Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทำความรู้จัก ‘Heat Dome’ ภาวะโดมความร้อนปกคลุม ต้นเหตุที่ทำให้หลายเมืองในอเมริกาตอนนี้ เผชิญอุณหภูมิสูงจัดทุบสถิติ จนต้องสั่งเจ้าหน้าที่เตรียมการรับมือหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

กรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า หลายพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ อาจต้องเจอกับอากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งแตะหลักร้อยองศาฟาเรนไฮต์ ถือเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ ที่ไม่พบได้บ่อยๆ 

โดยเฉพาะที่เมืองปาล์มสปริงส์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย คาดว่าวันนี้ (7 มิ.ย.) อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 121 องศาฟาเรนไฮต์ (49.5 องศาเซลเซียส) เมืองฟีนิกซ์ ในรัฐแอริโซนา คาดว่าอาจมีอุณหภูมิแตะ 114 องศาฟาเรนไฮต์ (45.5 องศาเซลเซียส) รวมถึงที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา และเมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีการพยากรณ์ว่า อุณหภูมิอาจสูงแตะ 111 องศาฟาเรนไฮต์ (43.8 องศาเซลเซียส) 

ทำให้หลายเมืองในสหรัฐฯ ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ เตรียมความพร้อมในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างที่เมืองฟีนิกซ์ ของรัฐแอริโซนา ทางการได้สั่งให้ติดตั้งถุงลดอุณหภูมิไว้ในรถดับเพลิงทุกคัน และเปิดให้บริการสถานีคลายความร้อน หรือ Cooling Stations 2 แห่ง ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการ

กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายว่า สาเหตุพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนจัด เป็นผลมาจากภาวะ ‘โดมความร้อน’ หรือ ‘Heat Dome’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มวลอากาศร้อนถูกกักและกดทับอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ พุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 20-30 องศาฟาเรนไฮต์ 

‘Heat Dome’ ภาวะอากาศร้อนที่ต่างจาก ‘Heat Wave’

เชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘คลื่นความร้อน’ หรือ ‘Heat Wave’ แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ก็ต้องบอกว่า ‘Heat Dome’ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘โดมความร้อน’ ก็ไม่ใช่คำใหม่อะไรเลย 

Heat Dome ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปี 2021 เมื่อตอนที่เกิดอากาศร้อนจัด ในพื้นที่ติดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ กินเวลานานถึง 27 วัน คร่าชีวิตประชาชนไปหลายร้อยคน จนทำให้เกิดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จนนำไปสู่ การบัญญัติศัพท์ คำว่า ‘Heat Dome’ เพิ่มเข้าไปในดัชนีสภาวะอากาศของสหรัฐฯ เมื่อเดือน มีนาคม 2022

โดยสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกัน ให้คำนิยามของคำนี้ว่า “มวลอากาศร้อนเป็นพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ความกดอากาศสูงที่อยู่สูงขึ้นไปกดอัดและปิดกั้น ไม่ให้อากาศที่อุ่นกว่าด้านล่างสามารถลอยขึ้นไปข้างบนได้ ทำให้อากาศอุ่นถูกกักไว้ ประหนึ่งถูกชั้นอากาศร้อนที่เป็นโดมครอบไว้อีกที” 

ซึ่งคำนิยามนี้ ได้นำไปสู่คำถามที่ตามมาว่า แล้วโดมความร้อน (Heat Dome) มีความแตกต่างกับ คลื่นความร้อน (Heat Wave) อย่างไร? 

เรื่องนี้ มีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ทำการศึกษาเรื่องโดมความร้อนมาตั้งแต่ปี 2021 ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โดมความร้อน และ คลื่นความร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ ดูเหมือนโดมความร้อน จะมีความท้าทายมากกว่า คลื่นความร้อน ซะอีก

ซึ่งสาเหตุที่โดมความร้อนถูกมองว่ามีความท้าทายมากกว่า เป็นเพราะว่าลักษณะการเกิดโดมความร้อนกับคลื่นความร้อนมีความแตกต่างกัน 

โดยคลื่นความร้อน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นจากการสะสมความร้อนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีลมหยุดนิ่ง ทำให้ความร้อนที่สะสมอยู่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ หรืออีกสาเหตุ ก็เป็เพราะ มีลมพัดเอาความร้อนจากพื้นที่หนึ่ง เข้าไปยังอีกพื้นที่มีอากาศเย็นกว่า จนทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในกรณีที่เป็นคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นจากการสะสมความร้อน เมื่อมีลมก่อตัว หรือลมเย็นจากภายนอกพัดเข้ามา ก็อาจจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลง

แต่สำหรับโดมความร้อน แม้จะเป็นการสะสมความร้อนในลักษณะที่คล้ายกัน แต่ภายในโดมความร้อน ไม่มีโอกาสที่จะมวลอากาศที่เย็นกว่าจะพัดเข้ามา ในขณะที่อากาศร้อนภายในก็ไม่สามารถระบายออกไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะโดมความร้อน ยังมีโอกาสที่จะครอบคลุมพื้นที่เป็นกว้าง และกินระยะเวลานานกว่าคลื่นความร้อน อีกทั้งยังเป็นภาวะที่สอดคล้องกับฤดูกาลที่มีอากาศร้อน และแห้งแล้งมาก ซึ่งหมายความว่า จะยิ่งทำให้ความร้อนทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาวะโดมความร้อนเป็นที่กังวลมากยิ่งขึ้น 

โดย อเล็กซ์ ลาเมอร์ ซึ่งเป็นนักอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายภาพภาวะโดมความร้อนไว้ว่า “ให้นึกถึงเวลาทำชีสย่างในกระทะ แล้วนำฝากระทะมาปิดไว้ด้านบน ชีสจะยิ่งละลายเร็วขึ้น เพราะมีฝากระทะช่วยเก็บความร้อนเอาไว้ นี่ก็เหมือนกันโดมความร้อน จากอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว พอไม่สามารถระบายไปไหนได้ ก็จะยิ่งทำให้ร้อนระอุมากขึ้นไปอีก” 

‘การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ ตัวต้นเหตุโลกร้อนสุดขั้ว

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ทั้งคลื่นความร้อน และโดมความร้อน มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และในเวลานี้สถานการณ์ก็กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ซ้ำร้ายคำเตือนนี้ยังสอดคล้องกับคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์หลายคน ที่ย้ำแล้วย้ำเล่าว่า สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่อาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประการใหญ่ๆ ดังนี้ 

  • ฝนตกหนักขึ้น 

นักวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ชั้นบรรยากาศกักเก็บความชื้นได้มากขึ้นประมาณ 7% นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้น และครอบคลุมพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลง 

ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่มีการบันทึกไว้ว่า ทั่วโลกต้องเผชิญกับฝนตกหนักและรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และสถานการณ์รูปแบบนี้ ก็มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป พร้อมกับภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้น

โดยมีการยกตัวอย่างถึง เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เนื่องจากฝนตกหนัก ในภูมิภาครีโอ กรันดี โด ซูล ของบราซิล เมื่อปี 2023 ซึ่งมีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ เอลิเซว อากิโน ว่า แม้พื้นที่นี้จะอยู่ในภูมิภาคที่เสี่ยงที่จะเกิดฝนตกหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นจุดบรรจบกันของมวลอากาศเขตร้อนและมวลอากาศขั้วโลก แต่สาเหตุที่เหตุการณ์นี้มีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

  • คลื่นความร้อนยาวนาน และรุนแรงขึ้น 

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทั่วโลก ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงเป็นเวลานาน แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ มีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ว่า สถานการณ์แบบนี้จะรุนแรงและยาวนานขึ้น 

โดยนักวิทยาศาสตร์ขององค์กร World Weather Attribution (WWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระด้านสภาพอากาศ ได้ยกตัวอย่าง คลื่นความร้อนที่พาดผ่านสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 จนทำให้อุณหภูมิพุ่งทะลุ 40 องศาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์​ 

ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งทฤษฎี ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อุณหภูมิของโลกกำลังสูงขึ้น ก็คือ การที่สภาพอากาศแถบอาร์กติก อุ่นขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 4 เท่า จนพบทุ่งหญ้าเขียวขจีเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

  • ภัยแล้งยาวนานขึ้น

นอกจากอุณหภูมิจะสูงขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาอีกประการหนึ่งก็คือ จะมีความแห้งแล้งยาวนานขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า สาเหตุก็เป็นเพราะว่า อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ น้ำในดินก็จะระเหยออกมาเร็วขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่การเกษตร 

โดยสถานการณ์ภัยแล้งนี้ ได้ปรากฏให้เห็นมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก แม้ในป่าฝนแอมะซอน ก็ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งรุนแรงสุดในรอบกว่า 50 ปี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ที่ผ่านมา

  • เพิ่มเชื้อเพลิงไฟป่า 

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไม่ได้เกิดขึ้นกับป่าแอมะซอนเพียงที่เดียว ในเขตป่าอื่นๆ ทั่วโลก ก็กำลังเผชิญกับผลพวงอันเลวร้าย ที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ 

แม้เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถฟันธงได้ ว่าไฟป่าที่เกิดตามธรรมชาติจะได้รับผลกระทบโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่เรื่องหนึ่งที่อธิบายได้ ก็คือ อากาศที่ร้อนจัดและยาวนานขึ้น ทำให้ดินและบรรดาต้นไม้พืชพรรณสูญเสียความชื้น ซึ่งก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงขึ้นกว่าในอดีต 

ทั้งหมดนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คงต้องบอกว่า คำเตือนที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำลังทำให้มวลมนุษยชาติต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายลงเรื่อยๆ น่าจะไม่ใช่คำเตือนที่เกินจริงและไกลตัวอีกต่อไปแล้ว 

ที่มา 

https://www.houstonpublicmedia.org/npr/2024/06/06/nx-s1-4992288/a-heat-dome-can-bring-dangerously-high-temperatures-what-is-it

https://www.bbc.com/news/articles/cq55e2de7qgo

https://www.euronews.com/green/2024/06/05/may-breaks-global-temperature-record-for-12th-month-in-a-row-will-la-nina-bring-cooler-wea

https://www.npr.org/2024/06/06/nx-s1-4992288/heat-dome-high-temperatures-western-us

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า