Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่ารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาในรูปแบบใด นายกฯ ส่งสัญญาณยุบสภาจริงหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้ว เราจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้จริงไหม workpointTODAY มีคำตอบ

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ  ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย, และ อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ workpointTODAY LIVE ในประเด็น ศึกแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อ “ประชาชน” หรือ “คนการเมือง”

ท่ามกลางเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ workpointTODAY สรุปประเด็นต่าง ๆ ออกมา ดังนี้

⚫️คาดการณ์การเลือกตั้งครั้งใหม่และจุดประสงค์ของการแก้รัฐธรรมนูญ

ในประเด็นนี้ ชินวรณ์ กล่าวว่า ไม่มีใครทราบล่วงหน้า อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่นายกฯ แต่หากสภาอยู่ครบเทอม ในฐานะพรรคการเมืองควรแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาหลักของประเทศ เพื่อไม่ให้การเมืองย้อนกลับไปสู่วงจรเดิมและเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จะได้ต่อสลักทางการเมืองต่อไปได้ โดยเชื่อว่า

“กติกาที่เป็นสากล ในท้ายที่สุดก็จะได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน”

ด้าน นพ.ชลน่าน เผยว่า แม้นายกฯ จะยืนยันในวุฒิสภาว่า “ผมจะอยู่ต่อไป ใครมาไล่ผมก็ไม่ไป ผมจะสู้ให้ถึงที่สุดและอยู่จนครบเทอม” แก้ข่าวประเด็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าอีก 1 ปีท่านจะยุบสภา อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็คาดการณ์ว่า หากมีความผันผวนมาก เป็นไปได้ว่าหลังการแก้ไขกติกาและจัดระบบต่าง ๆ เรียบร้อย ก็มีโอกาสที่นายกฯ จะประกาศยุบสภาในอีก 1 ปี

ส่วนจุดมุ่งหมายสูงสุดของพรรค คือ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่โดย สสร. จุดมุ่งหมายที่สอง คือ การพยายามแสวงหาโอกาสโดยการยื่นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งทำได้เร็วและมีโอกาสเป็นไปได้สูง เช่น เรื่องการแก้ไขที่มาการเลือกนายกฯ ยกเลิกอำนาจสว. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า

“ระบบเลือกตั้งที่สะท้อนความต้องการประชาชนทางตรงมากที่สุดคือระบบที่ดีที่สุด”

เพราะเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านรัฐธรรมนูญของประชาชน

ในขณะที่ รังสิมันต์ เชื่อว่า การยุบสภานั้นขึ้นกับว่ารัฐบาลพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งโดยที่ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ

1.หลังงบประมาณผ่าน

2.มีกติกาที่สนับสนุนสถานะของพรรค โดยเฉพาะพลังประชารัฐ ไม่ให้อำนาจน้อยลงไปกว่าเดิม

โดย รังสิมันต์ กล่าวเสริมว่า “ความฝันของรัฐบาลสูงที่สุด ใหญ่ที่สุดคือการตั้งรัฐบาลเดี่ยวโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ” และแสดงจุดยืนของพรรคก้าวไกลว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นของประชาชนโดยแท้จริงและต้องเร่งทำประชามติเพื่อยกเลิกฉบับปี 2560 พร้อมตั้ง สสร.เพื่อร่างฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นมากและไม่ควรจำกัดอำนาจในการแก้บางหมวดบางมาตราอย่างที่พรรคอื่น ๆ เสนอ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าก้าวไกลไม่ได้เห็นหลาย ๆ พรรคเป็นศัตรู หากจะมีก็คงเป็นพลังประชารัฐในฐานะที่สนับสนุนเผด็จการ มองว่าสามารถร่วมมือกันเพื่อดีดเผด็จการออกไปได้

“ทำไมเราต้องลุ้นว่าถ้าไม่ได้ประชาธิปไตยก็ได้เผด็จการที่แข็งแรงกว่าเดิม จะเสี่ยงแบบนั้นทำไม” คุณรังสิมันต์กล่าว

⚫️ทำไมระบบการเลือกตั้งถึงสำคัญ

workpointTODAY ได้เชิญ อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเพื่อไขข้อสงสัยและให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้ง ว่าเหตุใด การดีเบตรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงสำคัญและอาจชี้ชะตาการเมืองไทยในอนาคต

อ.สิริพรรณ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งสำคัญมากเนื่องจากเป็นที่มาของผู้ที่จะมาใช้อำนาจบริหารประเทศและผู้ที่จะมาจัดทำกฎหมาย โดยหลักทฤษฎี ระบบเลือกตั้งควรจะ

  1. สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน
  2. ให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ
  3. ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
  4. ส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองและเป็นตัวแทนประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ

อ.สิริพรรณ ยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า หากมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ 2540 คือไม่ต้องการให้ทหารแทรกแซงการเมือง จึงพยายามสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในสองฉบับต่อมาคือปี 2550 และปี 2560 สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเดินถอยหลัง เพราะนับวันทหารยิ่งเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ลดทอนอำนาจที่เข้มแข็งของพรรคการเมืองและรัฐบาล

“การมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก เป็นโจทย์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบการเมือง” อ.สิริพรรณกล่าว

ก่อนเสริมต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2560 เป็นเหมือนสองขั้วที่สุดโต่ง สังคมอาจจะอยากเห็นการมีพรรคร่วมรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากเกินไป ไม่ใช่ 19 พรรคอย่างในปัจจุบัน ซึ่งระบบเลือกตั้งจะเป็นตัวแปรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่งแต่เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันของประชาชนที่จะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างชัดเจน

⚫️วิเคราะห์ระบบการเลือกตั้ง แบบไหนเหมาะสมกับการเมืองไทย

ประเด็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง กำลังเป็นที่จับตามองมากที่สุดในวาระการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ น่าสนใจตรงที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการเลือกใช้ระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุด จึงเกิดการวิเคราะห์ถกเถียงขึ้นระหว่างการให้สัมภาษณ์

นพ.ชลน่าน ได้แสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เหมาะสมกับสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันที่สุด เพราะเป็นระบบการเลือกตั้งที่มีความ ‘ตรง’ กล่าวคือ เป็นระบบที่ประชาชนสามารถเลือกบุคคลได้ตรงจากเขต และตรงจากบัญชีรายชื่อ ใครได้คะแนนเท่าใดจึงนำมาคำนวณเป็นสัดส่วน เช่น 400:100 เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบการเลือกตั้งนี้ยังเคยผ่านการใช้มาแล้ว และผ่านรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน ดังนั้น ระบบเลือกตั้งที่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด คือระบบแบบรัฐธรรมนูญปี 2540

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ยังได้ให้เหตุผลที่ตนไม่สนับสนุนระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมบัตร 2 ใบ ตามโมเดลของพรรคก้าวไกล เป็นเพราะว่า ระบบนี้ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน แม้จะมีตัวอย่างจากประเทศเยอรมัน แต่การปกครองของประเทศเยอรมันนั้นเป็นแบบสหพันธรัฐ ฉะนั้นความต่างกับเมืองไทยจึงยังมีอยู่มาก

ขณะเดียวกัน รังสิมันต์ ได้แสดงจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวว่า สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐต้องการ คือต้องการให้พรรคการเมืองแข่งกัน เมื่อแข่งกัน มีผลแพ้ชนะ พรรคพลังประชารัฐสามารถสอดแทรกเข้ามาภายใต้การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ และสุดท้ายเมื่อเสียงตกน้ำไปเรื่อย ๆ พรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ระบบการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยเสนอตรงกันกับพรรคพลังประชารัฐนี้ จะไปเข้ายุทธศาสตร์ที่พรรคพลังประชารัฐต้องการ จะมีการแข่งกัน จะมีเสียงตกน้ำ แล้วทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ในที่สุด คำถามคือ ทำไมเราไม่ใช้วิธีการอื่นที่มีคุณภาพกว่านี้

รังสิมันต์ ยังกล่าวว่า ระบบแบบเยอรมันมีใช้ในอีกหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่นประเทศนิวซีแลนด์ ที่เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกับประเทศไทย แต่สามารถมีรัฐสภาที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง ๆ และยังมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพได้

“ระบบเลือกตั้งไม่ได้มีแค่ระบบเดียว เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ หรือรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ เราไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำไมเราไม่เลือกทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน” คุณรังสิมันต์กล่าว

ทางด้านพรรคร่วมรัฐบาล ชินวรณ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคเสนอระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ ระบบเขตเลือกตั้ง 400 เขตและระบบบัญชีรายชื่อ 100 ชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่เคยใช้ในปี 2540 โดยเชื่อว่าจะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและประชาชนสามารถเลือกตัวแทนในเขตเลือกตั้งได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาธิปัตย์เป็นห่วงอย่างยิ่งคือจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หากการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ไม่เกิดขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้พรรคไม่ไปต่อกับระบบจัดสรรปันส่วนผสม ชินวรณ์ เผยว่า การเลือกตั้งปี 2560 ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากในสภา ที่สำคัญคือทำให้เกิดระบบพรรคปัดเศษ จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์คือไม่อยากเห็นระบบการเลือกตั้งที่ใครมีเงินก็สามารถเป็นนายทุนพรรคและสามารถตั้งพรรคการเมืองเพื่อหวังคะแนนจากสัดส่วนผสมได้ เพราะมองว่าไม่ตอบโจทย์ประชาชนและประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนผูกพันกับตัวแทนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ อ.สิริพรรณ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขระบบการเลือกตั้งเอาไว้ 4 ประการ

  1. เสนอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะการเพิ่มบัญชีรายชื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้พรรคการเมืองสร้างสรรค์นโยบายให้ประชาชนได้เลือกมากขึ้น อย่างที่หลายประเทศพยายามเพิ่มให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น 350:150 เป็นต้น
  2. เสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ แบบระบบ MMP หรือระบบแบบเยอรมันที่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นสิ่งที่จะต้องมี ถ้าไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะเกิดปัญหาเหมือนกับการจัดสรรที่นั่งหลังการเลือกตั้งในปี 62
  3. เสนอให้ดึงเอากฎหมายระบบการเลือกตั้งออกจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากระบบเลือกตั้งควรจะยืดหยุ่นได้ตามสภาพแวดล้อมทางการเมืองและพฤติกรรมของประชาชน ดังนั้นจึงควรดึงออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกอบว่าด้วยระบบเลือกตั้งและการเลือกตั้งแทน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น
  4. เสนอให้มีการปิดสวิตช์ สว. เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งแบบที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอมานั้นเป็นไปได้

อ.สิริพรรณ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็น การปิดสวิตช์ สว.อีกว่า

“ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่อย่างนั้นเราจะก้าวไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่จะฝากตรงนี้ก็คือ ฝากประชาชนให้ช่วยกันส่งเสียง จะใช้คำว่ากดดันโดยตรงก็ได้ ให้ท่าน สว.ทั้งหลายพยายามเข้าใจว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองตอนนี้ ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมาก และอยากให้เสียงของประชาชนมันมีความหมาย เป็นเสียงที่สะท้อนรัฐบาลจริง ๆ”

เรียบเรียงโดย : ณัฐริกา สุขอุดม / พลอยชมพู จารุพรธนาพัฒน์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า