Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

14 พฤษจิกายน 2001 เป็นวันแรกที่ ‘Harry Potter and the Philosopher’s Stone’ หรือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ศิลาอาถรรพ์’ ภาคแรกในภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกฉาย สี่ปีหลังจากที่หนังสือภาคแรกตีพิมพ์ออกมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้วรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังอยู่แล้วนั้น กลายเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้

ภาพจาก: HBO GO

นอกจากความสนุกของเรื่องราวและเสน่ห์ความอัศจรรย์ของโลกเวทย์มนต์ อย่างหนึ่งที่เสกให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชมนับล้านทั่วโลกคือตัวละครที่น่ารักและมีความหลากหลาย ทำให้ผู้ชมหลายคนที่ดูสามารถเชื่อมโยงกับตัวละครได้ ข้อสำคัญคือการทำให้โลกเวทย์มนต์ดูเหมือนซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ เพียงข้างประตู

แต่แน่นอนคนที่อินได้มากกว่าใครย่อมเป็นชาว British เพราะเหตุการณ์ส่วนใหญ่ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ล้วนเกิดขึ้นที่สหราชอาณาจักร และได้รับแรงบันดาลใจอย่างลึกจากที่นั่นสมกับที่ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้ประพันธ์ชาวอังกฤษ ผู้ชมส่วนใหญ่อาจจะรู้อยู่แล้วว่าสถานที่ในเรื่องหลายแห่งอย่าง สถานี King’s Cross มีอยู่จริง แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า หลายๆ อย่าง เช่น โรงเรียนระบบแบบฮอกวอตส์ รถเมล์อัศวินราตรี ไปจนถึงตัวละครบางตัว มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

ตัวละครแรกที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์แน่ๆ คือ นิโคลัส แฟลมเมล ที่เป็นเจ้าของศิลาอาถรรพ์ในภาคหนึ่ง เขาคือนักเล่นแร่แปรธาตุที่มีชีวิตอยู่ในปารีสช่วงศตวรรษที่ 15 และเชื่อว่าเขาค้นพบศิลาอาถรรพ์  ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นสารสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลหะทั่วไปให้กลายเป็นเงินหรือทองได้

ตัวละครเอกอื่นๆ ในเรื่องต่างได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลจริงในชีวิตของ เจ.เค.โรว์ลิง บทความจากเว็บไซต์ Grunge.com ที่รวบรวมข้อมูลและลิงค์จากบทสัมภาษณ์ของ เจ.เค.โรว์ลิง ซึ่งเผยที่มาของแต่ละตัวละคร  ในแฮร์รี่ พอตเตอร์

ภาพจาก: HBO GO

  • แฮร์รี่ พอตเตอร์

ในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian  เมื่อปี 1999 และบทความใน หนังสือพิมพ์ Telegraph เมื่อปี 2000 เจ.เค.โรว์ลิง เปิดเผยว่าแรงบันดาลใจเบื้อหลังตัวละครเอกของเธอมาจากเพื่อนบ้านในวัยเด็กชื่อ เอียน พอตเตอร์ ที่เป็นเด็กช่างแกล้ง ที่ ‘เป็นแรงบันดาลใจที่สมบูรณ์แบบสำหรับตัวละครพ่อมด’ ในบทความยังมีการเผยอีกว่าพวกเขาชอบเล่นแต่งตัวเป็นพ่อมดกัน และเธอก็กล่าวว่าเธอชอบนามสกุลนี้มาโดยตลอด และเช่นเดียวกับตัวละครอีกหลายตัว แฮร์รี่อาจจะมีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากตัวโรว์ลิงเองด้วยเพราะเธอเขียนให้ทั้งสองเกิดวันเดียวกัน

  • เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์

แต่ตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวโรว์ลิงเองจริง ๆ คือเฮอร์ไมโอนี่ ในบทสัมภาษณ์จาก นิตยสาร School Library Journal  เธอเผยว่าตัวละครนี้อ้างอิงมาจากตัวเธอเองในวัยเด็กอย่างหลวม ๆ และเฮอร์ไมโอนี่เป็นเหมือนภาพล้อเลียนของเธอตอนอายุ 11 ปี สิ่งนี้อาจจะทำให้มีเด็กผู้หญิงหลายคนรู้สึกเหมือนเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในตัวเฮอร์ไมโอนี่เช่นกัน เพราะตัวละครนี้ ก็เป็นเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไปที่กลบความไม่มั่นใจของตัวเองในวัยรุ่นด้วยการได้คะแนนท็อป

  • รอน วีสลีย์

บทความจาก Wales Online ในปี 2004  กล่าวว่าที่แรงบันดาลใจเบื้องหลังตัวละคร รอน เพื่อนรักของแฮร์รี่คือเพื่อนรักของโรว์ลิงสมัยมัธยมที่มีชื่อว่า ฌอณ แฮร์ริส ที่พาเธอผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาหลายต่อหลายครั้งในสมัยเรียน ทั้งสองสนิทกันเพราะฌอณมีรถที่จะพาเธอไปไหนต่อไหนได้และรถของเขาคือรถ Ford Anglia สีขาวฟ้า ที่ช่วยพาเธอหนีความเบื่อหน่าย เหมือนกับที่รอนขับมาช่วยแฮร์รี่ในภาค 2 นั่นเอง

ภาพจาก: HBO GO

  • เซเวอรัส สเนป

ตัวละครที่น่าจดจำที่สุดตัวหนึ่งคงหนีไม่พ้นศาสตรจารย์เสนปกับผมตรงแสกกลาง ซึ่งดูเหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจจากครูวิชาเคมีของโรว์ลิง อย่างครู จอห์น เนตเทิลชิป ที่ทำผมแบบเดียวกันในตอนที่เขาสอนอยู่ที่โรงเรียน และขึ้นชื่อเรื่องความดุ หลังจากหงุดหงิดนิดหน่อยอยู่สองสามปีเขาก็เริ่มภูมิใจกับตัวละครนี้เมื่อ อลัน ริคแมน นักแสดงชื่อดังมารับบทสเนป

  • โดโลเรส อัมบริดจ์

ในเว็บไซต์ pottermore  โรว์ลิงได้บันทึกไว้ว่าลุคของอัมบริดจ์ ศาสตราจารย์ทาสแมวที่มีเอกลักษณ์เป็นชุดสีชมพูแสนหวาน มีที่มาจากครูหรือวิทยากรที่เธอไม่ชอบตั้งแต่แรกเห็น สิ่งที่ติดในใจโรว์ลิงคือเครื่องประดับหวานแหววที่เธอใส่ เช่นโบว์ติดผมสีเลมอนบนผมหยิกสั้นสีน้ำตาล ใส่ชุดที่มีจีบระบาย และใช้กระเป๋าถือใบเล็กจิ๋ว เป็นลุคที่ดูหวานใสไร้เดียงสาแต่กลับให้ความรู้สึกตรงกันข้าม อย่างไรก็ตามโรว์ลิงยืนยันว่าอัมบริดจ์คือตัวละครสมมุติที่ถูกทำจนเกินจริงไปไกล และครูคนนั้นไม่ได้ใจร้ายและน่าชังเหมือนอัมบริดจ์ในเรื่อง

  • ผู้คุมวิญญาณ

เพราะตัวละครในเรื่องไม่ได้มีแค่คน แต่มีสัตว์และสิ่งเหนือจริงอีกมากมาย ความรู้สึกของโรว์ลิงจึงเป็นหนึ่งในเรื่องจริงที่ทำให้เกิดตัวละครขึ้นมาเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือตัวละครผู้คุมวิญญาณที่เกิดขึ้นมาจากโรคซึมเศร้าที่โรว์ลิงต้องเผชิญ

ภาพจาก: HBO GO

นอกเหนือจากตัวละคร ยังมีสถานที่ที่สำคัญเหมือนเป็นตัวละครเอกของเรื่องอย่างฮอกวอตส์ที่มีที่มีอยู่จริง แต่ไม่ได้มีอยู่จริงเป็นสถานที่จำเพาะ เนื่องจาก เจ.เค. โรว์ลิง ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องที่หลายสถานที่ ที่อ้างว่าเป็นแรงบันดาลใจของฮอกวอตส์ และยืนยันว่า ‘การทัวร์ที่มาแรงบันดาลใจของแฮร์รี่ของจริง คงจะมีแค่ป้ายไกด์ที่ชี้มาที่หัวของฉัน’ และเธอแค่เขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขึ้นมาในสถานที่ ๆ มีกาแฟถูก ๆ หรือที่พักที่เธอพอจ่ายค่าเช่าได้ในตอนนั้นเท่านั้น  แต่ถ้าเราดูรูปหลักสูตรการเรียนของฮอกวอตส์และชีวิตของนักเรียนในนั้น เราอาจได้คำตอบว่าที่มาของฮอกวอตส์นั้นมาจากไหน

แน่นอนว่าโรงเรียนสอนเวทย์มนต์แบบฮอกวอตส์ไม่มีอยู่จริง แต่โรงเรียนที่มีการแยกเป็นบ้าน มีวิชาเลือก และการการสอบโหดหินในปีห้าและปีเจ็ดนั้นมีอยู่จริง เพราะฮอกวอตส์แทบจะถอดแบบมาจากโรงเรียน Public School หรือเรียกกันอีกชื่อว่า Indipendent School อย่างเช่นโรงเรียนแบบ Eton, Harrow, Shrewsbury, หรือ Rugby เป็นต้น   ซึ่งโรงเรียนเอกชนระบบอังกฤษแบบอยู่ประจำที่มีประวัติยาวนานเหล่านี้ หลายที่ก็มีโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องอยู่ในไทย แต่ในไทยมีทั้งที่อยู่ประจำและเป็นแบบไปกลับ แต่ก็ยังมีระบบพื้นฐานที่คล้ายกับหลายอย่าง อาทิ

ภาพจาก: HBO GO

  • การเรียนและการสอบ

ในระบบอังกฤษการเรียนมัธยมมีทั้งหมด 7 ปี เหมือนฮอกวอตส์ ยาวนานกว่ามัธยม 6 ปีที่เราคุ้นเคย แต่จะชดเชยด้วยการเรียนปริญญาตรีที่สั้นกว่าโดยปรกติจะเรียนทั้งหมด 3 ปี ยกเว้นบางคณะที่ต้องการเวลามากกว่านั้น

ระบบอังกฤษปล่อยให้นักเรียนเลือกวิชาได้ตามใจชอบและตามความถนัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก้าวขึ้นชั้นปีที่สูงขึ้น เหมือนที่ฮอกวอตส์ที่สองปีแรกนักเรียนจะเรียนวิชาสามัญและท้ายปีที่สองนักเรียนจะได้เลือกวิชาเลือกเพิ่มเติมอย่างน้อยสอง-สามวิชา  หรือหลายคนอาจจะเรียนเยอะเหมือนกับเฮอร์ไมโอนี่ที่เรียนทุกวิชาจนต้องมีเครื่องย้อนเวลาก็ได้

วิชาสามัญและวิชาที่เลือกไว้จะเป็นวิชาที่ต้องใช้สอบวิชาพ่อมดแม่มดระดับสามัญ หรือ Ordinary Wizarding Level (O.W.L.) ก็คล้าย กับการสอบ O-level หรือ  GCE Ordinary Level  ที่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วย General Certificate of Secondary Education (GCSE)   หรือ ส่วนเด็กอินเตอร์จะสอบ IGCSE ที่มี I เพิ่มเข้าไปข้างหน้าแทนคำว่า International แต่ก็ยังคงเหเหมือนในฮอกวอตส์ที่นักเรียนจะสอบกันท้ายปีการศึกษาที่ 5 โดยคะแนนเหล่านี้จะส่งผลต่อการเลือกเรียนต่อในปี 6-7

ที่ฮอกวอตส์ในปี 7 เป็นปีสำคัญที่นักเรียนจะได้สอบวัดระดับความรู้พ่อมดเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ (ส.พ.บ.ส.) หรือที่ภาษาอังกฤษต้นฉบับเรียกว่า Nastily Exhausting Wizarding Tests (N.E.W.T.)  ซึ่งถ้าแปลตรงตัวได้ว่า การสอบที่เหนื่อยยากจนน่ารังเกียจ ตรงกับในชีวิตจริงที่นักเรียนต้องสอบ A-Level ที่ย่อมาจาก Advanced Level โดยนักเรียนจะเป็นผู้เลือกวิชาเอง และวิชาเหล่านี้จะกำหนดเส้นทางชีวิตของนักเรียนในการเลือกมหาวิทยาลัย คณะ หรืออาชีพเหมือนกับการที่คะแนนสอบ ส.พ.บ.ส. จะถูกใช้ในการสมัครเข้าทำงานในโลกเวทย์มนต์ เช่นการเป็นมือปราบมารต้องใช้คะแนนสอบ ส.พ.บ.ส. คล้ายกับในชีวิตจริงที่การที่สมัครงานเป็นตำรวจต้องใช้วุฒิ A-Level อย่างน้อยสองตัว

การเข้ามหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรจะใช้คะแนน A-Level จากวิชาที่กำหนดขึ้นอยู่กับแต่ละคณะที่เข้าเรียนเป็นหนึ่งในตัวตันสินหลัก ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงสามารถอินกับตัวละครได้ดี เพราะหลายอุปสรรรคที่ตัวละครต้องฟันฝ่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยผ่านมาแล้วหรือกำลังต้องเผชิญนั่นเอง

ภาพจาก: HBO GO

  • ระบบบ้าน

โรงเรียนระบบอังกฤษมักมีระบบบ้าน ที่นักเรียนจะถูกแบ่งเข้าบ้านเมื่อเข้าเรียน [แต่ไม่ได้เลือกโดยการใช้หมวกคัดสรรหรอกนะคะ] หลายที่นิยมให้พี่และน้องอยู่บ้านเดียวกัน และจะมีการทำกิจกรรมและการแข่งขันระหว่างบ้าน โดยแต่ละบ้านจะมีชื่อที่จะตั้งตามบุคคลสำคัญ ทั้งบุคคลสำคัญของโลก ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง หรือ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน แบบที่ฮอกวอตส์มีชื่อบ้านจากผู้ก่อตั้งสี่คน บางโรงเรียนอาจจะเลือกตั้งตามชนเผ่าหรือยุคสมัยก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนพิจารณา แต่ละบ้านมักมีสีประจำบ้านหนึ่งหรือสองสี และมีตราสัญลักษณ์หรือสัตว์ประจำบ้าน ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน และถ้าในโรงเรียนประจำก็จะเหมือนใน Hogwarts คือนักเรียนหลากหลายชั้นปีจะนอนอยู่ในหอที่แยกตามบ้านของตัวเอง ภายใต้การดูแลของอาจารย์หัวหน้าบ้าน

  • การแข่งขันเพื่อเก็บแต้มเข้าบ้าน

เมื่อมีบ้านแล้วก็จะมีการเก็บคะแนนเข้าบ้าน ส่วนใหญ่แต้มจะเก็บได้จากการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิด แค่ไม่มีควิดิชให้แข่ง หรือการทำกิจกรรม หลายโรงเรียนมีทั้งการประกวด เต้น ดนตรี ทำละครหรือหนังสั้น และอื่นๆ เพื่อเก็บแต้มชิงถ้วย House Cup ตอนจบปีการศึกษา แต่ก็แล้วแต่ระบบโรงเรียนว่าความประพฤติของนักเรียนจะนับเป็นการทำคะแนนด้วยหรือไม่ คิดง่ายๆ ก็เหมือนกับการแข่งกีฬาสียาวๆ ตลอดทั้งปี แต่เราจะอยู่สีเดียวตลอดไปจนจบการศึกษา

  • พรีเฟค

ตำแหน่งนักเรียนที่เหมือนเป็นหัวหน้าคอยช่วยเหลือและจัดระเบียบรุ่นน้องนั้นก็มีอยู่จริง  โดยในหลายโรงเรียนพรีเฟคอาจจะได้รับเข็ม หรือ เน็คไทลายพิเศษเพื่อบอกถึงตำแหน่ง เหมือนกับในเรื่องที่เพอร์ซี่พี่ชายของรอนจะมีเข็มกลัดรูปตัว P อยู่ และรอนก็ได้เข็มกลัดนี้ตอนเขาเป็นพรีเฟคเหมือนกัน

นอกจากระบบการศึกษาแล้วรายละเอียดในเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง และหลายอย่างก็เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้สนุก เช่น ‘รถเมล์อัศวินราตรี’ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Knight Bus เพื่อเล่นคำพ้องเสียงกับ Night Bus หรือรถเมล์กลางคืนที่วิ่งไปทั่วเมือง  หรือทางเข้ากระทรวงเวทย์มนต์ที่ระบุว่ามันจะต้องเป็นตู้โทรศัพท์ที่ถูกทิ้งร้างไม่มีใครใช้ ซึ่งตู้เหล่านี้หาได้ทั่วไปในลอนดอนเพราะเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีใครใช้ตู้โทรศัพท์อยู่แล้ว แต่ยังมีตู้โทรศัพท์ที่ถูกอนุรักษ์ไว้  ทำให้ 20 ปี ผ่านไปทางเข้ากระทรวงก็คงจะไม่หายไปไหน ความน่ารักของการเข้ากระทรวงเวทย์มนต์คือถ้าเอาเลข 62442 มากดแล้วดูตามแป้นที่มีตัวอักษรอยู่ข้างใต้จะพบว่ามันจะออกมาเป็นคำว่า ‘Magic’ ที่แปลว่าเวทย์มนต์นั่นเอง

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมและภาพยนตร์ชุดนี้มีชีวิตชีวา สมจริงจนครองใจผู้ชมได้ตลอดมาแม้เวลาจะผ่านมาถึง 20 ปีแล้ว และเมื่อเราได้ดู อ่าน หรือแม้แต่รำลึกความหลังกับรายการครบรอบ 20 ปีสั้นๆ เพียงแค่ชั่วโมงนิดๆ ทาง HBO GO ก็เหมือนได้หมุนเครื่องย้อนเวลากลับไปรำลึกความสนุกในวัยเด็กที่เราเอาตะเกียบมาหมุนแทนไม้กายสิทธ์แล้วหัดท่องคาถาว่า ‘วิงการ์เดียม เลวิโอซา’ ที่ไม่ใช่ ‘เลวิโอซ่าาา’ ทุกครั้งไป

 

อ้างอิง

  • https://artsandculture.google.com/exhibit/nicolas-flamel-alchemy-and-the-legend-of-the-philosopher%E2%80%99s-stone-science-museum/nwLiqPSro7CIJQ?hl=en
  • https://www.grunge.com/139911/the-real-people-who-inspired-these-harry-potter-characters/
  • https://www.theguardian.com/uk/1999/jul/12/booksforchildrenandteenagers.books
  • https://web.archive.org/web/20070817220334/http://www.accio-quote.org/articles/1999/0999-slj-feldman.htm
  • https://www.walesonline.co.uk/news/wales-news/rowling-reveals-debt-welsh-friend-2432102
  • https://www.walesonline.co.uk/news/wales-news/teacher-who-inspired-professor-snape-1847172
  • https://www.wizardingworld.com/writing-by-jk-rowling/dolores-umbridge
  • https://www.vogue.co.uk/arts-and-lifestyle/article/jk-rowling-harry-potter-inspirations
  • https://www.britannica.com/topic/public-school
  • https://screenrant.com/hogwarts-school-curriculum-by-year/
  • https://www.thesun.co.uk/news/7082219/o-levels-gcse-difference-changes/
  • https://harrypotter.fandom.com/wiki/Nastily_Exhausting_Wizarding_Test
  • https://www.lincs.police.uk/about-us/join-us/police-officers/are-you-eligible-to-become-a-police-officer/
  • https://www.etoncollege.com/college-life/boarding/
  • https://www.britannica.com/topic/prefect-education
  • https://www.wizardingworld.com/writing-by-jk-rowling/the-knight-bus
  • https://www.npr.org/2021/11/10/1054296657/u-k-will-save-its-red-phone-kiosks

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า