องค์กรเด็กร้อง รมว.ยุติธรรม คุ้มครอง 2 เด็กหญิงเข้าสู่กระบวนการเยียวยา–คุ้มครองพยาน ควบคู่การฟื้นฟูสภาพจิตใจ เสริมพลังให้พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กรณีถูกครูและรุ่นพี่ 7 คนข่มขืน จ.มุกดาหาร
วันนี้(12พ.ค.) เวลา14.00 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พร้อมด้วยนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม กว่า 10 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม นำผู้เสียหายและครอบครัวเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ เสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และได้เข้าถึงการเยียวยาจากกองทุนยุติธรรม กรณีครูและรุ่นพี่ รวม 7คน ข่มขืนนักเรียนหญิงชั้น ม.2 และ ม.4 ทีโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร

บ้านพักครู (แฟ้มภาพ)
ขณะที่ นางทิชา ณ นคร กล่าวว่า จากประสบการณ์การเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในคดีเด็กและเยาวชน เช่น กรณีค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายเป็นเด็กในพื้นที่บ้านน้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงกรณีเด็กหญิงถูกรุมโทรมจากผู้ชายหลายสิบคนนานนับปีในพื้นที่ บ้านเกาะแรด จ.พังงา เมื่อสามปีก่อน ข้อค้นพบที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนในการทำงาน จากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่า ยังมีช่องว่างบางประการ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการยุติธรรม และการคุ้มครองเด็กและเยาวชนผู้เสียหายและครอบครัว เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันอีกที่จังหวัดมุกดาหาร เครือข่ายจึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้
1.ขอสนับสนุนกระทรวงยุติธรรม ให้เร่งรัดกระบวนการนำเด็กนักเรียนผู้เสียหายและครอบครัว เข้าสู่การคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยเร็วที่สุด รวมถึงการเร่งรัดมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมเป็นการด่วน
2.นอกเหนือจากมิติด้านความปลอดภัยในกระบวนการคุ้มครองพยานแล้ว ข้อที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัว ยิ่งกรณีนี้มีการข่มขืนจากครูหลายคนมาอย่างยาวนาน นอกจากการมีและใช้อำนาจของครูในทางฉ้อฉลแล้ว ยังสะท้อนความหวาดกลัวและด้อยในการต่อรองของนักเรียนที่เป็นผู้เสียหายด้วย จำเป็นต้องมีการฟื้นฟู การเสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นคุณค่าของตัวเองและพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3. ขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งาน ในการระดมสมองเพื่อหาทางออกจากเขาวงกตที่ทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับบุคลกรทางการศึกษาและบุคลากรในส่วนราชการ โดยเชิญภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ด้านนี้ มาร่วมหาทางออกอย่างเป็นระบบ
4.ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และครอบครัวผู้เสียหาย ระมัดระวัง ไม่ตอกย้ำหรือกดทับสร้างบาดแผลทางจิตใจซ้ำเติมทั้งทางตรงและทางอ้อม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง