SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer อดีตรัฐมนตรีของประเทศไทย โดนพิพากษาประหารชีวิตในคดีไตร่ตรองฆ่าคน และอุ้มฆ่า นี่คือเรื่องราวอันโหดเหี้ยม ของพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรมช. กระทรวงพาณิชย์ และ ส.ส.หลายสมัยจากจังหวัดนครสวรรค์

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ชื่อของ “บรรยิน” อยู่ในกระแสข่าวอย่างมาก เขาทำความผิดอะไร และบทสรุปโดนโทษแบบไหน workpointTODAY จะสรุปคดีทั้งหมดให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 15 ข้อ

1) ย้อนกลับไป วันที่ 26 มิถุนายน 2558 นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือที่เรียกกันว่า “เสี่ยชูวงษ์” นักธุรกิจผู้รับเหมาที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักชนต้นไม้ ในถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ย่านศรีนครินทร์ ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

ภายในรถยนต์คันดังกล่าว มีคนขับชื่อ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่เสี่ยชูวงษ์เสียชีวิต แต่ทว่า พ.ต.ท.บรรยิน ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย โดย พ.ต.ท.บรรยินอ้างว่า มีรถยนต์ปาดหน้ากะทันหัน ทำให้เขาต้องหักหลบ จนรถพุ่งไปชนต้นไม้ข้างถนน ส่งผลให้นายชูวงษ์ที่นั่งมาด้วยแต่ไม่ได้คาดเข็ดขัดนิรภัย โดนกระแทกจนถึงแก่ความตาย

2) หลังจาก นายชูวงษ์เสียชีวิตแล้ว ในตอนแรกญาติไม่มีข้อสงสัยใดๆ แต่ก็เกิดเรื่องเอะใจขึ้น เนื่องจากครอบครัวของผู้ตายไปพบว่า ก่อนที่นายชูวงษ์จะเสียชีวิตแค่ 8 วัน เขาโอนหุ้นของตัวเอง ให้กับ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อายุ 26 ปี อาชีพพริตตี้ เป็นจำนวน 228 ล้านบาท และให้กับคุณแม่ของโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์ ชื่อ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล เป็นเงิน 40 ล้านบาท ทั้งๆ ที่นายชูวงษ์ไม่มีประวัติว่าสนิทสนมกับ 2 คนดังกล่าวมาก่อนเลย

3) จากหลักฐานที่ค้นพบ ทำให้ญาติของนายชูวงษ์ ไปร้องเรียนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาคดีอย่างรอบคอบ โดย ผบ.ตร. ได้ส่งคดีนี้ต่อไปให้ตำรวจกองปราบปราม และได้พบข้อมูลใหม่ว่า พ.ต.ท.บรรยิน เป็นคนปลอมแปลงลายเซ็นของนายชูวงษ์ และทำการโอนหุ้นให้ น.ส.กัญฐณา และ น.ส.อุรชา

แต่เมื่อได้ยินข่าว พ.ต.ท.บรรยิน ปฏิเสธทันที โดยบอกว่านายชูวงษ์โอนหุ้นให้ผู้หญิงทั้งสองคนนั้น เพราะทั้งคู่คือชู้รักของนายชูวงษ์ ที่ปิดบังไม่ให้ใครรู้ต่างหาก

4) การลักลอบกระทำการโกงหุ้นคนอื่น นั่นคือคดีแรก ซึ่งจากเรื่องนี้ นำมาสู่คดีที่สอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สืบสวน “สาเหตุการตาย” ของนายชูวงษ์ และพบว่ามีโอกาสสูงมาก ที่จะโดนจัดฉากฆ่าจากฝีมือของพ.ต.ท.บรรยิน โดยมีเรื่องการโกงหุ้นเป็นแรงจูงใจสำคัญ

ตำรวจระบุว่า คำให้การของ พ.ต.ท.บรรยิน ไม่สมเหตุสมผลหลายอย่าง เช่นรถยนต์นั้นขับมาด้วยความเร็วเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่เร็วพอที่จะทำให้คนนั่งข้างๆ เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นผลการชันสูตรยังระบุว่า นายชูวงษ์มีร่องรอยคล้ายถูกรัดคอ

สอดคล้องกับการที่รถยนต์ ของ พ.ต.ท.บรรยิน หายไปจากเส้นทางถึง 30 นาที โดยไม่บอกว่าไปไหน จึงเชื่อว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดการลอบสังหารเสี่ยชูวงษ์ให้ตายมาจากที่อื่นก่อน แล้วมาจัดฉากว่าเสียชีวิตทำเป็นว่ารถยนต์กระแทกต้นไม้

5) เมื่อภาพทุกอย่างชัดเจน พ.ต.ท.บรรยิน จึงถูกตำรวจออกหมายจับในคดีโกงหุ้น และคดีฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยพ.ต.ท.บรรยิน ถูกจับกุมตัวที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในเขาใหญ่ โดยระหว่างที่จับกุมตัวนั้น เขาอยู่ในรีสอร์ทร่วมกับ น.ส.อุรชา โบรกเกอร์สาวด้วย จึงสะท้อนว่าคนที่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวจริงๆ อาจไม่ใช่เสี่ยชูวงษ์ผู้ตาย

6) สำหรับประวัติของ พ.ต.ท.บรรยิน เขาเคยลง ส.ส.ในสังกัดพรรคไทยรักไทย ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นพอไทยรักไทยถูกยุบ จึงย้ายไปพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก่อนไปได้สูงสุดในสายการเมืองคือเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลในประเทศ มีทั้งอำนาจและเงินทอง

7) เรื่องเบื้องหน้าทางการเมืองก็ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อมีการสืบค้นประวัติ ของ พ.ต.ท.บรรยิน ก็พบความน่าตกใจ เนื่องจากคนที่ใกล้ชิดกับเขา ล้วนเสียชีวิตแบบปริศนามาแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็นอดีตภรรยาเก่า น.ส.รสรินทร์ ศรีนุกูล ที่เสียชีวิต ในปี 2534 ด้วยการขับรถไปชนต้นไม้ ด้วยความสงสัยของญาติๆ เพราะ น.ส.รสรินทร์ขับรถไม่เป็น รวมถึง ในปี 2553 ที่น้องชายของภรรยาคนใหม่ ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตแบบที่จับใครดมไม่ได้

8 ) สำหรับคดีโกงหุ้นของพ.ต.ท.บรรยินนั้น จะถูกศาลตัดสินคดีในวันที่ 20 มีนาคม 2563 และจากนั้นอีก 10 เดือน วันที่ 20 มกราคม 2564 ศาลจะตัดสินคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ โดยมีการวิเคราะห์ว่า คดีโกงหุ้นที่จะถูกตัดสินก่อน มีความสำคัญกับ พ.ต.ท. บรรยิน อย่างมาก เพราะถ้าหากศาลระบุว่า พ.ต.ท.บรรยินไม่มีความผิด ก็จะส่งผลบวกต่อรูปคดีหลังได้ด้วย เนื่องจากตัดเรื่องแรงจูงใจในการฆาตกรรมออกไปได้

9) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนตัดสินคดีโกงหุ้นราว 1 เดือน นายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาพนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้ชี้ขาดในคดีนี้ ถูกคนร้าย 6 คนอุ้มหายที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยคนร้ายได้โทรไปข่มขู่ผู้พิพากษาว่าถ้าไม่ยกฟ้องคดีโกงหุ้น จะไม่รับรองความปลอดภัยของพี่ชาย

แต่ผู้พิพากษาพนิดาไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง สุดท้ายกลุ่มคนร้ายจึงทำร้ายนายวีรชัยจนถึงแก่ความตาย แล้วเอาศพไปเผาทำลายที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นเอาโทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ของผู้ตายไปทิ้งที่แม่น้ำปิง

ตำรวจมีหลักฐานที่ชัดเจน จากกล้องวงจรปิดที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในวันเกิดเหตุ รวมถึงคลิปเสียงที่ผู้พิพากษาพนิดาบันทึกไว้ในการสนทนา จากนั้นเมื่อไล่ตามคนร้ายจึงสามารถสาวไปถึงตัวผู้บงการได้ นั่นคือ พ.ต.ท.บรรยินนั่นเอง

เท่ากับว่า พ.ต.ท.บรรยิน มี 3 คดีพร้อมกัน คือโกงหุ้น, ไตร่ตรองฆ่าเสี่ยชูวงษ์ และ อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา

10) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตำรวจบุกจับกุม พ.ต.ท.บรรยิน ที่นครสวรรค์แล้วส่งไปอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที โดย น.ส.บุษญา ตั้งภากรณ์ ลูกสาวของ พ.ต.ท.บรรยิน ได้กล่าวว่า “อยากบอกป๊าว่า ป๊าเป็นคนดี ป๊าไม่ได้ทำอะไรแบบนี้หรอก ถึงป๊าทำก็รู้ว่าป๊ามีเหตุผล ป๊าเป็นผู้ชายพอ รู้ว่าต้องยอมรับความจริง แต่หนูเชื่อว่าป๊าไม่ได้ทำ อยู่ข้างป๊าเสมอ หนูอยู่กับป๊ามาทั้งชีวิต รู้ว่าป๊าเป็นคนอย่างไร เป็นคนเป็นคนดีคนเก่ง ไม่น่าจะมาเจออะไรแบบนี้”

11) หลังจากอยู่ในคุกได้ระยะหนึ่ง มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.บรรยิน เรียกร้องขอทางเรือนจำให้ย้ายตัวเองไปอยู่ในแดนที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น และถ้ามีญาติมาเยี่ยมในเรือนจำก็ขอไม่ให้มีการบันทึกเสียง แต่ผู้บัญชาการเรือนจำไม่ยอม เพราะผิดระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ทำให้ พ.ต.ท.บรรยินโมโหแล้วข่มขู่ว่าจะอุ้มภรรยาของ ผบ.เรือนจำ

พ.ต.ท.บรรยิน วางแผนด้วยการให้ทนายที่อยู่ด้านนอกคุก ช่วยประกันตัว นักโทษ 2 คน ชื่อนายโจ และนายท็อป ออกจากเรือนจำไป และเมื่อทั้งคู่ออกจากคุกได้แล้ว ก็ให้ ช่วย พ.ต.ท.บรรยินแหกคุก โดยไปชิงตัวระหว่างที่ พ.ต.ท.บรรยิน เดินทางไปศาลอาญาเพื่อฟังการพิจารณาคดี หรือถ้าทำไม่สำเร็จก็ไปอุ้มภรรยาของ ผบ.เรือนจำ เพื่อเอามาต่อรอง

แต่สุดท้ายแผนดังกล่าวก็ล่มไป เพราะตำรวจสกัดกั้นเอาไว้ได้ก่อน ทำให้ตอนนี้ พ.ต.ท.บรรยินมีคดีที่ 4 เพิ่มขึ้นมาอีก คือวางแผนแหกคุก

12) พ.ต.ท.บรรยิน พยายามฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิด ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำช่วยชีวิตได้ทัน

13) พ.ต.ท. บรรยิน ยืนกรานในช่วงแรก ด้วยการปฏิเสธความเกี่ยวข้องในการฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา แต่ในสุดท้ายมากลับคำให้การภายหลัง และสารภาพต่อหน้าศาลว่า ได้ร่วมกับจำเลยคนอื่น นำศพนายวีรชัยไปเผาทำลายที่นครสวรรค์จริง และเอาเถ้ากระดูก ไปทิ้งตามจุดต่างๆ ด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า ผู้พิพากษาพนิดา ที่ตัดสินคดีโกงหุ้นทำหน้าที่อย่างลำเอียง จึงขาดสติยั้งคิด นำมาสู่การฆาตกรรมดังกล่าว

14) สำหรับการตัดสินแต่ละคดีของ พ.ต.ท.บรรยินมีดังนี้

คดีที่ 1 – โกงหุ้นจากเสี่ยชูวงษ์ ตัดสินคดี 20 มีนาคม 2563 : พ.ต.ท.บรรยินอ้างว่า ผู้หญิงสองคน พริตตี้ กับโบรกเกอร์สาว เป็นชู้รักลับๆ ของเสี่ยชูวงษ์ แต่จากการสืบสวนพบว่า ทั้งคู่เป็นชู้รักกับ พ.ต.ท.บรรยินต่างหาก โดยทั้ง 3 คนร่วมกันวางแผนในการใช้เอกสารปลอมเพื่อโอนหุ้น บทสรุปคดีนี้ พ.ต.ท.บรรยิน โดนจำคุก 8 ปี

คดีที่ 2 – อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ตัดสินคดี 15 ธันวาคม 2563 : ศาลตัดสินว่า จำเลยต้องโทษประหาร แต่ด้วยการยอมรับข้อเท็จจริงบางส่วน นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ รวมทุกกระทงแล้ว จำคุกตลอดชีวิต แต่ฝั่งโจทก์ขอสู้ต่อที่ศาลอุทธรณ์ชี้ว่าไม่มีเหตุใดให้ลดโทษ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสิน (1 ก.ค.2565) จากจำคุกตลอดชีวิต เป็นประหารชีวิตแทน

คดีที่ 3 – ไตร่ตรองฆ่านายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ตัดสินคดี 20 มกราคม 2564 : ศาลตัดสินว่า จากหลักฐานที่มี ชัดเจนว่าผู้ตายเสียชีวิตมาก่อนเกิดเหตุรถยนต์ชนต้นไม้ การกระทำของ พ.ต.ท.บรรยินถือว่าไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเมื่อถูกจับได้ ก็มิได้รู้สำนึก แต่กลับปฏิเสธมาโดยตลอด ในอดีตตัวเองเคยเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรต้องมีจิตสำนึกชั่วดี แต่กลับกระทำความผิดโดยไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง บทสรุป ประหารชีวิต

คดีที่ 4 – วางแผนแหกคุก ตัดสินคดี 31 พฤษภาคม 2565 : ศาลตัดสินว่า พ.ต.ท.บรรยิน วางแผนจริง แม้จะกระทำการไม่สำเร็จ โดนลงโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท

15) เท่ากับว่า ตอนนี้ พ.ต.ท.บรรยิน โดน 4 คดีพร้อมกัน โดย 2 ในนั้นมีโทษประหารชีวิต แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ยังสามารถฎีกาได้ต่อไป ซึ่งก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลว่าจะพิจารณาแบบไหน
จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ เคยเป็นกระทั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็น ส.ส.หลายสมัย ไม่ได้เป็นคนดีเสมอไป และอาจกลายร่างเป็นฆาตกรได้เหมือนอย่างในเคสนี้

คนมีอำนาจบางคน ก็ใช้พลังที่มี เอามาเป็นเครื่องมือ ในการทำบางสิ่งที่โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ สามารถก่อคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายรอบอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายได้อย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า