Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Extraordinary Attorney Woo บุคคลออทิสติกก็เป็นอนาคตของชาติ เมื่อจำนวนในเกาหลีพุ่งขี้น 2,123% ใน 20 ปี

ในซีรีส์เกาหลีเราจะได้พบอัจฉริยะอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในวงการหมอหรือทนาย แต่ Extraordinary Attorney Woo ซีรีส์จาก Netflix นั้นพิเศษกว่าเรื่องไหน เพราะตัวนำอย่าอูยองอู นั้นเป็นทนายอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก

Extraordinary Attorney Woo อูยองอูทนายอัจฉริยะ บอกเล่าเรื่องราวของ อูยองอู (รับบทโดย พัคอึนบิน) ทนายสาวผู้เป็นบุคคลออทิสติก ที่เพิ่งเริ่มงานในสำนักงานกฏหมายฮันบาดา เธอต้องก้าวข้ามอุปสรรคเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างประตูหมุน ไปจนถึงอุปสรรคที่ใหญ่กว่าอย่างการหาทางชนะคดี อคติ และความเข้าใจผิดของคนอื่น รวมไปถึงเผชิญหน้ากับอดีตของตัวเองและเรื่องราวอีกมากมายที่พร้อมจะเข้ามาในชีวิตเธอได้ทุกเมื่อ

ความสนุก น่ารัก ชวนให้อบอุ่นใจ และสดใหม่ ทำให้ Extraordinary Attorney Woo ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม และมีการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปรีเมคเป็นเวอร์ชั่นอเมริกัน กระแสของนักแสดงและค่าตัวของพวกเขาก็ก้าวกระโดดไปไกลไม่แพ้กับเรตติ้ง ที่พุ่งสูงถึง 15.78% ในตอนที่ 9 จนสามารถเข้าไปอยู่ในอันดับ 10 ของซีรีส์เรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของช่องเคเบิลเกาหลีได้ ซึ่งก็ต้องยกความดีให้กับความสมบูรณ์ของบทละครนักแสดง ทีมงาน ผู้กำกับ และโปรดักชั่นที่ลงทุนไปกว่า 20,000 ล้านวอน

ในช่วงหลังมานี้เราได้เห็นตัวละครออทิสติกในซีรีส์เกาหลีบ่อยครั้งขึ้น เพราะนอกจากการที่ซีรีส์ซึ่งมีตัวละครออทิสติกได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมา และเข้ากับกระแสสนับสนุนความหลากหลาย (Diversity) ซึ่งครอบคลุมไปถึงความหลากหลายทางระบบประสาทหรือ Neurodiversity ซึ่งเป็นแนวคิดว่าผู้คนต่างก็มีการทำงานของสมองและพฤติกรรมที่ต่างกันออกไปเป็นปรกติ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะจำนวนบุคคลออทิสติกในเกาหลีดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา รายงานของ Statista เผยว่าบุคคลออทิสติกที่ได้รับการที่ลงทะเบียนนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2,123% ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาโดยเพิ่มขึ้นจากปี 2000 มีอยู่เพียง 1,514 คน เป็นประมาณ 33,700 คนในปี 2021 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานเรื่อง Prevalence and Premature Mortality Statistics of Autism Spectrum Disorder Among Children in Korea: A Nationwide Population-Based Birth Cohort Study ที่เผยว่าเมื่อเทียบตัวเลขเด็กที่เกิดในปี 2002 และปี 2012 ซึ่งได้รับการวินิฉัยว่ามีอาการในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมภายใน 8 ปี จะพบว่ามีจำนวนเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นถึง 80.77% จำนวนบุคคลออทิสติกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง จึงอาจจะหมายความว่าบุคคลออทิสติกนั้นอาจจะกำลังกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกสังคมมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

งานวิจัยเรื่อง ‘Is Autism Stigma Higher in South Korea than the US? Examining Cultural Tightness, Intergroup Bias, and Concerns about Heredity as Contributors to Heightened Autism Stigma’ จาก ดร.คิมโซยุนและชอนจองอึน ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่าบุคคลออทิสติกในเกาหลีนั้นถูกตีตราจากสังคม เนื่องจาก เกาหลีมี ‘cultural tightness’ สูง ซึ่งหมายถึงระดับความคาดหวังกับการยึดมั่นในบรรทัดฐานทางสังคม ยิ่งมี cultural tightness สูงก็หมายความถึงความอดทนที่ต่ำลงสำหรับคนที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานนั้นเช่นกัน ในขณะที่โดยทั่วไปแล้วบุคคลออทิสติกมักจะไม่ทำตามความคาดหวังนั้น ทำให้พวกเขาโดนกีดกันจากสังคมไม่มากก็น้อย ดังนั้นการทำให้สังคมเห็นว่าการจะเป็นคนดีนั้นมีได้หลายวิธีอาจจะทำให้เขาเข้าใจและเห็นค่าของบุคคลออทิสติกมากขึ้น

และจุดนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการมีตัวละครออทิสติกในซีรีส์ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในหนทางที่จะสร้างความเข้าใจในบุคคลออทิสติกได้มากขึ้น เพราะ autism stigma หรือ การมองบุคคลออทิสติกเป็นตราบาปอาจจะส่งผลให้เด็กออทิสติกไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการดูและที่เหมาะสม เพราะพ่อและแม่อยากจะซ่อนพวกเขาไว้จากสังคมด้วยความอาย หรือกลัวถูกสังคมตัดสิน อย่างไรก็ตามตัวเลขบุคคลออทิสติกที่ได้รับการลงทะเบียนนั้นอาจจะกำลังสะท้อนเช่นกันว่ามีการนำบุคคลออทิสติกมาเข้าระบบมากขึ้น

แน่นอนว่าหนึ่งความสนุกของการดู Extraordinatry Attorney Woo คือการได้เห็นความอัจฉริยะของยองอูในการพลิกคดี แต่ดูเหมือนการนำเสนอภาพของบุคคลออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ (Autistic Savant) แต่ในมุมหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นดาบสองคม เพราะแม้จะทำให้ผู้คนทำให้คนเข้าใจและเห็นศักยภาพบุคคลออทิสติกมากขึ้น แต่ก็อาจจะทำให้คนในสังคมบางส่วนมีความเข้าใจและคาดหวังบางอย่างที่เกินจริง

เช่นเดียวกับซีรีส์เกาหลีเรื่องก่อน ๆ ที่พูดถึงตัวละครในกลุ่มอาการเดียวกันอย่าง หมอพัคชีอน จาก Good Doctor มุนซังแทศิลปิน จาก It’s Okay to Not Be Okay, หรือ ฮันกือรูผู้มีความจำเป็นเลิศ จาก Move to Heaven อูยองอูนั้นก็เป็นอัจฉริยะที่มีความจำแม่นยำระดับ Photographic Memory คือจำได้ละเอียดราวกับถ่ายรูปไว้ ที่มีความสามารถด้านกฏหมายโดดเด่นเช่นกัน ถึงแม้ตัวละครเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าหากได้รับโอกาสบุคคลออทิสติกจะไปได้ไกลขนาดไหน แต่ก็เป็นการเสริมแนวคิดว่าบุคคลออทิสติกต้องมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหน่ึงระดับอัจฉริยะ ในบทความ Yes, I’m Autistic. No, I’m Not a STEM Savant ที่เขียนโดย แมรี่ คิง ซึ่งเป็นบุคคลออทิสติก เผยถึงปัญหาเมื่อสื่อต่าง ๆ หล่อหลอมความเข้าใจผิดว่าบุคคลออทิสติกต้องเป็น STEM ซาวองต์ ที่หมายถึง อัจฉริยะด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ คือการที่มันผลักความคาดหวังมาที่บุคคลออทิสติกให้หาความสามารถพิเศษ super skill บางอย่างที่ให้พวกเขามีค่า เหมือนกับ Daniel Tammet อัจริยะด้านเลขที่สามารถท่องค่าพายได้ 22,514 ตำแหน่งทศนิยม หรือ Stephen Wiltshire ที่สามารถวาดอะไรก็ได้ที่เขาเคยเห็นได้แทบจะทันที แทนที่จะให้เกิดการยอมรับบุคคลออทิสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดงาน และชี้ให้เห็นว่าความคิดชุดนี้ทำให้บุคคลออทิสติกบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับ imposter syndrome หรือความรู้สึกในใจว่าเขาไม่เคยดีพอขึ้นมาเพราะ positive stereotype

ในโลกของละครบุคคลออทิสติกจึงเหมือนมีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น คือหากไม่เป็นอัจฉริยะ ก็เป็นปมในใจ เป็นอุปสรรคที่ต้องข้ามไปของตัวละครเอก น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นซีรีส์อย่าง As We See It ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าสามารถนำเสนอภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริง เพราะนักแสดงนำรวมถึงทีมงานหลายตำแหน่งเป็นบุคคลออทิสติกด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วบทออทิสติกมักจะกลายเป็นผลงานชิ้นเอกหรือบทบาทท้าทายสำหรับนักแสดงยอดฝีมือมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม Extraordinary Attorney Woo ไม่ได้เพียงแต่เน้นเรื่องความสามารถของยองอูเท่านั้น แต่เรื่องชี้ให้เห็นว่าการที่ยองอูมีชีวิตที่ดีได้เพราะเธอได้รับโอกาส ความเข้าใจ และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทั้งพ่อที่ทุ่มเทกับการดูแลลูก เพื่อนที่คอยสนับสนุนและปกป้อง หัวหน้าที่ละทิ้งอคติในตอนแรกและยอมรับเธอเป็นส่วนหนึ่งของทีม และมินโฮที่ให้ความช่วยเหลือและสนใจเธออยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตัดสินเธอ เพียงเพราเธอไม่เหมือนใคร สิ่งที่ยองอูเจอในเรื่องอย่างการถูกทอดทิ้ง ความรำคาญ อคติ หรือแม้แต่การมองว่าการเป็นบุคคลออทิสติกนั้นนับเป็นความได้เปรียบ ยิ่งเน้นให้เห็นความสำคัญสังคมรอบข้างที่มีต่อบุคคลออทิสติก เพราะถึงแม้พวกเขาจะมีไอคิวสูงความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะใช้ชีวิตตามปรกติ และถูกรับเข้าทำงานนั้นก็เป็นไปได้ต่ำ โดยข้อมูลจากเว็ปไซต์สถาบันราชานุกูล ระบุว่า ‘พบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ’ และข้อมูลจากเว็ปไซต์ Autistica.org.uk ก็ระบุว่าในอังกฤษบุคคลออทิสติกนั้นหางานทำได้น้อยที่สุดในหมู่คนพิการ ดังนั้นโอกาสและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างนั้นจึงนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดของคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติก

หนึ่งในเส้นเรื่องที่ทำให้คนอมยิ้มได้มากที่สุดต้องมีเรื่องความสัมพันธ์ของอูยองอูกับคุณอีจุนโฮ จากทีมดำเนินคดี (รับบทโดย คังแทโอ) ซึ่งความน่ารักของยองอูในเรื่องนั้นทำให้ไม่ชวนสงสัยเลยว่าทำไมจุนโฮถึงเริ่มสนใจเธอได้ แต่ก็ทำให้เราสงสัยเช่นกัน ว่านอกโลกที่ปลอดภัยและสวยงามของซีรีส์ ความรักของคนธรรมดากับบุคคลออทิสติกนั้นมีความเป็นไปได้แค่ไหน

แม้จะดูยาก แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องราวความรักหรือชีวิตที่ดีของบุคคลออทิสติกจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย เพราะแม้แต่ในวงการดาราก็ยังมีคนที่ตกหลุมรักความพิเศษของคนออทิสติกอย่างจัง อย่างเช่น เอมี่ ชูเมอร์ นักแสดงตลกชื่อดังที่ออกมาเปิดเผย ใน Growing โชว์เดี่ยวไมโครโฟนของเธอที่มีฉายทาง Netflix ว่าสามีของเธอเป็นออทิสติก โดย คริส ฟิชเชอร์ สามีของเธอนั้นถูกวินิฉัยว่ามีอาการของออทิสติกสเปกตรัม หรือที่สมัยก่อนจัดอยู่ในกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ตั้งแต่คบหากันก่อนแต่งงาน โดยเธอกล่าวว่าเธอทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าสมองของสามีเธอนั้นมีอะไรที่ต่างออกไปจากเธอนิดหน่อย

“แต่เมื่อเขาถูกวินิจฉัยอย่างนั้น ฉันก็เริ่มเข้าใจว่าเรื่องนี้มันตลกแต่ไหน เพราะลักษณะต่าง ๆ ที่ทำให้มันชัดเจนว่าเขาเข้าข่าย เป็นสาเหตุเดียวกันที่ทำให้ฉันตกหลุมรักเขาแทบบ้า มันคือความจริง เขาพูดทุกอย่างที่เขาคิด เขาทำให้ทุกอย่างดูจริงไปหมด เขาไม่ได้แคร์เรื่องบรรทัดฐานสังคม หรือ เรื่องว่าคุณคาดหวังว่าเขาควรจะทำอะไร แต่เขาสามารถทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันงดงาม มากกว่าที่คนอื่น ๆ ในชีวิตของฉันเคยทำได้”

อย่างไรก็ตามเธอก็กล่าวว่า สามีของเธอผู้มีอาชีพเป็นเชฟนั้นถือว่ามีอาการน้อย แต่แน่นอนว่าหากเป็นบุคคลออทิสติกที่อยู่ในระดับ 2-3 การแต่งงานหรือมีความรักนั้นอาจจะยากยิ่งขึ้นอีกด้วยปัญหาและเงื่อนไขที่เป็นไปตามอาการของแต่ละบุคคล เหมือนกับที่อูยองอูบอกพ่อของเธอว่าเธอรู้ดีกว่าการแต่งงานหรือมีคู่นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลออทิสติก รายงานของเว็ปไซต์ Spectrum News ชี้ให้เห็นว่าบุคคลออทิสติกเกือบครึ่งใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว มีแค่หนึ่งในห้าคนที่มีงานทำ เพียง 5% เท่านั้นที่เคยแต่งงาน แต่กรณีของเอมี่ก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า หากสังคมเปิดใจรับและบุคคลออทิสติกได้พบเจอใครใหม่ ๆ ในชีวิตเหมือนกับที่ยองอูได้เจอกับจุนโฮชีวิตพวกเขาก็อาจจะมีความรักและชีวิตคู่ได้เหมือนกับทุกคน

ดังนั้นอนาคตของบุคคลออทิสติกที่อาจจะเปรียบได้กับทรัพยากรล้ำค่าของชาติที่ถูกซ่อนอยู่ จึงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสังคมและคนรอบข้าง ว่าพวกเขาจะได้ออกมาใช้ชีวิตอิสระ มีอาชีพ ความฝัน และความรัก พบเจออุปสรรคและก้าวข้ามมันไปเพื่อเติบโต เช่นเดียวกับอูยองอู วาฬน้อยที่กำลังแหวกว่ายท้าคลื่นลมในทะเลชีวิตที่ฮันบาดาหรือไม่

อ้างอิง

https://www.soompi.com/article/1535751wpp/extraordinary-attorney-woo-in-talks-for-a-u-s-remake

https://www.soompi.com/article/1537237wpp/extraordinary-attorney-woo-breaks-own-ratings-record-as-eve-ends-on-its-highest-ratings-yet

https://www.allkpop.com/article/2022/07/netizens-jaws-drop-at-the-high-quality-scenes-in-extraordinary-attorney-woo

https://uofgpgrblog.com/pgrblog/2021/3/24/neurodiversity

https://www.statista.com/statistics/1250352/south-korea-number-of-registered-autism-cases/

https://jkms.org/pdf/10.3346/jkms.2022.37.e1

https://www.statista.com/statistics/641595/south-korea-birth-number/

● Kim ,So Yoon & Cheon, Jeong Eun; ‘Is Autism Stigma Higher in South Korea than the US? Examining Cultural Tightness, Intergroup Bias, and Concerns about Heredity as Contributors to Heightened Autism Stigma’

https://autisticandunapologetic.com/2018/05/26/6-astonishing-autistic-savants/

https://www.nytimes.com/2022/01/21/arts/television/as-we-see-it-amazon-autism.html

https://th.rajanukul.go.th/preview-4005.html

https://www.autistica.org.uk/news/autistic-people-highest-unemployment-rates

https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2019/04/05/amy-schumer-was-honest-about-her-husbands-autism-im-crying/

https://www.usatoday.com/story/opinion/voices/2019/04/14/amy-schumer-autism-relationship-stereotypes-column/3438235002/

https://www.youtube.com/watch?v=URd-tOiwblg

https://www.spectrumnews.org/news/jobs-relationships-elude-adults-autism/#:~:text=Nearly%20half%20of%20adults%20with,with%20autism%20have%20little%20independence.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6549009/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า