Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติเข้ารักษาตัวห้องไอซียู รพ.ปัตตานี หลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ย้อนดูกรณี “ผู้ต้องสงสัย” บาดเจ็บสาหัส-เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ยังไม่มีการตั้งข้อหาและไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

1. อัสฮารี สะมะแอ : ครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ (ภาพจากประชาไท)

อัสฮารี สะมะแอ อายุ 25 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกในเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 
.
เวลา 21.00 น. นายอัสฮารี ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในสภาพบาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตลงในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เนื่องจากสมองบวม หน้าอกช้ำหลายจุด

วันที่ 28 มิถุนายน 2555 ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า “เหตุที่ตายเนื่องจากสมองช้ำและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แล้วถึงแก่ความตาย” และศาลปกครองสงขลาให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติในเวลาต่อมา

2. อิหม่ามยะผา กาเซ็ง: ความยุติธรรมที่ยังไม่คืบหน้า

อิหม่ามยะผา กาเซ็ง เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส วันที่ 19 มีนาคม 2551 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยเชื่อว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบและจะนำไปแถลงข่าว

21 มีนาคม 2551 อิหม่ามยะผา กาเซ็งถูกพบเป็นศพอยู่บนรถที่ใช้ควบคุมตัว

เอกสารศาลจังหวัดนราธิวาสเรื่องการชันสูตรพลิกศพ อธิบายเหตุการณ์ระหว่างที่อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกควบคุมตัวบนรถยนต์ว่าผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารเตะและต่อย พยานที่ถูกควบคุมตัวไปด้วยกันได้ยินเสียงผู้ตายถูกทำร้าย และเมื่อผู้ตายกลับมายังห้องควบคุมตัวนุ่งผ้าโสร่ง ไม่ได้ใส่เสื้อเหมือนตอนนำตัวออกไป ร่างกายช้ำ บวม เปื้อนทราย ต่อมาลุกไม่ไหวเพราะเจ็บหน้าอก ก่อนถูกนำตัวไปสอบถามสลับกับทำร้ายร่างกายอีกครั้ง เมื่อกลับมาอีกครั้งคิ้วแตก กระดูกหน้าอกไม่เรียบคล้ายกระดูกหัก ก่อนถึงแก่ความตาย

แพทย์ระบุว่าสาเหตุการตายเพราะร่างกายกระแทกของแข็ง กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ก่อนสรุปว่าเสียชีวิตระหว่างคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่

20 กรกฎาคม 2554 ศาลแพ่งสั่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกชดเชยครอบครัว 5.2 ล้านและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ติดต่อมูลนิธีประสานวัฒนธรรม พบว่าคดีอาญานั้นยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเนื่องจากศาลยุติธรรมวินิจฉัยว่าต้องฟ้องศาลทหาร ซึ่งโจทก์ฟ้องเองมิได้ ต้องกระทำผ่านอัยการศาลทหารให้เป็นผู้ยื่นฟ้อง โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้ปปช.สืบสวนและส่งเรื่องไปยังอัยการศาลทหาร ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม

3.สุไลมาน แนซา: ผู้สนองนโยบายรัฐที่จบชีวิตในค่ายทหาร กับข้อกังขาเรื่องฆาตกรรมอำพราง

AFP บรรยายภาพนี้ว่าเป็นภาพของมารดาของสุไลมาน แนซา อาชีพเกษตรกรและคนงานก่อสร้าง นั่งอยู่เบื้องหน้าภรรยาของเขาในบ้านที่จังหวัดปาตานี โชว์ภาพลูกชายที่เสียชีวิตในวัย 25 ปี ระหว่างการจับคุมในค่ายทหาร ครั้งสุดท้ายที่ครอบครัวเจอสุไลมานคือตอนที่ทหารจับตัวไปสอบถามเนื่องจากสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงหรือไม่ ทหารบอกครอบครัวในภายหลังว่าเขาเสียชีวิตด้วยการผูกคอตาย แต่ญาติเชื่อว่าเขาถูกทรมาณจนเสียชีวิต (Photo by MADAREE TOHLALA / AFP)

สุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จากการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

วันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.2553 เขาถูกพบเป็นศพ ในสภาพมีผ้าขนหนูผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างในห้องควบคุมตัว ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งว่า“ผู้ตายตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่าง  ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

อย่างไรก็ดีสื่อท้องถิ่น “มุสลิมไทยโพสต์” ตั้งขอสงสัยว่าสภาพมายัต (ศพ) ของนายสุไลมานพบพิรุธหลายอย่าง เช่น บริเวณหน้าท้องมีลักษณะคล้ายรอยจี้เป็นจุดๆ เอวด้านหลังมีลักษณะคล้ายรอยจี้เดียวกันเป็นแนวยาว บริเวณลำคอมีรอยถลอก บริเวณต้นขามีลักษณะคล้ายรอยช้ำ และร่างกายไม่ได้ลอยเหนือพื้นอย่างที่การผูกคอตายควรจะเป็น

มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐในเดือนพฤษภาคม 2554 แต่ถอนฟ้องในภายหลังเนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จำนวน 7.5 ล้านในเดือนสิงหาคม 2555

นายเจ๊ะแว แนซา พ่อของสุไลมานเล่าให้สำนักข่าวประชาไทฟังว่า ก่อนตายนายสุไลมานยังสนองนโยบายรัฐ โดยร่วมโครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ โครงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลี้ยงไก่บ้านและปลาดุกตามวิถีพอเพียง แต่หลังสุไลมานเสียชีวิตหน่วยราชการด้านความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่าเขาเกี่ยวก้บคดีด้านความมั่นคงถึง 14 คดี

4. อับดุลลายิ ดอเลาะ สรุปสาเหตุการตายไม่ได้ ญาติชี้การผ่าศพขัดความเชื่อ

เอกสารยืนยันการเสียชีวิตของนายอับบดุลลายิ ดอเลาะ (ภาพจากประชาไท)

นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 41 ปี ถูกควบคุมตัววันที่ที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และเสียชีวิตในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558

สภาพภายนอกของศพไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลชัดเจนใด ๆ มีจุดเลือดที่เกิดขึ้นในดวงตาทั้งสองข้างของผู้ตาย ภรรยาผู้ตายแจ้งความประสงค์ไม่ให้มีการผ่าศพเนื่องจากความเชื่อทางศาสนา มีเพียงการเจาะเอาเลือดและน้ำเหลืองของผู้ตายไปตรวจ สุดท้ายไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้

5. มะสุกรี สาและ เป็นอัมพาต ไร้การเยียวยา

ภาพขณะเจ้าหน้าพี่พบนายมะสุกรี สะและล้มบริเวณหน้าห้องน้ำ (ภาพจากประชาไท)

นายมะสุกรี สาและ อายุ 36 ปี ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2562 ในฐานะผู้ต้องสงสัยร่วมก่อเหตุรุนแรง และถูกควบคุมตัวไว้ในศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

16 มีนาคม 2562 เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายมะสุกรีส่งโรงพยาบาลปัตตานี ในสภาพไม่รู้สึกตัว เส้นเลือดในสมองตีบ โดยชี้แจงว่าเขาได้ลื่นล้มในห้องน้ำภายในศูนย์ฯ โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนตามระเบียบ ไม่มีการซ้อมทรมาน

ด้านแพทย์ยืนยันว่า “ไม่พบร่องรอยบาดเจ็บ ฟกช้ำจากการกระทบกระแทกแต่อย่างใด”

ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ ระบุว่า “ได้รับข้อร้องเรียนที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่บางคนไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยกล่าวอ้างว่า ในขณะที่นายมะสุกรีถูกควบคุมตัว เขาถูกบังคับให้ ยืนตลอดทั้งวันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนและได้มีโอกาสนั่งเฉพาะเวลาละหมาดและรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ยังถูกเตะที่ขาและตีที่ศีรษะด้วยไม้หุ้มผ้าหลายครั้ง ประกอบกับทั้งจากการไม่ได้นอนทำให้เขามีอาการมึนศีรษะ เมื่อไปเข้าห้องน้ำ จึงลื่นล้มและสลบไป”

ปัจจุบัน นายมะสุกรี สาและ มีอาการแขนขาอ่อนแรงเคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องได้รับกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง

6. อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้บาดเจ็บคนใหม่ ในวังวนที่ความเป็นธรรมเป็นในสถานะคลุมเคลือ

อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่งคง ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี วันที่ 21 ก.ค. 2562

วันต่อมา เขาถูกนำตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู รพ.ปัตตานี ในสภาพสมองบวมอย่างรุนแรง จากการขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน หากพบเจ้าหน้าที่ละเมิดจะดำเนินการลงทัณฑ์ ทางวินัยและทางอาญาทหารอย่างเด็ดขาด

ด้านแอมเนสตี้ ประเทศไทยร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติว่าการตรวจสอบเรื่องนี้ควรมาจากองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ใช่ให้ทหารตรวจสอบกันเอง

ล่าสุด ภรรยานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

นอกจากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังมีการร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 2550-2562 รวมทั้งสิ้น 155 คน ซึ่งจากเอกสารที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งให้แก่ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ตามคำร้อยขอระบุว่า “คำร้องเกือบทั้งหมด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ยังไม่ปรากฎพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้รับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐประทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขณะนี้ยังมีคำร้องบางส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง”

ด้านศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่าหลายครั้งที่ร้องคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไป ได้รับการเอาใจใส่และดูแจากเจ้าหน้าที่จริง แต่เนื่องจากระบบการส่งคำร้องมีความซับซ้อนทำให้กว่าเรื่องจะได้รับการตรวจสอบ บาดแผลและรอยที่อาจเป็นพยานว่าถูกซ้อมทรมานก็ได้หายไปแล้ว

ผู้บาดเจ็บ – เสียชีวิตทั้งหมดมีสถานะเป็นผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในกระบวนการซักถามเท่านั้น ยังไม่มีการตั้งข้อหาหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อตัดสินว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือเกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือไม่

อ้างอิง
คำพิพากษาศาลปกครองสงขลาคดีอัสฮารี (ฉบับสมบูรณ์)
พิพากษาคดีอาญาอิหม่ามยะผา ศาลยุติธรรมชี้ต้องฟ้องศาลทหาร
คำสั่งศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อช.9/2551 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551
ว่าด้วยการตายของ สุไลมาน แนซา กับผลสะเทือนรุนแรงกว่าที่คาด

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า