Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ท่ามกลางกระแสเปรียบเทียบละครไทยและซีรีส์ต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา Forcasting Love and Weather พยากรณ์วันนี้ มีรักบางแห่ง ซีรีส์เกาหลีที่ออกอากาศทาง Netflix ดูจะโดดเด่นขึ้นมาในบรรดาซีรีส์มากมายที่เริ่มออกอากาศในเดือนนี้ ด้วยความแปลกใหม่ของฉากหลังที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในกรมอุตุนิยมวิทยาและตัวเอกเป็นนักพยากรณ์อากาศ

Forecasting Love and Weather เป็นเรื่องราวของ จินฮาคยอง (รับบทโดย พัคมินยอง) หญิงเก่งผู้ยึดติดกับกฏเกณฑ์ ที่โดน ฮันกีจุน (รับบทโดย ยุนพัค) แฟนที่คบกันมาสิบปี ทำงานที่เดียวกันและวางแผนจะแต่งงานกันนอกใจ การที่ทั้งสองเลิกกันแต่ทำงานร่วมกันอยู่ก็เป็นที่จับตาจากคนทั้งกรมจนทำให้เธอตั้งใจว่าจะไม่คบใครในที่ทำงานอีก แต่เพราะความรักคาดเดายากยิ่งกว่าสภาพอากาศ เธอดันไปตกหลุมรักกับ อีชีอู (รับบทโดย ซงคัง) นักพยากรณ์อากาศหนุ่มคนใหม่ในทีมของเธอเอง ทำให้พวกเขาต้องคบกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามีคนจับได้ ความสัมพันธ์นี้ต้องจบลงทันที!

อาชีพที่แปลกใหม่ผสมกับเรื่องราวที่เราคุ้นเคยดีอย่างรักต่างวัยและการแอบคบกันในที่ทำงาน บวกกับเสน่ห์ของพัคมิยองและซงคัง ทำให้ Forcasting Love and Weather เป็นซีรีส์ที่ลงตัวในหลายมิติ และสิ่งที่โดดเด่นที่สุด คือความละเอียดของการทำงานที่ นักเขียน ‘ซอนยอง’ ใช้เวลาเขียนมาเกือบ 3 ปี และเธอได้ไปนั่งทำงานอยู่กับนักพยากรณ์อากาศตัวจริงเพื่อจดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ถึงสองเดือน

บทสัมภาษณ์ของ ‘โนซังอุน’ โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยาที่ทำงานกับร่วมผู้เขียนบท บอกว่าเขาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพราะนี่คือครั้งแรกที่ที่ทำงานของเขาจะออกสู่สายตาสาธารณะชน เขาตั้งใจเก็บทุกรายละเอียด ให้ภาพที่จะถูกฉายบนหน้าจอและเอกสารที่ถูกใช้ในเรื่องเข้ากับสถานการณ์ และบางครั้งเขาถึงกับค้นข้อมูลย้อนหลังไปไกลถึง 20-30 ปี เพื่อใช้เอกสารที่ถูกต้องที่สุด นอกจากนี้พวกเขายังไม่ลืมใส่พนักงานตัวเล็กตัวน้อย อย่าง พนักงานที่คอยมอนิเตอร์ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ จานดาวเทียม เรดาร์ ฯลฯ เพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวสมบูรณ์ที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ชวนให้ตื่นเต้นมาตั้งแต่ดูตัวอย่างซีรีส์คือการที่เรื่องจั่วหัวไว้ว่า ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ ‘มีปัจจัยที่ยากต่อการพยากรณ์อากาศมากที่สุด’ แต่เราจะมาดูว่าจริงหรือไม่ หรือซีรีส์จะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กรมอุตุนิยมวิยาหลังจากที่เสียชื่อไปกับการพยากรณ์อากาศผิดพลาดบ่อยครั้งในช่วงก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปในปี 2020 มีรายงานจาก The Argus ถึง กระแส ‘Weather Wanderer’ ชื่อเรียกประชาชนที่เชื่อถือข้อมูลจากบริษัทพยากรณ์อากาศต่างชาติที่พยากรณ์อากาศได้แม่นยำ มากกว่าข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการพยากรณ์อากาศผิดพลาดอย่างร้ายแรงในปีนั้น บทความจาก Korea Times ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่าประชาชนขาดความเชื่อถือในกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในบทความเล่าถึงเหตุการณ์ไว้ว่า

  • ในเดือนพฤษภาคมมีการพยากรณ์ออกมาว่าจะมีฝนตกปริมาณคล้ายกับปีก่อนหน้านี้ และมีคลื่นความร้อนมาช่วงเดือนกรกฏาและต้นตุลาคม
  • แต่กลายเป็นว่าฝนตกหนักมากและเป็นฤดูฝนที่ยาวนานถึง 54 วันในตอนกลางของประเทศเป็นฤดูฝนที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2013
  • บางพื้นที่มีน้ำท่วม ดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหายมากมาย
  • นอกจากนี้ยังพยากรณ์ปริมาณฝนผิดพลาด บางที่บอกว่าจะตกหนักฝนกลับตกแค่ปรอย ๆ

ทั้งสองบทความกล่าวตรงกันว่าความแม่นยำของการพยากรณ์ลดลงตั้งแต่กรมอุตุฯ หันมาใช้ระบบ Korean Integrated Model (KIM) โมเดลพยากรณ์อากาศที่พัฒนาขึ้นในประเทศด้วยงบกว่า 8 หมื่นล้านวอน The Argus เผยว่า KIM ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนการใช้โมเดลพยากรณ์อากาศจากต่างประเทศ เช่น UM โมเดลจากอังกฤษที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2010 โดยกล่าวว่าระบบนี้จะลดค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมการใช้โมเดลจากต่างประเทศ สะท้อนลักษณะสภาพอากาศของประเทศของได้ดีกว่า และเพิ่มความสะดวกในการอัปเดตโมเดล

KIM เริ่มทดลองใช้ในปี 2019 ก่อนจะมาใช้จริงในปี 2020 ร่วมกับ UM ซึ่งเปอร์เซนต์ความแม่นยำของปี 2020 ก็ลดจากปีก่อน ๆ นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ถูกอัพเกรดอยู่เรื่อย ๆ ใช้งบไปเฉลี่ยสี่หมื่นล้านวอนทุกห้าปีตั้งแต่ปี 2000 ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงและการลงทุนในอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีมูลค่ามากมายอีก แต่เมื่อมีการพยากรณ์ผิดพลาดมากขนาดนี้เทียบกับงบก็ไม่แปลกที่ประชาชนจะโกรธแค้นและข้องใจกับการทำงานของกรม

อย่างไรก็ตามเมื่อประมวลข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งการที่เกาหลีใต้เป็นประเทศซึ่งพยากรณ์อากาศได้ยากก็เหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง

แองเจลล่า ซาลูชา อาจารย์สอนดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา ที่จบปริญญาเอกด้านบรรยากาศศาสตร์ และมีความเชี่ยวชาญด้ายอุตุนิยมวิทยาและวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเป็นพิเศษ เคยให้คำตอบกับคำถามไว้ใน Quora.com ว่าที่ ๆ ยากต่อการพยากรณ์อากาศที่สุดคือ ที่ ๆ ไม่มีสถานีตรวจอากาศและไม่สามารถปล่อยบอลลูนตรวจอากาศได้ เพราะถึงแม้จะมีดาวเทียมช่วยตรวจสอบ แต่ข้อมูลก็จะไม่แม่นยำเท่าข้อมูลจากภาคพื้นดิน เพราะสภาพอากาศในขณะนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการพยากรณ์ แต่ถึงเราจะสมมุติว่าเราเอาอุปกรณ์ไปติดตั้งที่ไหนก็ได้บนโลก พื้นที่ท่ีจะพยากรณ์อากาศได้ยากที่สุดคือที่ ๆ อากาศเปลี่ยนแปลงเร็วในช่วงเวลาและในระยะทางสั้น ๆ เช่น

  • ภูเขาซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติที่กีดขวางการไหลเวียน
  • เส้นแบ่งเขตระหว่างน้ำและแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่การกักเก็บความร้อนบนพื้นผิวสามารถแปรผันได้อย่างรวดเร็วและกระทันหัน
  • ประเทศในโซนละติจูดกลางที่ภูมิอากาศจะขึ้นอยู่กับค่าความกดอากาศที่สูงและต่ำ โดยจะมีการแปรผันของอุณหภูมิ ทิศทางลม และ การตกของฝน

เกาหลีใต้โดนทุกข้อด้วยภูมิประเทศที่มีภูเขาถึง 70% ล้อมรอบด้วยทะเลถึงสามด้าน และคาบสมุทรเกาหลีก็อยู่ในโซนแลตติจูดกลางที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างอากาศเย็นในบริเวณขั้วโลกกับอากาศร้อนในเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศเปลี่ยนง่าย นอกจากนี้แองเจลล่า ซาลูชา ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในอีกกระทู้ ว่าทำไมในหลายครั้งแม้จะมีระบบที่ดี อากาศก็ยังคาดเดาได้ยากเพราะ

  • คอมพิวเตอร์จำลองโมเดลพยากรณ์อากาศโดยคิดเป็นตาราง และแต่ละจุดของตารางห่างกันประมาณ 18-80 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ บางที่ก็มากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ทำให้พื้นที่ระหว่างสองจุดสามารถมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาแทรกแซง โดยที่คอมพิวเตอร์อาจจะคำนวนไม่ได้
  • ถ้ามีภูเขาเล็ก ๆ อยู่ระหว่าสองจุด จะยิ่งทำให้พยากรณ์ยาก เนื่องจากภูเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ เพราะมันบังคับให้อากาศลอยขึ้นและจมหรือไหลผ่านหุบเขา นอกจากนี้มันยังทำหน้าที่เป็นตัวกั้นฝน ทำให้สภาพอากาศที่ตีนเขากับพื้นที่ใกล้เคียงอาจต่างกันราวฟ้ากับเหว

เว็ปไซต์ Let’s Talk Science ก็ยังระบุอีกด้วยว่าโมเดลเป็นแค่ภาพจำลองแลการคาดคะเนความเป็นจริงโดยที่ได้ไม่ได้คำนวนปัจจัยตัวแปรทั้งหมดที่อาจส่งผลต่อสภาพอากาศ

ในบทความจาก Korea Times ระบุว่าเจ้าหน้าที่จากกรมอุตุนิยมวิทยาเกาหลีกล่าวว่า ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ระบบคาดเดาสภาพอากาศได้ยากขึ้น เทคโนโลยีในปัจจุบันยังพัฒนาได้ไม่ทันสภาพอากาศที่แปรผันอย่างรวดเร็ว และยังมีปัจจัยทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งส่งผลเกิดการพยากรณ์ผิดพลาดอีก อย่างเช่นเหตุการณ์ฝนตกมากเกินปรกติในปี 2020 ที่กล่าวถึงเมื่อข้างต้นก็มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ขั้วโลกเหนือ ฉะนั้นภาวะโลกร้อนจึงดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่พยากรณ์ได้ยากขึ้นทุกวัน

แต่ดูเหมือนเกาหลีใต้จะไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาแบบนี้ จากบทความล่าสุดจาก Washington Post ในปีนี้ ยืนยันว่ามีงานวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวณง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น และพยากรณ์ได้ยากขึ้น ทำให้เหลือเวลาน้อยลงที่จะหาแผนการตั้งรับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะตามมา ดังนั้น นอกจากการพึ่งพาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์แล้ว นักพยากรณ์อากาศทั่วโลกอาจจะต้องรีบอัพสกิลการพยากรณ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเหมือนอีชีอูพระเอกของเราแล้ว

Forecasting Love and Weather จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการใช้ soft power เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงของสภาพอากาศที่พยากรณ์ได้ยากขึ้นทุกวัน และความสำคัญของข่าวพยากรณ์อากาศ ที่ก่อนหน้านี้ใครหลายคนอาจจะดูไว้ เพื่อที่จะรู้ว่าวันนี้ต้องพกร่มออกจากบ้านไหม ต้องล้างรถหรือเปล่าวันนี้ แต่ Forecasting Love and Weather ได้ทำให้เห็นแล้วว่าการพยากรณ์อากาศสำคัญแค่ไหน สำหรับชีวิต ความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สิน ธุรกิจ ไปจนถึงงบประมาณก้อนใหญ่ของชาติ โดยผูกร้อยข้อมูลที่เหมือนจะเข้าใจยากเหล่านี้ไปกับเรื่องราวความรักอย่างแนบเนียน

อ้างอิง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า