Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปัญหา ‘ค่าไฟแพง’ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นฮอตในตอนนี้ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย หลายคนเจอค่าไฟเดือนเมษายนพุ่งขึ้นจากเดือนก่อนเป็น 2-3 เท่าตัว

ค่าไฟที่พุ่งขึ้นจนน่าตกใจทำให้หลายคนเริ่มมองหาวิธีที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้มากขึ้น ซึ่ง ‘การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ ได้กลายมาเป็นตัวเลือกหนึ่งที่คนสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนออกแชร์ประสบการณ์ว่าติดโซลาร์เซลล์แล้วแทบไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลยสักบาท

ซึ่งจริงๆ แล้ว การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นทางออกของการลดค่าไฟที่คุ้มค่าคุ้มการลงทุนหรือเปล่า หรือถ้ากำลังเริ่มสนใจแล้ว มีอะไรที่ควรต้องรู้ก่อนบ้าง มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้

[ ติดโซลาร์เซลล์ช่วยลดค่าไฟได้มากแค่ไหน ]

ราคาค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของแต่ละอุปกรณ์ หรือผู้ให้บริการแต่ละเจ้ามักจะมีราคาที่แตกต่างกันไปพอสมควร เนื่องมาจากคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ บริการหลังการขาย รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เพิ่มเติม

แต่ถ้าจะลองคำนวณราคาดูแบบคร่าวๆ เราสามารถเอาจำนวนกิโลวัตต์ของแผงโซลาร์เซลล์ที่ต้องการมาคูณด้วย 25-40 ดูได้ เช่น ถ้าเป็นขนาดแผง 5 กิโลวัตต์ที่นิยมใช้กันในบ้านและออฟฟิศขนาดเล็ก ก็จะมีราคาตั้งแต่ราวๆ 1-2 แสนบาท (5,000 x 25) ไม่รวมค่าขออนุญาตติดตั้งและเอกสารอื่นๆ อีกราว 2-3 หมื่นบาท

โดยแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 กิโลวัตต์จะช่วยเราประหยัดค่าไฟของเราได้ราวๆ 500-1,000 บาทต่อเดือน

-แผง 3 กิโลวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ราว 4,380 หน่วย/ปี ประหยัดค่าไฟราว 1,000-2,000 ต่อเดือน

-แผง 5 กิโลวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ราว 7,300 หน่วย/ปี ประหยัดค่าไฟราว 2,000-4,000 ต่อเดือน

-แผง 10 กิโลวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ราว 14,600 หน่วย/ปี ประหยัดค่าไฟราว 5,000-10,000 ต่อเดือน

โดยช่วงเวลาในการผลิตไฟฟ้าได้ดีที่สุดคือช่วง 10.00-15.00 น. และถ้านับแสงแดดเข้มข้นจริงๆ จะมีเวลาแค่ประมาณ 3.5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งไฟฟ้าที่ได้มาใช้ก็จะเป็นการประหยัดค่าไฟไปได้บ้าง และยิ่งถ้าติดต่อทำสัญญาขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้กับการไฟฟ้าก็จะเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มเติมจากไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานอีกด้วย

ซึ่งโดยทั่วไปการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะมีระยะคืนทุนเฉลี่ยที่ 6-10 ปี หลังจากนั้นก็เหมือนได้ส่วนลดค่าไฟฟรีไปอีกยาวๆ จนถึงหมดอายุรับประกันนั่นเอง

[ ต้องมีบ้านแบบไหนถึงติดโซลาร์เซลล์แล้วคุ้ม ]

อย่างแรกที่ควรทำคือตรวจสอบว่าในบ้านมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากน้อยแค่ไหน เพราะระบบโซลาร์เซลล์ที่นิยมกัน หรือระบบโซลาร์เซลล์แบบ On-Grid จะเป็นระบบที่เก็บไฟไว้ใช้ทีหลังไม่ได้ แต่มีราคาถูกกว่าแบบอื่น

สิ่งที่ต้องดูอีกก็คือ บ้านเรามีบิลค่าไฟเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 2,000 บาทขึ้นไปหรือไม่ เพราะถ้าปกติใช้ไฟฟ้าน้อยมากอยู่แล้ว การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็อาจจะคืนทุนช้า ไม่คุ้มการลงทุนเท่าไหร่

ต่อมาคือทำเลของบ้านที่ควรอยู่ในบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีตึกสูงหรือต้นไม้ใหญ่ปกคลุมบริเวณบ้าน รวมถึงพื้นที่รอบข้างไม่ควรมีการอยู่อาศัยหนาแน่นหรือมีการก่อสร้างบ่อยๆ เพราะอาจจะก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมากไปลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของโซลาร์เซลล์ได้

สุดท้ายก็คือพื้นที่และความลาดเอียงของหลังคาบ้าน แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 กิโลวัตต์จะใช้พื้นที่ราวๆ 7.2 ตารางเมตร ถ้าอยากจะใช้ขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ต้องมีพื้นที่หลังคาถึง 35-40 ตารางเมตร

นอกจากนี้ หลังคาบ้านควรหันไปทางทิศใต้ หรือทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่รับแดดได้ดี ส่วนความลาดเอียงของหลังคาที่เหมาะสมก็จะอยู่ประมาณ 10-15 องศา ซึ่งเป็นมุมที่จะรับแสงพระอาทิตย์ได้เต็มที่ที่สุด

[ ประเภทของการใช้งานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ]

ราคาค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และปริมาณค่าไฟที่จะประหยัดได้ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของการใช้งานเช่นกันโดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ

1.ระบบโซลาร์เซลล์แบบ On-Grid : ระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นการใช้งานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์และจากการไฟฟ้าพร้อมกัน ผ่านการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และทำการขนานไฟเข้าสู่ระบบไฟของบ้านโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่

ซึ่งจุดเด่นของระบบนี้คือค่าซ่อมบำรุงรักษาค่อนข้างต่ำ และจะช่วยลดปัญหาไฟตก ไฟกระชาก รวมถึงยังสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อีกด้วย

แต่ข้อเสียของระบบนี้คือไม่มีการเก็บไฟฟ้าไว้ กลางคืนจึงต้องใช้ไฟบ้านปกติ และเนื่องจากเป็นการขนานไฟ ทำให้เมื่อไฟระบบหลักดับ ระบบนี้ก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จึงเหมาะกับการลดค่าไฟในพื้นที่ที่มีไฟฟ้าเข้าถึงเท่านั้น

2.ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off-Grid : เป็นประเภทที่ไม่ได้มีการใช้ไฟฟ้าจากจากการไฟฟ้าใดๆ ทั้งสิ้น ระบบประเภทนี้นิยมใช้งานในสถานที่ไม่มีไฟฟ้า หรือที่ไฟเข้าไม่ถึง โดยจะมีทั้งแบบที่ไม่ต่อแบตเตอรี่ แดดดีเมื่อไหร่ก็ใช้งานได้แค่ช่วงนั้น กับแบบที่มีการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่เก็บไว้

ข้อดีของระบบนี้คือไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากที่อื่นในการตั้งต้น สามารถทำระบบขนาดเล็กใช้งานแบบพกพา หรือติดตั้งในบริเวณที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงได้

แต่ข้อเสียคือแบตเตอรี่มีราคาสูง และอาจต้องเปลี่ยนทุก 5-7 ปี และถ้าอยากจะรองรับการใช้ไฟพร้อมกันสูงๆ ได้ ก็ต้องวางระบบใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา

3.ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Hybrid : เป็นระบบผสมที่รวมเอาการทำงานของทั้งสองแบบมาไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นระบบ On-Grid ที่มีแบตเตอรี่สำรองไฟไว้ใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงแดดได้ ซึ่งก็จะเหมาะกับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงได้ แต่ไฟดับบ่อยมากและดับเป็นเวลานาน แต่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานการจ่ายไฟไม่ให้มีการดับไม่เกินกี่นาทีต่อปี แบบนี้จึงอาจไม่คุ้มซักเท่าไหร่

แถมความยุ่งยากของระบบนี้คือเราอาจจะต้องแยกเครื่องใช้ไฟฟ้าออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติและอีกชุดหนึ่งใช้กับระบบสำรองไฟของโซลาร์เซลล์นั่นเอง และแบบนี้ยังจะไม่สามารถขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย

[ อยากติดตั้ง ต้องทำยังไงบ้าง ]

ก่อนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ต้องมีการขออนุญาตจากภาครัฐก่อน ซึ่งต้องขอจากหลายหน่วยงานและมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร ทั้งจากการไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ซึ่งจะมีใบอนุญาตอยู่สองแบบ คือ ใบขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าแบบไม่ขายไฟคืน และแบบที่ขายไฟคืนได้

ต่อมาก็คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอใบยกเว้นการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า และสุดท้ายเขต/เทศบาล/อบต. ขออนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์

แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีผู้ให้บริการหลายเจ้าที่รับเป็นตัวแทนในการดำเนินการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการประหยัดเวลา

ส่วนขั้นตอนการติดตั้งจริงๆ เมื่อเราเลือกผู้ให้บริการได้แล้ว ก็จะมีการนัดเข้าสำรวจหน้างานเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ ก่อนจะมีการประเมินราคาให้

โดยมีสิ่งที่ต้องตรวจสอบ เช่น การรับน้ำหนักของหลังคา ขนาดพื้นที่และองศาของหลังคา ตำแหน่งของตู้ไฟ อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ แนวการเดินสายไฟที่เหมาะสม มีการเช็กเฟสของมิเตอร์ไฟ รวมไปถึงการคำนวณการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงในบ้าน เช่น แอร์ ปั๊มน้ำ เป็นต้น

[ อากาศยิ่งร้อนขึ้น แต่ราคาโซลาร์เซลล์อาจถูกลง ]

มีการประเมินจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ว่ากว่าครึ่งของการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า 95% ทั่วโลกภายในปี 2569 จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะได้เห็นแผงโซลาร์เซลล์อยู่รอบตัวมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ แนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง รวมถึงความรักษ์โลกในแบบพลังงานสะอาด

ฉะนั้นใครที่อยากติดโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟฟ้าในตอนกลางวัน ก็อาจจะลองศึกษารายละเอียดติดตั้งแบบ On-Grid ไว้ก่อนก็ไม่เลว เพราะการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรและทำให้มีระยะเวลาการรับแดดที่สม่ำเสมอทั้งปีแบบนี้ ยิ่งจะทำให้แสงอาทิตย์กลายเป็นอีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:

อ้างอิง:

https://www.sunnergytech.com/article/237/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3

https://www.ddproperty.com/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2/solar-rooftop-%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88-37096

https://energyfordummies.com/solar-energy-system/

https://energyfordummies.com/installation-cost/

https://qtc-energy.com/th/on-grid-system-off-grid-system/

https://www.baanlaesuan.com/262512/ideas/house-ideas/solar-cells-15-knowledge/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า