Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 ประธาน กกต. แถลงในวันรุ่งขึ้นว่า พรรคก้าวไกล ได้เสียงจากประชาชนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ทว่า เส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล กำลังเจอกับด่าน ส.ว. 250 เสียง ที่ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันให้อำนาจโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกล รวมเสียงพรรคฝ่านค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ได้ 310 เสียง ยังขาดเสียงจากรัฐสภาอีกอย่างน้อย 66 เสียง

เช็กท่าทีจาก ส.ว. ก็ให้ความเห็นกันหลากหลาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ – กลุ่มที่ไม่โหวตให้ พิธา แน่นอน – กลุ่มที่จะโหวตให้ พิธา แน่นอน – และกลุ่มที่จะใช้สิทธิ “งดออกเสียง” . ซึ่งในกลุ่ม “งดออกเสียง” นี้ มี 23 ส.ว. ที่เคยโหวตรับร่างแก้รัฐธรรมนูญไม่เอาอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกตั้งนายกฯ เมื่อปี 2565 รวมอยู่ด้วย ใครมีความเห็น และแสดงจุดยืนอย่างไรบ้าง รวบรวมเป็นตัวอย่าง 12 คน ดังนี้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ให้สัมภาษณ์วันนี้ (16 พ.ค. 66) กล่าวถึงกรณีเสียงเรียกร้องให้ ส.ว. โหวตสนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้ง อันดับ 1 ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ต้องดูการรวบรวมเสียงของพรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียงได้ 310 เสียงจริงหรือไม่ ขณะนี้เป็นแค่การพูดฝ่ายเดียวจากพรรคก้าวไกล แต่พรรคอื่นๆ ยังไม่มีใครแสดงเจตจำนงตอบตกลงร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หลังจากรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ส.ว. ก็จะพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล

ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่าง มาตรา 112 ตนไม่สามารถโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีได้แน่ ไม่ใช่แค่เฉพาะนายพิธา แม้แต่เสนอชื่อคนพรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ามีนโยบายแตะต้องมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้เช่นกัน การจะเข้ามาบริหารประเทศต้องไม่มีเรื่องกระทบความมั่นคง สถาบัน การบอกว่า “แก้ไข” แต่ “ไม่ยกเลิก” เป็นแค่การเล่นคำ เท่าที่ฟังเสียง ส.ว. ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้าน เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอีก ได้เสียงข้างมาก อย่าลุแก่อำนาจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ว. ไม่โหวตให้เสียงข้างมากได้ครบ 376 เสียง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี จะถูกมองเป็นการขัดขวางการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ก็ให้มองกันไป ส.ว. ไม่ได้คิดว่า รวมเสียงแล้วจะได้เท่าไหร่ แต่อยู่ที่จะใช้อำนาจ ทำอะไรให้ประเทศ อย่าคิดว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะเหลิง ลุแก่อำนาจทำอะไรก็ได้ ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสามัคคี เพราะคะแนนที่ได้มา ไม่ใช่คะแนนทั้งประเทศ พรรคก้าวไกลได้คะแนน 14 ล้านเสียง ก็ไม่ใช่ฉันทามติอะไร เพราะพรรคอื่นๆ ก็ได้คะแนนหลักล้าน เป็นเสียงจากประขาชนเช่นกัน

“ถ้าคิดจะสร้างกระแสกดดัน ส.ว. ลงมติให้ตามที่ต้องการ โดยอ้างฉันทามติมาเป็นกระแสกดดัน รับรองว่า ไม่สามารถมากดดัน ส.ว.ได้ เราพร้อมใช้อำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม ถูกต้อง” นายเสรี กล่าว

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ถึงจุดยืนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ขอรอดูการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน ยังไม่ถึงขั้นตอนของ ส.ว. ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ ส.ว.

ส่วนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุจะตั้งรัฐบาล 309 เสียงนั้น ต้องรอให้ถึงเวลาพิจารณาก่อน ขั้นแรก ส.ส ต้องไปรวมให้ได้มากกว่า 250 เสียงก่อน

“เมื่อมาถึงขั้นตอน เลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ส.ว. จะพิจารณาคุณสมบัติ คนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบื้องต้น จะต้องมีคุณสมบัติจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติจุดนี้ ส.ว. จะพิจารณา ส.ว. ทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิจะตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมจะตั้งรัฐบาล ก็ขอให้รอถึงวันนั้น จึงจะพูดได้ พูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไม่เหมาะสม อย่างกรณีนายพิธานั้น กกต. ก็กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่ ต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายปัจจัย” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วน ที่ ส.ว. อาจถูกตำหนิ ถ้าไม่เลือกฝ่ายที่ได้คะแนนจากประชาชนนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวยืนยัน ส.ว. ไม่มีธง แต่เรามองไปไกลว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรเลือกใครมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มีความขัดแย้ง มีการเดินลงเต็มถนนอีกหรือไม่ ต้องมองหลายมิติ ขอให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้ว ส.ว. จะตัดสินใจเพื่อบ้านเพื่อบ้านเมือง

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว TODAY (15 พ.ค. 66) ว่า มุมมองของตนไม่มีเหตุผลอะไรจะปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ที่รวมกันได้กึ่งหนึ่ง พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้พรรคก้าวไกลที่มาเป็นลำดับ 1 ได้ประสานทุกฝ่ายแล้วจริงหรือไม่ ทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ หรือแม้กระทั่ง ส.ว. คุณประสานหรือยัง เพื่อให้สามารถรวมกันได้ 376 เสียง ถ้ารวมกันได้ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

“อย่าคิดว่าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วทุกคนจะต้องไชโยกับเราเสมอไปนะ เพราะฉะนั้นในโลกความเป็นจริงไม่ใช่การปราศรัยบนเวที ทางการเมืองเมื่อชนะต้องประสานทุกพรรคตกลงกันให้ได้” วันชัย สอนศิริ กล่าว

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ส.ว. จะโหวตให้เสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สมมุติอีกฝั่งมี 200 เสียง ส.ว. จะโหวตให้เป็นรัฐบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด เห็นพรรคก้าวไกลบอกว่าประสานทุกพรรคแล้ว ประสานทั้ง ส.ว. ด้วย ถ้ามีฝีมือจริงๆ ประสานให้ได้ 380 เสียง ส.ว. ก็จะไม่ต้องโหวตให้เลย

ส.ว. ไม่มีสิทธิที่จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ซึ่งต้องติดต่อให้ได้สามร้อยกว่าเสียง แล้วเขาตกลงหรือยังว่าเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี ตกลงนโยบายหรือยัง หรือเป็นเพียงตัวเลขที่ประสานกันเท่านั้น ในทางการเมืองไทยไม่เหมือนการคิดตัวเลขโดยเครื่องคิดเลข

“ผมกำลังบอกว่าทางการเมืองจะต้องมีการประสานกัน คุยกัน ส.ว. ก็ต้องมาหารือกัน ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาหรอก ส.ว. ก็เหมือนคนกลุ่มหนึ่งในการปรึกษาหารือ ในหลักการผมไม่ขัดข้อง”

คนได้เสียงมาอันดับหนึ่งขอให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่าคนที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป เพราะว่าเสียงของเขาไม่ใช่เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เขาได้เพียงแค่ 151 ยังไม่ถึง 251 ถ้าสมมติไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องของพรรคลำดับรองต่อๆ ไป ถ้าเกิดพรรครองรวมเสียงกันได้ 280-290 แล้ว เขาก็มีสิทธิเป็นรัฐบาลได้เหมือนกัน

“อย่าคิดว่าก้าวไกลในขณะนี้จะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป เพียงแต่ตอนนี้เขาได้ลำดับจัดตั้งรัฐบาลก่อน อย่าเหมาว่าได้เป็นรัฐบาล” วันชัย สอนศิริ กล่าว

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ถึงจุดยืนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อพรรคเสียงข้างมากรวมกันแล้ว แต่มีการระบุว่า จะให้เสียง ส.ว. ลงคะแนนให้ด้วยนั้น ตนที่เป็น ส.ว. มา4 ปี มองว่า เป็นไปไม่ได้ โดยพรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียง ส.ว. โดยจะไปเอาพรรคภูมิใจไทย มาร่วมก็ได้แล้ว เพื่อ ส.ว. จะได้ ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไปเลย เพราะถ้า ส.ว. มีการงดออกเสียง ก็จะทำให้เสียงไม่ถึง 376 อยู่แล้ว

“ต้องยอมรับว่า ปัจจัยของส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะต้องดูว่า ใครตั้ง ส.ว. ชุดนี้มีที่มาอย่างไร” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวยอมรับส.ว.มีเสียงแบ่งเป็นกลุ่มๆ มีส.ว. อิสระไม่ถึง20 คน เวลาลงมติจริงก็ไม่รู้จะอิสระหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างที่มีข้อเสนอให้ตัดอำนาจ มี 23 ส.ว. เห็นด้วย แต่กลุ่มนี้อาจ งดออกเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และจะเอา 23 คนมาบอกว่าโหวตตามเสียงข้างมากไม่ได้ ดังนั้นเขาต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ไม่เช่นนั่นก็ผ่านไม่ได้ และถ้ารัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปหาพรรคอื่นมารวมให้ได้ 376 เพื่อเลือกครั้งที่ 2 อีกครั้ง ซึ่ง ส.ว. ทุกคนมีอิสระ

“ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่า ฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมาก ได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลก็พร้อมโหวตให้ แต่กับ ส.ว. คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ประธาน ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (16 พ.ค. 66) ถึงการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ตนทำหน้าที่ ประธาน ส.ว. และรองประธานรัฐสภา ซึ่งวาระที่จะมาถึงนี้เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตนก็จะถือหลักปฏิบัติก็ คือ งดออกเสียง เหมือนกับเมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกฯ ในปี 2562 ซึ่งมีการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ครั้งนั้นตนก็งดออกเสียง มันก็เป็นหลักที่ทำมาตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้น มันก็ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ส่วนของ ส.ว. ก็ต้องถือว่า เป็นอิสระ และการที่เขาจะเเสดงความเห็นอย่างไรก็เป็นอิสระของเขา

“ผมก็เข้าใจว่า มันไม่มีใครที่จะไปบริหารจัดการ หรือไปสั่งการได้ เพราะว่าในระบบที่เป็นประชาธิปไตย ในประเด็นนี้ จะเป็นอิสระของเเต่ละคน และเมื่อเขาแสดงเจตนารมย์มาแล้วอย่างเปิดเผย ถ้าสงสัยอย่างไร ก็ไปถามคนนั้นก็แล้วกัน” นายพรเพชร กล่าว

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ โพสต์จุดยืนของตนเองใน เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ระบุว่า “สานพลังสร้างไทย ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้”

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวในวันนี้ (16 พ.ค. 66) ว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องการตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มีความชัดเจนใครจะรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะชักชวนตั้งรัฐบาล 310 เสียง จาก 6 พรรคการเมือง แต่ก็ถือว่ายังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดเดาอะไรกัน รอให้มีความชัดเจนก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ หาก ส.ว. พูดอะไรมากไปตอนนี้ก็มีแต่ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกอย่างยังไม่แน่นอน

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวยึดหลักการใครที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมเติมเสียงให้ฝ่ายนั้น ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร    แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่คงไม่เกี่ยวกับ ส.ว. คนอื่นๆ ที่ไม่สามารถรับประกันได้จะโหวตไปในทิศทางใด เพราะ ส.ว. หลายคนก็คิดไม่เหมือนกัน

“ส่วนตัวก็งง เสียงเรียกร้องต่างๆ ที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้ก็เรียกร้องให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แก้ไขมาตรา272 ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตนก็เป็น 1 ใน 23 ส.ว.ที่ลงมติให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แต่แพ้เสียงข้างมาก แต่มาล่าสุดกลับเรียกร้องให้ ส.ว.ใช้อำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ห้ามงดออกเสียง ตกลงจะเอายังไงกันแน่” นายวัลลภ กล่าว

นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. กล่าวในวันนี้ (16 พ.ค. 66) ว่า ส.ว. คงต้องรอดูก่อนว่า ฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยพิจารณาจะโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะนายพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมือง ที่จะยกเลิกมาตรา 112 ตนรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือกนายพิธา ไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ แต่เป็นจุดยืนของตนเพียงคนเดียว ไม่รู้ ส.ว. คนอื่นๆ จะเห็นเหมือนตนหรือไม่

ส่วนหากมีการเสนอชื่อคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรีจะรับได้หรือไม่นั้น นายจเด็จ บอกว่าต้องพิจารณากันอีกทีว่า มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรบ้าง

นายมณเฑียร บุญตัน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว สำนักข่าว TODAY ถึงจุดยืนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด ทั้งยกใหม่ทั้งฉบับ การแก้ไขเป็นรายมาตรา แม้ลึกๆ แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะนำไปปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างแน่นอนเพราะไม่มีใครได้ทุกอย่างแต่ว่าผมก็ยกมือให้มาตลอด โดยเฉพาะมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ ตนก็เห็นด้วยทุกครั้งที่มีการยื่นเข้ามา และนอกจากนั้น เมื่อแพ้โหวตตนก็ยังแถลงจุดยืนว่า ตนยินดีที่จะไม่ใช้สิทธิ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะยังให้สิทธิก็ตาม แล้วก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนได้พูดในสภา ได้ไปพูดในที่สัมมนาในแบบเดียวกันนี้มาตลอดว่า เห็นให้ตัดอำนาจนี้ออกไป ไม่ว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อมาก็ตาม เป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยก็ไม่ขอใช้สิทธิ เพราะหลักการก็คือ ปิดสวิตซ์ ส.ว. ตนยืนยันมาตลอดจนถึงก่อนการเลือกตั้ง

“เมื่อการผลเลือกตั้งมันออกมาจะยังไงก็แล้วแต่ โดยส่วนตัวผมก็เลือกพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดนั่นแหละ แต่มันไม่เป็นเหตุทำให้ผมเปลี่ยนจุดยืน เพราะว่าจุดยืนดังกล่าวมันได้รับการยอมรับ มีคนมาแสดงความยินดีกับผม ยินดี ชื่นชมว่าจุดยืนที่ถูกต้อง ว่าไม่ควรที่จะใช้สิทธินี้แล้วตอนนี้เมื่อผลการเลือกตั้ง มันกลายเป็นว่า เอ๊ะทำไม ส.ว. ไม่มาใช่สิทธิเพื่อช่วยให้ผู้ได้รับเลือกได้เป็นนายกฯ มันก็จะย้อนแย้งกับจุดยืนที่เขาชมยินดีมาตลอดสิใช่ไหมครับ นี่จุดยืนของผมคนเดียวนะ ที่เขาอาจจะไม่เห็นด้วยเลย อาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัวของเขา เขาอาจจะมีค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตยคนละแบบกับผมนะ อันนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะเลือกหรือไม่เลือกด้วยเหตุผลใด สรุปแล้วก็คือผมคิดว่ามันคาดหวังไม่ได้ คะแนนเสียงจาก ส.ว. วิธีที่ดีที่สุดก็คือเดินหน้า ปิดสวิตซ์ ส.ว.ในทางปฏิบัตื ก็คือรวบรวมเสียง ส.ว. 376 เสียง”

และผมก็ยังมีความเชื่อว่ายังเป็นไปได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตอนที่เสนอร่างฯ ให้แก้ไข มาตรา 272 ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เห็นด้วยกันหมดเลย เห็นด้วยที่จะตัดอำนาจ ส.ว. ก็ทำไมตอนนี้จะไม่เห็นด้วยล่ะครับ ในเมื่อตอนนั้นเห็นด้วยที่จะตัดอำนาจ ส.ว. ในเรื่องนี้ออกไปก็ต้องเห็นด้วยที่จะตัดอำนาจ ส.ว. โดยการยกมือให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากได้เป็นนายกฯ ไม่เป็นว่าคุณจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม เพราะหลักการมันไม่ได้อยู่ที่ว่า ฉันจะยกมือให้เฉพาะ เมื่อฉันได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลนะ หลักการมันอยู่ที่จะยกมือให้ เพราะเห็นด้วยที่ไม่ควรจะใช้เสียง ส.ว. ส.ว.ไม่ควรมายุ่งกับการโหวตนายกฯ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่ ส.ว. จะไม่มา มีอิทธิพลเลือกนายกฯ ก็คือต้องรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้ เกิน 375 ก็คือ 376 เสียงขึ้นไป อันนี้ผมว่าคาดหวังได้ และมันเป็นตรรกะที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าที่ตอนเสนอร่างฯ เข้ามา ก็เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยว่า ตัดอำนาจ ส.ว.ออกไป มีส.ส. ที่เห็นด้วยคงอำนาจ ส.ว. ไว้น้อยมา แล้วทำไมตอนนี้เปลี่ยนใจละครับ ต้องยึดมั่นใจหลักการนี้สิครับ ต้องไม่เปลี่ยนใจ” นายมณเฑียร กล่าว

นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว TODAY ในวันนี้ (16 พ.ค. 66) ว่า ผมมีคำตอบที่ชัดสำหรับส่วนตัวว่าคงเป็นไปตามฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญคือความต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการปฏิรูปการเมืองไทย เลยมีการเขียนถึงเจตนารมย์ตรงนี้ว่า ส.ว. สามารถเลือกนายกได้ จนถึงวันนี้ หน้าที่ของส.ว. ก็ลุล่วงไประดับหนึ่งแล้ว วันนี้เราต้องกลับไปที่หลักการที่เราต้องให้เกียรติพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนตัวผมไม่มีทางเลือกอื่น ต้องให้กระบวนการของสภาเดินหน้าต่อไปได้ อย่าไปตั้งธงว่าใคร ถ้าเอาหลักการเป็นตัวตั้ง สุดท้ายก็จะสามารถถอดสลักความขัดแย้งการทางเมืองได้ เราต้องให้เกียรติพรรคที่ใก้เสียงอันดับ 1 ในการฟอร์มรัฐบาลซึ่งเป็นมารยาททางการเมือง ด้วยเหตุนี้สำหรับผมจำเป็นต้องเอามารยาททางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับแบบสากลกลับมา เพื่อให้กลไกเดินหน้าไป

ผู้สื่อข่าวถามถึง ส.ส. ส่วนใหญ่คิดอย่างไร นายซากีย์ ตอบว่า “ผมคิดว่า ส.ว. ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว แต่ผมอาจจะเป็นส่วนน้อย ส.ว. ต้องกลับมาทบทวนว่า ถ้าเราไม่เอากลไกของรัฐสภามาเป็นตัวตั้ง มันจะเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมามีกลไกพิเศษหลายครั้งซึ่งสุดท้าย ก็ออกมาในผลโหวตที่ออกมา ซึ่งก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง จากอารมณ์ร่วมของสังคมไทยที่รอการเปลี่ยนแปลง ที่ออกมาในรูปของโหวตที่สนับสนุนพรรค ซึ่งเราเองก็ต้องทบทวน และนี่คือสิ่งที่ทำให้การเมืองไทย หลุดพ้นจากความขัดแย้ง”

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่กระแสสังคมกดดัน ส.ว. ในการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เคารพฉันทามติของประชาชนที่สะท้อนจากผลเลือกตั้งว่า ตนขอให้ความเป็นธรรมกับ ส.ว. ด้วย เนื่องจากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภานั้น ยังมีขั้นตอนและต้องใช้เวลา ทั้งการรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ของกกต. ที่มีกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งตนเชื่อว่า กกต. จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จ คงไม่ปล่อยให้เข้าสภาผู้แทนราษฎร แล้วสอยทีหลังแน่นอน

จากนั้นเป็นกระบวนการของการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งานรัฐพิธี หลังรับรองผลเลือกตั้ง 15 วัน จากนั้น ไม่เกิน 7 วัน ต้องประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนั้นคือการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าจะมีเวลาอีก 2 เดือน ดังนั้นจนถึงขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นตอนและ ไม่ทราบชัดเจนว่า จะเสนอชื่อใคร เข้าสู่รัฐสภาให้ลงมติ ทั้งนี้ทราบแค่ความเคลื่อนไหวต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง พรรคเพื่อไทย ให้ พรรคก้าวไกลดำเนินการไปก่อน ทั้งนี้สูตรจัดตั้งรัฐบาลยังไม่นิ่ง

“กรณีที่สังคมกดดัน ทำโพลออนไลน์นั้น ผมมองว่าเป็นโพลวิชาการทำได้ แต่จะส่งผลให้ส.ว.ต้องปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ ผมเชื่อว่ากดดันไม่ได้ เพราะส.ว.มีวุฒิภาวะ ดังนั้นหากไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโกร่งหน้าไม้ ยังมีเวลาอีกหลายเดือน ในฐานะส.ว.ที่มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีสิทธิเสนอ หากสภาเสนอมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล หรือเป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย หรือเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต จากเพื่อไทย ทางส.ว.พร้อมพิจารณา เพราะการโหวตของส.ว.หรือของผมไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นขั้วอำนาจเดิม แต่หากวันนี้ เสนอมาแบบนี้ เป็นไปได้ว่า ส.ว.จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะได้ 60-70 เสียง หรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่เป็นไปได้ทั้งหมด” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับสูตรตั้งรัฐบาล 310 เสียง ต้องพิจารณาถึงการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน ซึ่งหลังการเลือกตั้งปี2562 นั้นพบว่า มีการแข่งขันตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเสนอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นหากขั้นตอนตกลงเรื่องนโยบาย หากตกลงไม่ได้ เจรจาเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัว อาจมีการสลับกันได้ ดังนั้นการใช้กระแสกดดันให้ ส.ว.แสดงท่าทีนั้นไม่มีประโยชน์ ส่วนกรณีที่ ส.ว. บางคนพูดว่า สภาผู้แทนราษฎร ต้องรวมเสียงกันให้ได้ 376 เสียงจะได้ไม่พึ่งเสียง ส.ว. ตนมองว่า เป็นเพียงการพูดตามเกณฑ์กึ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นหลักการทั่วไป

เมื่อถามว่า สังคมตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะไม่โหวตให้ขั้วฝ่ายค้านเดิม นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับตนที่เป็น ส.ว. มานาน ทำงานมาหลายรัฐบาล ไม่เคยมีปัญหากับการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าฝ่ายค้านเดิม หรือรัฐบาลเดิม ต้องพิจารณา ซึ่งตนมีหลักในการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่การพัฒนา มีความรอบรู้ นอกจากนั้นต้องดูบริบทรอบข้างคือ การวางตัวรัฐมนตรี และกลุ่มของพรรคการเมือง ส่วนความเห็นของ ส.ว. แต่ละคนนั้นเป็นอิระ

“สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ คะแนนนิยมของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมือง หากรวมกันเสียงเด็ดขาด ส.ว.ต้องยอม แต่หากรวมกันเสียงก้ำกึ่งแต่หากแบ่งฝ่ายที่เท่ากัน ส.ว. มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่บังคับให้ทำหน้าที่ ดังนั้น อย่าบังคับให้เลือกชื่อคนที่คุณเชียร์ ฉันทามติของใครเลือกพรรคไหน เพราะผลเลือกตั้งเลือกประชาชนลงคะแนนให้ทุกพรรค ดังนั้นขอให้แฟร์ๆ” นายสมชาย กล่าว


 

My Country Talks ร่วมกับสำนักข่าว TODAY ขอเชิญผู้ที่มีความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรม World Talks ที่จะชวนคนจากหลากหลายพื้นที่ของโลกมาแลกเปลี่ยนไอเดีย เรื่องราว มุมมอง ผ่านการสนทนาแบบ 1:1

ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างบริบท ต่างแนวคิด โดยคัดจากการตอบคำถามในแง่มุมต่างๆ

หากท่านสนใจเข้าร่วม สามารถเริ่มต้นจากการตอบคำถามด้านล่างนี้ หรือเข้าไปที่ https://www.theworldtalks.org/invite

*คำถามและบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า