้นที่จับกุมด้วย

อันนาบอกกับแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “สำหรับหนูแล้ว ประสบการณ์แบบนี้ทำให้หนูสงสัยอย่างมากจริงๆ เรื่องความเป็นกลางของ พม. เขามีหน้าที่ในการคุ้มครองเด็กแต่ทำไมเขาถึงไม่คุ้มครองพวกเรานะ”

อย่างไรก็ตามกระทำหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กส่งผลให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจแก่เด็กในการเข้าสู่กลไกของหน่วยงานเหล่านี้ จากการสัมภาษณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าไม่มีเด็กคนใดเลยที่พึ่งพากลไกการคุ้มครองภายในประเทศที่มีอยู่ เนื่องจากหน่วยงานรัฐบาลที่กล่าวมายังไม่เคยจัดการเรื่องร้องเรียนรายบุคคลที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กที่ในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

สำหรับข้อเสนอในรายงานนี้ แนะนำว่า รัฐบาลต้องมีวิธีปฏิบัติระดับชาติที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง การเคารพ และเติมเต็มซึ่งสิทธิของเด็กที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ มนุษยชน ต้องรับรองว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับการอบรมเรื่องสิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ และรับรองว่าเด็กที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างก้าวหน้าจากภยันตรายที่เกิดจากการชุมนุมสาธารณะผ่านกลไกที่เหมาะสมและปรับปรุงใหม่

นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กให้คุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของเด็ก ไม่ใช่กลไกคุ้มครองเด็กเพื่อข่มขวัญหรือขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของเด็กและจัดช่องทางการร้องเรียนสำหรับเด็กที่ได้รับความรุนแรงภายในครอบครัวจากการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่เข้าถึงได้ง่าย

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า