องค์การเภสัชกรรม (GPO) เดินหน้าศึกษาวิจัยทางคลินิกวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในมนุษย์ระยะที่ 1 รัฐมนตรีว่าการการะทรวงสาธารณสุย เผยเริ่มทดลองวัคซีนโควิดในมนุษย์วันที่ 8 มี.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เวลา 8 เดือน
วันที่ 10 ก.พ.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม แถลงความคืบหน้าการทดสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการทดสอบในมนุษย์ระยะแรกในประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบัน PATH ร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ชนิดเชื้อตายที่พักในไข่ไก่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานาน และผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและมีความปลอดภัย ขณะนี้พร้อมที่จะเดินหน้าทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนมี.ค.นี้ หากสำเร็จและผ่านการทดลองในมนุษย์ครบ 3 ระยะ ก็จะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม จะใช้โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีกำลังการผลิต 25 – 30 ล้านโดสต่อปี และหากในอนาคตวัคซีนได้ผลดีและเป็นที่ต้องการมากเชื่อว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตได้ โดยอาจจะมีภาคีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย ซึ่งความก้าวหน้านี้ สะท้อนว่าไทยไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว แต่มีการพัฒนาถึงขั้นเป็นเจ้าของคอกม้าร่วมกับคนไทยทุกคน โดยมีเป้าหมายจะผลิตวัคซีน เพื่อให้ประเทศปลอดภัย รวมทั้งยังสามารถดูแลประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นๆ ที่ต้องการวัคซีนอีกด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ทุกคนมั่นใจและไว้วางใจกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับยืนยันว่าวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้คนไทย ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน พยายามทำงานเพื่อประชาชน เพื่อให้การนำวัคซีนเข้ามาถูกต้องตามกฎหมายจึงขอให้ทุกคนมั่นใจและอย่าหลงเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดหา จัดซื้อ พัฒนาและให้บริการวัคซีนกับคนไทย รวมทั้งย้ำว่าหากมีวัคซีนใช้แล้ว ก็ยังคงต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นต่อการควบคุมโรค
ขณะที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายนี้ นับว่าเป็นวัคซีนไทยตัวแรกที่มีการทดลองในคน คาดว่าจะใช้เวลา 8 เดือน โดยองค์การเภสัชกรรมมีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟักอยู่แล้วก็จะนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด- 19