SHARE

คัดลอกแล้ว

ค่ายมวยน้องใหม่ ‘ป.วราลักษณ์’ ย่านพัทยา จ.ชลบุรี ของ ‘นาวิน วุฒภัทรโยธิน’ ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้กว่า 2 ปี และกำลังมีชื่อเสียงในวงการมวย จากฝีมือของนักชกที่ฉายแววออกหมัดล่ารางวัลบนสังเวียนผ้าใบในเมืองกรุงมาจำนวนมาก ได้รับชัยชนะทั้งเวทีมวยรังสิต ลุมพินี และราชดำเนิน เป็นที่จับตามอง ของโปรโมเตอร์และผู้มีชื่อเสียงในวงการเป็นอย่างมาก จนมีผู้ปกครองนำลูกหลานมาฝากเรียนมวยไทย สร้างรายได้ให้ค่ายมวยอีกทาง

จุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย รายรับของค่าย ‘ป.วราลักษณ์’ ช่วงก่อนโควิดประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้จากส่วนแบ่งที่นักมวยขึ้นชกและรายได้จากการเปิดสอนมวยไทย ชั่วโมงละ 200 บาท ทำให้ทางค่ายพอมีรายได้เข้ามาซื้ออาหารให้นักมวย จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าที่ ที่มีต้นทุนเฉลี่ยเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท

แต่เมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทุกอย่างต้องหยุดลง นาวิน เจ้าของค่ายมวย ป.วราลักษณ์ เล่าในรายการปัญญาปันสุข ว่าเขาได้ปิดค่ายมวย เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2563 เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มงวดในเรื่องการเฝ้าระวังและเก็บตัวอยู่กับเหย้า แน่นอนว่า รายรับทุกทางที่มีกลายเป็นศูนย์บาท ณ วันนั้น ในค่ายเหลือเงินเก็บอยู่ 2,000 กว่าบาท กับภาระที่ต้องดูแลนักมวยที่ไม่ได้กลับภูมินำเนาอีก 5 ชีวิต

“ผมขายมอเตอร์ไซด์ไปคันหนึ่ง ช่วงโควิด ผมนี่มืดแปดด้านเลย ไม่รู้มวยจะกลับมาต่อยได้เมื่อไหร่ อาจจะต่อยไม่ได้ ปีหน้าต้องต่อยได้ โอ้โห” นาวิน กล่าว

นาวิน วุฒภัทรโยธิน เจ้าของค่ายมวย ป.วราลักษณ์ (คนซ้าย เสื้อสีเทา)

พิษโควิด ค่ายมวยถูกปิด นักมวยใช้แรงงานรับจ้างแลกเงินประทังชีวิต

ค่ายมวยเล็กๆ มีต้นทุนต่ำ ช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ทางค่ายมวย ป.วราลักษณ์ ต้องเจอกับบททดสอบที่ยากลำบาก เงินเก็บในค่ายที่เหลืออยู่ 2,000 กว่าบาท ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูทุกคนได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ จากปกติที่นักมวยจะไปเอาข้าวเช้าจากวัดใกล้ๆ มากินกัน พอช่วงโควิดหลวงพ่อไม่ได้บิณฑบาต ทำให้ไม่มีข้าวเช้ากินไปด้วย  แม้ค่ายมวยจะปิด ไม่มีการชก แต่นักมวยทุกคนก็ยังต้องซ้อมทุกวัน จึงต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีโปรตีน

ช่วงโควิด ชกมวยไม่ได้ทำให้ไม่มีรายได้ นักมวยในค่ายช่วยกันทำงานรับจ้าง ใช้แรงงานตัดแต่งตัดไม้ ขนของ และขุดดิน ให้พอมีรายได้เข้ามาซื้อกับข้าวกินประทังชีวิต

นาวิน เล่าว่า เขาต้องประหยัดค่าอาหารและพยายามดูแลทุกคนให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยไปซื้อโครงไก่เอามาสับทำเมนูผัดกะเพรา และไก่บด มาทำแกงจืด และโจ๊ก ให้นักมวยกิน เพราะช่วงนั้นราคาไข่ไก่แพงมาก จนไม่สามารถซื้อได้ เกือบ 1 เดือนที่นักมวยต้องกินโครงไก่และไก่บด ทำให้นาวิน สงสารนักมวยในค่ายที่เขาดูแล ซึ่งบางวันนักมวยในค่ายก็ไปต่อแถวรับข้าวกล่องบริจาคเพื่อช่วยประหยัด แต่ในที่สุดเงินเก็บที่มีอยู่กว่า 2,000 บาทนั้นก็หมดลง เขาตัดสินใจขายมอเตอร์ไซด์เวสป้าที่เขารัก ได้เงินมา 25,000 บาท พอมาเป็นค่าใช้จ่ายในค่าย ทั้งค่ากับข้าว ค่าน้ำ ค่าไฟ เส้นทางที่กำลังวิกฤติทุกคนในค่ายวางนวมชั่วคราวมาช่วยกันจับมีด จอบ เสียม ทำงานรับจ้างใช้แรงงานตัดแต่งตัดไม้ ขนของ และขุดดิน ให้พอมีรายได้เข้ามาซื้อกับข้าวกินประทังชีวิต

จากมนุษย์เงินเดือน หันมาเปิดค่ายมวย เพราะอยากให้โอกาสเด็กด้อยโอกาส

เวทีมวย คือความฝัน แต่เวทีชีวิตนั้นไม่ง่าย สำหรับ ‘นาวิน วุฒภัทรโยธิน’ เจ้าของค่ายมวย ชาว จ.นราธิวาส วัย 39 ปี เขาฝันอยากเป็นเจ้าของค่ายมวย เพราะอยากมอบโอกาสให้นักมวยบ้านนอกได้เติบโตในเส้นทางที่เขารัก นาวิน เริ่มต่อยมวยตั้งแต่ 7 ขวบ เพราะมีปู่และพี่ชายเป็นนักมวย เขาอยากเป็นนักมวยมืออาชีพ แต่อยู่ค่ายมวยต่างจังหวัดจึงไม่มีโอกาสที่จะแสดงความสามารถในเมืองหลวง เมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เขาต่อยมวยน้อยลงเพราะเรียนหนักขึ้น มีซ้อมตามหอพักและไปต่อยมวยหาเงินบ้าง เมื่อเรียนจบนิติศาสตร์ ได้ทำงานเสมียนทนายความอยู่ 8 ปี ก็ลาออกจากงานประจำ มาเปิดค่ายมวย

“ผมชอบมวยมาก ตอนสมัยผมต่อย ผมไม่มีโอกาส ผมต่อยอยู่บ้านนอกที่นราธิวาส ผมไม่มีโอกาสที่จะมาต่อยในกรุงเทพฯ  ความใฝ่ฝันของนักมวยทุกคน อยากต่อยบนเวทีมาตรฐาน ถ้าวันไหนได้เหยียบบนผืนผ้าใบเวทีมวยราชดำเนิน หรือ ลุมพินี คุณคือนักมวยอาชีพเต็มตัว แต่นอนนั้นผมไม่มีโอกาสตรงนั้น”

“ผมมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง ถ้าผมพร้อม ผมอยากค่ายมวยและก็จะเอาเด็กในพื้นที่ให้โอกาส มาต่อยบนเวทีมาตรฐานให้ได้” นาวิน กล่าวในรายการปัญญาปันสุข

‘งาเทา ป.วราลักษณ์’ นักมวยคนแรกของค่าย อายุ 21 ปี (มวยถนัดแข้งซ้าย) กำลังเป็นดาวรุ่ง งาเทา บอกว่าเคยมีค่ายมวยดังมาขอซื้อตัวในราคา 300,000 บาท แต่งาเทาไม่อยากไป เพราะรักนาวินมาก ถ้าวันไหนไม่มีค่าย ป.วราลักษณ์ ก็จะแขวนนวมเลิกต่อยมวย

เขาเริ่มปั้นนักมวยเมื่อ 8 ปีก่อน โดยเพื่อนที่นราธิวาสแนะนำให้ปั้น ‘งาเทา’ นักมวยภูธรวัยเพียง 13 ปี เพราะมีแววไปได้ไกล จึงจ่ายค่าตั๋วให้ ‘งาเทา’ มาอยู่ที่กรุงเทพฯ และสร้างค่ายมวยด้วยกัน เขาเลี้ยง ‘งาเทา’ เหมือนลูก ฝึกฝนจน ‘งาเทา’ ได้ขึ้นชกที่พัทยา ชนะ 5 ไฟต์ แพ้ 1 ไฟต์ มีโปรโมเตอร์เห็นแวว จึงพาเข้ากรุงเทพฯ ชกหลายเวทีจนมีชื่อเสียง จนได้ไปชกกับนักมวยดาวรุ่ง ที่เวทีมวยลุมพินี ผลชนะทำให้ดังมาก ได้ลงหนังสือมวยสยาม จึงเป็นกำลังใจให้ นาวิน เปิดค่ายมวย ‘ป.วราลักษณ์’ โดยมี ‘งาเทา’ เป็นนักมวยคนแรก ในปี 2560 โดยใช้เงินเก็บที่มีกับเงินที่บืมเพื่อนมา 300,000 บาท เป็นเงินทุนทำค่ายซื้อเวทีมวยและอุปกรณ์มือสองจากค่ายมวยที่เขาเลิกกิจการแล้วมาใช้ จากนั้นก็เริ่มหานักมวยจากเด็กในบ้านเกิด จ.นราธิวาส และจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน เพราะอยากให้โอกาสเด็กที่ไม่มีโอกาส ปัจจุบันมีนักมวย 8 คน ทุกคนมีฐานะยากจน ต่อยมวยเพื่อหาเงินไปเลี้ยงดูครอบครัว

ไม่มีหน้าเสื่อ แต่มีหน้าแข้งไปสู้ ขอวางตัวเป็นมวยรองที่ยังไงก็มีคนเชียร์

เมื่อมีเดิมพันเป็นความฝัน นาวิน บอกกับ workpointTODAY ว่า เขารู้ดีว่าเส้นทางธุรกิจนี้ต้องใช้เวลา ประสบการณ์ และเงินทุนจำนวนมากในการปั้นนักมวยและค่ายให้ประสบความสำเร็จ แม้วันนี้รายได้ที่เข้ามาจะยังน้อย แต่เขาก็จะเดินตามความฝันต่อไป เพราะอยากส่งต่อโอกาสให้คนที่มีความสามารถ อยากให้นักมวยในค่ายทุกคนสู้ ต่อยเพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง

“ค่ายมวยเปิดมาได้ 2 ปี เทียบในวงการมวยถือว่าเล็กมาก หน้าเสื่อไม่มี แต่ผมมีหน้าแข้งไปสู้ คือถ้าถามว่าผมหยุดได้มั้ย ผมมาไกลเกินกว่าที่จะหยุดแล้ว”

“ผมมองว่ามวย มันมีทั้งคนเชียร์มุมแดงและมุมน้ำเงิน มันเป็นไปไม่ได้ที่ขึ้นชกปุ๊บมีคนเชียร์ฝั่งเดียว จะเชียร์แดงอย่างเดียว ไม่เชียร์น้ำเงิน เขาเรียกว่ามวยรอง ยังไงมันก็มีคอมวยรองที่เชียร์เราอยู่แน่นอน” นาวิน กล่าว

ความใฝ่ฝันที่นาวินอยากเห็น คือ นักมวยที่เขาสร้างมาสามารถชนะคว้าเข็มขัดแชมป์บนเวทีมาตรฐาน อย่างเวทีมวยราชดำเนิน หรือ เวทีมวยลุมพินีได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ค่ายมวยกลับมาเปิดได้อีกครั้งตั้งแต่ วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา คนในวงการมวยจะเริ่มได้รับการปลดล็อก และกลับมาทำมาหากินเลี้ยงชีพอีกครั้ง นาวิน กล่าวว่า เขายังหวังลึกๆ ว่า ‘ป.วราลักษณ์’ จะยังได้รับโอกาสได้ขึ้นชกในไฟต์สำคัญๆ อีกครั้ง และเป็นค่ายมวยบ้านนอก แต่คุณภาพเต็มร้อยที่น่าจับตา พร้อมยืนหยัดผลิตนักมวยที่มากความสามารถเข้าสู่วงการหมัดมวยต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า