Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ในปีนี้จะเศร้าไปกว่าการสูญเสีย “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่โดนนายสิบตำรวจซิ่งมอเตอร์ไซค์ดูคาติ มาในเลนขวาของถนน พุ่งชนเธออย่างจังบนทางม้าลาย จนถึงแก่ความตายทันที

เรื่องนี้ ไม่ใช่จะพูดว่า “เป็นอุบัติเหตุ” แล้วจบ เพราะคนร้ายคือตำรวจที่ต้องรู้กฎหมายอย่างดี แต่กลับทำผิดรวม 7 ข้อหา จนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตกลางเมือง แล้วอีกอย่าง ทางม้าลายควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ใช้ท้องถนน แต่หมอกระต่ายกลับโดนพุ่งชน ทั้งๆที่เธอเดินข้ามถูกต้องตามหลักทุกอย่าง

การเสียชีวิตของหมอกระต่ายครั้งนี้ นอกจากความสะเทือนใจแล้ว เราจะไปทบทวนกันว่า มีสิ่งใดอีกบ้าง ที่สังคมไทย ได้เรียนรู้และได้เห็น จากเหตุการณ์บนท้องถนนครั้งนี้

1- ตำรวจไม่รักษากฎหมายแล้วจะให้ประชาชนพึ่งใคร

ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ฆาตกร ที่ขับชนหมอกระต่ายเสียชีวิต ทำผิดกฎหมายถึง 7 ข้อหา ได้แก่ เอารถไม่ผิดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้, เอารถไม่เสียภาษีมาใช้, เอารถไม่มี พ.ร.บ. มาใช้, เอารถไม่มีกระจกมาใช้, ไม่ขับชิดทางด้านซ้าย, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และ ขับรถประมาทจนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

สิ่งเหล่านี้อย่าว่าแต่เป็นตำรวจ มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนใช้ท้องถนนต้องรู้ คุณไม่สามารถเอารถไม่มีป้ายทะเบียน ไม่มี พ.ร.บ. ออกมาขับขี่ได้ แต่ตำรวจรายนี้ก็ยังเลือกจะฝ่าฝืน

คุณจะคาดหวังให้ประชาชนมีวินัยบนท้องถนนได้อย่างไร เมื่อคนรักษากฎหมาย ยังคงละเมิดสิ่งพื้นฐานเหล่านี้โดยง่าย ซึ่งประเด็นนี้ต้องสืบสาวลงไปเลยว่า โรงเรียนที่สอนตำรวจในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อธิบายชัดเจนหรือไม่ ว่าตำรวจต้องเคารพกฎหมาย ไม่ใช่คนฝ่าฝืนเสียเอง

ถ้าตำรวจเคารพกฎจราจร ขับรถชิดซ้าย รู้จักจอดเมื่อถึงทางม้าลาย แค่ผู้รักษากฎหมาย ทำตามกฎหมายเท่านั้น เหตุสลดเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นแต่แรก

2 – ผู้ใช้ทางเท้าในกรุงเทพ มีความยากลำบากมาก

ในขณะที่ต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือ ไต้หวัน มีความปลอดภัย และ Friendly กับ ผู้ใช้ทางเท้าเป็นอย่างมาก แต่กรุงเทพฯ กลับไม่ตอบโจทย์เหล่านั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2563 คนเดินเท้าในกรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุมากถึง 1,068 คน ขณะที่ในปีเดียวกัน สิงคโปร์ทั้งประเทศ มีคนเดินเท้า ประสบอุบัติเหตุ 642 คน เท่านั้นน้อยกว่ากรุงเทพเกือบครึ่ง

ทัศนคติของผู้ขับขี่ยานยนต์บางคนในไทย เอารัดเอาเปรียบคนเดินเท้า มีการขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบนฟุตบาธ เวลาที่รถติด เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจร โดยต้องให้คนเดินเท้าหลบหลีกเอาเอง หรือแม้แต่ทางม้าลายที่กฎหมายระบุว่า “ต้องหยุด” แต่ก็กลับซิ่งผ่านได้ง่ายๆ ให้คนข้ามถนนต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอง

ตามกฎหมายของประเทศไทย ถ้าเห็นทางม้าลายข้างหน้า ในระยะ 30 เมตร ห้ามแซงอย่างเด็ดขาด และต้องชะลอความเร็วเสมอ รวมถึง ห้ามยานยนต์จอดรถทับทางม้าลายในระยะ 3 เมตร ก่อน-หลัง ทางม้าลาย แต่เอาจริงๆ ในทางปฏิบัติก็มีน้อยคนมาก ที่จะเคารพกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

การที่กรุงเทพไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนใช้ทางเท้าตั้งแต่แรก และไม่มีการปลูกฝังจิตสาธารณะกัน จึงทำให้เกิดการเอาเปรียบขึ้นอย่างมาก และนำมาซึ่งอุบัติเหตุมากมายแก่คนเดินเท้า

3 – ค่านิยมที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับการให้คนข้ามถนน

มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันผู้ใช้ท้องถนนในประเทศไทย ไม่ได้ยึดหลัก Pedestrian First แบบที่ชาติอื่นๆ ใช้กัน กล่าวคือชาติอื่น รถทุกประเภทจะต้องคำนึงถึงผู้ข้ามถนนเป็นอันดับแรก เป็นที่รู้กันว่าคุณต้องหยุดรถเสมอ เพื่อให้คนข้ามผ่านไปก่อน ชีวิตคนย่อมสำคัญกว่ายานยนต์

แต่ในโลกออนไลน์ มีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันแค่คิดจะหยุดรถให้คนข้ามถนน คุณก็โดนคันข้างหลังบีบแตรไล่แล้ว ราวกับเป็นสิ่งผิดที่ไม่ควรทำ กลายเป็นว่าในประเทศไทยเลือกให้คุณค่ากับ Motorist First หรือคนขับขี่ยานยนต์มาก่อน

มีบางคนไล่คนเดินทางม้าลายว่า “ทำไมไม่ขึ้นสะพานลอยล่ะ?” แต่ในประเทศอื่นทั่วโลก อธิบายให้เห็นแล้วว่า กลุ่มคนพิการที่นั่งวีลแชร์ หรือ ผู้สูงอายุ ไม่สามารถขึ้นสะพานลอยได้โดยสะดวก ดังนั้นการข้ามทางม้าลายในจุดปลอดภัย เป็นคำตอบที่ดีกว่า ซึ่งการโดนไล่ไปขึ้นสะพานลอย ก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมว่าที่ไทยจะผลักดันความรับผิดชอบไปให้คนข้ามถนนเสมอ

การปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่อังกฤษมีการออกกฎทางหลวง ชื่อ H1 โดยเรียงลำดับความสำคัญบนท้องถนน อันดับ 1 คือคนเดินถนน, อันดับ 2 คือคนปั่นจักรยาน, อันดับ 3 คือคนขี่ม้า, อันดับ 4 คือมอเตอร์ไซค์, อันดับ 5 คือ รถยนต์, อันดับ 6 คือรถตู้ รถมินิบัส และ อันดับ 7 คือรถขนาดใหญ่ การออกกฎที่ชัดเจนเพื่อทำให้สังคมได้เข้าใจว่า สิ่งใดกันแน่ ที่ควรจะถูกให้ความสำคัญ และให้ความระวังมากที่สุดบนถนน ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเหมือนที่เกิดขึ้นในไทย ณ เวลานี้

4 – ความสูญเสียของวงการจักษุแพทย์

หมอกระต่าย เรียนจบปริญญาตรีจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้เวลา 6 ปี จากนั้นไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านจักษุวิทยาโดยเฉพาะอีก 3 ปี ตามด้วยเรียนสาขาย่อยเฉพาะทางอีก 2 ปี ใช้เวลารวมแล้วมากกว่า 1 ทศวรรษ ในการสั่งสมความรู้เพื่อนำมาต่อยอดช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

หมอกระต่ายเรียนสาขาย่อย ในสาขาจอประสาทตา และ สาขาม่านตาอักเสบ ซึ่งมีแค่ไม่กี่คนในประเทศไทยเท่านั้นที่จะมีความรู้ทั้ง 2 ด้านพร้อมกันแบบนี้ โดยหมอกระต่ายมีประสบการณ์ฝึกงานที่ศูนย์วิจัยชื่อดัง “ฟรานซิส ไอ พรอคเตอร์” ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะตัดสินใจกลับมาไทย เพื่อรับราชการเป็นจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลตำรวจ โดยตั้งใจจะใช้ความสามารถเฉพาะทาง ในการช่วยเหลือคนไข้ แต่สุดท้ายเธอก็ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าแบบนี้ด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้น

ศูนย์วิจัย ฟรานซิส ไอ พรอคเตอร์ เมื่อทราบข่าวได้ลงบทความไว้อาลัยว่า “ดร.วราลัคน์ หรือ KT เธอเป็นแสงส่องสว่างในวันที่เต็มไปด้วยหมอกทึบ เธอเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และส่งประกายของความสุขให้พวกเราทุกคน เธอจะถูกจดจำตลอดไป”

พ.ญ.อรวีณัฏฐ์ นิมิตรวงศ์สกุล เจ้าของเพจ รู้เรื่องตา-ตาปลอม กล่าวว่า “อุบัติเหตุในครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายกับวงการจักษุ และเป็นที่น่าเสียดายต่อคนไข้ที่ขาดหมอที่เก่งและดีมากๆ ไปอีกคน ขอให้มีกระแบวนการแก้ไข อย่าให้มีการบาดเจ็บ เสียหาย เสียชีวิตเกิดขึ้นกับใครอีกเลย”

ความจริงแล้วเรื่องราวลักษณะนี้ ไม่ควรเกิดกับคนอาชีพไหนทั้งนั้น เพียงแต่การยกตัวอย่างเส้นทางชีวิตของหมอกระต่ายขึ้นมา เพื่อทำให้สังคมตระหนักว่า การขับขี่โดยไม่เคารพกฎจราจร อาจทำลายชีวิตของใครสักคนที่พยายามทุ่มเทมาทั้งชีวิตได้อย่างง่ายดายจริงๆ

5 – ตำรวจและศาลจำเป็นมาก ที่ต้องแสดงความโปร่งใสในคดี

สิ่งที่สังคมจับตามองอยู่ คือตำรวจจะปกป้องผู้ก่อเหตุ ในฐานะที่เป็นตำรวจด้วยกันหรือไม่ กลิ่นไม่ดีของคดีเริ่มตั้งแต่ หมอกระต่ายโดนชนใหม่ๆ ฝั่งตำรวจเก็บเอกสาร สัมภาระของผู้ตายทั้งหมดไปที่โรงพัก โดยไม่ได้แจ้งให้ญาติรับรู้ คือต้องให้โรงพยาบาลตามหากันเอง ถึงจะรู้ว่าหมอโดนชนเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้มีข้อครหาตั้งแต่แรกแล้วว่า ตำรวจต้องการอำพรางข้อมูลใดๆ หรือไม่ เพื่อช่วยเหลือตำรวจคนก่อเหตุ

นอกจากนั้น สน.พญาไท แจ้งข้อหา ส.ต.ต.นรวิชญ์ แต่สุดท้ายก็ไม่จับขังคุก โดยให้ออกไปสู้คดีโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน พร้อมนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 9 มีนาคม สร้างความเคลือบแคลงใจให้สังคมอีก ว่าทำไมบางคดีที่ความรุนแรงน้อยกว่านี้ ตัวอย่างเช่น คดีแม่ค้าขายไข่ไก่เกินราคา ต้องใช้เงินประกันตัวถึง 1 แสนบาท ซึ่งแม่ค้าก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่กับคดีฆ่าคนตายแท้ๆ กลับปล่อยไปอย่างง่ายๆ

นี่คือคดีสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของตำรวจก็แย่มากอยู่แล้ว ถ้าหากคดีนี้จบแบบมวยล้มต้มคนดูล่ะก็ ศรัทธาที่เหลืออยู่น้อยนิด อาจจะไม่เหลืออีกเลยก็ได้

6 – อย่าปล่อยให้ Beauty Privilege ครอบงำ

หนึ่งในประเด็น ที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์คือ มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อย ที่ปกป้องตำรวจผู้ก่อเหตุ โดยให้เหตุผลว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ หน้าตาดี ผิวขาว โดยคอมเมนต์หนึ่งโพสต์ว่า “หล่ออะ ให้อภัยละกันเนอะ” ส่วนอีกคอมเมนต์ระบุว่า “หล่ออ่ะ ไม่น่าต้องมาเดือดร้อนเลย อีหมอเดินไม่ดูทางเองแท้ๆ”

นี่เป็นมุมที่น่าสนใจ เพราะการตัดสินจากเรื่องบุคลิกหน้าตา อาจทำให้พลิกจากเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกได้เลย เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ในอดีตมีฆาตกรต่อเนื่องที่สหรัฐฯ ชื่อเท็ด บันดี้ ฆ่าคนไปมากกว่า 30 ศพ แต่ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา จนทำให้ผู้หญิงสหรัฐฯ ถึงกับตั้งคำถามเลยว่า ตำรวจจับผิดคนหรือเปล่า คนหน้าตาดีแบบนี้ ไม่น่าก่อเหตุร้ายได้นะ

Beauty Privilege แปลว่า คนที่หน้าตาหล่อสวยมักจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งรวมไปถึงการถูกปกป้องจากการกระทำความผิดด้วย และกับคดีนี้คนที่ปกป้องผู้ก่อเหตุด้วยเหตุผลเรื่องหน้าตา อาจจำเป็นต้องทบทวนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

7 – รัฐต้องสร้างกลไกเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุ

3 ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แสดงทรรศนะในทิศทางเดียวกันจากเหตุการณ์นี้ว่า การสูญเสียต้องไม่เกิดขึ้นอีก โดยภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมา เพื่อทำให้คนเดินถนนปลอดภัยมากกว่านี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า การแก้ไขด้านกายภาพของทางข้ามถนนเป็นสิ่งสำคัญ เช่นทาสีแถบทางข้ามให้ชัดเจน และให้มีไซส์ใหญ่มากขึ้น เพื่อให้คนขับขี่รถสามารถเห็นได้ และสามารถชะลอรถได้ในระยะไกล โดยจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ต้องเร่งติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ระบุว่ากรุงเทพต้องนำระบบ ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตบอล ปีละสองครั้ง โดยคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในชุมชน ที่ใช้เส้นทางจุดนั้นบ่อยๆ ว่าต้องปรับปรุงตรงไหน แก้ไขอย่างไร

เช่นเดียวกับ วิโรจน์ ลักขณะอดิศร ได้ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุ แล้วกล่าวว่า ต้องมีเส้นชะลอความเร็ว ต้องมีไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ รวมถึงกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องวงจรปิด

ผู้สมัครทั้ง 3 คน มองในทิศทางคล้ายกัน คือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อย่างกรุงเทพมหานคร ต้องทำอะไรสักอย่าง สร้างมาตรการความปลอดภัยขึ้นมา ไม่ใช่ปล่อยให้คนข้ามถนนต้องไปวัดดวงตามยถากรรมแบบนี้

8 – ศึกษาแนวทางจากต่างประเทศ

ที่ต่างประเทศ แทบทุกชาติจะยึดหลักการคือ Pedestrian First คนข้ามถนนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสำคัญที่สุด มากกว่าผู้ขับขี่ยานยนต์ และบทลงโทษของผู้ที่ไม่ยอมจอดที่ทางม้าลาย ก็จะมีการลงโทษที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก

ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่สหรัฐอเมริกา ใครก็ตามที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน จะโดนหัก 2 แต้ม โดนปรับเงิน 200 ดอลลาร์และเสียค่าขึ้นศาลเอง พร้อมกับต้องรับใช้ชุมชนอีก 15 วัน ซึ่งหากเทียบกับที่ไทย กฎหมายไม่มีความจริงจัง และไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง

ขณะที่เยอรมัน มีการตั้งสมาคมผู้ใช้ทางเท้า (FUSS) รวมถึงมีการกระตุ้นให้ออกกฎหมาย Pedestrian Law เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในเมือง เช่น การปล่อยไฟเขียวให้ยาวขึ้นสำหรับคนข้ามถนน, การสร้าง Safer School Route ถ้าเป็นถนนที่ใกล้กับโรงเรียนจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว รวมถึงเวลาอาคารใดๆ ก่อสร้าง ต้องทำทางให้ประชาชนเดินด้วย ไม่ใช่ให้ต้องไปเดินลงบนถนนตามยถากรรม

ทุกประเทศเคยมีบทเรียนจากการขับรถชนคนเดินถนนทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้ปล่อยเลยตามเลย มีความพยายามเปลี่ยนแปลง ในเชิงโครงสร้างให้ประเทศมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม

อย่าปล่อยให้ชีวิตที่เสียไปสูญเปล่า

นี่เป็นคดีสำคัญที่มีอิมแพ็กต์อย่างมากต่อสังคม เพราะสิ่งที่เกิดกับหมอกระต่าย อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ การข้ามทางม้าลายแล้วโดนชน หรือเดินอยู่บนทางเท้าแล้วโดนเฉี่ยว เกิดขึ้นที่ไทย ราวกับเป็นเรื่องปกติ และราวกับเป็นความผิดของคนเดินถนนว่าไม่ระวังเอง

เคสของหมอกระต่าย ควรจะไม่มีอีกแล้ว และเราจะคาดหวังให้กรุงเทพฯ เป็นตามสโลแกน “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ได้อย่างไร เมื่อยังเกิดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นอยู่แบบนี้

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า