SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer คนทั่วโลกที่เล่นเกม Hogwarts Legacy โดนรุมด่าเละเทะ สาเหตุเพราะมีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิ Trans ไม่พอใจที่คนเล่นเกมไปสนับสนุนผลงานของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ทางอ้อม

เรื่องราวเป็นอย่างไร เจเค โรว์ลิ่ง เหยียดเพศจริงหรือไม่ แล้วทำไมต้องไปลงกับคนเล่นเกม สำนักข่าว Today จะสรุปสถานการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 16 ข้อ

1) ในปัจจุบัน กลุ่มหลากหลายทางเพศ ใช้ชื่อย่อว่า LGBTQ+ โดยตัวอักษร T ย่อจาก Trans ที่แปลว่าคนข้ามเพศ หมายถึง เพศกำเนิดชายที่นิยามตนเป็นหญิง และ เพศกำเนิดหญิงที่นิยามตนเป็นชาย

ปลายปี 2019 กลุ่ม Trans ที่ประเทศอังกฤษ เรียกร้องว่า ในเอกสารทางการเช่นพาสปอร์ต ไม่ควรระบุเพศลงไป เพราะถ้านิยามตนเป็นหญิง ก็ไม่ควรถูกบังคับให้ใส่ “เพศชาย” แต่ควรเลือกใช้ “เพศหญิง” ที่ตัวเองต้องการได้ หรือใช้คำว่า “เพศ X” เพราะถ้าไม่อยากบอกให้คนอื่นรู้ ก็ไม่ควรโดนบังคับ คล้ายๆ กับที่เนเธอร์แลนด์ ที่ใส่เพศ X ลงในพาสปอร์ตได้

แต่สุดท้ายความพยายามนี้ไม่สำเร็จ โดยกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร ยืนยันตามเดิมว่า ในพาสปอร์ตจะต้องระบุเพศ ตามเพศแรกเกิดของตัวเองเท่านั้น คือมีแต่ชายและหญิง แต่แนวคิด Trans ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเหมือนกัน จนบางประเทศก็ยอมเปลี่ยนนโยบาย

2) ธันวาคม 2019 มายา ฟอร์สเตเตอร์ นักวิจัยวัย 45 ปี ทวีตข้อความว่า เธอไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ Trans เพราะเชื่อว่าเพศต้องถูกแบ่งตามโครโมโซม ตามหลักชีววิทยา ไม่ใช่แบ่งตามความรู้สึก

ทันทีที่มายา ทวีตไปแบบนั้น เธอโดนโลกออนไลน์โจมตีว่าเป็นพวกเหยียดเพศ สุดท้ายไม่ได้รับการต่อสัญญาจากองค์กรที่ทำงานอยู่ เหมือนกับโดนไล่ออกนั่นเอง

3) เมื่อมายาโดนรุมถล่มจากกลุ่ม Trans ทำให้เจเค โรว์ลิ่ง ผู้เขียนนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมาตอบโต้ทันที เธอทวีตข้อความว่า “คุณจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ที่คุณต้องการ จะเรียกแทนตัวเองว่าอะไรก็ได้ จะมีเซ็กส์กับใครก็ได้ที่เขาโอเคกับคุณ และคุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขและปลอดภัย คุณสามารถทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นการไปกดดันไล่บี้ให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องโดนไล่ออกจากงาน เพียงเพราะเธอบอกว่า เพศที่แท้จริงมีแค่ชายกับหญิงน่ะหรอ มันถูกต้องจริงๆหรือเปล่า?”

4) เจเค โรว์ลิ่ง พรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์มาเสนอ แต่มีการแสดงออกว่ายอมรับความหลากหลายทางเพศ เช่น การแต่งให้ตัวละครดัมเบิลดอร์เป็นเกย์ ทำให้คนเกิดความตกใจ ยิ่งเมื่อแสดงความเห็นออกไปแบบนั้น ทำให้เจเค โรว์ลิ่ง โดนวิจารณ์อย่างหนัก ว่าเป็นเธอเป็น TERF หรือที่แปลว่า นักสิทธิสตรีหัวรุนแรงที่เชื่อว่าเพศในโลกแบ่งเป็นแค่ชายกับหญิง ซึ่งการประกาศจุดยืนของโรว์ลิ่ง สร้างความผิดหวังให้แฟนหนังสือที่เป็นกลุ่ม Trans อย่างมาก เพราะแนวคิดของโรว์ลิ่ง เหมือนเป็นการไปกดกลุ่ม Trans ให้อยู่ในซับเซ็ตของเพศชาย และ เพศหญิงเท่านั้น

5) เหตุการณ์ในครั้งนั้นผ่านไป แต่ก็มีดราม่าเกิดขึ้นอีก เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 เจเค โรว์ลิ่ง ไปเห็นข่าวหนึ่งที่ใช้พาดหัวว่า People who menstruate หรือ “คนที่มีประจำเดือน” ซึ่งผู้เขียนนั้นเลือกใช้คำนี้ เพราะมองว่าคนที่มีประจำเดือน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายข้ามเพศก็ยังสามารถมีประจำเดือนได้

โรว์ลิ่งได้ออกมาทวีตว่า ทำไมสื่อมวลชนใช้คำว่า “คนที่มีประจำเดือน”ล่ะ? ในเมื่อคุณก็สามารถใช้คำว่าผู้หญิงไปเลยก็ได้ เพราะคนที่สามารถมีประจำเดือนได้ ยังไงก็ต้องมีเพศสภาพเป็นหญิงอยู่แล้ว ซึ่งนัยยะแฝงของโรว์ลิ่ง คือความเชื่อที่ว่า คำว่าเพศต้องแบ่งเป็นเชิงชีววิทยา คือมีแค่ชายกับหญิง

โรว์ลิ่งอธิบายว่า “ฉันเคารพคนข้ามเพศนะ ไม่ได้รู้สึกรังเกียจอะไร และเข้าใจในแนวทางการใช้ชีวิตเป็นอย่างดี และถ้าพวกคุณโดนความอยุติธรรมในสังคมกดขี่ ฉันพร้อมจะเดินขบวนประท้วงไปด้วยกันแน่นอน แต่ในเวลาเดียวกัน ชีวิตฉันเติบโตมาด้วยความเป็นผู้หญิง ดังนั้นการที่ฉันพูดเรื่องนี้ ก็ไม่คิดว่าตัวเองผิดนะ”

มุมมองของโรว์ลิ่ง คือ เรื่องความรู้สึก คุณจะคิดว่าตัวเองเป็นเพศอะไรก็คิดไป แต่ในแง่การกระทำ คุณต้องยอมรับว่า Sex is Real หรือเพศมีอยู่จริง (นั่นคือชายและหญิง)

นักกีฬาเพศกำเนินชายที่ทรานส์เป็นหญิง ก็ไม่ควรลงแข่งกีฬารวมกับเพศหญิงคนอื่นๆได้ เช่นเดียวกับ ห้องน้ำหญิงก็ควรมีแต่ผู้หญิงจริงๆ เข้า เพื่อความปลอดภัย และความสบายใจของเพศหญิงจริงๆ ส่วน “ชายใจหญิง” ก็ไม่ควรมาใช้ห้องน้ำร่วมกัน

6) ในวันนั้น เจเค โดนด่าว่าเป็น Transphobia หรือ “คนเกลียดกลุ่ม Trans” เป็นพวกที่ไม่ต้องการให้คนข้ามเพศมีสิทธิมีเสียง หรือมีตัวตน เทียบเท่ากับชายหรือหญิง อย่างเรื่องประจำเดือนที่โรว์ลิ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะมีเมนส์ได้ ก็มีคนแย้งว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงก็มีเมนส์ได้ อย่างเช่นผู้ชายข้ามเพศ ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนผู้ชายหมด แต่ก็ยังสามารถมีประจำเดือนได้เช่นกัน

แม้แต่เซเลบริตี้หลายคน ก็ยังเห็นไม่ตรงกับเธอ ตัวอย่างเช่น แดเนียล แรดคลิฟฟ์ หรือแฮร์รี่ พอตเตอร์เวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่กล่าวว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ ก็คือผู้หญิง” หรือ เอ็ดดี้ เรดเมย์น นักแสดงออสการ์ ได้กล่าวว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับเจ เค โรว์ลิ่ง ผมคิดว่าผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง และผู้ชายข้ามเพศคือผู้ชาย ส่วนคนที่เป็นน็อนไบนารี่ หรือไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นทั้งเพศชายและหญิงมันก็มีอยู่ในสังคมจริงๆ และผมคงไม่สามารถพูดแทนพวกเขาได้ แต่ผมก็พอรู้มาว่าเพื่อนๆข้ามเพศของผม คงเหนื่อยมากกับการโดนตั้งคำถามว่าพวกเขาเป็นเพศอะไรกันแน่ พวกเขาแค่อยากจะใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และเราก็ควรปล่อยให้เขาได้เจอชีวิตแบบนั้น”

กลุ่มที่โจมตีโรว์ลิ่งบอกว่า สิทธิ์ในการระบุว่าเป็นเพศอะไร ไม่ควรโดนตีกรอบจากเพศที่ถือกำเนิด ถ้าหากคุณมีความต้องการและพยายามที่จะเป็นผู้หญิง คุณก็คือผู้หญิง เช่นกัน ถ้าคุณต้องการและพยายามที่จะเป็นผู้ชาย คุณก็คือผู้ชาย การนิยามว่าเพศควรมีแค่หญิงกับชายมันล้าหลังเกินไป

7) จากกรณีของโรว์ลิ่ง ในสังคมจึงเกิดการดีเบทกันอย่างหนัก ว่ากลุ่ม Trans เช่น ผู้ชายใจหญิง หรือกลุ่มกะเทยนั้น ควรถูกเหมารวมว่าเป็นหญิงได้ไหม แล้วคำว่าเพศ ควรดูจากความรู้สึก หรือ ดูจากชีววิทยากันแน่

8 ) หลังโดนกลุ่ม Trans วิจารณ์อย่างหนักหลายวัน ทำให้โรว์ลิ่งออกมาสรุปความในใจ โดยอธิบาย 5 เหตุผลที่เธอต้องแสดงจุดยืน ว่า Sex is Real

เหตุผลข้อ 1 – เธอเชื่อว่า โลกนี้แบ่งเป็น Gender กับ Sex โดย Gender คือเพศสภาพที่ผู้คนเชื่อว่าตัวเองเป็น ส่วน Sex คือเพศจริงๆตามเชิงชีววิทยา แต่ในปัจจุบัน จะมีการผลักดันในแง่กฎหมายให้ใช้ Gender แทน Sex ซึ่งในมุมของเธอคิดว่า มันไม่ถูกต้อง

เหตุผลข้อ 2 – เธอมองว่า สังคมยังตั้งคำถามอยู่เลยว่า Trans จริงๆแล้วคือผู้หญิง หรือจริงๆ คือกลุ่มเฉพาะของตัวเองที่เรียกว่า Trans ดังนั้นรีบด่วนสรุปว่า Trans คือผู้หญิง ก็เท่ากับไม่เคารพจุดยืนของคนที่มองว่า Trans เป็นเพศเฉพาะของตัวเอง

เหตุผลข้อ 3 – โรว์ลิ่งชี้ว่า เธอกล้าพูดความคิดของตัวเอง เพราะเชื่อในสิทธิเสรีภาพในการพูด ว่าคนทุกคนจะพูดอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ ตราบเท่าที่ไม่ได้สร้างความขัดแย้งเกลียดชัง

เหตุผลข้อ 4 – โรว์ลิ่งอ้างงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การแปลงเป็น Trans โดยขาดความไตร่ตรองให้ดี ส่งผลเสียหายหลายอย่าง เช่น บางคนอาจจะยังไม่ได้อยากแปลงเพศเลยก็ได้ แต่โดนสื่อต่างๆ บิ้วความรู้สึกจนตัดสินใจไปแปลงเพศมา แล้วมารู้สึกเสียใจทีหลัง

เหตุผลข้อ 5 – โรว์ลิ่งเล่าให้ฟังว่าในอดีตเธอเคยถูกผู้ชาย (สามีเก่า) ทำร้ายร่างกายมาก่อน และกลายเป็นปมแผลในใจจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเงินทองมากมายแค่ไหน ก็ยังเป็นปมในใจเสมอ ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยให้เพศหญิงจึงมีความสำคัญสำหรับเธอ

โรว์ลิ่งกล่าวว่า “ผู้หญิงจำนวนมากที่เคยมีประสบการณ์แบบฉันมาก่อน เราจะถูกประณามเพียงเพราะต้องการพื้นที่สำหรับคนเพศเดียวกัน (Single-sex Spaces)”

“ฉันอยากให้ผู้หญิงข้ามเพศรู้สึกปลอดภัย แต่ก็ไม่อยากให้ผู้หญิงธรรมดารู้สึกปลอดภัยลดลง อย่างเช่น ถ้าคุณเข้าห้องน้ำหญิง แล้วไปเจอผู้ชายสักคนที่เชื่อว่า เขาเป็นผู้หญิง แบบนี้มันโอเคหรือ แล้วก็อย่างที่ฉันบอก การจะกำหนดเพศ ถ้ายึดตาม Gender แปลว่าคุณอาจตีความไปด้วยตัวเองได้เลยว่า เป็นเพศหญิงโดยไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมน หรือทำศัลยกรรม มันเหมือนกับว่าคุณเปิดประตูให้ผู้ชายทุกคนที่อยากเข้ามา สามารถเข้ามาได้ง่ายๆ”

9) แม้จะอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนแล้ว แต่โรว์ลิ่ง ก็ยังโดนวิจารณ์อยู่ ว่าเธอเป็นพวกไม่ชอบ Trans มาตั้งแต่อดีตแล้ว คืออาจยอมรับ เลสเบี้ยน หรือ เกย์ แต่กับกลุ่มคนแปลงเพศจากชายเป็นหญิง โรว์ลิ่งจะไม่สนับสนุน สังเกตได้จากในแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะไม่มีตัวละครที่เป็นกลุ่ม Trans เลย อย่างดัมเบิ้ลดอร์ กับ กรินเดวาลด์ เป็นความสัมพันธ์แบบชายรักชายก็จริง แต่เป็นในรูปแบบของเกย์ ไม่ใช่การข้ามเพศ (Trans)

กลุ่มผู้สนับสนุน Trans มองว่า การที่โรว์ลิ่ง ต้องการให้โลกนี้มีแค่ชาย กับหญิง เป็นการลบตัวตนของ Trans ออกไป ทั้งๆที่คนเหล่านี้ก็มีเรื่องราว และมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เป็นการกดกลุ่ม Trans ให้อยู่ในกรอบของความเป็นชายและหญิง

10) แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เจเค โรว์ลิ่ง เป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของกลุ่ม Trans มาโดยตลอด กลุ่มคนที่มีแนวคิดว่า Sex isn’t real จะต่อต้านเธอ รวมถึงไล่แบนผลงานของเธอทุกๆ อย่าง

11) เรื่องราวผ่านไป มาถึงในปี 2023 ค่ายเกม Avalance Software เปิดตัวเกมชื่อ Hogwarts Legacy ลงในเพลย์สเตชั่น, XBOX และ ในวินโดว์ นี่เป็นเกมที่จะเล่าเรื่อง ในโรงเรียนพ่อมดฮอว์กวอร์ตส 100 ปี ก่อนหน้าที่นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะเริ่มต้นขึ้น

เกม Hogwarts Legacy ถูกยกย่องว่าเป็นเกมในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ดีที่สุด สนุกที่สุด สื่อเกี่ยวกับเกมแทบทั้งหมด ให้เรตติ้งคะแนน 9 เต็ม 10 หรือ 10 เต็ม 10 เพราะเกมมันมีคุณภาพจริงๆ ภาพสวยมาก มีรายละเอียดเยอะ ทำให้คนเล่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเรียนที่ฮอกวอร์ตสจริงๆ

12) ความสนุกของเกม ทำให้กลุ่มสตรีมเมอร์และยูทูบเบอร์ทั่วโลก ต่างแคสต์เกมกันอย่างสนุกสนาน ยอดขายของเกมจึงพุ่งทะยานเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 ทุกอย่างก็ดูจะราบรื่นดี แต่ดราม่าก็มาบังเกิด เพราะเกม Hogwarts Legacy ก็คือส่วนหนึ่งในอาณาจักรแฮร์รี่ พอตเตอร์เช่นกัน ถ้าหากเจเค โรว์ลิ่งไม่อนุมัติ ก็ไม่มีสิทธิ์สร้าง

ดังนั้นกลุ่มคนที่สนับสนุนความเท่าเทียม และสนับสนุน Trans จึงระดมต่อต้านเกมนี้อย่างดุเดือด เพื่อให้ประชาชนบอยคอตต์เกมนี้อย่าให้ผลงานของโรว์ลิ่งมีที่ยืนได้ในโลก

13) ดราม่านั้นรุนแรง ถึงขนาดว่าสำนักข่าวสายเกมดังๆ อย่าง IGN ก่อนจะทำการรีวิว ต้องเขียนโน้ตแจ้งคนอ่านไว้เลยว่า “เราเข้าใจดีว่าการพูดถึงกลุ่ม Trans ของเจเค โรว์ลิ่งหลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้แฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ยุคเก่าและยุคใหม่ เกิดความไม่พอใจ และอยากให้เราแบนผลงานทุกอย่างของโรว์ลิ่ง แต่การวิจารณ์คืองานของเรา เพื่อจะพิสูจน์ว่า เกม Hogwarts Legacy มันคู่ควรที่ทุกคนจะเสียเงินซื้อหรือไม่”

14) คนที่โดนเล่นงาน ไม่ใช่แค่สำนักข่าว แต่กลุ่มสตรีมเมอร์ที่แคสต์เกมนี้ ก็โดนรุมด่าเช่นกัน ว่า “สนับสนุนผลงานของนักเขียนเหยียดเพศ” ตัวอย่างเช่น สตรีมเมอร์ชาวสหรัฐฯ แมตต์ แอนด์ เชลบี้ ที่เป็นคู่แฟนกัน เล่นเกมนี้อยู่ ทาง Twitch แต่พออ่านในช่องแชท ก็โดนคนรุมด่าเละเทะ จนฝ่ายหญิงเชลบี้ ถึงกับร้องไห้ออกมาในสตรีมสด

15) เช่นเดียวกับในไทย แคสเตอร์คนดัง เอก Heartrocker ที่ระหว่างเล่นเกม Hogwarts Legacy อยู่นั้น ก็โดนรุมด่าเละ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ว่าเป็นพวกสนับสนุนคนเหยียดเพศ ซึ่งทำให้เจ้าตัวระเบิดอารมณ์ออกมาว่า “ไอ้พวกที่ด่าผมแบบสารชั่วเลย แบบบาปหนักสาหัสฉิบหายเนี่ย อันนี้เอาไว้ก่อน ผมไม่พูดเยอะ แต่ผมให้น้องขายผมแคปไว้แล้ว …ผมกำชับไว้ว่าเอาทุกอันเลยนะที่เข้าข่าย”

16) สำหรับเรื่องนี้ ยังไม่จบง่ายๆ กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิ์ Trans ยังคงเดินหน้าโจมตีด่าเจเค โรว์ลิ่ง , เกม Hogwarts Legacy และ สตรีมเมอร์ที่เล่นเกมนี้ต่อไป ว่าเป็นพวกเหยียดเพศ และจงใจสนับสนุนคนที่ต่อต้าน Trans อย่างโรว์ลิ่ง

แต่ก็มีคนจำนวนมาก ไม่เข้าใจเช่นกันว่า การที่โรว์ลิ่งอยากให้เพศ แยก Gender กับ Sex มันผิดตรงไหน ถ้ากลุ่ม Trans ได้แข่งกีฬาร่วมกับผู้หญิง ได้ใช้ห้องน้ำเดียวกับผู้หญิง แล้วสิทธิของเพศหญิงโดยกำเนิดจะไปอยู่ที่ไหน รวมถึง ถ้าหากให้คนแปลงเพศ ไม่ใช้คำนำหน้า “นาย” ในบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตได้ จะมีการยุติธรรมต่อคนรักของหญิงข้ามเพศที่อยากมีลูกหรือไม่

เรื่องนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน แต่ทว่า เจเค โรว์ลิ่ง กับกลุ่ม Trans และ กลุ่มสนับสนุนสิทธิทรานส์ คงไม่ญาติดีกันเร็วๆ นี้แน่นอน แม้ว่าคนในกลุ่มนั้นครั้งหนึ่งจะเคยเป็นแฟนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์มาก่อนก็ตามที

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า