Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแสความฮึกเหิมของพรรคฝ่ายค้านทวีขึ้นทันที !!!

(ภาพจากพรรคเพื่อไทย)

หลังประกาศผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร (เฉพาะแขวงลาดยาว จันทรเกษม เสนานิคม) อย่างไม่เป็นทางการ ในคืนวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. 2565 เพราะปรากฏว่า พรรคที่ได้คะแนนจากคนในพื้นที่มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย 29,416 คะแนน ทำให้ ‘สุรชาติ เทียนทอง’ กลายเป็น ว่าที่ ส.ส. คนใหม่

ขณะที่ พรรคก้าวไกล แม้ ‘กรุณพล เทียนสุวรรณ’ จะเพิ่งมาลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่ได้สร้างเซอร์ไพรส์ คว้าคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 ถึง 20,361 คะแนน โดยทั้งอันดับ 1 และ 2 เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งคู่

ส่วนผลงานของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แชมป์เก่า ที่ส่ง ‘สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ’ ภรรยาของ สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.ในเขตนี้ กลับได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 เพียง 7,906 คะแนน และหากนับรวมกับคะแนนของพรรคกล้า ที่ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ อันดับ 3 ทำได้คือ 20,047 คะแนน กับ พรรคไทยภักดี ‘พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์’ ทำได้ 5,987 คะแนน เป็นอันดับที่ 5 แล้ว ผลคะแนนรวมของ 3 พรรคนี้ก็ยังแพ้ 2 อันดับแรก รวมกันมากกว่า 15,000 คะแนน

นี่จึงเป็น “เสียงสัญญาณ” ที่ไม่อาจละเลย เพราะน่าจะเป็นเสียงที่อยากจะดังตรงไปที่ รัฐบาล รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำในขณะนี้ว่า ควรเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่ ?!!

workpointTODAY สัมภาษณ์นักวิชาการที่คร่ำหวอด และเกาะติดการเลือกตั้งในเมืองไทย มาหลายสนาม 2 ท่าน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้พลังประชารัฐแพ้การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักรอย่างราบคาบ ที่สะท้อนการเมืองภาพใหญ่ และกระแสนิยมที่ลดลงของ พล.อ.ประยุทธ์

(ดร.สติธร ธนานิธิโชติ / ภาพจากสถาบันพระปกเกล้า)

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ผลเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักรบางส่วนนี้ เป็นขาลงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่แล้ว และทางพรรคพปชร. ก็มองออกมานานแล้วว่า “ขายไม่ออกในกรุงเทพฯ” ไม่แปลกที่จะแพ้แบบนี้ เพราะถ้าอยากชนะจริง พปชร.ต้องทุ่มสุดตัว คงไม่ส่งผู้สมัครคนนี้ ไม่ใช้วิธีการหาเสียงแบบให้หัวหน้าพรรคมาเดินชายน้ำ หรือ จัดงานหาเสียงในโรงแรม พปชร.เองน่าจะหาวิธีอยู่ให้รอด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจรีแบรนด์ หรือ ยกพวกไปหาพรรคใหม่สังกัดที่ใส่ตะกร้าล้างน้ำแล้ว นำมาขายคนกรุงเทพฯใหม่

ส่วนกับ “รัฐบาล” เป็นขาลงที่ไม่มีใครว่าไม่ลงยกเว้นพวกเดียวกันเอง แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนว่ารัฐบาลขาลงแบบลงแล้วลงเลย คือ 1. แค่ขาลงกับพรรคที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ และ 2. เรื่องที่คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมน้อยกว่า เลือกตั้งทั่วไปปี 2562

เลือกตั้งซ่อม 30 ม.ค. 2565 (ผลอย่างไม่เป็นทางการ) มีผู้มาใช้สิทธิ 88,124 คน คิดเป็น 52.68% จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 167,287 คนเลือกตั้ง ขณะที่เลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ 127,650 คน คิดเป็น 74.54% จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 171,250 คน)

มองได้ว่า คนที่ไม่ออกมาเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งอาจจะแปลว่า ไม่ชอบรัฐบาลแล้ว ไม่พอใจกับการบริหารงานแบบนี้ จึงแสดงออกด้วยการ “เฉย” ไม่ออกมาเลือกตั้ง เพราะถ้ารัฐบาลเป็นแบบขาลงดิ่งเหวจริง คนจะออกมาตบหน้าด้วยการเข้าคูหาไปเลือกฝ่ายตรงข้าม แต่นี่มองว่ายังให้โอกาส แต่ไม่ช่วยเหลือ มองเป็นนัยยะว่า ให้โอกาสแก้ตัวได้ ถ้าแปลงโฉมกลับมาแล้วดีขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะสนับสนุน ไม่ได้ยี้สุดลิ่มทิ่มประตู

ส่วนการแก้ตัวของรัฐบาล ดร.สติธร ย้ำว่า เริ่มได้ตั้งแต่ขณะนี้เลยคือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างยังอยู่ในตำแหน่ง และอีกครั้งคือการแก้ตัวในการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 ไม่ใช่ปีนี้

( รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย / ภาพจากเฟซบุ๊ก : ยุทธพร อิสรชัย )

ความเห็นอีกด้านจาก รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า เลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) นี้ สะท้อนการเมืองระดับชาติได้ไม่น้อยเลย จากเคยได้กว่า 30,000 คะแนน มาเหลือครั้ง 7,900 กว่าคะแนน ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่เกิดขึ้น คือความนิยมในตัวผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พปชร. เพราะผลที่ออกมาจากการเลือกตั้งครั้งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มาจากคำถามที่ต่อเนื่องมาตลอด ปี 2564 เช่น นายกฯ จะลาออกไหม, จะยุบสภาหรือไม่, จะเปลี่ยนการเมืองเมื่อไหร่ สะท้อนความชอบธรรมจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 และเรื่องทางการเมือง ที่มีการชุมนุมมากมายตลอดปี 2564

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ของการพ่ายแพ้ของ พปชร.เช่น ภาพลักษณ์ ของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.  ที่ส่งภรรยาตัวเองมาลงสมัครเอง, บทบาทของพล.อ.ประวิตร ที่นายสิระ พูดเสมอว่า “แขวนหลวงพ่อป้อม” อย่างนี้หลวงพ่อป้อมไม่ช่วยและสิระจะอยู่อย่างไรต่อไปในทางการเมือง

ปัจจัยที่ 4 การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ต่างจากเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลา เพราะเป็นต่อสู้กันด้วยสองขั้วอุดมการณ์ทุกพรรคตัดคะแนนกันเองอยู่แล้ว แต่การที่ผู้สมัครของพรรคกล้าได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากฐานเสียงเดิมจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่อีกกว่า 5,000 คะแนนน่าจะตัดมาจากพปชร. และปัจจัยสุดท้าย คือ บทบาทของคสช. ในกองทัพ ในวันนี้มีมากน้อยเพียงใด เพราะการชนะหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในเขตทหารของผู้สมัครของพรรคก้าวไกลสะท้อนให้เห็นเรื่องนี้

ส่วนผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 62 รศ.ดร.ยุทธพร มองอีกด้านว่า ตรงนี้ไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะจะเห็นได้ว่า ผู้สมัครทุกคนคะแนนลดลง แม้กระทั่ง สุรชาติ เทียนทอง คะแนนที่ชนะ น้อยกว่า คะแนนที่ได้เมื่อปี 62 แสดงว่า 20 % ที่หายไปมีผลกับทุกคน และบอกไม่ได้ว่า 20 % ที่หายไปจะเลือกใคร บอกไม่ได้ว่าถ้าออกมาจะเลือกพปชร. หรือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด

รศ.ดร.ยุทธพร ยังชวนมองว่า ในการเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา ก็เกิดความเคลื่อนไหวใน พปชร. จนเกิดการขับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกมา ซึ่งกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้ คือ “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาทางเลือกมากมาย ทั้งย้ายขั้วเปลี่ยนค่าย ไปอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย ของกลุ่มสี่กุมาร หรือตั้งพรรคใหม่ หรืออาจจะย้ายกลับคืนรังพรรคเพื่อไทยก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ ในการเลือกตั้งใหญ่โอกาสที่จะได้เปรียบของ พปชร. นั้นน้อยลงแล้ว

นอกจาก นักวิชาการทางด้านการเมืองจะเห็นไปในทิศทางสอดคล้องกัน เรื่องกระแสลงของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล และพรรคที่สนับสนุนแล้ว นักการเมืองขั้วเดียวกันอย่าง พรรคไทยภักดี ยังยอมรับว่า โค้งสุดท้ายของการหาเสียงนั้นเดินเกมผิด

(ภาพจากพรรคไทยภักดี)

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom เตือน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ผลเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ เป็นการลงโทษจากประชาชน เป็นเสียงที่ไม่ควรละเลย

“…สิ่งที่ท่านนายกต้องตระหนักก็คือ ท่าทีต่อพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับการลงโทษจากประชาชน อย่างหนักกว่าที่คาดคิด รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน”

ขณะที่ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส. สงขลา เขต 6 ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคไทยภักดี ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า การหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายที่ผู้สมัครของพรรคไทยภักดี ชู พล.อ.ประยุทธ์ นั้นไม่ได้ผล และถือว่า พลังความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงแบบมีนัยสำคัญในท่ามกลางที่กระแสรัฐบาลตกต่ำเลยทีเดียว

จากนี้คอการเมืองคงต้องจับตาแบบไม่กะพริบกับ “การเมืองไทย” แม้หลายคนเบื่อหน่าย ถึงขั้นออกปากไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า