SHARE

คัดลอกแล้ว

หุ้น ‘TIDLOR’ ของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ถูกจับตามองทันทีที่ออกมาประกาศว่าจะมีการระดมทุนครั้งสำคัญ เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีการจัดสรรหุ้นให้รายย่อยได้จองเหมือนหุ้น ‘OR’ ที่สร้างความคึกคักให้ตลาดทุนไปก่อนหน้านี้ เป็นอย่างมาก

การระดมทุนในครั้งนี้เขย่าธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าเสนอขายสูงสุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย คาดว่าจะ IPO ไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น เงินติดล้อจะได้เงินไปราว 35,480 – 38,089 ล้านบาท

TIDLOR เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีฯ รากเหง้าเดียวกับ ‘ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ’

จุดกำเนิดของเงินติดล้อ เกิดขึ้นเมื่อปี 2523 เริ่มต้นธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในนาม ‘บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด’ ปี 2534 ขยายธุรกิจไปจังหวัดต่างๆ 130 สาขา ทั่วประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด’

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2550 กลุ่ม AIG Consumer Finance Group, Inc (AIG) เข้าซื้อ สินทรัพย์เครือข่ายสาขาจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด’

ต่อมาในปี 2552 บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ซื้อหุ้น 100% จากกลุ่ม AIG ส่งผลให้ TIDLOR กลายเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร และใช้แพลตฟอร์มในการดำเนินงานของ BAY ได้

TIDLOR ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจนายหน้ากลุ่มประกันภัยจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในปี 2556

ก่อนที่ในปี 2558 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท เงินติดล้อ จำกัด’ เปิดตัวสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ภายใต้การกำกับ (Nano Finance) เริ่มขายประกันมะเร็ง และในปี 2559 บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) เข้าซื้อหุ้น 50% ในเงินติดล้อจาก BAY ขณะที่บริษัทฯ เพิ่มสาขาขึ้นเป็น 1,000 แห่ง ในปีเดียวกัน และในปีเดียวกันนี้ได้เปลี่ยนโลโก้ ให้คำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ตัวเล็กลง

และในที่สุดปี 2561 TIDLOR ตัดสินใจตัดคำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ออกจากโลโก้ เพื่อให้ลูกค้าหายสับสน และเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน “เงินติดล้อ คือ เงินติดล้อ”

เพราะในปี 2551 ผู้ก่อตั้ง ‘ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ’ เดิม (ครอบครัวแก้วบุญตา) ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ชื่อ ‘ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972’ โดยใช้ชื่อแบรนด์ ‘ศรีสวัสดิ์’ ทำธุรกิจรับจ้างจัดเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำรถและบ้าน ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) : SAWAD

ความสัมพันธ์ TIDLOR กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก่อนขายหุ้น IPO

ธนาคารกรุงศรีฯ หรือ ‘BAY’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ 50% โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ BAY จะลดลงมาอยู่ที่ 30-33% ขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิ over-allotment option หลังเปิดขายหุ้น IPO แต่จะยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ BAY ตกลงที่จะไม่เข้าทำการแข่งขันในธุรกิจนี้กับ TIDLOR หาก BAY ถือหุ้นใน TIDLOR ที่มากกว่า 10%

หากพิจารณาจากกลยุทธ์ธุรกิจ ปัจจุบันของ BAY ลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่มีบัญชี ธนาคารไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ ธนาคารและ BAY จะไม่ชักชวนให้ลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารมาเป็นลูกค้าของธนาคาร

เงินติดล้อ ทำธุรกิจอะไร

ปัจจุบันเงินติดล้อมี 2 ธุรกิจ ได้แก่

1.ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นรายได้หลักของเงินติดล้อ ประมาณ 83% ของรายได้รวมในปี 2563 มาจากรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อ โดยเงินติดล้อ ถือเป็นผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรถสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 เมื่อคำนวณจากยอดหนี้คงค้างในปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจากโอลิเวอร์ ไวแมน) และมีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลาย เช่น สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 10 นาที, สินเชื่อรถเก๋งกระบะอนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น

มีช่องทางการจัดจำหน่ายจำนวนมาก หลากหลายช่องทาง (Omni-Channel) เช่น

– สาขาของ TIDLOR มี 1,076 แห่ง ครอบคลุม 74 จังหวัดของประเทศไทย

– ตัวแทนขายมากกว่า 5,000 ราย

– พนักงานขายทางโทรศัพท์ 500 ราย

– ดีลเลอร์รถบรรทุกมือสอง 400 ราย

– และผ่านสาขาของ BAY อีก 680 แห่ง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563

– ให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็ปไซต์บริษัทฯ แอปพลิชันเงินติดล้อ ทางโทรศัพท์มือถือ แฟนเพจ Facebook และ Tid Lor Connect ผ่านแอปฯ Line TIDLOR ไม่มีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า (Front-end fee)

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสดหมุนเวียน ให้ลูกค้าสามารถกดเงินสดที่ตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคู่ค้าทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

และ 2.) ธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัย กำลังมาแรงและทำรายได้ให้บริษัทมาก แม้เพิ่งเริ่มเปิดตัวธุรกิจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นอกเหนือจากสถานะผู้นำในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถแล้ว TIDLOR ก็ใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของแบรนด์และเครือข่ายสาขาที่มากกว่า 1,000 แห่งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จำพวกประกันภัยมาตั้งแต่ปี 2560 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับ 3 ในตลาดนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อยในปี 2563 ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 2% ตามข้อมูลจาก Oliver Wyman โดยมีบริษัทประกันภัยพันธมิตรชั้นนำ 18 ราย และมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย อาทิ ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล, ประกันโรคมะเร็ง, ฯลฯ

แบ่งหุ้นขายเท่าไหร่ ทำไมมูลค่า IPO เสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

‘เงินติดล้อ’ หรือ TIDLOR ได้เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 1,043.54 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน หรือ Greenshoe 136 ล้านหุ้น) กำหนดช่วงราคาเสนอขายที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 35,480 – 38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งนับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

วัตถุประสงค์ในการเปิดขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปหรือ IPO ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มทุนสำหรับการขยายธุรกิจ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้สิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างเงินทุน

จากที่เกริ่นไว้ว่า ปัจจุบัน บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ถือหุ้น 50% ใน TIDLOR ขณะที่อีก 50% เป็นของ SACA ภายหลังเปิดขาย IPO สัดส่วนการถือหุ้นของ BAY จะลดลงมาอยู่ที่ 30-33.2% และของ บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) จะลดลงมาอยู่ที่ 25-27.67% ขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิ overallotment option ขณะที่ถือหุ้นส่วนน้อยจะถือหุ้นที่ 39.13-45.0% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดหลังเปิดขาย IPO

การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะหรือ IPO ครั้งนี้ เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนมีทั้งออกหุ้นใหม่และแบ่งหุ้นเดิม ทั้งหมดจำนวน 907,428,600 หุ้น (ไม่เกิน 39.1% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดหลังเปิดขาย IPO) โดยแบ่งออกเป็น

(1) เงินติดล้อ จะออกหุ้นสามัญใหม่เพิ่มทุน ไม่เกิน 210,816,700 หุ้น

(2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เสนอขายหุ้นสามัญเดิม ไม่เกิน 284,144,300 หุ้น

และ (3) Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. เสนอขายหุ้นสามัญเดิม ไม่เกิน 412,467,600 หุ้น

นอกจากนี้อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe หรือ Over-allotment Option) ได้ไม่เกิน 15% ของหุ้นที่ออกขาย IPO หรือไม่เกิน 136,114,200 หุ้น

จัดสรรหุ้นให้รายย่อยวิธี Small Lot First ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น

การจัดสรรหุ้นให้รายย่อยด้วยวิธี Small Lot First (เหมือนการจัดสรรหุ้น OR ก่อนหน้านี้) โดยการกระจายหุ้นลักษณะนี้ทำให้ “คนที่ไม่เคยเล่นหุ้นเลย” มีโอกาสได้หุ้นไปอย่างทั่วถึง

สำหรับราคาหุ้น TIDLOR ในการ IPO ครั้งนี้ กำหนดไว้ที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ สำหรับคนที่จองหุ้น จะต้องจ่ายเงินไปก่อนที่หุ้นละ 36.50 บาท ถ้าราคาสุดท้ายถูกกว่า 36.50 บาท/หุ้น จึงจะได้เงินส่วนต่างคืนทีหลังประกาศผล 28 เม.ย. นี้ และด้วยราคานี้ทำให้เงินทุนขั้นต่ำสำหรับการลงทุนหุ้น IPO ของ TIDLOR อยู่ที่ 36,500 บาท (ขั้นต่ำ 1,000 หุ้น x 36.50 บาท) โดยไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง

นักลงทุนรายย่อย TIDLOR จัดสรรหุ้นไว้ 46.5 ล้านหุ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินครบถ้วน จะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น (ต่างจาก OR ที่จองขั้นต่ำ 300 หุ้น) จากนั้นจะได้รับการจัดสรรเพิ่มรอบละ 100 หุ้นต่อราย ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจำนวนหุ้นเบื้องต้นที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อรายย่อยจะครบตามจำนวนที่กำหนด

P/E Ratio ‘TIDLOR’ สูงกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน

ภาพรวมผลการดำเนินงานเงินติดล้อ จากข้อมูลในหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า เติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ 36% ในช่วงเวลาเดียวกัน

  • ปี 2561 รายได้ 7,569.4 ล้านบาท กำไร 1,306.2 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3%
  • ปี 2562 รายได้ 9,457.9 ล้านบาท กำไร 2,201.7 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.3%
  • ปี 2563 รายได้ 10,558.9 ล้านบาท กำไร 2,416.1 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.9%

เมื่อ TIDLOR กำหนด IPO ในช่วงราคา 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น หากดูกำไรสุทธิ ปี 2563 ที่ 2,416.1 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 2,318,984,570 หุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 212,951,549 หุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ประมาณ 32.60–35.00 เท่า

เมื่อเทียบ P/E Ratio ของบริษัทจดทะเบียนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน สำหรับธุรกิจสินเชื่อ เฉลี่ยประมาณ 27.4 เท่า และสำหรับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เฉลี่ยประมาณ 37.7 เท่า

ขณะที่ P/E Ratio ของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SWAD) อยู่ที่ 24.90 เท่า และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) มี P/E Ratio ที่ 26.63 เท่า

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TIDLOR’

มองอนาคต TIDLOR อีก 3 ปีข้างหน้า จะไปได้ไกลแค่ไหน

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR กล่าวว่า หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยที่จะมีการขยายการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายสาขาเพิ่มอีก 500 สาขาในช่วง 2-3 ปีนี้ จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,500 สาขา และการขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทจะนำมาใช้ให้บริการในด้านสินเชื่อ

อีกทั้งรายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อยจะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปีต่อเนื่อง ทำให้เป็นอีกปัจจัยผลักดันการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว โดยในปี 63 บริษัทมีรายได้รวมที่ 1.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ 92% และรายได้จากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อย 8%

ดาวรุ่งในกลุ่มประกันภัย ผู้นำอุตสาหกรรมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์

บล.กสิกรไทย วิเคราะห์ว่า TIDLOR จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย มีตำแหน่ง ที่แข็งแกร่งอย่างมากในอุตสาหกรรมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เพราะ 1) มีสถานะเป็นผู้นำในแง่ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 16% ในปี 2562 อิงข้อมูลจาก Oliver Wyman 2) แนวโน้มที่ กลุ่มผู้เล่นขนาดใหญ่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2564-2566 3) กลยุทธ์หลากหลาย ช่องทาง (omni-channel) และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ TIDLOR โดดเด่นจากผู้เล่นรายอื่นและช่วยเพิ่มความประทับใจให้กับกลุ่มลูกค้าได้

4) แพลตฟอร์มเทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยให้เข้าถึงระบบดิจิทัลได้มากขึ้น และ 5) ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนที่เหนือกว่าคู่แข่ง จากอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีและมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ทั้งนี้ TIDLOR มีฐานทรัพย์สิน ไม่มีตัวตนทที่แข็งแกร่ง เช่น ภาพลักษณ์แบรนด์และการรับรู้แบรนด์ที่ดีกว่าคู่แข่ง อิงจากผลสำรวจของ ของ Ipsos ในเดือน พ.ย. 2562

กลุ่มประกันภัย โตเร็วกว่าธุรกิจสินเชื่อ

TIDLOR เป็นดาวรุ่งในกลุ่มประกันภัยพร้อมนวัตกรรมขั้นสูง แม้เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจนายหน้า ประกันภัยในปี2560 แต่สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดได้อย่างรวดเร็วและขึ้นมาเป็นผูเล่นอันดับ 3 ในกลุ่มนายหน้าประกันภัยที่มีลูกค้าเป็นรายย่อยได้ในปี 2563 เพราะมีเครือข่ายสาขาที่กว่า 1,000 แห่งและพันธมิตรด้านประกันภัยอีก 18ราย ประกอบกับแคมเปญ การตลาดที่น่าสนใจ จึงมีการคาดการณ์การเติบโตของเบี้ยประกันที่แข็งแกร่ง 20-25% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งโตเร็วกว่าธุรกิจสินเชื่อ

คาดกำไรเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอีก 3 ปี ข้างหน้า

บล.กสิกรไทย ยังเชื่อว่า TIDLOR จะรายงานกำไร เติบโตทบต้นต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มในระดับ 29% ต่อปี หรือเพิ่ม เป็น 3.5 พันล้านบาท / 4.2 พันล้านบาท /และ 5.2 พันล้านบาทตามลำดับ

เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของคู่แข่งที่ 20-25% จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรนี้ได้รับแรงหนุนมาจาก 1) การเติบโตของสินเชื่อ ระดับ 17% ต่อปี จากการขยายสาขาและการเพิ่มขึ้นของ ลูกค้าจากออนไลน์ 2) CI ratio ที่ลดลงจากความประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่ดีขึ้น และ 3) ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ลดลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น

การลงทุนมีความเสี่ยง

หุ้น TIDLOR คาดว่าเข้าเทรดใน SET วันแรก 10 พ.ค.2564

สำหรับนักลงทุนรายย่อย TIDLOR จัดสรรหุ้นไว้ 46.5 ล้านหุ้น เปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจจองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่ 22-26 เม.ย. ขั้นต่ำ 1,000 หุ้น จ่ายเงินที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 36.50 บาท ด้วยเงิน 36,500 บาท ก่อนประกาศผล 28 เม.ย. นี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) ตามเวลา วิธีการและเงื่อนไขการจองซื้อที่ตัวแทนจำหน่ายหุ้นแต่ะรายกำหนด

ที่มา:

https://market.sec.or.th/…/product/filing/PL-0000010832/

https://www.ngerntidlor.com/…/company-background.html

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า