Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สัมภาษณ์พิเศษเผย ทำไม ‘Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ ต้องเพิ่มตัวละครสมมุติ  

Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง เป็นซีรีส์จาก Netflix ที่จะเผยเรื่องที่หลายคนต่างสงสัยว่าระหว่างที่คนข้างนอกรอคอยมีอะไรเกิดขึ้นในถ้ำบ้าง นอกจากนี้ยังมีความตื่นเต้นของภารกิจการช่วยเด็ก ๆ และโค้ชพร้อมรายละเอียดที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน เล่าผ่านตัวละครสมมุติที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่สำหรับซีรีส์โดยเฉพาะ และการพูดคุยกับ ดาน่า เลอดูซ์ มิลเลอร์ และ ไมเคิล รัสเซลล์ กันน์ ผู้จัด & ผู้เขียนบท และ บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับการแสดง & ผู้อำนวยการสร้าง ก็เผยเรื่องราวเบื้องหลังและความพิเศษของซีรีส์เรื่องนี้ให้ส่องประกายชัดเจนขึ้น

ไมเคิล รัสเซลล์ กันน์ – ดาน่า เลอดูซ์ มิลเลอร์ ‘ผู้จัด & ผู้เขียนบท’ และ บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ‘ผู้กำกับการแสดง & ผู้อำนวยการสร้าง’

ตัดสินใจนานหรือไม่กับการเข้าร่วมโปรเจกต์ ‘Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’

บาส นัฐวุฒิ: คือดีใจนะตอนที่ คุณจอห์น เปน็อตติ โปรดิวเซอร์ เขาชวนไปทำโปรเจ็กต์ครั้งแรก แต่ภายใต้ความดีใจมีความกดดันอยู่ด้วยในเวลาเดียวกัน ผมรู้ว่าคอนเทนต์นี้ไม่ง่ายแน่ๆ ในการผลิต ขนาดตอนนั้นยังไม่มีข่าวจะมีคอนเทนต์อื่นๆ ออกมาแข่งด้วยนะ แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีเกินกว่าที่เราจะปฏิเสธ ก็เลยตัดสินใจที่จะคอมมิตกับมันครับ

ดาน่า: ไม่ ฉันไม่ได้คิดมากเลยค่ะ ในเมื่อ จอห์น ชู กับ SK และ Netflix อยากให้คุณมาทำงานด้วยในโปรเจกต์ที่ทั้งโลกรู้จัก มันเป็นอะไรที่ฉันต้องตอบตกลงทันที แต่ฉันก็เพิ่งมารู้ตัวตอนที่ฉันเริ่มขุดลึกลงไปในเรื่องราวว่านี่ฉันหาทำอะไรอยู่เนี่ย แต่ในทางที่ดีนะคะ เพราะว่ามันมีอะไรอีกมากที่ฉันยังไม่รู้

เมื่อคุณดูข่าวคุณก็เห็นแต่พาดหัวข่าวตัวเป้ง ๆ และเรื่องราวหลัก ๆ จากภารกิจ สิ่งที่เราค้นพบก็คือมันเป็นเรื่องราวของครอบครัวที่ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เป็นเรื่องราวของชุมชน และคนที่น่าสนใจอีกมามายที่มารวมตัวกันเพื่อทำอะไรดี ๆ แล้วความจริงก็ประดังประเดเข้ามาในหัวฉันว่านี่มันเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ! นี่ฉันทำอะไรลงไปเนี่ย แต่มันเป็นเกียรติของชีวิตฉันเลยค่ะที่ได้ทำงานในโปรเจกต์นี้

ไมเคิล: ก็เหมือนกับทุกอย่างที่สองคนนี้พูดครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้
ผมไล่ตามมันอยู่หลายปี ตั้งแต่ตอนอยู่ที่ฮอลลีวูดและจอห์น ชู เป็นเจ้าของเรื่อง ผมอยากทำมันมาก ๆ

ผมก็เลยไล่ตามมันอยู่เป็นปี ๆ และสุดท้ายเมื่อพวกเขายอมให้มันกับเรา ก็เหมือนกับที่ดาน่าบอกว่ามันก็น่าหวั่นใจไม่ใช่ย่อยเมื่อคุณต้องมาทำมันจริง ๆ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจและขอบคุณมาก ๆ ที่ได้รับโอกาสนี้ครับ

คุณเป็นนักเขียนบทต่างชาติแต่ต้องมาเขียนบทซีรีส์ไทย มีกากรเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ

ดาน่า: ค้นคว้าค่ะ มันคงจะดีถ้าเราได้มาไทยแล้วทำการค้นคว้า แต่เรานำเสนอเรื่องกับ Netflix ตอนที่มีโรคระบาดทั่วโลกพอดีเราเลยไม่ได้มีโอกาสนั้น แต่การอยู่รายล้อมด้วยทีมงานคนไทยเก่ง ๆ ที่ช่วยแนะนำ แก้ไข และเตือนตอนเราทำผิด ผู้ชายที่นั่งอยู่นี่ล่ะค่ะ และการเปิดใจ หรือแค่ยอมรับไปตรง ๆ ว่า เราไม่รู้ และเราต้องเรียนรู้ มันคือส่วนที่ใหญ่มากในการทำสิ่งนี้ ฉันรู้สึกว่าเราใช้เวลาหลายเดือน จนถึงเฟรมสุดท้าย ในการมีคนมาแก้ไข และเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย และเราหวังว่าคนไทยจะภูมิใจกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นบนหน้าจอค่ะ

และคุณบาส นัฐวุฒิ ก็เสริมถึงการดัดแปลงบทและบริบทให้มีความเป็นไทยมากที่สุดและความยากของการผสมภาษาถิ่นลงไปในเรื่อง

บาส นัฐวุฒิ: ใช้เวลา ใช้กำลังคนค่อนข้างเยอะ ลำพังผมคนเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องการความช่วยเหลือจากคนท้องที่ หรือว่าคนแปลบทเองก็ตาม ที่เขาต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องพวกนี้ในระดับหนึ่ง แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับไปให้เครดิตกับ ดาน่า และ ไมเคิล ที่เขาไว้ใจ ให้เวลาและยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและต่อสู้ไปด้วยกัน

ไมเคิล: ผมกับดาน่าเดินเข้าไปในตึก Netflix ใหญ่ยักษ์ที่ Sunset Boulevard, Hollywood

และสิ่งแรกที่เราพูดเลยก็คือ เราอยากให้ภาษาที่คน ๆ นั้นพูดในชีวิตจริง เป็นภาษาเดียวกับที่เขาจะพูดบนจอฉะนั้นมันไม่ได้สำคัญว่าภาษาที่เขาจะพูดนั้นจะเป็นภาษาของชนเผ่าทางเหนือ ภาษากลาง หรือภาษาอังกฤษหรืออะไรก็ตามที่เขาพูด เราแค่อยากให้เป็นภาษาที่เขาพูด

จริง ๆ ต้องยกความดีให้ Netflix เลยครับ ว่าพวกเขาไม่หวั่นไหวสักนิด และสนับสนุนสิ่งนี้ตั้งแต่ต้นดาน่ากับผมเคยทำงานกับหลายที่ในฮอลลีวูดที่มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดมากว่าคุณใช้ภาษาต่างประเทศอะไรได้บ้างและใช้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นเรื่องตรงกันข้ามเลยสำหรับ Netflix ที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างมากถึงขั้นที่ว่าให้งบกับเรา ซึ่งเป็นอะไรที่เราจะตั้งคำถามเสมอเมื่อทำงานในโปรดักชั่น เขาให้งบเราไปจ้างทีมงานที่จะแปลทุกอย่างให้กับเราและยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างทำงานก็มีล่ามแปลให้กับเรา เพราะผมกับดาน่าจะนั่งอยู่ที่กองถ่ายข้าง ๆ พี่บาส และบางครั้งไม่มีใครสักคนเลยในสามคนนี้ที่พูดภาษาเดียวกับที่นักแสดงพูดอยู่ มันก็เลยต้องใช้คนจำนวนมากที่มาร่วมมือกันเพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่คุณกำลังชมอยู่บนจอมันไม่ใช่แค่สิ่งที่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเท่านั้น แต่เป็นอะไรที่ซับซ้อนอย่างยิ่งในแง่ของโปรดักชั่นที่จะทำให้สำเร็จครับ

การเลือกร่วมงานกับนักแสดงหน้าใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์การแสดงมาก่อน

บาส นัฐวุฒิ: เป็นความคิดไมเคิลเลย

ดาน่า: ไม่ใช่!

บาส นัฐวุฒิ: เขาทำให้เราลำบาก…ล้อเล่น ๆ

ไมเคิล: ผมคิดว่า คือบอกไว้ตรงนี้เลยว่า เรามีแคสติ้งไดเรกเตอร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือปุ้ย และปุ้ยก็เริ่มต้นจากการหาสิ่งทีเราต้องการคือความสมจริง ผมกับดาน่าต้องยกความดีให้กับปุ้ยและบาสไปเต็ม ๆ เพราะความต้องการของเขาทั้งคู่ที่จะทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นอะไรที่ผู้ชมชาวไทยจะรู้สึกคุ้นเคยและรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับชีวิตจริง แล้วเราต้องทำให้มันสมจริงที่สุดเท่าที่จะทำให้เพื่อชาวไทยทุกคน และผมอาจจะพูดแทนคุณไม่ได้แต่ผมคิดว่าเราต้องยกความดีให้กับบาสไปเต็ม ๆ ที่นำให้เกิดสิ่งนี้

ดาน่า: 100% ให้กับปุ้ย แล้วค่อยให้บาส ขอเสริมนิดนึง คือตั้งแต่ต้น เราอยากให้คนดูสัมผัสได้ว่าทุกอย่างมันมาจากใจ ใ้ช้แรงกาย และเปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์แค่ไหน และเพราะคุณบาสไม่อยากได้นักแสดงให้ความรู้สึกว่ากำลังทำการแสดงอยู่ เราก็เลยลองเสี่ยงใช้คนที่ไม่ใช่นักแสดงมาเล่น และนี่คือหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้เลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ แสดงได้ยอดเยี่ยมมาก ๆ เขาทำเราเสียน้ำตาทุกทีเลย

ไมเคิล: และทั้งดาน่าและผมเองก็เคยทำงานกับนักแสดงเด็กมากก่อน แต่เรากำลังขออะไรที่ยิ่งกว่าการแค่พูดภาษาได้แต่ให้แง่ของวัฒนธรรมด้วย แต่มันคือความมั่นใจของบาสที่ทำให้เรามั่นใจว่าเราจะทำได้

การเพิ่มตัวละครสมมุติ สะท้อนบทบาทของผู้หญิง ระบบ และ อุปสรรคในการทำงาน

ดาน่า: ตอนค้นคว้า เราอ่านหนังสือทุกเล่ม บทความทุกบทความ ทุกอย่างเท่าที่เราจะหาได้ และฉันคิดว่ามันมีคนเจ๋ง ๆ อีกมากที่คุณจะได้ยินชื่ออยู่เรื่อย ๆ นักดำน้ำ หน่วยกู้ภัย อะไรแบบนั้น แต่สิ่งที่เราค้นพบ และมันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่าง ๆ เช่นมีการพูดถึงชาวนาหรือคนที่โผล่มาเพื่ออาสานวดให้กับคนที่มาช่วยกู้ภัย

มันมีเรื่องเล็ก ๆ และผู้คนอีกมากมายที่เข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ และเราก็เริ่มถูกดึงดูดด้วยเรื่องราวเหล่านั้น ว่ามันมีเรื่องอะไรของใครที่อยู่ตรงนั้น แต่ยังไม่ถูกพูดถึง แล้วในขณะที่เราเริ่มคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ และคิดว่าเราจะทอนเรื่องราวมหากาพย์เหล่านี้ลงมาเหลือ 6 ชั่วโมงอย่างไรดี เราก็เริ่มรวบรวมลักษณะเฉพาะของตัวละครเหล่านี้มาไว้ในการสร้างสรรค์ตัวละครใหม่ขึ้นมา เพราะว่าถึงแม้จะไม่มีการเขียนหรือพูดถึงผู้หญิงเท่าไหร่ในตอนนั้น แต่ว่าในทุกรูปที่เห็นจะมีผู้หญิงเป็นกองอยู่ในนั้น กำลังทำอะไรสักอย่างและมีส่วนร่วมกับภารกิจ และเราก็อยากจะหาทางที่จะเน้นความเป็นฮีโร่ของพวกเขาเช่นกัน เราจึงสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อทำสิ่งนี้ค่ะ

บาส นัฐวุฒิ: คือสุดท้ายผมว่าเป็นเรื่องของของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่กำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างที่มันใหญ่กว่าตัวเราเอง ไม่ว่าอะไรบางอย่างเหล่านั้น จะมาในรูปแบบของธรรมชาติ ระบบ หรือ ผู้คน แต่เราต้องสู้กับมัน เพื่อทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องที่สุด หรือควรทำที่สุด มันอาจจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกมันมีแง่มุมที่ทำให้การพูดถึงเรื่องราวนี้มีมิติ

โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล รับบท ‘พิม’ เจ้าหน้าที่ป่าไม้

และภาพขอฮีโร่ตัวเล็กตัวน้อยเหล่านั้นก็ถูกบรรจุอยู่ในตัวละครอย่าง พิม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ (รับบทโดย โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล) และ นุ่น นักศึกษาฝึกงานในกรมอุตุนิยมวิทยา (แนนซี่ – ดารินา บุญชู) ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ที่เน้นบทบาทของผู้หญิงและเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่ซ่อนตัวอยู่ในซีรีส์ให้เด่นชัดขึ้น

คุณโดนัทรับบทเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งที่คนอาจจะไม่ได้เป็นหน้าที่แรก ๆ ที่คนนึกถึงเมื่อนึกถึงภารกิจนี้ ความรู้สึกแรกของการได้รับบทนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่โปรเจกต์นี้มันเป็น International Production มันเลยเป็นระบบที่ทุกคนต้องไปออดิชั่นก่อน แล้วก็มีติดต่อกลับมา เราก็ต้องรอ ว่าเราจะได้บทหรือเปล่า ตอนที่เริ่มไปออดิชั่นก็ทำการบ้านด้วยการไปแบบกูเกิล เอ้ะ มันมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนไหน หรือว่ามีภารกิจอะไรของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่โดดเด่นออกมา ในภารกิจถ้ำหลวงนี้ ปรากฏว่าไม่เจอเลย แต่ว่าเราจะเจอในทุกรูปภาพที่ถ่ายในเหตุการณ์ เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ใส่ชุดกรมป่าไม้เยอะ น้อย ต่างกัน

เราก็เก็บความสงสัยนั้นไว้ จนในที่สุด วันนึงที่เราได้แสดงในซีรีส์เรื่องนี้จริง ๆ ก็เลยถามนักเขียน แล้วก็โชว์รันเนอร์ก็คือ ไมเคิล กับ ดาน่า เขาก็บอกว่าเพราะไม่เคยมีใครกล่าวถึง หรือว่าให้เครดิต ชื่นชม แล้วด้วยตัวอุทยานเองอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นคนที่รับผิดชอบหน้าที่โดยตรง ก็คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาก็เลยหยิบเอาหน้าที่นี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องค่ะ

ความลำบากของการแสดงกลางป่าและน้ำฝน

จากชื่อเรื่องเราก็รู้อยู่แล้วว่า ซีรีส์น่าจะมาพร้อมกับความลำบาก แต่มันก็ลำบากเกินกว่าที่จินตนาการไว้ หรือว่าตอนที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ๆ เราก็เห็นแล้วว่ามันมีฝน มันมีโคลน มันยากในการทำงาน พอไปทำจริง ๆ ความยากที่เราเห็นในภาพ มันยากกว่านั้นอีก บางครั้งเราก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาด้วย แล้วก็จากการทำงานเรื่องนี้ ทำให้เรารู้เลยว่าเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้เลย มันเป็นเงื่อนไขที่ใหญ่มาก มันต้องใช้ใจล้วน ๆ แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ โชว์รันเนอร์ก็จะแซวว่า หลังจากนี้ ยูจะได้รับบทแบบนี้แหละ ถ้าเปียก เลอะ เขาก็จะต้องนึกถึงยู

ความน่าสนใจหนึ่งอย่างคือบทเด่น ๆ ที่เพิ่มเข้ามาเป็นบทผู้หญิงทั้งหมด การที่ต้องเพิ่มมันเข้ามามันสะท้อนถึงความจำกัดของบทบาทผู้หญิงในระบบและในวงการบันเทิงหรือเปล่าสำหรับคุณโดนัท

ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี โดนัทอาจจะโตมา โดยการที่โดนัทรู้สึกว่าเรามีสิทธิทุกเรื่อง ที่จะแบบแสดงความคิด ที่จะเลือก แล้วก็ครอบครัวเราซัพพอร์ตมาก ๆ แล้วเราก็ค่อนข้างดื้อรั้นในสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะเป็น จนโดนัทไม่เคยคิดว่าตัวเองแบบถูกลิดรอน

แต่ตัวละครที่โดนัทรับในเรื่อง พิมที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ด้วยตำแหน่งแล้ว เรียกว่าไม่มีคนมองเห็นเลยดีกว่า แล้วดันเป็นผู้หญิงอีก เหมือนเราจะไปบอกให้ใครไปทำอะไร มันยากมาก มันก็คงเป็นเรื่องจริง ที่มันเกิดขึ้นนะคะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราต้องทำ ทำจนกว่าจะมีคนเห็น ซึ่งอันนี้ก็ตรงกับตัวเอง

จนวันหนึ่งไปเทศกาลภาพยนตร์ที่อินเดีย แล้วก็มีคนถาม แล้วพอเราตอบเราก็ค่อยกลับมามองย้อนกลับว่า เออมันมีปัญหาแบบนี้จริง ๆ นะ พอมารับบทพิม ที่ไม่มีอำนาจ ด้วยฐานะแล้วพูดอะไรก็ไม่ได้ ออกความเห็นยังไม่ได้เลย อำนาจนี่ลืมไปได้เลย เพราะฉะนั้นพิมต้องทำทุกอย่างเพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่า เขาคือคนที่รู้จักพื้นที่นี้จริง ๆ นะ แล้วก็เขาอยากจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าพอเกิดเหตุเด็กติดอยู่ในถ้ำ คนแรกที่ต้องรับผิดชอบจริง ๆ ก็คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พอโดนัทมานั่งดูหนังในฐานะผู้ชม เราก็เห็นจริง ๆ ว่าบางทีเสียงของผู้หญิงมันก็…มันก็ยากเหมือนกันถ้า ไม่ดื้อพอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราต้องทำ ทำจนกว่าจะมีคนเห็น และมันก็สะท้อนออกมาในตัวนุ่น ในตัวพิม แล้วก็ในตัวเคลลี่

เชื่อว่าทุกการแสดงหรือการรับบทเป็นคนอื่น อาจจะเปลี่ยนอะไรในตัวเราไปได้ไม่มากกก็น้อย จากภารกิจในการช่วยชีวิตในเรื่องพูดถึงความเป็นความตายอยู่มาก คุณโดนัทมีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการรับบทนี้มากไหม

ถ้าพูดถึงเรื่องการสูญเสีย โดนัทว่าเหตุการณ์ที่มันสะเทือนใจที่สุดสำหรับโดนัทก็คือหลังจากที่เราถ่ายซีรีส์เสร็จ แล้วเราต้องเสียน้องบีม ซึ่งรับบทเป็นโค้ชเอกในเรื่อง แล้วก็ตัวละครที่โดนัทเล่น ตลอดทั้งเรื่อง เขาจะไม่ยอมให้ปฏิบัติการยกเลิก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะพยายามทำทุกอย่างหรือกระซิบบอกว่า เฮ้ย เราต้องไปต่อ ทำต่อ แล้วเขาต้องมั่นใจว่าเด็กออกมาได้ แล้วพอตอนที่เราต้องเสียบีมไปในชีวิตจริงอะ โดนัทว่ามันยากนิดนึง (น้ำตาคลอ) มันก็เลยรู้สึกว่าชีวิตมันสั้นมาก ตอนจบของซีรีส์โดนัทเห็นบีมแล้วเสียดายที่น้องไม่ได้ดูเรื่องนี้

แต่ในการสูญเสีย มันก็มีสิ่งที่ดีอยู่ ก็คือว่าเราได้เห็นความร่วมมือกันในความยากลำบาก ในเรื่องจริงของภารกิจนี้กับซีรีส์เรื่องนี้ มันสะท้อนสิ่งเดียวกันว่า ไม่ว่ายากลำบากแค่ไหน เราก็จะทำมันออกมาให้สำเร็จจนได้

แนนซี่-ดารินา บุญชู รับบท ‘นุ่น’ นักศึกษาฝึกงานในกรมอุตุนิยมวิทยา

อีกหนึ่งนักแสดงที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ นุ่น นักศึกษาฝึกงานในกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นตัวละครซึ่งสร้างสีสันและมิติให้กับเรื่องอย่างคาดไม่ถึง และการพูดคุยกับ แนนซี่ ดารินา ก็ทำให้เราได้รู้ว่ากว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ในชีวิต ชีวิตการเป็นนักแสดงของเธอก็ยากไม่ต่างกับหน้าที่ของนุ่นในเรื่อง

นี่เป็นผลงานซีรีส์เรื่องแรกของแนนซี่และเป็นการทำงานครั้งแรกกับ Netflix ด้วยรู้สึกอย่างไรบ้าง

ใช่ค่ะ ปกติก่อนที่จะเล่นภาพยนตร์ แนนเป็นสายแคสโฆษณา แต่ว่าแก่นแท้ของตัวเองชอบฟิล์ม ชอบหนังสั้น เราก็จะพยายามไปเล่นหนังสั้นนักศึกษา ภาพยนตร์อะเราก็ไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสได้เล่น แต่พอได้เล่นแล้วก็ ติดใจค่ะ

แต่ว่าถ้าเป็นแบบซีรีส์แบบนี้ แล้วอยู่ในแพลตฟอร์ม Netflix ด้วยเป็นเรื่องแรกในชีวิตค่ะ ก็เครียดเลยมันไม่ได้เครียดในแง่ลบ แต่มันคือความกดดัน  มันคือความรู้สึกว่าเรามีโอกาสอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ดังนั้นเราก็จะทำให้ดีที่สุดให้เต็มที่ แต่ยังดีที่เราเอาความกดดันนั้นเปลี่ยนความกดดันเป็นมวลมหาพลังงาน เรามักจะใช้พลังงานแบบไม่กั๊กอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็แค่คิดว่าเราก็จะเต็มที่มากน้อยปรับลดยังไง เดี๋ยวไว้ให้ผู้กำกับ ไว้ให้ทีมงานช่วยสอนเรา

คุณแนนซี่เรียนจบด้านการแสดงมาโดยตรงแต่ใช้เวลาสักพักใหญ่ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากดีเจ ผู้เข้าร่วมรายการหาคู่ มาสู่การเป็นนักแสดง ความยากของการเป็นนักแสดงในวงการที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้นทุกวันมีอะไรบ้าง

ยากแน่นอน แล้วก็ถ้าถามว่าอะไรยากที่สุด เรากลั่นกรองแล้วเราได้ประโยคนี้ว่า มันคือความยากของการต่อสู้กับความท้อแท้ใจของตัวเอง ความยากของนักแสดงคือทำยังไงให้คนจดจำผลงาน คือถ้าคนจำได้เราก็จะมีงานแต่กลายเป็นว่าพอถ้าคนจำได้ จะไปเล่นโฆษณา หน้าช้ำ ก็จะไม่ได้งาน เท่ากับไม่ได้เงิน แต่ถ้าคนจำหน้าไม่ได้ แล้วคุณชอบเล่นภาพยนตร์ คุณก็จะไม่ได้งานเพราะว่าคนไม่รู้ว่าคุณทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่ยากกว่าคือ เราจะรู้ตัวเองไหม เราจะค่อย ๆ คุยกับตัวเองจนได้คำตอบไหมว่าเราจะไปต่อ หรือเราจะพอแค่นี้ แต่ไม่ว่าคุณจะไปต่อ หรือคุณจะหยุดแล้วไปทำอย่างอื่น มันดีทั้งนั้น เพราะว่ามันคือความกล้าหาญที่คุณยอมรับ และคุณเข้าใจตัวเอง แต่ถามว่าทำไมแนนยังอยู่ แนนไม่ได้มั่นใจหรอกว่าเก่งว่ะ สักวันฉันจะต้องอยู่ตรงนี้ แต่เราเคยถามตัวเองว่า ท้อขนาดนี้อะทำอย่างอื่นไหม ทำอะไรดี ทำอะไรได้เก่งกว่านี้ ถนัดกว่านี้ ดีกว่านี้ แต่ก็ไม่มี ก็เลยทำต่อ เราด็คิดว่าเราโชคดีแค่ไหน จะเรียกว่าโชคดีก็ไม่กล้าพูดได้เต็มปาก เพราะว่ามันไม่ใช่ความโชคดี ต้องขอบคุณแม่ที่เขาปล่อยให้เราทำแบบนี้ เพราะว่าแม่บอกว่าเราพูดกับแม่ว่า “ขอบคุณนะคะแม่ หนูชอบ” เขาเลยมักจะถามเราว่า เราอยากทำอะไร

แต่มันเป็นสปิริตเดียวกับนุ่นเหมือนกันนะ ความแบบทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะได้ เพราะว่าเราไม่มีทางเลือกอื่น

ถูกต้อง เอาจริง ๆ นะตอนแรกเราเครียด เพราะว่านุ่นเขาอายุประมาณ 20-21 เขาเป็นนักศึกษาฝึกงาน แล้วเราก็รู้สึกว่าเล่นลดอายุตั้ง 8 ปี เรากลัวคนไม่เชื่อเพราะเราแคร์คนดูที่สุด แต่ทีนี้วิธีการทำการบ้านของเรา พอเราค่อย ๆ รู้ก่อนว่า ถ้าเขาทำงานตรงนี้ สิ่งที่จะให้ข้อมูลเราคือบทซึ่งต้องขอบคุณที่บทเขาให้มา ภาพมันก็เลยเด้งขึ้นมา แล้วก็อย่างที่บอกว่ามันดูลิงค์กับเราโดยบังเอิญด้วยความที่นุ่นดูมีความ มุมานะพุ่งชนเป้าหมายมาก ๆ แต่บางทีถ้ามันเยอะไป มันดูลนลานเกินไป ก็จะมีพี่บาส มีพี่เควินคอยบอก หรือแม้กระทั่งพี่อ๊อด พี่บ๊อบบี้ ก็เลยรู้สึกว่าเล่นเป็นนุ่นให้เป็นธรรมชาติได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะออกมาดี เราก็แค่รับแล้วเราก็ส่งต่อ แค่นั้นเลยค่ะ แล้วก็คอเนอร์ที่เป็นนักแสดงต่างชาติด้วย แล้วก็พี่เอก ธเนศ อีก แล้วถ้าเรายิ่งเจอนักแสดงที่เก่ง ๆ ยังไงเราก็รอด

ตัวนุ่นทำงานที่กรมอุตุ ซึ่งห่างไกลกับชีวิตจริงของคนทีทำงานเป็นนักแสดงมาก ๆ ต้องทำการบ้านเยอะแค่ไหน

มีตัวช่วยค่ะคือรูมเมทสมัยมหาลัยของแนนซี่เอง ทุกครั้งเลยนะเวลาที่เราตัน ตอนแรกเราก็เคยพยายามอ่านไปลึกมาก ๆ  แต่ยิ่งทำยิ่งงง ทำให้สุดท้ายบางทีเราก็ดูบทก่อนว่า ถ้าบทมาเท่านี้ เราก็ทำเท่าที่บทมี แล้วก็มีช่วงที่ใน Netflix มีซีรีส์ที่เกี่ยวกับพยากรณ์อากาศด้วยพอดี เราก็เลยไปดูกลิ่นอาย

ยังดีที่เราคิดว่า เด็กฝึกงานก็อาจจะไม่ได้รู้เยอะเท่าผู้อาวุโสอยู่แล้ว เราก็เลยจับแก่นตรงนี้กตามคาแรคเตอร์นุ่นไป ดีที่นุ่นบทเขาแข็งแรง เขาพาให้เรารอดได้

นุ่น เป็นบทที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่ให้น้ำหนักกับความอาวุสโส รู้สึกอย่างไรที่ได้มารับหน้าที่นี้

แนนซี่มองว่าระบบอาวุโสหรือระบบในการทำงานมันจะต้องมีจูเนียร์และซีเนียร์อยู่แล้ว แล้วเชื่อว่ามันไม่ได้มีแค่ที่บริษัทใด บริษัทหนึ่ง หรือที่ประเทศใด ประเทศหนึ่ง มันมีทุกที่ การฝึกงานทำให้คุณได้ไปลองสนามว่างานประมาณนี้ คุณทำไปแล้วรับแรงกดดันได้ไหม เพราะทุกที่มันย่อมมีแรงกดดัน ก็เลยคิดว่ามันเป็นแรงกดดันที่ถ้าบวกกับระบบอาวุโสเข้าไป คือบางครั้งบางอย่าง อย่างสมมุติว่าถ้านุ่นเขามีข้อมูลมา เขาอาจจะมองว่าพี่อ๊อด มองว่าทำไมเขาไม่เชื่อเรา แต่เขาก็ไม่รู้ในมุมมองของคนอาวุโสว่าที่ช้าเพราะเขารู้กว่าเราหรือเปล่าว่ามันต้องเป็นขั้นเป็นตอน เขามีประสบการณ์มากกว่าเรา ดังนั้นเขารู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ สิ่งที่เราจะทำได้ ถ้าเราเป็นเด็กก็คือบอกเขา เขาเรียกว่าช่วยอุดรูรั่วที่เขาอาจจะหลงลืมไป เรามองว่าเด็กฝึกงานมันเป็นตัวช่วยเสริมให้ข้อมูลมันครบมากกว่า

หากอ่านบทสนนทนาที่ยาวนานนี้มาจนถึงตรงนี้ผู้อ่านคงได้เห็นถึงความตั้งใจของทีมงานและนักแสดงที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่ลุ่มลึก แตกต่าง และมีมุมมองใหม่ ๆ แม้ในเรื่องราวที่เราคิดว่าเรารู้จักดีอยู่แล้ว สามารถรับชม Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า