Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เป้าหมายให้โลกปราศจากขยะพลาสติกยังเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่ดูเหมือนความพยายามที่จะควบคุมขยะพลาสติกอาจจะล้มเหลว เมื่อรายงานล่าสุดจาก OECD บอกว่า ขยะพลาสติกทั่วโลกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ขณะที่ 22% มีการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ถูกต้อง และทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวก็ยังมีจำนวนมาก

แต่ละปียังคงมีรายงานการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแบบใช้แล้วทิ้งหลาย ‘ล้านล้าน’ ชิ้น และขยะประเภทนี้ก็มักจะเป็นสัดส่วนที่พบมากในสิ่งแวดล้อม

Upstream องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและทำงานมุ่งเน้นการหาวิธีที่จะนำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆกลับมาใช้ใหม่ ประเมินว่า วิธีการที่ใช้กันในปัจจุบันที่เน้นไปที่การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ก็ยังไม่เข้าสู่วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)อย่างแท้จริง

ซีอีโอของ Upstream ‘แมท พรินดิวิลล์’ วิจารณ์ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่เห็นในโลกนี้คือ ปัญหาด้านการออกแบบ และก็ไม่ใช่แค่การออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมีข้อบกพร่องในการออกแบบระบบด้วย หลายครั้งจะเห็นว่าห่วงโซ่อุปทานที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดวงจรรักษาสิ่งแวดล้อมมันไม่เชื่อมต่อกัน

เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “บรรจุภัณฑ์” ก็ต้องถูกมองว่าเป็นสินค้าและบริการเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ามองแบบนี้ก็ต้องเน้นการนำกลับมาใช้ซ้ำได้ จะทำให้ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพขึ้นและยังลดต้นทุนสำหรับธุรกิจอีกด้วย

แนวคิดนี้ตกผลึกในรายงานล่าสุดของ Upstream เรื่อง The New Reuse Economy หรือเศรษฐกิจแบบใช้ซ้ำวิถีใหม่ ที่พูดถึงวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้สินค้าอุปโภคบริโภคต้องทำออกมาขายในรูปแบบใช้ซ้ำหรือเติมซ้ำได้ให้มากที่สุด

มีไอเดียที่ Upstream ยกมาเป็นกรณีศึกษาของร้านค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ ร้านกาแฟ ร้านอาหารที่มีภาชนะให้บริการแบบ “ยืม” กับลูกค้า ที่ยืมไปใช้และ “ส่งคืนกลับ” มาที่ร้าน โดยลูกค้าต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและระบุข้อมูลบัตรเครดิต หากไม่ส่งคืนถ้วยในระยะเวลากำหนดลูกค้าจะถูกเรียกเก็บเงินค่าถ้วย

แต่ถ้าวิธีข้างบนดูอึดอัดหนักใจเกินไปก็ยังมี “ระบบมัดจำ” คือ ลูกค้าชำระเงินมัดจำล่วงหน้า และได้รับเงินคืนเมื่อมานำภาชนะมาคืน ตัวเลือกนี้ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและธุรกิจมากกว่า

อย่างไรก็ตามที่เห็นทำกันเป็นส่วนใหญ่ คือ รูปแบบให้ ‘ส่วนลด’ กับลูกค้าที่นำภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มาซื้อสินค้าบริการที่ร้าน เช่น สตาร์บัคส์ แต่วิธีนี้นักสิ่งแวดล้อมมองว่ายังสร้างแรงจูงใจการมีส่วนร่วมไม่พอ เพราะสถิติของสตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกาพบว่าใช้รูปแบบนี้แค่ประมาณ 2% เท่านั้น

นอกจากนี้มีกรณีตัวอย่างที่บริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่จำนวนหนึ่งในต่างประเทศ เปลี่ยนไปให้บริการจัดส่งอาหารผ่านปิ่นโต หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ วิธีนี้จะต้องร่วมมือกันระหว่างแอปพลิเคชั่นส่งอาหารกับบรรดาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ วิธีการคือต้องให้ลูกค้าจ่ายค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ก่อนด้วย โดยให้พนักงานส่งสินค้า หรือไรเดอร์กลับมารับภาชนะใช้ซ้ำกลับไปแล้วก็จะได้ค่ามัดจำคืน

ที่ว่ามาก็คล้ายกับอีกหลายประเทศที่ใช้วิธีวางตู้อัตโนมัติ ให้เรานำขวดพลาสติก กระป๋องไปคืนผ่านตู้แล้วก็ได้รับเงิน (ส่วนประเทศไทยมีโครงสร้างร้านรับซื้อของเก่า) บางประเทศในยุโรปที่ผ่านมาก็มีการประกาศให้มีการเก็บค่ามัดจำขวดพลาสติกและกระป๋องทุกประเภท อย่างเยอรมันทำมานานเป็นสิบปี ด้วยวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกให้คืนกลับไปสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นระบบสร้างแรงจูงใจให้เรานำบรรจุภัณฑ์กลับมาคืน ส่วนค่ามัดจำก็กำหนดตามความเหมาะสมของวัสดุ ขนาด

แนวคิดนี้ผู้บริโภคก็ต้องร่วมมือและเปลี่ยนทัศนคติยอมรับการใช้ซ้ำหรือเติมใหม่ในบรรจุภัณฑ์เดิมได้

นอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นเรื่องน่ากังวลมากที่สุดเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4 % เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลและกำจัดด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าดูตามรายงานของ  UN Global E-waste Monitor ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 75 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573

ทางแก้แบบเทรนด์เศรษฐกิจใช้ซ้ำ คือผู้บริโภคต้องลดการบริโภค และหันมาซ่อมแซมสิ่งของที่สามารถซ่อมได้ รวมทั้งต้องเร่งรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น

รู้จัก EPR คือ 

รายงานของ Upstream เน้นย้ำว่า การจะทำให้เศรษฐกิจแบบใช้ซ้ำ The New Reuse Economy ได้ผลจะต้องมาพร้อมกับการใช้บังคับใช้กฎหมายที่เรียกว่า EPR หรือ Extended Producer Responsibility ที่แปลว่า หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต

ซึ่งก็คือ การกำหนดให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนวนกลับมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ส่วนใหญ่ EPR จะออกเป็นกฎหมาย ส่วนประเทศไทยก็พูดถึง EPR กันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่ในการผลักดันให้เป็นกฎหมายยังไม่สำเร็จ ยังใช้วิธีให้ผู้ผลิต เอกชนสมัครใจ

ถ้าไปดูในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน อินเดีย ชิลี เวียดนาม แอฟริกาใต้ มีการผ่านข้อกฎหมาย EPR ไปแล้วหลายฉบับ ที่แยกย่อยไปตั้งแต่เรื่องบรรจุภัณฑ์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซากรถ ซากแบตเตอรี่ แม้กระทั่งแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุ

ในต่างประเทศพอจะเห็นความเคลื่อนไหวว่าแบรนด์ต่างๆ กำลังแสดงการสนับสนุนหลักการ EPR มากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ที่บรรจุภัณฑ์ ดังนั้นทีมความยั่งยืนและการตลาดของแต่ละแบรนด์ก็ต้องเชื่อมโยงสอดประสานกันว่าสินค้าของพวกเขากี่เปอร์เซ็นต์สามารถใช้ซ้ำได้ หรือเติมใหม่ได้

EPR จึงเป็นมากกว่าแค่ CSR : Corporate Social Responsibility ที่เป็นกิจกรรมที่ผู้ผลิตทำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ เก็บขยะในทะเล แต่ยังไม่ได้แตะไปถึงแก่นที่จะทำให้ระบบผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ถ้าทำ EPR ผู้ผลิตจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการภายในของตัวเองใหม่ทั้งหมดเพื่อทำทุกอย่างให้ยั่งยืนไม่มีอะไรเหลือทิ้ง เพื่อเข้าสู่แนวคิดใหญ่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

ดังนั้นจะเห็นว่าการบรรลุถึงโลกที่ปราศจากขยะพลาสติก ไปจนถึงขยะประเภทอื่น ๆ เช่นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากสิ่งของต่าง ๆ ให้ถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ยังคงเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ต่อไป เทรนด์เศรษฐกิจแบบใช้ซ้ำก็กระจุกตัวอยู่กับบางประเทศ บางพื้นที่ในโลกเท่านั้น

 

อ้างอิง
[1] [2] [3] [4]

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า