SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer เมื่อนายแพทย์ ศรุต ทวีรุจจนะ วัย 28 ปี เสียชีวิตด้วยการตกลงมาจากตึกชั้น 4 ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการพลัดตกลงมาเอง แต่คุณแม่ของผู้ตายไม่เชื่อว่าเรื่องนี้คืออุบัติเหตุ เธอพยายามไปแจ้งหน่วยงานไหน ก็ไม่มีใครช่วยได้ ดังนั้นคุณแม่จึงเดินหน้าสืบสวนด้วยตัวเองเป็นเวลา 11 ปี

ความพยายามของเธอในที่สุดก็สัมฤทธิ์ผล การตกตึกของลูกชายเพิ่งได้รับคำตัดสินจากศาลอาญาว่า “ไม่ใช่อุบัติเหตุ” แต่เป็น “การฆาตกรรม” นี่คือการต่อสู้อันยาวนานของครอบครัวผู้ตาย ที่ต้องการแค่อยากรู้ความจริงเท่านั้น workpointTODAY จะสรุปทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 17 ข้อ

1) วันที่ 18 เมษายน 2553 นพ.ศรุต ทวีรุจจนะ นายแพทย์ที่กำลังเรียนต่อด้านพยาธิวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปดื่มเหล้ากับ นพ.ปราโมทย์ มั่นเมือง หรือหมอเอ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท กับ น.ส.จิตวิมล สุขสุวรรณ ที่เคยเป็นแฟนเก่า นพ.ศรุตมาก่อน แต่ก็เลิกรากับไป แล้วมาคบกับนพ.ปราโมทย์

เมื่อ นพ.ศรุต ดื่มจนเมามาก ทำให้นพ.ปราโมทย์ โทรศัพท์บอกภรรยาของนพ.ศรุต ว่า นพ.ศรุตคงกลับไม่ไหว เลยพาไปนอนที่หอพักของน.ส.จิตวิมล นั่นคือไดรฟ์อินอพาร์ทเมนต์ ในซอยลาดพร้าว 132

2) เหตุการณ์ก็เหมือนจะไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม เวลา 03.13 น. นพ.ศรุต ได้ร่วงตกลงมาจากชั้น 4 ของอาคาร โดยระยะจากจุดตกถึงพื้นคอนกรีต มีความสูงถึง 9.76 เมตร ทำให้ นพ.ศรุต จึงถึงแก่ความตายโดยทันที

3) เมื่อเกิดเรื่องขึ้น นพ.ปราโมทย์ ให้การว่า นพ.ศรุต ที่ตอนแรกเมาหลับอยู่ จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาแล้วพุ่งตัวออกไปเลยที่ประตูระเบียง แล้วพุ่งข้ามรั้วระเบียงออกไป ไม่รู้เอาเรี่ยวแรงมาจากไหน สอดคล้องกับที่ภรรยาผู้ตาย ก็อธิบายว่า

“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านบ่อยจนปกติ คือเมื่อหมอศรุตเมากลับมาที่บ้าน จะมีความโซซัดโซเซ พยุงตัวเองไม่ได้ มีอาการพุ่งตัวอย่างแรง เมื่อรู้สึกตัวเหมือนจะวิ่ง แรงเยอะ เหมือนวิ่งหลาว เพื่อไปเข้าห้องน้ำ แต่ห้องน้ำที่บ้านมีขนาดใหญ่มาก วิ่งได้สบาย แต่เมื่อเทียบกับห้องที่เกิดเหตุ คือมีขนาดเล็กมากๆ แค่ 2 ก้าวเท่านั้น”

“เราซึ่งเป็นภรรยาผู้ตายก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่คิดว่าเป็นการฆ่าตัวตาย 100% ในใจยังคงเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุเรื่องพลัดตกเสมอมา”

4) เมื่อทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นอุบัติเหตุ ทำให้ตำรวจทำสำนวนชันสูตรศพ โดยระบุว่าเป็นการพลัดตกลงมาเอง และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับใครทั้งสิ้น โดยการชันสูตรพบว่า ร่างกายของ นพ.ศรุต มีแอลกอฮอล์สูงถึง 278 มิลลิกรัม คืนนั้นเขาเมาจนไร้สติจริงๆ

5) เหตุการณ์ก็เหมือนจะจบไป อย่างไรก็ตาม คนที่ยังติดใจกับการเสียชีวิต คือนางนิศารัตน์ สัตยานุการ คุณแม่ของผู้ตาย ที่มั่นใจว่าคดีนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน เธอจึงเดินทางไปขอความเป็นธรรม ทั้งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ลงมาสืบสวนคดีนี้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่มีพยานหรือหลักฐานใดๆ ในจังหวะที่ผู้ตายเสียชีวิต

6) เมื่อทุกอย่างยังคงค้างคา คุณแม่จึงยังเก็บศพ ของนพ.ศรุตเอาไว้ ไม่ยอมเผา เพื่อที่จะได้เป็นหลักฐานสำคัญในอนาคต โดยเธอกล่าวว่าเห็นความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ปกติลูกชายจะเมาแค่ไหน ก็จะกลับบ้านตัวเองตลอด ไม่มีเหตุผลที่จะไปนอนพักค้างแรมที่อื่น หรือในสภาพศพของลูกชายมีรอยแผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการกระโดดซึ่งเธอก็ไม่รู้ว่าแผลเหล่านั้นมาจากไหน

7) นอกจากนั้น จากกล้องวงจรปิดของอพาร์ทเมนท์ ในช่วงก่อนตีสาม นพ.ศรุต ตอนที่ขึ้นไปบนห้องพัก มีอาการที่เรียกว่าหมดสภาพ แขนห้อยร่องแร่ง คอพับคออ่อน คุณแม่จึงไม่เชื่อว่า จากนั้นแค่ไม่กี่นาที ลูกจะเอาพลังมาจากไหน วิ่งกระโจนจนร่วงตกระเบียงได้แบบนั้น

8) เหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี น.ส.จิตวิมล เจ้าของห้องพักย้ายออกจากคอนโดดังกล่าว คุณแม่นิศารัตน์เมื่อรู้ข่าวจึงทำการเช่าห้องเกิดเหตุต่อทันที โดยเช่าต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท เพื่อรักษาสภาพจุดเกิดเหตุเอาไว้ และเพื่อจะได้นำผู้เชี่ยวชาญทั้งนักฟิสิกส์ และ นักวิศวกรรมสถาน มาช่วยตรวจสอบว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ลูกชายของเธอจะพลัดตกลงไปเอง

9) สิ่งที่ติดใจคุณแม่มากที่สุดอีกหนึ่งอย่างคือสภาพศพของ นพ.ศรุต อยู่ห่างจากตัวอาคารถึง 3.6 เมตร ในสภาพที่ศีรษะหันหน้าออกจากอาคาร ซึ่งเป็นระยะที่ไกลจากตัวอาคารมาก ดังนั้นเธอจึงไปตามหาผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ว่าในทางวิทยาศาสตร์แล้ว มนุษย์สามารถพลัดตกลงมาได้ระยะไกลขนาดนั้นหรือไม่

10) คุณแม่ติดต่อไปที่ อ.ประสพ ธงธวัช อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้ทำการทดลองทุกรูปแบบ ค้นพบว่า ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์การพลัดตกลงไปเอง จากระยะราว 10 เมตร ไม่มีทางที่ร่างผู้ตาย จะอยู่ห่างจากตัวอาคารได้เกิน 3 เมตร

แต่ในกรณีของนพ.ศรุต อยู่ห่างจากอาคารถึง 3.6 เมตร อาจารย์ประสพยืนยันว่า ต้องตั้งหลักวิ่งเต็มสปีด แล้วกระโดดข้ามรั้วระเบียง (97 ซม.) ที่สูงใกล้เคียงกับรั้ววิ่งแข่งโอลิมปิก (106 ซม) ซึ่งในที่เกิดเหตุที่แคบมากๆ แม้แต่นักกีฬาก็ยังไม่สามารถกระโดดข้ามรั้วระเบียงได้ง่ายๆ ดังนั้นในมุมของเขา ด้วยสภาพนพ.ศรุตที่เมาไร้สติ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการ “พลัดตกลงไปเอง” อย่างแน่นอน

11) หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 4 ปี คุณแม่อธิบายความรู้สึกของตัวเองว่า “บางคดีคนที่ถูกกระทำไม่ค่อยมีความรู้ทางกฎหมาย ไม่กล้าที่จะเรียกร้องหาความยุติธรรม หรือไม่รู้จะดำเนินการอย่างไรต่อ ต้องได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ อยู่กับผลพวงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปตลอดชีวิต การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาถ้าระบบของกฎหมาย และผู้รักษากฎหมายไม่เข้มแข็ง”

“ดิฉันขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมในคดีนี้เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป”

12) คดีนี้ล่วงเลยมา 10 ปี ในที่สุดเดือนกันยายน 2563 อัยการได้สั่งฟ้อง นพ.ปราโมทย์ มั่นเมือง กับ น.ส.จิตวิมล สุขสุวรรณ สองคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่า กระทำการฆาตกรรม นพ.ศรุต โดยเจตนา เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ นพ.ศรุตไม่สามารถพลัดตกลงมาได้ ดังนั้นการเสียชีวิตก็เหลือทางเดียว คือถูกจับโยนลงมา และคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ณ เวลานั้น ก็มีเพียง นพ.ปราโมทย์ และ น.ส.จิตวิมลเท่านั้น ประกอบกับร่างกายของผู้ตาย ที่หลายแผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตกตึก เช่น บาดแผลถลอกคล้ายรอยครูดในช่วงเอว และรอยช้ำบริเวณแขน จึงมีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีการทะเลาะวิวาทกันก่อน จนนำมาสู่การฆาตกรรมในเวลาต่อมา
สำหรับแรงจูงใจนั้น ทางอัยการเชื่อว่าเป็นเรื่องชู้สาว เพราะในอดีตน.ส.จิตวิมล กับ นพ.ศรุต เคยคบเป็นแฟนกันมาก่อน ก่อนจะเลิกกัน แล้วน.ส.จิตวิมลไปคบ นพ.ปราโมทย์แทน ดังนั้นอาจมีปมประเด็นเรื่องความหึงหวงเกิดขึ้น

13) ในขณะที่ฝั่งคุณแม่ต้องการความยุติธรรมให้ลูกชาย แต่ในโลกออนไลน์ก็มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ฝั่งจำเลยทั้ง 2 ต้องการฆ่าจริงๆ หรือไม่ เพราะการนำกลับมาสังหารที่ห้องของตัวเอง ย่อมกลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองอย่างดี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สิ้นคิดไปหน่อย ถ้ามีการวางแผนจะฆ่าไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

14) ในคดีนี้ ผู้พิพากษาในทำการ “เดินเผชิญสืบ” คือลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อพิจารณาสถานที่จริงพร้อมกับดูหลักฐานที่เกิดขึ้น และหลังจากพิจารณาทุกอย่างแล้ว ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษา และสรุปว่าจำเลยทั้ง 2 ผิดจริง

คำอธิบายของศาลคือ ตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ ผู้ตายไม่สามารถหล่นลงไปตายเองได้ด้วยท่านั้น แต่ถ้าหากมีคน 2 คนช่วยกันยก แล้วโยนออกไป มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนั้นช่วงเอวของผู้ตายก็มีรอยครูด ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากระเบียงคอนกรีตในลักษณะที่ถูกยกขึ้นไป ดังนั้นศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 2 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และสั่งจำคุกทั้ง 2 คน คนละ 15 ปี
แต่ด้วยการที่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกคนละ 10 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5 ล้านบาท ให้กับมารดาผู้ตาย

15) สถานการณ์ล่าสุด นพ.ปราโมทย์ และ น.ส.จิตวิมล ได้ขอประกันตัวออกไปสู้คดี โดยศาลอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ โดยทางฝั่งทนายของจำเลยก็ต้องหาเหตุผลมาหักล้างกับการตัดสินของศาลชั้นต้นต่อไป

16) ขณะที่คุณแม่นิศารัตน์ ที่ต่อสู้มายาวนานถึง 11 ปี 8 เดือน 10 วัน นับจากวันที่ลูกชายเสียชีวิตได้กล่าวว่า “เราต่อสู้มานานพอสมควร ทำให้รู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง เหมือนที่ราเห็น รับรู้ พิสูจน์มาว่า ลูกเราไม่ได้ฆ่าตัวตาย ที่ผ่านมาเราเชื่อจากพยายานหลักฐานไม่ได้คิดเอง เรื่องที่สงสัยว่าลูกคิดสั้น พอรู้จากพยานหลักฐานแสดงว่าเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องหาความจริง ผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่รอ และพอใจกับคำตัดสิน”

17) ในโลกออนไลน์ มีกระแสแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือสดุดีหัวใจของคุณแม่ ที่เห็นว่าระบบยุติธรรมของประเทศทำงานได้ผิดพลาด ไปสรุปว่าลูกชายเธอว่าพลัดตกลงมาเอง ดังนั้นเธอจึงลุยหาคำตอบด้วยตัวเอง เพียงเพื่อต้องการจะได้ความรู้ความจริงว่าลูกชายของเธอเสียชีวิตเพราะอะไรกันแน่ และในวันนี้ศาลก็ตัดสินให้เธอเป็นฝ่ายชนะคดีในยกแรก
แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งเช่นกันระบุว่า คดีนี้ไม่มีหลักฐานหรือประจักษ์พยานที่ชัดเจน ว่าจำเลยทั้ง 2 ฝ่ายกระทำฆาตกรรมจริงๆ ขณะที่แรงจูงใจเรื่องชู้สาวก็เบาบางมาก เพราะแม้จะเคยคบกัน แต่ฝ่ายผู้ตายก็แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ไม่มีเหตุอะไรต้องหึงหวงกัน

ดังนั้นคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด และต้องติดตามกันต่อไปจนกว่าจะถึงฎีกา ว่าสุดท้ายมหากาพย์การเสียชีวิตของ นพ.ศรุต จะจบลงในทิศทางไหน

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า