Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทำไมทานตะวัน และ แบม-อรวรรณ เด็กสาวสองคนที่อายุยังไม่ถึงเบญจเพส พวกเธออดอาหาร ต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน จนร่างกายอ่อนแอถึงขีดสุด พวกเธอสู้อยู่กับอะไร อยากเปลี่ยนแปลงอะไร และเป็นไปได้แค่ไหน ที่ข้อเสนอของเธอจะถูกตอบรับ สำนักข่าว Today อธิบายทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 16 ข้อ

1) ตะวัน- ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี ในอดีตเคยเรียนวิชาการตลาดที่มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด เธอจึงกลับมาที่ไทย เมื่อได้เห็นสภาพการเมืองไทย เธอจึงลาออกจากมหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ แล้วมาเรียนต่อ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์แทน ก่อนจะเข้าร่วมม็อบนักศึกษา โดยอยู่ในกลุ่ม We Volunteer

จุดยืนของตะวัน คือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เธอเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท ว่า “ถ้าสมมุติเราสามารถแบ่งงบจากสถาบันกษัตริย์มาได้ เบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือน อาจจะเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือนก็ได้ … แล้วสมมุติถ้าทำให้คนเข้าใจเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ได้ว่ามันมากเกินความจำเป็น เราควรจะลดแล้วกระจายต่อไปยังไง คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ในอนาคตมากๆ ถ้าเราสามารถลดงบสถาบันกษัตริย์ได้”

ตะวัน เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง กลุ่มชื่อ “ทะลุวัง” ที่มีจุดยืนคือการปฏิรูปสถาบัน ครั้งหนึ่งเธอเคยชูป้ายกระดาษที่บริเวณลานน้ำพุ บนห้างสยามพารากอน เพื่อทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่า “เดือดร้อนจากขบวนเสด็จหรือไม่?” จากนั้นเมื่อทำโพลเสร็จก็เดินทางเอาผลโพลไปให้ที่วังสระปทุม ของสมเด็จพระเทพฯ แต่โดนตำรวจสกัดกั้นไว้ได้ก่อน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แจ้งข้อกล่าวหาตะวัน ในมาตรา 112 ว่าเธอหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

2) จากนั้นมาทานตะวันก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เรื่อยๆ เช่น วันที่ 5 มีนาคม 2565 เธอ “ไลฟ์สด” วิจารณ์ว่าทำไมต้องให้ม็อบชาวนาที่ปักหลักอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก ต้องย้ายออกไป เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จด้วย

สุดท้ายทานตะวันจึงโดนมาตรา 112 ไปอีกคดี โดยอัยการอธิบายว่า “เป็นการกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”

3) อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นเธอไม่ต้องอยู่ในคุก เพราะศาลให้ประกันตัวออกมา โดยมีเงื่อนไข 4 ข้อคือ

– ให้ติดกำไล EM ไว้ที่ข้อเท้า
– ห้ามกระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่บ้านเมือง
– ห้ามกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
– ห้ามเดินทางออกจากราชอาณาจักร

4) อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 เมษายน 2565 ตำรวจสถานีนางเลิ้งแจ้งว่า ตะวันโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวราว 10 ครั้ง ในลักษณะพาดพิงถึงสถาบัน และพยายามเข้าไปใกล้กับพื้นที่ขบวนเสด็จอีก 1 ครั้ง โดยใส่เสื้อผ้าสีดำ จึงเรียกร้องต่อศาลให้ เพิกถอนประกันและส่งทานตะวันเข้าไปอยู่ในคุก หลังการพิจารณา ศาลตัดสินใจถอนประกันจริงๆ และส่งตะวันเข้าเรือนจำทันทีในวันนั้น

5) เมื่อเข้าเรือนจำ ทานตะวันต่อสู้ด้วยการอดอาหาร เป็นเวลา 37 วัน ดื่มเพียงแต่นม จนร่างกายอ่อนล้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตัดสินใจใช้ตำแหน่ง ส.ส. นัดศาลอาญาเพื่อขอประกันตัวทานตะวันให้ออกมาจากเรือนจำ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565

สุดท้าย ศาลจึงยอมรับให้ประกันตัวได้แต่เพิ่มเงื่อนไขไปอีก 1 ข้อ คือห้ามทานตะวันออกนอกบ้าน ยกเว้นแต่กรณีที่เจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น โดยแต่งตั้งให้ ส.ส.พิธา เป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลยด้วย

6) เหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ทานตะวัน ไปเดินชูป้ายคัดค้านงานประชุม APEC 2022 และนโยบายจีนเดียวที่หน้าโรงแรมสยามเคมปินสกี้ ทำให้มีผู้มาร้องว่าเธอทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ในข้อที่ว่าห้ามออกจากบ้าน และ ห้ามทำกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

จุดที่น่าสนใจคือ คนที่มาร้อง ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่อัยการ แต่เป็นพนักงานของศาลเอง ซึ่งการไต่สวนลักษณะนี้ ถือว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนโดยปกติ

7) วันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลอาญานัดไต่สวน ว่าจะถอนประกันเธอดีหรือไม่ แต่ด้วยความไม่พร้อมด้านเอกสารทำให้ศาลเลื่อนนัด เรื่องการถอนประกันเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2566 แทน

8) วันที่ 16 มกราคม 2566 ทานตะวัน ที่โดนคดี 112 เช่นเดียวกับ แบม – อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมวัย 23 ปี ที่โดนข้อหา 112 จากกรณีทำโพลที่สยามพารากอนเช่นกัน ทั้งคู่เดินทางไปที่ศาลอาญา เพื่อแสดงเจตจำนงว่า “ขอถอนประกันด้วยตัวเอง” ไม่ต้องให้ศาลสั่ง ที่ทำแบบนี้เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาล และต้องการให้ศาล ให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง

ทานตะวัน และ แบม อ่านแถลงการณ์ ว่าเธอเรียกร้องเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่

1- ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องให้เสรีภาพในการแสดงออก ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2- ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุม และ แสดงออกทางการเมือง
3- พรรคการเมือง ต้องเสนอนโยบาย ยกเลิกมาตรา 112 (ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์) และ 116 (ยุยงให้ประชาชนก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร)

สิ่งที่พวกเธอต้องการที่สุดคือ การให้สิทธิ์ประกันตัวกับผู้ต้องหาที่ต้องเข้าเรือนจำเพราะโทษทางการเมืองทันที ทานตะวันกล่าวว่า “เราจะไม่ยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนเราจะได้สิทธิ์ประกันตัว” และมีการเทสีแดง ในลักษณะคล้ายเลือด ลงบนศีรษะของตัวเองอีกด้วย

9) หลังจากเข้าเรือนจำได้ 2 วัน วันที่ 18 มกราคม 2566 ทานตะวันตัดสินใจอดอาหารและน้ำ เพื่อเป็นการยกระดับการประท้วง โดยเริ่มทำตั้งแต่เวลา 17.00 น. ส่วนแบม-อรวรรณ เริ่มอดเวลา 19.00 น. หลังจากผ่านไปสองวัน ทานตะวันมีอาการอ่อนเพลีย ส่วน แบม-อรวรรณ มีอาการปวดท้อง แพทย์แนะนำให้ยา และน้ำ ทางหลอดเลือด แต่ทั้งคู่ปฏิเสธ และยืนยันว่าจะอดอาหารและน้ำต่อไป

10) การประท้วงด้วยการอดอาหารผ่านไป 13 วัน ข้อเรียกร้องทุกข้อของพวกเธอ ไม่ถูกทำตาม เธอจึงเดินหน้าต่อไป ด้วยร่างกายของที่ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ตะวันมีค่าน้ำตาลต่ำกว่าปกติ มีเลือดออกตามไรฟัน ส่วนแบมมีอาการวิงเวียนศีรษะ แพทย์จึงขอให้พวกเธออย่างน้อยจิบน้ำก็ยังดี เพื่อไม่ให้อาการทรุดหนักถึงกับชีวิต

11) กาหลง ตัวตุลานนท์ แม่ของตะวัน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ว่าเธอไม่เห็นด้วยที่ลูกสาวใช้วิธีทำร้ายตัวเองเข้าสู้ แต่อธิบายว่า “มันอาจเป็นอาวุธเดียวที่เขามีอยู่ ที่จะต่อสู้กับเผด็จการได้ พวกเขาไม่มีปืน ไม่มีอำนาจ เขาเหลือแต่วิธีนี้”

ขณะที่สุชาติ ภู่พงษ์ พ่อของแบม-อรวรรณ กล่าวว่า เข้าใจในการเรียกร้องของลูกสาว และภูมิใจที่ลูกต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของผู้อื่น แต่ใจจริงก็ไม่อยากให้ลูกเอาชีวิตมาทิ้งแบบนี้ เขากล่าวว่า “พ่อขอร้องให้เขาอยู่ อย่าทิ้งนะลูก อย่าทิ้งชีวิตนะ สมองดีๆ ของหนู ร่างกายดีๆ ของหนู เก็บเอาไว้เรียกร้องใหม่”

12) สำหรับหนึ่งในเป้าหมายที่ตะวัน และ แบม เรียกร้องนั้น คือให้พรรคการเมือง ใส่นโยบาย ยกเลิก 112 และ 116 ปรากฏว่า หลายพรรคการเมืองไม่เอาด้วย ตัวอย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ นำโดยหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม แต่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสถาบันหลัก ธำรงไว้ ให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่พรรคเพื่อไทย นำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ได้แสดงจุดยืนว่า มาตรา 116 เป็นกฎหมายครอบจักรวาลที่ใช้หวังผลทางการเมืองมากที่สุด น่าจะแก้ไขได้ ส่วนมาตรา 112 น่าจะทำได้ยาก เพราะเป็นกฎหมายที่คนในประเทศเห็นต่างกันแบบสุดขั้ว ยากที่จะสมานฉันท์ไปในทางเดียวกัน

13) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งสองคนอดอาหารมาเป็นเวลา 21 วัน สภาพร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จึงแจ้งศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ปล่อยตัวทั้งคู่ เพราะถ้าคุมตัวต่อไปก็อาจเสียชีวิตได้ในเรือนจำ หรือในโรงพยาบาล เมื่อศาลอาญาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยมีร่างกายที่อ่อนแอเกินกว่า จะสร้างความเสียหายใดๆ ใหม่ได้

ศาลจึงกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว ให้ทานตะวัน 1 เดือน และให้แบม-อรวรรณแบบไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม กลุ่มทะลุวัง ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า คนที่ร้องขอให้ศาลประกันตัว คือผอ.โรงพยาบาล ส่วนทานตะวันและแบม ไม่ได้ร้องขอประกัน และจะเดินหน้าอดอาหารต่อไป โดยปฏิเสธการรับน้ำเกลือ และยืนยันว่า จะไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยตัวครั้งนี้เด็ดขาด

14) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านโฆษกสำนักนายกฯ โดยกล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ทั้งสองคนปลอดภัยในฐานะคนไทยด้วยกัน กำชับให้คณะแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดให้ปลอดภัย และยังแสดงความเป็นห่วงต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าว ฝากผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมลูกหลาน สร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าหลงเชื่อ และตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง”

15) สำหรับสถานการณ์จนถึงวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) ทั้งทานตะวัน และ แบม-อรวรรณ ยังเดินหน้าอดอาหารต่อไปเป็นวันที่ 21 อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดของเธอ ยังไม่มีการตอบรับ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่คิดแก้ไข มาตรา 112 ขณะที่นักโทษการเมือง ก็ไม่ได้รับการประกันตัวทั้งหมดอย่างที่พวกเธอต้องการ

16) ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Standard Now อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การกระทำของทานตะวัน และ แบม อาจมีจุดยืน แต่จะได้ผลหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่อง

ศ.ดร. ชัยวัฒน์อธิบายว่า “การอดอาหารประท้วงจะใช้การได้กับคนที่รักคุณเท่านั้น … หากเรามีพ่อเป็นคนติดเหล้า แล้วพ่อไม่ยอมเลิก เราก็บอกพ่อว่าเราอดอาหารประท้วง ถ้าพ่อไม่เลิกเหล้าลูกจะอดอาหารจนตาย พ่อรักเรา พ่อจึงยอมเลิก”

แต่กับรัฐบาลยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีลักษณะความเป็นห่วงแบบพ่อ-ลูก เหมือนกรณีเลิกเหล้าที่กล่าวมา กับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง นอกจากนั้นรัฐบาล และหลายๆ พรรคการเมือง ยึดมั่นในมาตรา 112 และ 116 มาโดยตลอด รวมถึงมีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ ว่าการอดอาหารประท้วง ของทานตะวัน และแบมในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันใกล้ อย่างที่พวกเธอต้องการได้จริงหรือไม่

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า