Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ตำรวจกับวงการสีเทากลายเป็นเรื่องที่น่าจับตาของประชาชนในช่วงไม่นานก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเว็บพนันออนไลน์ ทุนจีนสีเทา หรือแม้แต่ส่วยหลายกรณีมีตำรวจเข้าไปพัวพันเปิดทางให้ทุนเทาเข้ามาแทรกซึมในระบบราชการ

แง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ประชาชนสามารถมองเห็นพฤติการณ์ของตำรวจได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น แต่การมองเห็นยังไม่เท่ากับว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการปัญหา ‘ตำรวจ-ทุนเทา’ เหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร

TODAY ได้พูดคุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถึงยุทธการแฉกากีสีเทา กับสาเหตุที่ทำให้ตำรวจไทยกลายเป็นปัญหา

ปัญหาตำรวจเกิดจากอะไร เกิดจากระบบไหม

พ.ต.อ.วิรุตม์: ปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นซ้ำซากผมว่ามันเป็นปัญหาเชิงระบบ ผมว่าตำรวจปัจจุบันมีปัญหาความไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงาน และการบังคับบัญชาจากส่วนกลางแบบนี้ใช้ไม่ได้ มันสะท้อนว่าอำนาจอยู่ที่ ผบ.ตร.ใครมาเป็นก็สามารถออกคำสั่งตำรวจได้ทั่วประเทศ เมื่อออกคำสั่งหรือข้อระเบียบไปแล้วก็ต้องเอาไปใช้ทุกหน่วยทั่วประเทศยันจ่าดาบที่อยู่ จ.สกลนคร อยู่ในท้องทุ่งท้องนา ซึ่งบางทีมันก็ไม่สอดคล้องกับการทำงานในชีวิตของเขา มีคนบ่นว่าสั่งตั้งด่านในท้องไร่ท้องนาพอคนขึ้นจากนาก็เจอด่าน

บ้านเมืองเรามันมีปัญหาหลายเรื่อง แต่ตัวกฎหมายอาญาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่เพราะใช้มานานมันเป็นตรรกะสามัญสำนึกของมนุษย์ที่เหมือนกัน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ข่มขืน ทำร้าย อนาจาร มันผิดกฎหมายทั้งนั้น ทั่วโลกก็ผิดกฎหมาย แต่จะมีกฎหมายเล็ก ๆ ซึ่งมันควรจะออกให้สอดคล้องกับท้องถิ่น เอาง่าย ๆ อย่างหมวกกันน็อค พ.ร.บ.จราจร ใช้ทุกจุดที่เป็นทางสาธารณะ ขึ้นนาก็ต้องใส่หมวกกันน็อค ถ้าไม่ใส่โดนจับ จริง ๆ พ.ร.บ.จราจร เขาจะยืดหยุ่นให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่ส่วนกลางกำหนดยอดไปก็ทำให้ลูกน้องต้องไปจับคนขึ้นจากนา เราไม่ได้บอกว่าขี่มอเตอร์ไซค์แล้วไม่จำเป็นต้องใส่หมวกกันน็อค มันก็จำเป็นแต่ว่าจะทำยังไงให้ความเข้มข้นมันสอดคล้องกับท้องถิ่น

ผมคิดว่าหลักปรัชญาของตำรวจปัจจุบันรวมศูนย์อยู่ส่วนกลางทำแบบกองทัพ เมื่อก่อนตำรวจอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเรียกว่าอธิบดีกรมตำรวจ เราจะไม่เรียกกันว่า ‘บิ๊ก’ คำว่าบิ๊กมาจากทหาร ยุคยึดอำนาจสักประมาณปี 30 หรือ 26 เขาเรียกทหารเป็นบิ๊กเพราะทหารเป็นใหญ่ พอแยกจากกระทรวงมหาดไทยเป็นตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าหน่วยของอธิบดีกรมตำรวจก็มาเป็นผู้บัญชาการแห่งชาติเหนือกว่ากองทัพบกกองทัพเรือเพราะไม่มีคำว่า ‘แห่งชาติ’ คนร่างกฎหมายก็ใส่ให้มันหรูหราไป ส่วนคำว่าบิ๊กก็ตามมาเรื่อย ๆ แล้วมีการเอาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปนั่งประชุมกับสามเหล่าทัพนี่ก็ผิดหลัก เขาเป็นกองทัพ เราเป็นตำรวจกรมตำรวจเจ้าพนักงานยุติธรรมไม่ใช่กองทัพก็ไปนั่งประชุมกับเขา แล้วความคิดเรื่องการปกครองตำรวจกับทหารก็ยังไม่คลายตัว เขาสั่งให้ไปทำอะไรก็ทำหมดทั้งที่หมิ่นเหม่ผิดถูกก็ต้องทำ ผู้น้อยก็อาจจะบ่นว่าผมไม่อยากจะทำแบบนั้นแบบนี้

ตอนนี้ถึงยุคที่ตำรวจยอมรับแล้วหรอว่าฉันมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุนสีเทา

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์: มีงานวิจัยที่เขาศึกษาตำรวจทั่วโลกบอกว่าตำรวจมีสามประเภท

  1. ตำรวจคนนึงเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรทั้งหมด
  2. ตำรวจอาจจะต่างคนต่างทำผิด ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร
  3. เป็นโดยระบบทั้งหมด

เราต้องแยกกันระหว่าง ‘อาชีพตำรวจ’ กับ ‘ตำรวจมืออาชีพ’ ถ้าเรามองว่านี่คือตำรวจที่เราจะทำงานเพื่อเอาเงินเดือนอันนี้คืออาชีพตำรวจ แล้วถ้าจะพัฒนามาเป็นตำรวจมืออาชีพมีหลายอย่างที่ต้องทำ รายละเอียดมันจะเยอะมาก ตั้งแต่ระบบการคัดเลือกคนมาเป็นตำรวจ อย่างเยอรมันจะต้องมีการตรวจสอบหนี้สินครอบครัวเพราะเขาจะดูว่าถ้าคุณมีหนี้สินเยอะพอมาเป็นตำรวจแล้วจะมีแนวโน้มทุจริตไหม หรือคุณและครอบครัวโดนฟ้องล้มละลายจะมาเป็นตำรวจไม่ได้นะ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต

ส่วนคนที่รวยเกินไปแต่จะมาเป็นตำรวจก็จะมีคำถามตามมาอีก ระบบคัดเลือกของเขาจะมีการสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์โดยมีคณะกรรมการจากหลากหลายส่วน เพราะคนรวยเกินไปก็ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงอยากเป็นตำรวจเพราะคุณมีความพร้อมอยู่แล้ว แสดงว่าคุณจะต้องมีจิตใจอยากมาดูแลหรือบริการสังคมสาธารณะ แล้วที่ผ่านมาคุณทำอะไรบ้างที่จะสะท้อนว่าวันนี้คุณอยากเป็นตำรวจ? ก็จะมีการสัมภาษณ์

ตำรวจไทยเรามีเรื่องเหล่านี้นะ แต่เราไม่รู้ลึกถึงขั้นว่าแต่ละคนมีปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจไหม กระทั่งสุขภาพจิตก็เริ่มมีการตรวจมากขึ้นในปัจจุบัน ผมว่าหลังจากนี้ถ้าเราจะดูความเป็นตำรวจมืออาชีพ อาจจะต้องเรียนการวางแผนแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนว่าทำอย่างไร 1 ปี ระยะสั้น กลาง ยาว ทำอย่างไร กล้าพูดได้เลยว่าถ้าจะทำแผนที่พูดมาทั้งหมดรัฐบาลทำไม่เสร็จ เพราะจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่โยงกับค่านิยมของสังคมไทย เช่น ไม่รู้ว่าคุณเป็นใครแต่วันนึงคุณเข้ามาอยู่ในยศ พลตรี พลโท ก็จะเห็นคนเข้าหา เช่น นักธุรกิจ หรือพ่อค้าเอาช่อดอกไม้มาให้ ในทางกลับกันถ้าเป็นคนทำงานทั่ว ๆ ไป เขาไม่อยากเอากระเช้าไปให้คุณหรอก เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์

จึงเป็นที่มาว่าถ้าจะพัฒนานาอาชีพตำรวจต้องกลับมาดูค่านิยมที่ดีงาม คุณต้องได้มาด้วยเส้นทางที่ถูกต้องและสังคมยอมรับ แต่ถ้าคุณได้มาด้วยเส้นทางที่ไม่ถูกต้องเราจะต้องไม่ยอมรับ ไม่ต้องคบค้าสมาคมด้วย แต่คำถามคือสังคมไทยเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

ตำรวจที่นี่เป็นยังไงให้ดูสังคมที่ตำรวจอยู่

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์: จากการศึกษาวิจัยบอกว่า จะดูว่าตำรวจเป็นยังไง สังคมหรือการเมืองก็จะเป็นแบบนั้น บังเอิญว่าตำรวจไทยขึ้นอยู่กับการเมือง 100% ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีกำกับดูแลผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติ เช่น แต่งตั้งไปแล้วไม่ว่าจะเป็นท่านใดก็ตามวันนึงถ้าไม่สนองนโยบายก็สามารถสั่งการให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาได้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องทำตามนั่นเพราะขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาโดยตรงตามกฎหมาย ตรงนี้จะสะท้อนว่าถ้าตำรวจดีการเมืองดี หลักการคือต้องพยายามทำให้การเมืองแยกออกจากตำรวจ ไม่งั้นการเมืองจะอาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือในการผดุงอำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วเป็นนายกฯ สั่งการตำรวจไม่ได้เหรอ? สั่งได้ แต่อย่าลืมว่าอาจมีคนเห็นต่างจากนายกฯ ก็ได้ เขาถึงมีฝ่ายค้านไง อย่างเช่นรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นไกล ๆ อาจจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่สั่งอะไรตำรวจต้องทำตาม เช่น มีกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่านโยบายของรัฐไม่ถูกต้อง รัฐบาลสั่งการไปว่าตำรวจคุณไปจัดการสิ ตำรวจก็จัดการให้ได้ แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมเป็นเกษตรกรออกมาร้องเรื่องราคาข้าวตกต่ำ แรงงานที่เรียกร้องค่าแรง แต่นายกฯ ดันมองในมิติความสงบเรียบร้อยไม่ได้มองในมิติเศรษฐกิจปากท้อง ตำรวจจึงต้องไม่ใช่ของนายกฯ แต่เป็นของผู้ชุมนุมด้วย เป็นที่มาว่าทำไมตำรวจต้องแยกออกจากการเมือง

ตำรวจตรวจตำรวจ เป็นแนวทางที่ถูกต้อง (?)

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์: ต้องเรียนว่าในสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ อย่างมีฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมีฝ่ายค้านจะได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลว่าเป็นไปตามที่แถลงนโยบายไว้ไหม และการใช้อำนาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่ องค์กรตำรวจก็จะมีการตรวจสอบกันไปมา มิตินึงก็ดีในแง่ของความโปร่งใสต่อไปทำอะไรจะได้ระวังกันมากขึ้น บางทีสังคมอาจจะไม่รู้ลึกทางข้อมูล แน่นอนว่าคนในอาชีพเดียวกันย่อมมีข้อมูลเชิงลึก ฉะนั้นความโปร่งใสและความระมัดระวังในการใช้อำนาจไม่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคนมีอำนาจกำกับตำรวจ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลออกมาแล้วจะดำเนินการกับสิ่งที่เขาออกมาเปิดเผยมากน้อยเพียงใดทั้งดำเนินตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามประเด็นที่อาจเป็นความกังวลอยู่พอสมควรคือเรื่องความสามัคคีของคนในองค์กร เรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานตอนนี้ต้องระมัดระวัง เราตรวจสอบกันเองได้แต่เราอย่าทำเพื่อเป็นการประจาน หรือแก้แค้น อย่าทำเพื่อความสนุก เพราะสุดท้ายปลายทางตำรวจเป็นอาชีพที่จะต้องแก้ปัญหาอาชญากรรมให้กับประชาชนเป็นสำคัญ ตำรวจที่มีความเป็นมืออาชีพต้องรับฟังปัญหาประชาชนเพื่อแก้ไขป้องกันอาชญากรรมปลายทางมันคือตรงนั้น แต่ปัจจุบันยอมรับว่าด้วยหลักคิดแบบรวมศูนย์อำนาจจากงานวิจัยและจากประสบการณ์ของผมที่ศึกษางานตำรวจมาหลายที่ทั่วโลกเป็น 10 ปี ยังพบว่าตำรวจไทยหลัก ๆ คือฟังผู้บังคับบัญชา เสียงสะท้อนของประชาชนน้อยมาก คนร้ายขึ้นบ้านมา 5-6 ครั้งยังจับไม่ได้ จนชาวบ้านเอาป้ายไปขึ้นหน้าบ้านว่าโจรเอาทรัพย์สินไปหมดบ้านแล้วอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ฉะนั้นก็สะท้อนกลับมาว่าทำไมเสียงของประชาชนไม่สามารถสะท้อนการทำงานของตำรวจได้ แต่กฎหมายฉบับนี้มีความแตกต่างจากเดิมนิดนึง มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจกรณีตำรวจทำไม่ถูกต้อง ประชาชนสามารถร้องเรียนได้นอกเหนือจากช่องทางอื่น เช่น แจ้งไป ป.ป.ช. ป.ป.ท. ทางหน่วย หรือทางสื่อมวลชน

เปิดเหตุผลทำไมตำรวจไทยฟัง ‘นาย’ มากกว่า ‘ประชาชน’

พ.ต.อ.วิรุตม์: ก็นายบันดาลทุกสิ่งทั้งเงินเดือน เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง อย่าว่าแต่ตำรวจโดยธรรมชาติมนุษย์ที่ไหนเขาให้ประโยชน์ก็ไปภักดีที่นั่นไม่งั้นเขาก็ไม่ให้เรา ประชาชนจะให้อะไรตำรวจ ตำรวจไปทำงานให้ประชาชนแต่ขอเงินเดือนประชาชนก็ไม่ได้ ขอไม่ย้ายก็ไม่ได้ ช่วยให้ย้ายช่วยให้เลื่อนตำแหน่งก็ไม่ได้ ไม่ได้อะไรทั้งสิ้นในข้อเท็จจริง เวลาผู้นำของตำรวจพูดว่าแคร์ประชาชนอย่างนั้นอย่างนี้ เจ้านายบอกให้ย้ายก็ต้องย้ายถึงประชาชนแห่มาตั้งหมื่นคนก็ไม่มีผล เพราะฉะนั้นความรู้สึกของตำรวจทำงานกับประชาชนไปเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมาย ถ้าหากจะให้ตำรวจฟังประชาชนก็ต้องให้ประชาชนมีอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ขึ้นเงินเดือน จะออกแบบอย่างไรก็ว่าไป มีคณะกรรมการตำรวจเลเวลระดับไหนก็ว่าไปขอให้ประชาชนมีส่วน แต่ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีส่วน

ประชาชนหนีพึ่งสื่อมากกว่าพึ่งเจ้าหน้าที่มาแก้ปัญหา

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์: ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม หรือการทำงานของตำรวจ เพราะหลายคดีก่อนหน้านี้มีตำรวจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เช่น ตั้งด่านเรียกเงินดาราต่างชาติ กรณีผู้กำกับโจ้ก็เป็นเคสโด่งดังไปทั่วโลก หรือกระทั่งคดีทายาทกระทิงแดงก็เป็นข่าวที่ทำให้ประชาชนเกิดการตั้งคำถามไม่เฉพาะกับองค์กรของตำรวจแต่ทั้งหน่วยงานหลายหน่วยในกระทรวงยุติธรรม อีกมุมนึงเป็นเรื่องดีที่เราจะพลิกวิกฤติให้เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลชุดนี้ที่ยึดโยงกับประชาชนมาจากการเลือกตั้ง แปลว่าท่านก็ต้องหวังที่จะทำอะไรตอบแทนประชาชนบ้าง เพราะประชาชนให้อำนาจไว้กับท่านในการบริหารจัดการบ้านเมืองทำให้ดีขึ้น และเชื่อว่าถ้ารัฐบาลนี้ทำอย่างจริงจังในการเลือกตั้งสมัยหน้าคะแนนจะกลับมาอีก

พ.ต.อ.วิรุตม์: เวลามีอาชญากรรมเกิดขึ้น ขโมยขึ้นบ้านเรา บ้านเราคือสถานที่เกิดเหตุเราควรจะยกหูโทรศัพท์ให้ตำรวจมาทำทุกอย่างที่บ้านเรา มาสอบปากคำ มาตรวจที่เกิดเหตุ ลงบันทึกประจำวันก็จัดการที่บ้านเลยได้ไหม ทำไมทุกวันนี้เราจะต้องเอาร่างกายเราไปที่สถานีตำรวจแล้วตำรวจก็ไม่ทำอะไรนอกจากลงบันทึกประจำวันยิก ๆ แต่ไม่มีการสอบสวนจริง เพราะงั้นทุกคนเลยต้องเดินไปหา กัน จอมพลัง สายไหมต้องรอด หาทนายดัง ๆ ยังไม่พอต้องไปออกรายการดังอีก ถ้ารายการไม่ดังผู้บังคับบัญชาตำรวจเขาก็ไม่สนใจ ต้องคนดูเป็นล้านถึงจะทำให้ความรู้สึกมันอิมแพค พอมาดูแล้วรับคดีหรือจับผู้ร้ายเลยก็มี มันเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่เรื่องดี มันสะท้อนความเหลวแหลกว่าทำไมคนที่อยู่เชียงราย ถึงต้องมาร้องไห้แถวคลองเตยที่ช่อง 3 อย่าไปโทษประชาชนนะ เขาก็มีประสบการณ์กันมาทุกคน เขาก็อยากไปแจ้งความไปร้องทุกข์ ไม่ว่าจะเสียหายมากน้อยแค่ไหนทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนเสียหาย ถูกเขกหัวก็เรื่องใหญ่แล้วไหม คนไม่รู้จักอยู่ ๆ มาตบหัวถึงจะไม่เจ็บมากแต่มันเป็นเรื่องใหญ่แล้วนะสำหรับจิตใจมนุษย์ แต่ตำรวจก็บอกว่า โอ๊ยแค่นี้เองน้อง แค่หยอกล้อกัน เพราะงั้นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของตำรวจคือการไม่รับคำร้องทุกข์ ใครจะมาเป็น ผบ.ตร.ก็อย่ามานั่งสุขสบาย คุณไม่มีเวลาเลย เพราะคุณต้องแก้ปัญหาที่มันหมักหมมมา 7-8 ปี ผมว่า 8-9 ปีที่ผ่านมาตำรวจมีปัญหาสะสมมาก การทุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทำให้เขาไม่มีอนาคตไม่มีความก้าวหน้า มันก็ส่งผลถึงการทำงานเขาไม่อยากรับคำร้องทุกข์ ไม่อยากจะอยู่ในอาชีพนี้ต่อ พอใกล้เกษียณก็ลาออกทั้งที่เป็นงานสำคัญของกรมตำรวจสอบสวน คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็น ผบ.ตร. ไม่มีเวลามาฮันนีมูนไม่มีเวลามาเอ้อระเหย ไม่มีเวลารับกระเช้าแสดงความยินดี ประชาชนก็ต้องประเมินผลให้นายกฯ

ชมรายการแบบเต็ม ๆ ได้ที่ todayLIVE

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า