งานฝีมือจากกะลามะพร้าวที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในครัวเรือน ตั้งราคาขายเริ่มต้น 10 บาท ดูจากภายนอกคุณค่าอาจไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับงานฝีมือทั่วไป แต่เมื่อรู้ที่มาอาจจะประเมินคุณค่าได้ยาก เพราะใช้ต้นทุนทางใจที่สูงมากจาก นายหล้า ปานานนท์ หรือลุงหล้า อายุ 66 ปี ผู้ป่วยอัมพฤกษ์พิการท่อนล่าง จ.อุตรดิตถ์ เขาใช้หัวใจเป็นต้นทุนแม้สภาพร่างกายจะไม่พร้อมประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นค่ายารักษาตัวเอง

นายหล้า ปานานนท์ หรือลุงหล้า ผู้ป่วยอัมพฤกษ์พิการท่อนล่าง
ชีวิตลุงหล้า ไม่ได้พิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่ประสบเหตุจากการเป็นพลเมืองดีเคยช่วยชีวิตคนติดดินโคลนถล่ม เมื่อปี 2549 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ในพื้นที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บและตามหาศพที่สูญหาย ทั้งงัดต้นไม้ใหญ่ ลำเลียงคนและสิ่งของเป็นเวลาหลายวัน เมื่อกลับบ้านรู้สึกปวดหลังเป็นอย่างมาก ร้าวลงขา เริ่มชาเดินไม่ไหว ญาติๆ จึงช่วยกันอุ้มพาไปหาหมอ แต่หมอบอกว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาด้วยวิธีผ่าตัด แต่เมื่อผ่าตัดแล้วก็เดินไม่ได้ และขาก็ไม่มีความรู้สึกอีกเลย ในระยะแรกมีพี่สาวช่วยดูแล ส่วนภรรยาต้องออกไปทำงานก่อสร้างและรับจ้างทั่วไปหารายได้แทนเขา ทำให้ช่วงที่เขานอนอยู่เฉยๆ ต้องดูทุกคนในครอบครัวออกไปหารายได้จากที่เขาเคยเป็นเสาหลัก ทำให้ลุงหล้าคิดฆ่าตัวตาย ไม่อยากอยู่ให้เป็นภาระภรรยาและลูกๆ แต่แล้วความคิดเขาก็เปลี่ยนเพราะกำลังใจจากครอบครัว
“จากที่ท้อใจก็กลับมาสู้ เพราะความรักความผูกพันธ์สงสารลูกเมียที่เขายังเมตตาเรานะครับ เขาไม่ทอดทิ้งเรา เราก็เลยตัดสินใจกลับมาคิดทำงาน หาของเบาๆ ที่เรานอนทำได้ บังเอิญเปิดทีวีดูเห็นเขาโชว์ทำงานมือจากกะลา เราเห็นก็คิดว่าเราทำด้วยไม่ดีเหรอ” ลุงหล้า กล่าวในรายการปัญญาปันสุข
เมื่อกำลังใจเริ่มดีขึ้นเขาเริ่มต้นทำงานฝีมือจากกะลามะพร้าว หลังจากเป็นอัมพาตได้ 3 ปี ด้วยแรงบันดาลใจจากดูรายการโทรทัศน์เห็นคนนำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ ได้ จึงอยากลองทำบ้าง โดยให้ภรรยาช่วยหามะพร้าวแก่ๆ และเศษไม้วัสดุเหลือทิ้งตามบ้านและถังขยะมาให้
แม้ไม่เคยทำงานฝีมือมาก่อน แต่ลุงหล้าใช้ทักษะช่างก่อสร้าง เขาเริ่มงานประดิษฐ์กะลามะพร้าว ด้วยเครื่องมือมีเพียง 3 ชิ้น ประกอบด้วย เลื่อยตัดเหล็ก, กระดาษทราย 1 แผ่น และมีดอีโต้ 1 เล่ม ได้ผลงานชิ้นแรกๆ เป็น ‘กระบวยตักน้ำ’ และ ‘ไม้เกาหลัง’ ซึ่งยังไม่ลวดลายใดๆ จากนั้นได้เริ่มลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ฝีมือก็เริ่มพัฒนามาเป็นทัพพี แก้วน้ำ จาน ชาม และของตกแต่งบ้าน พร้อมสลักลวดลายเข้าไปให้สวยงามขึ้น
ช่องทางการขายกะลาประดิษฐ์ของลุงหล้านั้น ไม่มีหน้าร้าน ช่องทางแรกภรรยาของเขาจะนำไปขายที่โรงพยาบาลท่าปลา จ.อุตรดิถต์ ช่องทางที่สอง คือส่งขายพ่อค้าแม่ค้าประจำแต่ละจังหวัดที่โทรมาสั่งออเดอร์ส่งไปขายที่ จ.น่าน จ.นครปฐม และอีกหลายๆ จังหวัดแล้วแต่คนสั่ง
และช่องทางที่สามขายที่ตลาดวัดน้ำหมัน ห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร จากทั้ง 3 ช่องทาง สร้างรายได้ให้ครอบครัวรวมกว่า 8,000 บาทต่อเดือน
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ลุงหล้านอนตะแคงยึดอาชีพประดิษฐ์กะลาขาย แม้ว่าจะไม่ส่งผลดีต่อร่างกายเท่าไหร่นัก แต่ก็เป็นอาชีพหลักของครอบครัวซึ่งกำลังจะไปได้ดี รายได้ต้องมากลายเป็นศูนย์ จากผลกระทบโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพราะตลาดนัดปิด ไปโรงพยาบาลก็ขายของไม่ได้เพราะต้องเว้นระยะพื้นที่กักกัน รายได้ที่พอที่ใช้จ่ายก็มีเพียงเบี้ยผู้พิการและผู้สูงอายุเท่านั้น

นางมะลิวัลย์ ปานานนท์ ภรรยาลุงหล้า (ซ้าย) และ นางสาวมธุรส ปานานนท์ ลูกสาว (ขวา สวมเสื้อสีดำ)
นางสาวมธุรส ปานานนท์ ลูกสาวของลุงหล้า เปิดเผยกับทีม workpointTODAY ว่า หลังจากมาออกรายการปัญญาปันสุข เป็นโอกาสให้ครอบครัวหันมาขายทางช่องทางออนไลน์ มีผู้ช่วยเหลือสั่งออเดอร์พิเศษจำนวนมากจนผลิตสินค้าไม่ทัน ตอนนี้จึงให้น้องสาวและน้องเขย มาช่วยอีกแรง พร้อมเผยอีกว่า ในช่วงที่หลายคนกำลังฮิตปลูกไม้ประดับฟอกอากาศในบ้าน ส่งผลทางอ้อมให้มีลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ฝีมือจากกะลาไปเป็นกระถาง เพิ่มความสวยงาม และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ หากใครสนใจสินค้าจากกะลามะพร้าว สามารถติดต่อได้ทางเพจ กะลามะพร้าวลุงหล้า หรือโทร 065-0104468 บริการส่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ลุงหล้ายังรับบริจาคกะลามะพร้าว เพื่อมาต่อยอดอาชีพ หารายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไป