Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ท่ามกลางความพยายามลดคาร์บอนเพื่อเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ทั่วโลก ปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในขณะนี้

เพราะไม่ว่าจะผลิตพลาสติกใหม่หรือรีไซเคิลพลาสติกเดิมล้วนสร้าง Carbon Footprint จำนวนมหาศาล

Danone บริษัทอาหารสัญชาติฝรั่งเศสชื่อดัง เจ้าของโยเกิร์ตแบรนด์ Activia และน้ำดื่มแบรนด์ Evian กำลังถูกองค์กรสิ่งแวดล้อมดังร่วมกันฟ้องร้องข้อหาใช้พลาสติกมากเกินไป

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2022 กลุ่ม NGOs สามเจ้าใหญ่ ได้แก่ ClientEarth, Surfrider Foundation Europe และ Zero Waste France ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนลดการใช้พลาสติก แต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจน จึงนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลฝรั่งเศสเมื่อต้นปี 2023 ในที่สุด

และการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าทางกฎหมายกับอีกหลายบริษัทข้ามชาติที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นเพียงภาพลักษณ์ทางการตลาด (Greenwashing) แต่ไม่มีการลงมือทำอย่างจริงจังตามที่ให้สัญญาไว้กับสาธารณะ

Danone เป็นหนึ่งในสิบแบรนด์ที่ถูกจับตาว่าเป็นผู้สร้างมลภาวะทางพลาสติกมากที่สุดในโลก จากรายงาน Brand Audit Report ที่สำรวจบริษัทยักษ์ใหญ่ในการปล่อยพลาสติกสู่ท้องตลาดตั้งแต่ปี 2018-2022

ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน (FMCG) จะติดอันดับกันถ้วนหน้า เช่น Coca Cola, PepsiCo, Unilever และ Nestle

ภายใต้อาณาจักร Danone มีสินค้าตั้งแต่นม โยเกิร์ต เครื่องดื่ม และกำลังเน้นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชมากขึ้น โดยขายสินค้าไปมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกรวมถึงอินโดนีเซียและตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่โลกฝั่งตะวันตกส่งออกขยะพลาสติกมาทิ้งมากที่สุด

ตามรายงานพบว่า Danone ติดอันดับบริษัทที่สร้างขยะพลาสติกในอินโดนีเซียสูงสุดถึงสามปีซ้อน

ClientEarth หนึ่งในผู้ฟ้องร้อง ระบุว่า Danone กำลังเดินหน้าทำธุรกิจโดยไม่มีแผนจริงจังในการจัดการพลาสติก แม้ว่าจะมีการท้วงติงอย่างชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ซึ่งการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 10.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของบริษัท

อีกทั้งบริษัทมีข้อผูกมัดทางกฎหมายที่ต้องแก้ปัญหานี้ ตามหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility – EPR) ซึ่งนับเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม เจ้าของแบรนด์โยเกิร์ตชื่อดังกลับตอบว่ารู้สึกประหลาดใจที่โดนฟ้อง โดยอ้างว่าบริษัทมีแผนลดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และมีนโยบายรีไซเคิลอย่างชัดเจน

ระหว่างปี 2018 ถึง 2021 Danone ได้ลดการใช้พลาสติกไปกว่า 60,000 ตัน หรือคิดเป็น 12% ของการผลิตสินค้าในเครือทั่วโลก และประกาศจะใช้พลาสติกรีไซเคิลทั้งหมดกับบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2025

แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขการใช้พลาสติกในปี 2021 ที่สูงถึง 750,000 ตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนักของหอไอเฟล 75 แท่ง ก็ทำให้เชื่อได้ยากว่าบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสรายนี้จะทำตามเป้าได้สำเร็จ

เหตุที่ Danone ถูกฟ้องก่อนใครเพื่อน เพราะในปี 2017 ประเทศฝรั่งเศสได้ออกกฎหมาย Duty of Vigilance หรือ การกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่จัดทำแผนป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตลอดซัพพลายเชน

กฎหมายนี้ถูกขับเคลื่อนโดยบรรดา NGOs เพื่อป้องกันบรรษัทข้ามชาติเอารัดเอาเปรียบประเทศที่ยังด้อยเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายนี้ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุโศกนาฏกรรมในปี 2013 เมื่อโรงงานเสื้อผ้าในบังกลาเทศถล่มและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คน

โรงงานแห่งนี้ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังมากมายในยุโรป แต่แรงงานกลับไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง จึงมีการเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องหันมาใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต

การรักษ์โลกแบบภาคสมัครใจที่มักลงเอยด้วยการฟอกเขียวจะไม่มีอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นภาคบังคับที่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศคอยควบคุม โดยเฉพาะปัญหามลภาวะจากพลาสติกที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติไร้พรมแดน

ในเดือนมีนาคมปี 2022 ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งพุ่งทะยานขึ้นจนน่าตกใจ ตัวแทนจาก 175 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันในการจัดทำสนธิสัญญาพลาสติก (Global Plastic Treaty) ที่เป็นข้อตกลงแบบมีผลผูกพันทางกฎหมาย ให้มีการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติกใหม่อย่างจริงจัง

นอกจากการลงนามโดยภาครัฐยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่และสถาบันการเงินกว่า 70 ราย เช่น Coca Cola, PepsiCo, IKEA, Starbucks, Philips, Unilever, Nestle และอื่น ๆ ให้การสนับสนุน

ดูเหมือนว่าอีกสามปีข้างหน้า จะเป็นปีทองที่หลายแบรนด์ประกาศกร้าวเรื่องการลดพลาสติกอย่างสมบูรณ์ อาทิ Coca Cola จะทำให้ขวดน้ำทั้งหมดรีไซเคิลได้ภายในปี 2025 เช่นเดียวกับ PepsiCo ที่จะออกแบบขวดให้ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ภายในปี 2025

แต่ที่น่าตั้งคำถามตามมาคือ หากประเทศปลายทางของผู้บริโภคไม่มีระบบแยกขยะและรีไซเคิลที่ดีพอ จะทำอย่างไรกับขวดเปล่าเหล่านั้น

ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีรุ่งเรือง พลาสติกถูกผลิตขึ้นมามหาศาลจากจำนวน 1 ล้านตันในปี 1950 กลายเป็น 460 ล้านตันในปี 2019 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสามเท่าภายในปี 2060

ซึ่งมีพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำไปแปรรูปได้จริง เนื่องจากระบบรีไซเคิลที่ไม่พร้อมในหลายประเทศ ทำให้พลาสติกอายุยืนอีก 12% ถูกกำจัดด้วยการเผากลายเป็นก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และส่วนที่เหลือถึง 79% ถูกนำไปฝังกลบหรือทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อมจนไหลลงสู่มหาสมุทร

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของการกำจัดพลาสติกคือ ลดการใช้ตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นจึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้บริษัทอาหารลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาคิดค้นบรรจุภัณฑ์ทางเลือก หรือมีโมเดลธุรกิจที่สนับสนุนการใช้ซ้ำ

สุดท้ายนี้ต้องรอดูกันว่าจะมีท่าทีอย่างไรออกมาจากทาง Danone ตามที่กลุ่ม NGOs เรียกร้องให้มีการทำแผนลดพลาสติกฉบับใหม่ภายในหกเดือน ต้องเปิดเผยถึงรอยเท้าพลาสติก (Plastic footprint) ที่เดินทางไปทั่วโลก และต้องมีการดีไซน์ทางเลือกใหม่ที่สามารถทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในที่สุด

ความอยู่รอดของธุรกิจ FMCG ในอนาคตจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเพิ่มยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งลดพลาสติกเพื่อเข้าเป้า Net Zeoro ให้ได้มากที่สุด มิเช่นนั้น อาจถูกฟ้องร้องจนหมดตัว

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/environment/2023/jan/10/activists-sue-french-food-firm-danone-plastics-footprint

https://brandaudit.breakfreefromplastic.org/wp-content/uploads/2022/11/BRANDED-brand-audit-report-2022.pdf

https://www.just-food.com/news/danone-sued-in-french-court-over-plastic-use/

https://www.breakfreefromplastic.org/plastics-treaty/

อ่านบทควาามที่เกี่ยวข้อง:

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า