Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากสถานการณ์ยึดอำนาจในเมียนมา เรียกได้ว่าเป็นการ “รัฐประหาร” ขณะที่กองทัพประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีตามอำนาจรัฐธรรมนูญ สถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ทั้งความเป็นไปได้ในการต่ออำนาจของกองทัพเมียน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อเมียนมาถอยห่างจากสหรัฐฯ กลับไปเข้าหาจีน รวมถึงผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ workpointTODAY ชวน ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย ทำให้ประชาคมโลกตกตะลึง เพราะเมียนมาเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมากว่า 50 ปี แต่สุดท้ายแล้วชนชั้นนำทหารก็ตัดสินใจนำประเทศเข้าสู่หนทางประชาธิปไตย กล่าวได้ว่า ‘เมื่อโลกเปลี่ยนพม่าก็ต้องเปลี่ยน’ แต่ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กองทัพสามารถควบคุมได้ จึงออกแบบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กองทัพยังมีบทบาทอยู่หรือที่เรียกว่า ‘ระบอบไฮบริดหรือระบอบลูกผสม’ ที่เผด็จการอยู่ร่วมกับประชาธิปไตย หรือกองทัพอยู่ร่วมกับพลเรือนซี่งเมียนมาอยู่ในระบอบแบบนี้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายอีกครั้ง ทำให้พรรคฝ่ายค้านหมดหวัง ทางเดียวที่จะทำได้คือการกระตุกอำนาจเก่าเพื่อให้กองทัพมีที่ทางทางการเมืองมากขึ้น ก่อนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะครองอำนาจเบ็ดเสร็จ นับจากนี้ไปอีกหนึ่งปีหลังกองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องดูกันว่ารูปร่างของรัฐบาลจะออกมาเป็นแบบใด อาจจะขนาดเล็กลงแต่ตัดสินใจรวดเร็วขึ้นแบบรัฐบาลทหารหรือไม่ อาจจะมีพลเรือนบางกลุ่มเข้าไปเป็นแขนขาในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมไม่ให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ขึ้นมาคะคานทางการเมืองได้อีกต่อไป

ความเป็นไปได้ในการต่ออำนาจของกองทัพเมียนมาและย้อนกลับมองไทย

ตามระเบียบอำนาจรัฐธรรมนูญของเมียนมา สามารถต่ออำนาจได้ราว 2 ครั้งครั้งละ 6 เดือน แต่อีกแง่มุมหนึ่งหากจะย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา ทหารพม่าเวลากระทำการยึดอำนาจจะเข้ามาบริหารชั่วคราว แต่เมื่อครั้งที่นายพลเนวินยึดอำนาจในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) เขาก็อยู่ในอำนาจยาวมาเป็นเวลา 26 ปี แต่ ณ เวลานี้บริบทการเมืองก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน เป็นไปได้ว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้อาจจะใช้เวลาไม่นานมาก แต่ก็ไม่อาจตอบชัดเจนได้ เพราะต้องยอมรับว่าเมียนมา กองทัพและทหารมีบทบาทสูงในทางการเมือง นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2015 ที่ซูจีชนะถล่มทลายจนมาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งซูจีก็ชนะถล่มทลายเช่นกัน ทำให้กระแสประชาธิปไตยในเมียนมาร์มีแนวโน้มความนิยมสูงเกินไป จนกองทัพรู้สึกว่ากำลังถูกท้าทายความมั่นคง เหตุการณ์ยึดอำนาจในครั้งนี้ทำให้เมียนมาถอยหลังกลับจากรัฐที่เป็นระบอบลูกผสมสู่ความเป็นเผด็จการมากขึ้น หากจะเทียบไทยกับเมื่อครั้ง คสช. เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ไทยเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ จนเมื่อเราเกิดการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ทำให้ไทยเข้าสู่การปกครองแบบลูกผสมระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการหรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อเทียบคู่ขนานจะเห็นความแตกต่างระหว่างไทยกับเมียนมา อย่างไรก็ดีในอนาคตประเทศไทยจะเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือจะถอยหลังกลับสู่ความเป็นเผด็จการก็ยังบอกไม่ได้ ต้องจับตาดูกันต่อไป

รัฐประหารในเมียนมาร์ ฝันสลายของการมีประชาธิปไตยในเอเชียอาคเนย์

หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ถือเป็นการปฏิบัติทางการเมืองการทูตของกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว่าปัจจุบันจะมีกระแสเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ การไม่แทรกแซงกิจการภายในก็ยังเป็นหลักการของอาเซียนอยู่ เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อครั้งที่พลเอก ประยุทธ์ ทำรัฐประหาร ทางพม่าก็ไม่ได้มาแทรกแซงอะไรในการเมืองไทย หรือเมื่อครั้งที่นางอองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ไทยก็ไม่เข้าแทรกแซงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของอาเซียน แม้จะรู้ว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยเป็นทิศทางของโลก หลายคนอาจผิดหวังกับการทำรัฐประหารในเมียนมาร์ เป็นฝันสลายของการมีประชาธิปไตยในเอเชียอาคเนย์ แต่บางกลุ่มซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เข้าใจว่าหากบางช่วงเวลาที่ขั้วอำนาจไม่ลงตัวการรัฐประหารก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ออกห่างจากสหรัฐฯ กลับไปซบอกจีน

สหรัฐฯ มีท่าทีชัดเจนหลังการรัฐประหารเมียนมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงขู่ว่าจะกลับมาบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรพม่าอีกครั้ง หลังเหตุกองทัพพม่าบุกจับตัว นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งส่งผลทำให้เมียนมาหันหน้าเข้าซบจีนมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วเพราะจีนกับรัสเซียเป็นประเทศที่อุ้มชูทหารและกองทัพเมียนมามาเนิ่นาน เมื่อครั้งที่เมียนมามีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยทำให้จีนกระอักกระอ่วนไม่พอใจด้วยซ้ำเพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ของเมียนมาหันเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากจีนเน้นเรื่องของการไม่แทรกแซงกิจการภายในแต่เอาเรื่องผลประโยชน์ในภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวตั้ง ก็น่าเชื่อได้ว่าการยึดอำนาจของกลุ่มทหารในครั้งนี้ อาจได้รับแรงสนับสนุนจากจีนหรือรัฐเซียด้วย เพราะผู้นำประเทศเหล่านี้รู้ดีว่าเมียนมามีความได้เปรียบด้านทรัพยากรและที่ตั้ง ซึ่งก็น่าจะมีประโยชน์กับประเทศเหล่านี้ แตกต่างกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือประเทศตะวันตกที่คิดต่างออกไปเพราะจะต่อต้านและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันเมียนมา ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนเข้าสู่กลุ่มอำนาจใหม่ภายใต้การนำของโจ  ไบเดน ที่น่าจับตาคือต้องดูว่านโยบายต่างประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าก็จะส่งผลต่อท่าทีกับเมียนมาด้วย

ผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์

ที่ผ่านมาเมียนมามีความพยายามเจรจาสันติภาพเช่น เมื่อเดือนตุลาคมปีค.ศ. 2015 เมียนมามีข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติ หรือสมัยรัฐบาลของนางซูจีถึงล่าสุดก็มีความพยายามนำเมียนมาไปสู่เส้นทางสหพันธรัฐประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจและมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับสูง โดยเชื่อว่าโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบนี้จะเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีบางกลุ่มอยากแบ่งแยกดินแดน แต่ตอนนี้ทหารกลับมากระตุกอำนาจเก่า เราจึงไม่อาจคะเนได้ว่ากระบวนการสันติภาพหรือโรดแมปของเมียนมาจะเป็นอย่างไรต่อไป เราไม่รู้ว่าทหารหรือกองทัพจะทำให้เมียนมาแตกสลายเหมือนสหภาพโซเวียต ยูโสลาเวียหรือไม่ เขาจะยอมปรับตัวได้มากน้อยอย่างไร ซึ่งน่าเชื่อว่ากองทัพเมียนมาคงจะยื้อเอาไว้เพื่อให้เกิดตัวแบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ผสมรัฐที่มีความเป็นเผด็จการมากขึ้น อย่างน้อยก็ในช่วงประกาศสภาวะฉุกเฉินหนึ่งปีนับจากนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียกร้องทางการเมืองของกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ แต่ก็ไม่แน่เช่นกันว่ากองทัพจะเปิดพื้นที่การเจรจามากน้อยอย่างไรก็ต้องจับตาดูต่อไป

เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการลุกฮือแต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย

ประเด็นการลุกฮือของประชาชนก็มีความเป็นได้ ซึ่งต้องจับตาดูพลังเคลื่อนไหวของประชาชนตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีศูนย์กลางประชากรค่อนข้างแน่นหนา มีนักกิจกรรมทางการเมือง มีเครือข่ายการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่า กองทัพเมียนมามีปราการที่แข็งแกร่งอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ การยึดอำนาจก็ทำที่กรุงเนปิดอว์ นั่นหมายความว่าผังเมืองของเนปิดอว์ถูกออกแบบโดยทหารอยู่แล้วซึ่งการลุกฮือในพื้นที่นี้คงทำไม่ได้ ต่างกับเมืองอื่นๆ ที่อาจเกิดการประท้วง แต่อย่าลืมว่ากองทัพเมียนมาก็ได้ไปจับตัวมุขมนตรี หัวหน้าคณะปกครองตามที่พัก ตามสถานที่ราชการในแต่ละเมืองเรียบร้อยแล้ว กองทัพแพร่อำนาจไปทั่วประเทศทำให้มีความได้เปรียบมาก หากจะมีการลุกฮือคงต้องนำแรงประท้วงมาผนวกกับแรงกดดันจากต่างประเทศซึ่งอาจจะเป็นไปได้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า