SHARE

คัดลอกแล้ว

ข่าวการข่มขืนในเมืองไทยนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พอมีข่าวดังขึ้นมาทีคนก็จะพูดถึงที ยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ถูกกระทำเป็นเด็กหรือเป็นคดีสะเทือนขวัญ กระแสการพูดถึงในสังคมก็จะยิ่งดังขึ้นไปอีก ในอดีตข่าวที่คนไทยให้ความสนใจและเป็นข่าวดังก็อย่างเช่น เหตุการณ์สุดสะเทือนใจกรณีพนักงานรถไฟข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปี ก่อนจะโยนร่างออกนอกหน้าต่างขณะรถไฟกำลังวิ่งเต็มความเร็ว หรือแม้แต่ข่าวล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น อย่างกรณีของน้องวัย 14 ปีที่ถูกครู 5 ศิษย์เก่า 2 รุมขืนใจ ถ่ายคลิปนานนับปี โดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะให้ซ้ำชั้น และแน่นอนว่ายังมีเรื่องการถูกข่มขืนอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าว แม้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่หดหู่ใจและสังคมก็ไม่อยากยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แต่กลับเป็นเรื่องจริงที่เราต้องยอมรับว่าอยู่กับสังคมเรามายาวนาน

วันนี้ Workpoint Today ชวนสำรวจปัญหาการถูกคุกคามทางเพศผ่านบริบทสังคมไทย เหตุใดปัญหานี้ยังคงอยู่?

 

  • สถิติข่าวการข่มขืนในสังคมไทย

เริ่มจากข้อมูลเชิงสถิติ ที่ผ่านมา “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ได้เข้าไปสำรวจหนังสือพิมพ์ไทยทั้งหมด 14 ฉบับพบว่า มีข่าวข่มขืนคิดเป็น 51% จากข่าวทั้งหมด เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบรูปแบบของการข่มขืนเพิ่มเข้าไปอีก คือ ข่มขืนพร้อมกับชิงทรัพย์/กรรโชกทรัพย์ 8.9% รวมถึงข่มขืนฆ่า/ชิงทรัพย์ 14% ส่วนผู้ก่อเหตุข่มขืนพบว่า การข่มขืนส่วนใหญ่แล้วเกิดจากคนที่มีความคุ้นเคยหรือคนใกล้ตัวมากกว่าคนแปลกหน้าเสียอีก ซึ่งการข่มขืนที่เกินจากคนใกล้ตัว/บุคคลในคนครอบครัวมีถึง52.7% ส่วนคนแปลกหน้าคิดเป็น 47.2% อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ สถานที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดในที่พักผู้เสียหายด้วย จากข้อมูลพบว่าบ้านกลับกลายเป็นที่ก่อเหตุมากที่สุด โดยมีอัตราการเกิดเหตุ 46.5% รองลงมาคือริมถนนหรือตามที่ร้าง ป่า ชายหาด วัด โรงเรียนและห้องน้ำ

ข้อมูลทางสถิติที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามที่ว่า แม้จะมีการเพิ่มโทษกฏหมายที่รุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนคดีของการข่มขืนในไทยลดลงได้และไม่ได้ช่วยทำให้การยับยั้งชั่งใจของผู้กระทำลดลง สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร? หรือจริงๆมันเกิดจากปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม อยู่ในค่านิยม อยู่ในโครงสร้างสังคม ทำให้การข่มขืนนั้นยังไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียที

 

  • อิทธิพลการรับสื่อจากละครไทย

ถ้าพูดถึงเรื่องการยอมรับได้เรื่อง การถูกข่มขืนในสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน ละครไทยอาจเป็นตัวอย่างที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างอยู่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมาละครไทยมีฉากของการข่มขืนของ พระเอกในการข่มขืนนางเอก แต่ถูกมองเป็น ‘ฉากเลิฟซีน’ และเป็นฉากที่คนรอดู และถูกผลิตซ้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่น่าคิดคือ ทำไมเราถึงรับได้กับการที่พระเอกข่มขืนนางเอก แต่รับไม่ได้กับข่าวข่มขืน คุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เคยตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ว่า เป็นไปได้หรือเปล่าว่า “การข่มขืนในละครแบบนี้ทำให้เป็นเรื่องโรแมนติกที่สุดท้ายพระเอกกับนางเอกก็จะรักกัน ภาพการข่มขืนในละครนั้นคนที่ข่มขืนเป็นพระเอกสุดหล่อ ซึ่งผู้ชมจินตนาการว่าอยากได้ใกล้ชิดแนบกายกับพระเอกแบบนี้ เพราะนอกจากหล่อแล้วพระเอกยังรวยอีก ถึงยอมรับได้

แต่ข่าวข่มขืนในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เรารังเกียจมักเป็นข่าวข่มขืนของคนในชนชั้นแรงงานที่ดูสถานภาพทางสังคมด้อยกว่า เป็นโจร เป็นอดีตนักโทษ เป็นแก๊งค้ายาเสพติด ฯลฯ ทำให้เรารังเกียจ” ซึ่งมองในมุมนี้ การข่มขืนจึงไม่พัวพันเพียงแค่การละเมิดทางเพศ แต่ยังกินความไปถึงเรื่องชนชั้นทางสังคมด้วย คือ ถ้าคนรวยหรือหล่อข่มขืนก็ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงานข่มขืนถึงจะน่ารังเกียจ

นอกจากนี้สื่อต่างประเทศอย่างสำนักข่าวเอพี (AP) ก็เคยรายงานว่า ฉากข่มขืน เป็นเรื่องปกติในละครไทย เรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกผันในพล็อตโรแมนติกทั่วๆ ไปเลยก็ว่าได้

สื่อต่างชาติรายงานเรื่องค่านิยมการข่มขืนในสังคมไทยที่แฝงมาในละคร

 

  • ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยกับการถูกกดทับของเพศหญิง

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงประเด็นการถูกข่มขืนในเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงถูกคาดหวังจากสังคม ในเรื่องความบริสุทธ์ การรักนวลสงวนตัว ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ถูกคุกคามทางเพศหรือตกเป็นเหยื่อ ค่านิยมอันดีงามของสังคมเหล่านี้ถึงกลับกลายมาเป็นดาบที่ทิ่มแทงผู้หญิงเสียเอง

ในเหตุความรุนแรงที่เคยกิดขึ้นมักจะมีคำกล่าวว่า “ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 1 จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 2 จากกระบวนการยุติธรรม” นั่นหมายถึง ตั้งแต่การรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไปจนถึงการตัดสินในชั้นสูงสุดผู้หญิงมักจะถูกกล่าวโทษ (blaming) ตลอดทาง และเมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน ผู้หญิงก็จะตกเป็นเหยื่อครั้งที่ 3 จากสื่อมวลชนและผู้คน กลายเป็นการถูกกระทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

อาจารย์ยังกล่าวต่อว่า “มายาคติที่ฝังรากลึกในไทย สังคมมีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง มีภาพอุดมคติของผู้หญิงที่ดี เช่น เราจะได้ยินคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี ภรรยาที่ดี พอผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงดีได้ เช่น ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศมา สังคมจะบอกว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมแบบนี้ คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน”

“คุณจะต้องรักนวลสงวนตัวไปจนถึงวันที่คุณแต่งงาน พอคุณแต่งงานแล้วก็ต้องมีลูกให้ได้ เพราะคุณจะต้องเป็นแม่ และเป็นภรรยาที่ต้องตอบรับความต้องการทางเพศจากผู้ชาย เพราะฉะนั้นความคาดหวังของสังคมที่มีต่อคุณค่าของผู้หญิงคนหนึ่ง มาพร้อมกับเรื่องเพศหมดเลย” นี่คือความเห็นจาก ดร.ชเนตตี ทินนาม

  • การเคลื่อนไหวของสังคมไทยต่อการข่มขืน

อย่างไรก็ตามใช่ว่าที่ผ่านมาสังคมไทยจะเงียบเฉยกับเรื่องเหล่านี้ ในทางตรงกันข้ามเสียงของการเรียกร้องให้กับเหยื่อที่ถูกข่มขืนกลับดังขึ้นและได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคม

ในสังคมไทยช่วงหนึ่งกระแสการ “ข่มขืน=ประหาร” ถูกผลักดันให้เป็นกฏหมาย ซึ่งตอนนั้นดาราที่ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้คือ คุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และมีผู้เห็นด้วยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้ผู้ก่อเหตุได้รับโทษสูงสุดถึงชีวิตเพื่อจะได้ลดคดีการข่มขืนในประเทศไทยลงได้และเข็ดหลาบ แต่ในข้อถกเถียงทางกฏหมายก็มีเช่นกันเพราะอีกมุมหนึ่งมองว่า การเพิ่มโทษทางกฏหมายอาจทำให้การก่อเหตุรุนแรงขึ้นและหลายคดีอาจกลายเป็นเรื่องของ “แพะรับบาป”

แคมเปญ “ข่มขืน=ประหาร” ความเคลื่อนไหวสำคัญของการเรียกร้องเรื่องการข่มขืนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

คุณ ธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยตั้งคำถามถึงประเด็นนี้ว่า “ข่มขืน =ประหาร” เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้การข่มขืนทุกรายต้องฆ่าปิดปากให้หมดหรือไม่ เพราะต้องการปกปิดการกระทำความผิด

นอกจากนี้ยังมีแคมเปญของคุณซินดี้ สิรินยา นางแบบชื่อดัง ที่จัดทำนิทรรศการ “Don’t tell me how to dress” ซึ่งภายในนิทรรศการจะมีการจัดแสดงเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยผู้หญิงที่โดนลวนลาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแต่งตัวของผู้หญิงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเลย เพราะแม้จะแต่งตัวเรียบร้อยขนาดไหน การข่มขืนก็ยังคงเกิดขึ้นได้อยู่ดี

นิทรรศการ “Don’t tell me how to dress” ที่มีคนดัง ดารา นางแบบหลายคนเข้าร่วมรณรงค์

 

หรืออย่างคนจากฝั่งการเมืองอย่าง คุณมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ก็เคยเสนอ แนวแก้ปัญหาข่มขืน “สวิตเซอร์แลนด์โมเดล” เปิดสถานบริการทางเพศเอกชน-ร้านขายอุปกรณ์ทางเพศ (เซ็กซ์ทอย) แบบถูกกฎหมาย โดยมั่นใจลดล่วงละเมิดทางเพศ และเสนอให้คุณบุ๋ม ปนัดดานั่งที่ปรึกษากมธ.วิสามัญป้องกันข่มขืนฯด้วย

จนกระทั่งเมื่อปี 2562 เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเรา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ทันที โดยได้เพิ่มโทษการก่อคดีข่มขืนสูงสุดเป็น “ประหารชีวิต” ในกรณีเหยื่อถึงแก่ความตาย และแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของคำว่า “กระทำชำเรา” ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น เรื่องการบันทึกภาพหรือเสียง การอนาจารเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นต้น

  • ชายเป็นใหญ่ต้นเหตุหลักแห่งปัญหา

แม้จะมีการแก้ไขกฏหมายเรื่องการข่มขืนออกมาเพิ่มเติม แต่ด้านของกลุ่มคนที่ทำงานด้านเด็กและสตรีที่คลุกคลีอยู่กับความรุนแรงทางเพศอย่าง คุณจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิชายหญิงก้าไกลมองว่า ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะต้นเหตุสำคัญของปัญหาการข่มขืนคือ “ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย เกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจและความต้องการแสดงอำนาจบางอย่าง บางคนเสพยาก่อน บางคนดื่มแอลกอฮอล์ก่อนลงมือก่อเหตุ ต้องทำให้ความคิดนี้จางลงในสังคมไทยและทำให้คนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เพราะอย่างไรก็ตามกฏหมายเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่ยาวิเศษ และการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังก็สำคัญไม่แพ้กัน

  • เมื่อถูกคุกคามต้องกล้าพูด

ที่ผ่านมาพบว่า เมื่อมีการก่อเหตุข่มขืนขึ้น ผู้ถูกกระทำมักจะถูกข่มขู่ ถูกทำให้รู้สึกกลัวและอับอายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง หลายครั้งที่ถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเลือกที่จะเก็บความลับนี้ไว้กับตัว เมื่อไปดูที่สถิติของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ เลือกเก็บงำความทุกข์ไว้ในใจ โดยปล่อยให้คนร้ายลอยนวล

คุณวราภรณ์ แช่มสนิท’ จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศเคยกล่าวถึงเรื่องทางออกของปัญหาการข่มขืนในไทยว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทั้งสังคมต้องร่วมกันแก้ไข

เริ่มจาก “หน่วยงานภาครัฐ” หรือหน่วยงานที่ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรคิดว่าประเด็นการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งพวกเขาต้องให้ความสำคัญ ต้องรับผิดชอบ และต้องมีมาตรการออกมาให้ชัดเจน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด ปรับพื้นที่ หรือการเพิ่มความเอาจริงในการติดตามผู้กระทำมารับโทษเมื่อมีการแจ้งเหตุ รวมถึงสื่อก็ควรช่วยกันเป็นกระบอกเสียงในการส่งต่อข้อมูล

ส่วน “ภาคประชาชนเอง” ควรช่วยกันสอดส่องและให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติคนในสังคม เช่น แคมเปญ “ปักหมุดจุดเผือก” ที่ตอนนี้ทีมที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นว่า ปัญหาคุกคามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ ต้องช่วยกันแก้ไข และเป็นเรื่องที่พูดได้อย่างไม่ต้องอาย ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว

“เผือก” เป็นหนึ่งในกิจกรรมแคมเปญแก้ไขภัยคุกคามทางเพศ

  • “เมืองปลอดภัย” ลดโอกาสการถูกข่มขืน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาคือการพยายามทำให้ไม่เกิดหรือมีสถานที่และโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เกิดการข่มขืน เนื่องจากการข่มขืนเป็นเรื่องของการกระทำด้วยการสบโอกาส หากลดโอกาสก็อาจจะช่วยลดการถูกข่มขืนได้ ต้นเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงจึงเป็นประเด็นเรื่อง “เมืองปลอดภัย” ปัจจุบันผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีความเสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในชุมชนแออัด ที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะในเวลากลางคืน จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด การออกแบบเมืองหรือการใช้พื้นที่สาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะออกมาใช้และสุดท้ายแล้วต้องไม่ใช่แค่สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ ผู้ชาย หรือกลุ่ม LGBTQ เองก็โดนลวนลามหรือข่มขืนเช่นกัน

 

“เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” เป็นจุดยืนของแผน ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องการทำงานเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่เน้นเรื่องความรุนแรงที่เกิดบนฐานของเพศ ซึ่งคนทุกเพศมีโอกาสที่จะเจอความรุนแรงอันเนื่องมาจากเพศ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า