Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในปัจจุบันขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศกันมากมาย โดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิง ให้มีส่วนร่วม หรือมีบทบาทที่เท่าเทียมกับเพศอื่นในทุกๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคของไทย ที่ปัจจุบันได้เปิดรับประชาชนทุกเพศเข้ามาร่วมเดินทางบนเส้นทางการเมืองมากยิ่งขึ้น 

แต่หากย้อนดูสถิติสัดส่วน ส.ส. หญิงในรัฐสภาของไทย จะพบว่าสัดส่วนส.ส.หญิงรวมกันทุกพรรคมีเพียง 76 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งข้อมูลจากบีบีซีระบุว่าไทยอยู่อันดับที่ 184 จากการจัดอันดับจำนวน ส.ส. หญิงในรัฐสภาทั่วโลกกว่า 190 ประเทศ จึงเกิดคำถามตามมาว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงจะสำเร็จหรือไม่ หาก ส.ส. หญิงในการเมืองไทยมีแต่เพียงหยิบมือเดียว

TODAY ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาพูดถึงปัจจัย สาเหตุที่เราเห็นผู้หญิงในการเมืองไทยน้อย และไขข้อเท็จจริงที่ว่า นโยบายหญิงจะสำเร็จได้ต้องมีส.ส.เป็นผู้หญิงจริงหรือไม่ 

เมื่อพูดถึงผู้หญิงในการเมือง เรามองเห็นอะไร 

เนื่องจากอยู่รัฐศาสตร์ เวลาพูดถึงผู้หญิงในการเมือง พวกเราหรือคนที่สนใจในประเด็นนี้ โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนมักจะมองไปที่ผู้หญิงในระบบการเมืองภาครัฐ พุ่งไปที่ผู้หญิงในสถาบันด้านนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ผู้หญิงในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ผู้หญิงในการเมือง แค่นั้น ประเด็นที่ใหญ่มากตั้งแต่ตอนที่ดิฉันเรียนหนังสือจนถึงเดี๋ยวนี้ คือทำไมจำนวนผู้หญิงในสถาบันนิติบัญญัติของรัฐต่างๆ จึงมีน้อย

อย่างในสหรัฐอเมริกา ถ้าคุณดูแค่สัดส่วนของผู้หญิงในสภาก็จะมีน้อยมาก หากคุณมองแบบนี้แปลว่าคุณมองข้ามผู้หญิงไปเยอะเลย ในฐานะที่เป็นคนสอนความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์ การเมืองมันคือ การที่คนทำบางอย่างเพื่อจะกำหนดกติกาของชีวิตทางสังคม ซึ่งไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องเข้าไปนั่งในสถาบันด้านนิติบัญญัติอย่างเดียว 

แล้วผู้หญิงอยู่ตรงไหน?

ผู้หญิงในหลาย ๆ สังคมอยู่ในกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคมเยอะมาก เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง คุณมองข้ามคนเหล่านี้ได้อย่างไร? ฝากเป็นประเด็น หรือคำถามที่ผู้สื่อข่าวส่งมาให้ดิฉัน เรื่อง ‘บ้านใหญ่’ และอื่น ๆ นี่ก็เป็นช่องทางให้ผู้หญิง หรือคนเพศสภาพหญิงของหลายวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ เขาใช้เพื่อที่จะส่งอิทธิพลต่อกติกาและการตัดสินใจของผู้ที่ครองอำนาจ คือตัวเองไม่ได้ครองอำนาจ แต่คุณจะเห็นมือของผู้หญิงเอื้อมเข้าไปผ่านความสัมพันธ์แบบนี้เยอะมาก

และทำไปทำมาดูดีๆ คุณจะเริ่มงงๆ ว่า คนที่เป็นนายก หรือเป็นประธานาธิบดีตกลงมันมีอำนาจจริงไหม? หรือมือที่อยู่ข้างหลังซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้หญิง อยากชวนให้เริ่มที่ตรงจุดนี้ 

จำเป็นไหม ที่สัดส่วนส.ส.ในรัฐสภาต้องมีผู้หญิงมาผลักดันนโยบายของผู้หญิง?

ตัวอย่างสัดส่วนของคนเพศสภาพหญิงในสภาผู้แทนราษฎรที่สูงที่สุดในโลกคือ ‘รวันดา’ แต่ผลของการมีเพศสภาพหญิงเข้าไปอยู่เยอะมันแทบจะไม่เห็นผลอะไร เวลาที่คุณมองตัวแทนผู้หญิงในสถาบันนิติบัญญัติคือคุณดูผู้หญิงแล้วนับ แต่คุณไม่ได้ดูว่าเพศสภาพหญิงเขาใส่ใจเรื่องไหน ประเด็นไหน ซึ่งถ้าเขาสนใจหรือให้ความสำคัญประเด็นเดียวกันกับเพศสภาพชาย จบเห่ค่ะ! เพราะเพศสภาพหญิงเพศสภาพชายคิดเหมือนกัน เวลาที่คุณพูดถึงผู้หญิงนโยบาย หรือประเด็นผู้หญิง คุณหมายถึงผู้หญิงกลุ่มไหน? เพราะผู้หญิงมีความแตกต่างมาก

เอาเฉพาะผู้หญิงที่ต่างชนชั้น ต่างศาสนา สองอย่างนี้ก็คนละเรื่องเลย และเมื่อมันทับซ้อนกัน คำถามคือเรากำลังพูดถึงประเด็นของผู้หญิงกลุ่มไหนกัน เช่น ประเด็นสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ หรือที่ชอบเรียกเร็วๆ ว่า ‘ทำแท้ง’ ซึ่งเป็นสิทธิในการตัดสินใจ ก็เป็นประเด็นใหญ่ของผู้หญิง แต่ก็มีคนเพศสภาพหญิงที่เห็นต่างในประเด็นนี้ และเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มคนเพศสภาพหญิงที่คิดไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น มันไม่ได้แปลว่าคุณไปเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสถาบันด้านนิติบัญญัติ มันการันตีว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่สถาบันการเมืองภาครัฐมันควรจะมีพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงกัน มีพื้นที่ให้คนที่อยู่นอกกระบวนการภาครัฐ ได้เปล่งเสียงของตัวเองว่าต้องการอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ไม่ใช่เฉพาะในฐานะระบบการเมืองและการเลือกตั้ง แต่เป็นประชาธิปไตยในแง่ของวิถีชีวิต ซึ่งยังอีกยาวไกลในสังคมนี้

อำนาจการเมืองแต่ละเพศเท่ากันไหม 

ไม่เท่ากันค่ะ ปัญหาแรกที่ล้อมตัวผู้หญิงที่อยากลงเลือกตั้ง คือบทบาทโดยเฉพาะบทบาทความเป็นแม่เป็นเมีย ดิฉันนึกถึงตอนที่ อบต. เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก พอได้ไปนั่งฟังมันมหัศจรรย์มาก ผู้หญิงจะไม่สนใจองค์กรปกครองท้องถิ่นเพราะมันใกล้ตัว ผู้หญิงต้องมีหน้าที่คอยเลี้ยงลูก พอประชุมเสร็จอาจจะต้องไปรับลูกต่อ พอไปรับลูกมาแล้ว ก็เกิดคำถามว่าแล้วลูกจะอยู่กับใคร?

เพราะงั้นมันมีอะไรที่ข้องเกี่ยวกับตัวผู้หญิงเยอะ เราต้องเข้าใจว่าความเป็นหญิงมันถูกนิยามอย่างหนึ่ง ถูกปลูกฝังแบบหนึ่ง มันกลายเป็นการสร้างกำแพงล้อมคน ผู้หญิงหลายคนเลยไม่คิดเรื่องการลงเลือกตั้ง ไม่คิดถึงการเข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเหตุที่มีข้อจำกัด 

แต่สมมติว่าฝ่ากำแพงนั้นมาได้และตั้งมั่นว่า ‘ฉันจะลงเลือกตั้ง’ ผู้หญิงจะเจอระบบการเลือกตั้งในประชาธิปไตยแบบตัวแทนตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ที่ในหลายๆ รัฐก็เน้นเรื่องการสร้างระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง แปลว่าวินัยของพรรคก็เข้มแข็งเช่นเดียวกัน และจะกลายเป็นว่าพรรคเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาใครลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งคนที่ตั้งใจลงเลือกตั้งกับคนที่พรรคเลือกลงก็มีเหตุผลต่างกันไปในแต่ละระบบการเมือง เอาเป็นว่าผู้สมัครหญิงในหลายๆ รัฐดูเสียเปรียบ

สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิ์มีเสียงเลือกตั้งทั่วไปเวลาที่จะเลือกส.ส.ก็ต้องดูว่าคนนี้เป็นอย่างไร ประชาชนทั่วไปมักจะมองว่าผู้หญิงเป็นคนอ่อนแอ ‘นี่เป็นระบบการเมืองที่ต้องฟาดฟัน คนอ่อนแอทำอะไรไม่ได้’

รวมทั้งความเชื่อบางเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ‘เสียง’ คนในหลายๆ สังคมเชื่อว่าคนที่พูดได้น่าเชื่อถือต้องเสียงทุ้มมากๆ ไม่ว่าอย่างไรผู้หญิงจะเสียงทุ้มได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น พรรคการเมืองต่างๆ เลยมองข้ามแคนดิเดตที่เป็นผู้หญิงไป เว้นแต่ในบางพื้นที่ที่ใช้ระบบโควต้าสมัครใจ เช่นบางรัฐในยุโรปที่พยายามให้มีเปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครหญิงที่พรรคเลือกโดยสมัครใจเพิ่มมากขึ้น 

อ.เห็นด้วยไหมว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อ ส่งผลต่อ ‘อำนาจ’ การเข้าถึงการลงสมัครรับเลือกตั้ง?

เอาแบบเขตก่อน การเลือกตั้งที่เป็นระบบแบ่งเขตไม่ว่าจะแบบหนึ่งเขตหนึ่งคน หรือหนึ่งเขตหลายคน ผู้สมัครทุกคนก็ต้องทำกิจกรรมที่เราเรียกว่า ‘หาเสียง’ ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงหลายกิจกรรม มันเป็นกิจกรรมที่เพศสภาพหญิงหลาย ๆ สังคมรู้สึกไม่ถนัด เช่น การพูดในที่สาธารณะ แต่ก็มีเพศสภาพหญิงในหลายแห่งที่ทำได้

ส่วนระบบสัดส่วนตัวแทนตามรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยบัญชีรายชื่อ จริง ๆ ไม่ได้ทำให้เฉพาะผู้หญิงนะคะ แต่ทำให้คนหลายกลุ่มรู้สึกสบายอกสบายใจมากขึ้นที่ตัวเองอยู่ในลำดับเป็นไปตามหลักการลงคะแนนแบบสัดส่วนอยู่แล้ว หลักสำคัญคือการให้รายชื่อและลักษณะหน้าตาในสภาผู้แทนราษฎรสะท้อนความหลากหลายในสังคม แต่มันจะทำให้ผู้หญิงรู้สึกสบายใจหรือเปล่าไม่ทราบ ดิฉันไม่แน่ใจว่าข้อมูลแบบนี้ใครเป็นคนพูด แต่ก็เป็นการโต้แย้งของตัวเองซึ่งยังไม่มีงานวิจัยให้เห็นอย่างจริงจัง 

การปรับตัวของพรรคการเมืองที่คลายศูนย์กลางอำนาจของสถาบันพรรคลง ทำให้หลายพรรคการเมืองโอบรับ และคำนึงเรื่องเพศมากขึ้นหรือไม่?

พรรคการเมืองในหลายๆ ประเทศรวมทั้งในไทย มีการคว้าตัวผู้หญิงมาเป็นแคนดิเดตเพราะจะสื่อว่าตัวเองเห็นปัญหาของผู้หญิงหรือเข้าใจประเด็นผู้หญิงทำให้พรรคได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น ผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายๆ ที่ ก็ถูกมองเห็นในฐานะของฐานเสียง แต่ในเชิงนโยบายและมาตรการอื่นๆ ภาครัฐเห็นหรือไม่อันนี้ไม่ทราบ ต้องรอดูกันต่อไป จากการอยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์มายาวนาน ดิฉันเห็นผู้หญิงถูกพรรคการเมืองไทยคว้าไปเป็นฐานเสียงอยู่ตลอด แต่ผลลัพธ์ที่ตามมายังไม่เห็น

เราได้เห็นนักการเมืองหลายพรรคที่ปกป้องภาพพจน์ของตัวเองว่า ‘เราใหม่’ เราเข้าใจประเด็นพวกนี้ เราเข้าใจเรื่องความหลากหลายของสังคม แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าในที่สุดแล้วมันจะเป็นอย่างไร คุณต้องรอเลือกตั้งอีกสักสองสามรอบ ว่าวิธีการเลือกตัวผู้สมัครเพื่อสนับสนุนประเด็นต่างๆ แท้จริงแล้วมันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าลำดับความสำคัญของพรรคการเมืองและระบบการเมืองไทยในตอนนี้จะเป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ในตอนนี้

ในบังกลาเทศ และนิวซีแลนด์มีการศึกษาพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้หญิงไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในการเมือง  เนื่องจากต้องเผชิญการโจมตีในรูปแบบที่นักการเมืองชายไม่เผชิญ อ.คิดว่ามันเฉพาะเจาะจงขนาดนั้นไหม?  

ข้อมูลจากประเทศอื่นๆ มีผลอย่างมากกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศ’ ซึ่งไม่ได้มีเพียงการทำร้ายร่างกาย หรือความรุนแรงทางตรง แต่มีเรื่องของการใช้แง่มุมทางเพศมาโจมตีผู้สมัครหรือนักกิจกรรมหญิง และหลายกรณีเป็นอันตรายต่อตัวของเขา หรือต่อสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่มีความหมายในชีวิตของเขา เท่าที่ดิฉันเคยได้ยินมา

นักการเมืองหญิงจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่ไหวเมื่อต้องขึ้นไปแสดงบทบาท ขณะที่คุณกำลังพูดในสภาผู้แทนราษฎร แต่คุณถูกมองว่าไม่มีใครฟัง มองว่าสิ่งที่คุณพูดนั้นไร้สาระ พูดเป็นแต่เรื่องผู้หญิง อีกทั้งยังพยายามย้ำคุณตลอดเวลาว่าคุณเป็นคนไม่มีความหมาย เป็นได้แค่แม่ เป็นได้แค่เมีย ชอบแทนตัวเองว่า ‘หนู’ หรือ ‘น้อง’

ลองคิดดูตอนที่คุณทำงานในองค์กรของคุณและคนรอบตัวของคุณพูดกับคุณว่า ‘คุณก็เป็นแค่ผู้หญิง’ คุณไม่มีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลามันก็คงไม่ไหว มันเป็นการละเมิดทางเพศที่หากพบเจอก็คงทำให้ถอดใจ บางทีคนอาจคิดว่าแค่พูดเล่นเป็นเรื่องตลก แต่คำพูดพวกนี้มันไม่สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเพศสภาพหญิงในระบบการเมืองได้ 

ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในสภา เป็น ‘นิสัยส่วนตัว’ หรือจงใจโจมตีหวังผลประโยชน์ทางการเมือง? 

รัฐอื่นมันมีงานวิจัยที่สนับสนุนประเด็นนี้เหมือนกัน ว่ามีผู้ครองอำนาจรัฐใช้หน่วยงานภาครัฐในการโจมตีศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามทั้งหญิงทั้งชาย คนที่เป็นผู้หญิงจะโดนความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่างๆ นานา มีการล้อเลียน โจมตีทางเพศ ขู่จะข่มขืน ข้อมูลจากที่อื่นมันมีนะ ส่วนข้อมูลของไทยมีไหม?

หากจำกันได้ตอนดิฉันนำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘Gender-Based Violence’ ดิฉันพูดเอาไว้ว่า ถ้ารัฐไทยไม่ได้ทำก็ไม่ต้องร้อนตัว ที่พูดแบบนั้นเพราะว่าดิฉันเข้าใจได้ที่ประชาชนจำนวนนึงในโลกออนไลน์จะสงสัยว่าการโจมตีหลายอย่างมันไม่ใช่ตัวบุคคลที่เขาเห็นหรือไม่ชอบบางเรื่อง อาจจะมีความเป็นเพศนิยมด้วย เอาเป็นว่าคำตอบคือ ‘ที่อื่นมี’ ที่รัฐใช้เรื่องเพศเอามาโจมตีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 

มีเรื่องนึงที่จริง ๆ ไม่สามารถใส่ลงไปในงานวิจัยได้ เช่น การพูดว่าต้องการจะร่วมเพศกับเขา คุณลองนึกว่าหากคุณเป็นนักการเมืองหญิงคนนั้นคุณไหวเหรอ? คุณต้องเจอคำพูดแบบนี้เป็นร้อยครั้งต่อเนื่องกัน มีการพูดว่าจะต้องสั่งสอน จะร่วมเพศกับเขา แล้วการบรรยายว่าจะทำอะไรกับเขาบ้าง มันไม่ใช่เรื่องสนุก ช่วงแรกคุณอาจจะรู้สึกรำคาญ แต่พอคุณเจอมันนานเข้า คุณจะเริ่มกลัว 

จากที่เคยสัมภาษณ์นักการเมืองหญิงอย่างน้อยสองคนมีความเห็นว่า ‘ถ้าคุณแรงไป กระแสตีกลับก็จะแรงตาม’ รวมทั้งการโจมตี ข่าวเสีย ซึ่งหากลดความแรงลงก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางเพศได้ อ.เห็นว่าอย่างไร?

ความกลัวว่าจะถูกโจมตีทางเพศมันกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และมีประสิทธิผลที่จะควบคุมเพศสภาพหญิง บางประเด็นที่ต้องใช้การถกเถียงกัน คุณอาจจะรู้สึกว่า ‘ไม่ทำดีกว่า’ เดี๋ยวจะถูกโจมตี ถูกละเมิด หรือถ้าจะต้องพูดคุณก็อาจจะมีท่าทีที่เบาลงเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกโจมตี แต่คำถามว่า การที่คุณพูดให้เบาลงมันจะทำให้ประชาชน หรือส.ส.คนอื่นๆ เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นหรือเปล่า ความกลัวการโจมตีทางเพศมันเลยกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ปิดปาก ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าทำในหลายๆ เรื่อง

ในหลายๆ วัฒนธรรมยังคงเครื่องมือนี้อยู่ เข้าใจคนที่คิดว่าหากพูดให้เบาลงแล้วจะไม่ถูกโจมตีทางเพศนะ แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้พลังของตัวเขาถูกลดทอนลงไปด้วย ที่สำคัญคือ แล้วคุณหลีกเลี่ยงการถูกละเมิดได้จริงหรือเปล่า? การคุกคามที่มันดูไม่แรง เช่นมีคนมาเรียกคุณว่า ‘หนู’ มาชมคุณว่า ‘สวย’ ตลอดเวลา เขาลุกขึ้นมาพูดในสภากำลังพูดประเด็นสำคัญๆ มีคนมาบอกกับคุณว่าสวยมันแปลว่าอะไร สุดท้ายแล้วคุณหลีกเลี่ยงได้จริงหรือเปล่า?

ปัญหาความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศมันสามารถแก้ไขได้ไหม

สิ่งที่ดิฉันจะชวนคิดคือระบบ ‘สองเพศสภาพ’ ที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศสภาพแล้วก็ให้ค่าแต่ละเพศไม่เหมือนกัน ทั้งยังบอกว่าลักษณะที่เชื่อมโยงความเป็นชายสูงส่งกว่าความเป็นหญิง ซึ่งมันหล่อเลี้ยงการมองโลกของผู้คนมายาวนานมาก ถ้าคุณจะชวนกันคิดก็ควรจะพากันมาคิดกันในเรื่องนี้

แต่ที่เถียงกันมาเป็นศตวรรษมันกลายเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คุณมาชวนกันพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย ผู้หญิงกับผู้ชายต้องมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ต้องมีความเท่าเทียมเสมอภาคในเรื่องของโอกาสทางกฎหมาย ภาษา เสรีนิยม ดังนั้นเวลาคนโต้เถียงกันในทางสังคมมันก็เลยกลายเป็นว่าเสมอภาคต้องเท่ากับรักษาเท่าเทียม

กฎเท่าเทียม แบบที่ว่าความเท่าเทียม (Equality) คือความเหมือน (Sameness) ต้องปฏิบัติเหมือนกัน ใต้กฎเดียวกัน ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน มาโดยตลอด แล้วยังมาเถียงกันว่าใครดีกว่าใคร ที่พูดมาแค่อยากชี้ให้เห็นว่าในที่สุดแล้วคุณไม่ได้พากันกลับมาคิดว่า ‘ระบบสองเพศ’ มันส่งผลต่อตัวของคุณเองอย่างไร คุณถูกมองเห็นยังไง คุณมองเห็นคนอื่นยังไง คุณสามารถจะรังแกคนอื่นโดยที่คุณไม่ได้คิดได้อย่างไร

หากถามว่าเรื่องนี้มันจะต้องแก้ไขอย่างไร มันก็ต้องชวนกันคิดเหมือนกับอีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องชวนกันคิดในสังคม ปัญหาคือเราไม่ค่อยชวนกันคิด เราด่ากันก่อน พอคุณเริ่มด่ามันก็ไม่มีใครคิดไปกับคุณหรอก ตอนมีคนด่าคุณ คุณยังไม่ชอบเลย 

เป็นเรื่องที่น่าแปลกหากเราพูดว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ลงสมัครเลือกตั้ง เพราะการเมืองเป็นของ ‘ผู้ชาย’ เป็นความเข้าใจที่ค่อนข้างโบราณ แต่ยังมีอิทธิพลโดยที่เรามองไม่เห็น อ.คิดว่าแนวโน้มความเข้าใจนี้เป็นอย่างไร 

ในสังคมอื่นตอนต้นศตวรรษที่ 21 ระบบความคิดที่ว่าสถาบันทางการเมืองภาครัฐไม่ใช่พื้นที่ของเพศสภาพหญิงมันยังอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ชัดตามที่คุณพูด แต่คนยังมีความรู้สึกเช่นนั้น ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คนอายุรุ่น 30 ที่เริ่มโตแล้วในหลายๆ สังคม เมื่อมองพื้นที่ทางการเมืองเขาจะรู้สึกแบบนั้น มันยังอยู่ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อน

ในสังคมไทยคนหลายกลุ่มและผู้หญิงชนชั้นกลางอาจจะรู้สึกว่า ทำไมต้องเข้าไปฝ่าฟันกัน เพราะตอนที่คุณเข้าไปพูดในสภาก็ไม่มีใครฟังอยู่ดี มีแต่คนมาบอกว่า ‘คุณสวย’ เรียกคุณเป็นหนูนั่น หนูนี่อยู่ตลอดเวลา แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่ต่อสู้ทางการเมืองนะ แต่เขาใช้วิธีอื่นแทนการเข้าไปในสภาโดยตรง

ผู้หญิงในหลายสังคมที่อายุน้อยและเป็นชนชั้นกลางในหลายประเทศใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองอื่น ๆ เท่าที่ดิฉันเห็นมาช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน การเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่วิธีเดียว และไม่ใช่วิธีที่ทำให้คุณทรงพลังที่สุด เราได้เห็นวิวัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมืองหลายวิธี เช่น การใช้วัฒนธรรมประชานิยม การใช้ภาพพจน์ที่ทรงพลังมากจนทำให้บางประเด็นเป็นที่สนใจของผู้คน หรือใช้การถกเถียงที่มันเปลี่ยนความคิดได้มากกว่าการจะต้องเข้าไปอยู่ในสถาบันด้านนิติบัญญัติเสียอีก 

หากเทียบกับสมัยก่อนขบวนการทั้งเฟมมินิสต์ เควียร์ มีการขยายตัวมากขึ้น เราพบว่าเด็กมัธยมเข้าใจและมีความตื่นตัวเรื่องเพศ ขบวนการที่เกิดขึ้นมันจะส่งผลอย่างไรกับสิ่งที่เราพูดมาไหม?

ต้องดูอีกสักนิดนึง เพราะเสียงของขบวนการเคลื่อนไหวที่ได้ยิน มันเป็นเสียงที่มีฐานการมองโลกเป็นอีกแบบ เขาเห็นแค่ตัวเขาและมองจากตัวของเขาเอง ไม่ได้มองชุมชน คิดว่าตัวเองสามารถที่จะเลือกทางเลือกต่างๆ ได้ด้วยตัวเขาเอง เพราะฉะนั้น ถ้าฟังดีๆ ที่เขาพูดว่า ฉันคิดเองได้ เลือกเองได้ ถามว่า ‘แล้วเลือกอะไรคะ?’

เช่น หากคุณไม่ชอบผู้หญิงคุณก็ต้องมีทางเลือกต่างๆ ในชีวิตได้ หรือตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในเรื่องเพศ คุณแค่ต้องการจะใช้เสรีภาพในการเลือก ซึ่งมันยังมีค่านิยมว่าด้วยเรื่องเพศที่เป็นแบบนี้ฝังอยู่ด้วยและมันไม่ได้ทำให้โลกเปลี่ยนค่ะ ถึงได้พูดว่าเราต้องติดตามกันต่อไป

ถ้าอย่างงั้นแปลว่าเด็กไม่ควรพูดหรือทำอะไรใช่ไหม ไม่ใช่นะคะ! การพูดมันควรจะเกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมนี้ สิ่งที่ควรจะทำมาตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมาคือการให้เด็กของคุณได้โตขึ้น ได้มองทางเลือกที่โตขึ้น มันก็เลยเกิดปรากฏการณ์การเปล่งเสียง

เวลาที่คนอายุน้อยเขาเปล่งเสียงว่า ฉันคิดเองได้ ฉันเลือกเองได้ ฉันชอบอีกอย่างที่อาจจะไม่เหมือนคนรุ่นอายุก่อนหน้านี้ คุณอาจจะตกใจ เพราะคุณไม่เคยตระหนักว่าเด็กก็คือ ‘มนุษย์’ เหมือนกับคุณ เพราะมองว่าเขาอายุน้อยกว่าคุณ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันพยายามจะสื่อคือมันจะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แต่ใดๆ แล้วมันคือการเปล่งเสียงของมนุษย์ 

สุดท้ายแล้ว หากผู้หญิงสามารถใช้อำนาจทางการเมืองในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากนิติบัญญัติ เรายังจำเป็นต้องพูดถึงสัดส่วนของส.ส.หญิงในการสมัครเลือกตั้งอยู่รึเปล่า

ดิฉันมีความเชื่อว่า ช่องทางการใช้อำนาจของประชาชนมันไม่ได้มีแค่ช่องทางเดียว ในประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนทำให้คนเข้าใจผิดว่าคุณมีเส้นทางการใช้อำนาจแค่ทางเดียวที่จะส่งผลลัพธ์ความเป็นได้ในสังคมของคุณ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ประชาชนมือเปล่าในสังคมก็ผลักสังคมให้ไปในทิศทางที่จริงๆ คนบางกลุ่มอาจจะไม่ได้ชอบด้วยวิธีการอื่นๆ และอยู่นอกสภา ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการภาครัฐ​

ดิฉันเข้าใจกลุ่มคนที่อยากจะให้พูดถึงเรื่องโควต้า ไม่ว่าจะเป็นโควต้าพรรคการเมือง โควต้าตามกฎหมาย หรือความสมัครใจของพรรคใดก็ตาม ว่าด้วยเรื่องเพศสภาพ อยากจะให้เพิ่มจำนวนคนเพศสภาพหญิงในสภาผู้แทนราษฎร ในสถาบันด้านนิติบัญญัติ แต่มันยังมีอะไรที่สำคัญกว่านั้น

โจทย์ของดิฉันคือเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ฉันพูดมาโดยตลอดว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเปล่งเสียงพูดถึงปัญหาและความต้องการเฉพาะของเขาในเวลาที่เขาเป็นทุกข์ หรือเมื่อคุณอยากที่จะพูดแต่มันไม่มีที่ให้พูด แล้วจะทำยังไงให้ประชาชนสามารถผลักดันความเป็นไปของสังคม มันไม่มีช่องทาง

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันปี 2560 เราร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกๆ 10 ปี มันเป็นการสร้างกลไกในทางการเมืองซึ่งอาจจะไม่ได้มองเห็นประชาชนอย่างที่เราอยากจะให้เห็น เข้าใจว่าอยากเพิ่มจำนวนผู้หญิง ดิฉันอนุโมทนาสาธุ แต่จะทำยังไงให้ประชาชนทุกกลุ่มเสียงของเขาสำคัญอย่างจริงจังในระบบการเมืองนี้ 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า