Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกรณีพฤติกรรมของครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนเอกชนใช้ความรุนแรงกับเด็กในช่วงที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในชั้นปฐมวัยอยู่ไม่น้อย เพราะเด็กมักจะไม่เล่าให้ที่บ้านฟัง ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ความกลัว ความกังวล หรือแม่กระทั่งเด็กบางคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอยู่บ้านก็โดนพ่อแม่ตีเช่นกัน workpointTODAY ได้สัมภาษณ์กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ชี้ว่า การจะลดปัญหาความรุนแรง ต้องเริ่มต้นจากวัฒนธรรมในบ้าน รวมทั้งต้องยกระดับมาตรฐานครูปฐมวัยให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ เจ้าของเพจ หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก กล่าวว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อได้รับความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคำพูด เสียงตะโกน ท่าที หรือการทำร้ายร่างกาย จะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งนี้น่ากลัว ซึ่งในเด็กเองก็รู้ว่าน่ากลัว แต่ตามพัฒนาการของเด็กในช่วง 2-3 ปี บางคนยังเล่าเรื่องไม่เก่ง หรืออาจไม่ชอบเล่า หรือว่าเล่าได้แล้วแต่ยังมีความกลัว อาจจะมีความกดดันความเครียด รู้สึกว่าเขาเล่าไปแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย หรือเล่าไปแล้วเขาอาจจะไม่รู้ว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร หรือเด็กบางคนเห็นว่าสิ่งที่ถูกกระทำเป็นเรื่องที่ไม่แปลกเพราะบางครอบครัวก็ตีลูกเช่นกัน

โดยกุมารแพทย์แนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองปฏิบัติ คือการชวนเด็กคุย เพื่อสอบถามถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เขาเจอ เพราะหากเราได้ข้อมูลจากเด็กจะช่วยนำไปสู่การแก้ปัญหาและป้องกันได้ แต่ธรรมชาติของเด็ก การที่จะจู่โจมถามคำถามเลย อาจจะต้องมีวิธีการตามหลักจิตวิทยาเด็กที่จะค่อยๆ ทำให้เด็กยอมเปิดใจเล่า 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Warm up ชวนคุยเรื่องสนุกใกล้ตัว สบายๆ ก่อน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ชอบเล่าเรื่องให้เราฟังอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นเราจึงเริ่มคุยเรื่องที่เด็กๆ สนใจ คุยว่า “หนูอยากจะกินอะไรคะเย็นนี้ วันนี้หนูเล่นกับเพื่อนคนเดิมหรือเปล่า เล่นอะไร สนุกไหม” การคุยเรื่องที่เด็กรู้สึกสบายๆ มันก็จะง่ายที่เขาจะเล่าเรื่อง เพราะฉะนั้นเวลาเขาเล่าเรื่องเราก็ต้องเหมือนคุยกับลูกด้วย เวลาลูกเล่ามา เราก็บอก “อ้อเหรอ หนูได้เล่นกับเพื่อนคนเดิมอีกแล้วเหรอดีจังเลยนะ” คือคุยในลักษณะที่เด็กสบายใจ รู้สึกสนุกที่จะคุย ส่วนในเด็กที่ยังคุยหรือตอบไม่ค่อยเก่ง เราก็ต้อง warm up นานหน่อย เพื่อให้เขาชินกับการคุยไปคุยมา แต่ว่าในการคุยอย่าลืมส่งคำถามไปด้วย เพราะว่ามันจะต้องมีคำถามที่เด็กตอบ เพราะฉะนั้น warm up จะต้องประกอบไปด้วยความสบายใจกับมีคำถาม ให้เด็กชินกับการตอบคำถาม
  2. เมื่อเด็กเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย สนุกไปกับการพูดคุยแล้ว ค่อยๆเชื่อมโยงเรื่องที่คุยกันอยู่ ไปถึงเรื่องที่โรงเรียน และเรื่องที่โรงเรียนจะต้องเป็นเรื่องที่สบายๆ ก่อนเหมือนกัน ที่สำคัญอย่าเพิ่งไปเจาะจงกับเรื่องที่โหดร้าย สมมติว่าลูกกำลังคุยเรื่องรถอยู่ อาจจะถามว่า “ที่โรงเรียนมีรถคันนี้ไหม สีแดงแบบนี้” ซึ่งการเชื่อมโยงหัวข้อเดียวกันไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้เด็กเชื่อมสมองข้อมูลไปได้ง่ายขึ้น เด็กก็จะคิดและเวลาที่เด็กคิดภาพในหัวก็จะไปที่โรงเรียน โอกาสที่เขาจะดึงภาพอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนกลับมาให้เรารู้ที่บ้านได้ก็จะสูงขึ้น ทีนี้เวลาที่ลูกคุยเรื่องรถที่โรงเรียน อย่าลืมว่าต้องตอบสนองกลับ เพราะเราต้องการให้บทสนทนานี้ยาวนาน ก็ต้องเหมือนคุยกันเพื่อให้เขาเพลินแล้วก็โต้ตอบไปมาได้นานขึ้น
  3. เมื่อเด็กรู้สึกเพลิดเพลินกับการคุย ให้เริ่มถามเจาะประเด็นในโรงเรียน ตัวอย่าง “เวลาที่หนูเล่นอยู่หนูก็ต้องมีคุณครูใช่ไหมคะ คุณครูก็ต้องอยู่แถวๆ นั้นด้วย แม่อยากรู้จังเลยคุณครูคนไหนใจดีบ้าง” ให้พยายามคิดเหมือนกับเรานั่งอยู่ในห้องเรียนเลย เพราะฉะนั้นคำถามจะเป็นคำถามที่ลงรายละเอียด เช่น “คุณครูใจดี แล้วคุณครูในดีทำอะไรบ้างคะ” เขาบอกคุณครูพาไปห้องน้ำ “โหดีจังเลย พาไปห้องน้ำนี่คือห้องข้างๆ ห้องเรียนหนูเหรอคะ แล้วครูพาหนูไปแล้วพาใครไปอีกคะ” พอลูกเรามาแล้วเราก็ “แม่ก็ชอบคุณครูคนนี้นะ” แล้วเราก็จะเข้าสู่ประเด็น “แล้วครูคนไหนไม่ใจดีล่ะลูก” เหตุผลที่ใช้คำว่า “ครูไม่ใจดี” เพราะทำให้ง่ายสำหรับเด็ก เพราะว่าครูใจดี ครูไม่ใจดีคือตรงกันข้าม ให้เด็กสลับเรื่องการคิดได้ง่ายขึ้น “คุณครูไม่ใจดีคือคุณครูทำอะไร คุณครูหยิกหูหนู ข้างไหนลูก ข้างซ้าย ข้างขวา” ลูกบอกข้างขวาเราก็ “ตรงนี้เหรอลูก แล้วตอนที่คุณครูทำหนูอยู่ที่ไหน อยู่ในห้องเรียนหรืออยู่ในสนามเด็กเล่น” แต่ถ้าเด็กที่ยังพูดไม่เก่ง เราต้องถามเจาะเหมือนประหนึ่งเรานั่งอยู่ในนั้น แล้วให้เด็กค่อยๆ ไล่ภาพออกมา

แพทย์หญิงเสาวภา กล่าวว่า หลังได้รับคำตอบจากเด็กแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่แสดงสีหน้าอารมณ์โกรธให้เด็กเห็นเด็ดขาด หรือถามเด็กว่าครูแกล้ง ครูทำร้าย เพราะเด็กอาจจะกลัวขึ้นมาแล้วอาจจะรีบพูดว่าไม่ใช่ก็ได้ เพราะว่าสีหน้าท่าทางของพ่อแม่ที่กังวลหรือคาดคั้น เด็กจะตีความว่าเขาทำผิด เด็กไม่ได้ตีความว่าพ่อกำลังโกรธครู เขาตีความว่าพ่อแม่กำลังโกรธเขา ธรรมชาติของเด็กจะมองว่าตัวเองผิดไว้ก่อน ไม่ได้มองข้ามขั้นไปว่าโกรธครู

หากบอกกับเด็กไปว่าจะไปคุยกับคุณครูอาจจะทำให้เด็กยิ่งกลัว เพราะถูกบอกว่าว่าห้ามไปบอกพ่อแม่ ก็จะต้องพูดต่อด้วยว่า “เดี๋ยวแม่จะไปคุยกับคุณครูแล้วแม่ก็จะคุยไปถึงหัวหน้าของคุณครูด้วยนะ เพราะว่าหัวหน้าของคุณครู เขาก็จะมาสั่งสอนคุณครูได้ ไม่ต้องกลัวนะ เพราะว่าแม่จะตามเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลย แม่จะไม่ให้ครูมาพูดไม่ดี ทำกับหนูไม่ดีอีกแล้ว” ต้องปิดให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ซึ่งการพูดคุยต้องเจาะถามรายละเอียดไปทีละนิด เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด

รักวัวให้ผูก รักลูกไม่ควรตี

จากภาพที่ปรากฏออกมาคือเราเห็นเฉพาะที่ครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็ก แต่กุมารแพทย์เชื่อว่าอีกภาพในหัวของเด็กจะภาพที่ครูดูแล สอนหนังสือ มาเล่นด้วย หรือพาไปเข้าห้องน้ำ ทำให้เด็กมองรวมๆ ว่าครูดีกับเขา สมมติเหตุการณ์ว่า เด็กอยู่โรงเรียนประมาณวันละ 6 ชั่วโมง เด็กถูกครูกระทำความรุนแรงใส่ประมาณ 4-5 นาที แต่ส่วนใหญ่ครูก็ไม่ได้ทำอะไรแต่ช่วยดูแลเขาอยู่ นี่อาจทำให้เด็กมองว่าครูก็ดีเหมือนกัน และที่ถูกทำร้ายเขาก็จะมองว่าเป็นเพราะเขาดื้อหรือเปล่า และการที่มีครูบอกว่า “ครูรักหนูนะ ครูถึงตี” จึงมีโอกาสสูงมากที่เด็กจะเหมารวมๆ ว่าดี

“จึงอยากฝากไปถึงผู้ปกครอง เวลาที่เราเลี้ยงลูกหลาน เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะตีลูก แต่ว่าเราตีเพราะว่าเราหลุด ซึ่งต่างจากกรณีครูพี่เลี้ยงนะคะ กรณีนี้เป็นการใช้ความรุนแรงแบบไม่ใช่หลุดเพราะเขาทำแบบหน้าตาเฉยมาก แต่ว่ามันมีประโยคที่ครูพูดแล้วก็ผู้ปกครองหลายท่านก็พูด นั่นคือ แม่รัหนูนะแม่เลยตี เพราะอย่างผู้ปกครองเวลาตีเสร็จหายโกรธก็รู้สึกเสียใจ แต่ประโยคนี้กลับเป็นประโยคเดียวกับครูพูด แล้วมันทำให้เด็กตีความว่า เออจริงนะ อยู่บ้านแม่ก็ดีกับเราตั้งหลายชั่วโมงแต่เราก็โดนตีแค่แป๊บเดียวมันก็เหมือนๆ กับที่ครูตี เป็นไปได้ว่าเด็กจะมองว่าปกติ การตีคือเรื่องปกติ เด็กแยกไม่ได้ จึงอยากฝากไว้ว่าเราต้องเลี้ยงลูกเชิงบวกเราไม่ตี เพื่อเราจะได้ไม่ต้องทำให้เด็กสับสนว่าตอนอยู่ข้างนอกเขาโดนแบบนี้เหมือนตอนอยูบ้านเขาก็จะไม่รู้ว่าควรบอกหรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่ตีเลย เวลาที่เด็กโดนตีเขาก็จะรู้สึกว่ามันแปลกมาก เพราะว่าที่บ้านไม่มีแบบนี้มีโอกาสที่เขาจะมาเล่ากับเราได้ง่ายกว่า” แพทย์หญิงเสาวภา กล่าว

สุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ในยุคสมัยก่อนเราเชื่อกันว่าเราตีเราอบรมสั่งสอนลูกเพื่อที่ว่าจะทำให้เขาเป็นคนดี แต่ในปัจจุบันเรารู้เรื่องพัฒนาการ สมองของเด็ก มีงานวิจัยรองรับว่าเด็กมีศักยภาพที่จะควบคุมตัวเอง ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ให้โวยวาย ไม่ให้อยากได้ของ และการที่จะทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ คือการเลี้ยงลูกเชิงบวก เช่น ไม่ให้ก็คือไม่ให้ บอกแบบนิ่งๆ แต่ถ้าเด็กร้องไห้ ก็อยู่ใกล้ๆ และรอให้เขาสงบนิ่งเอง ไม่มีเหตุผลให้ต้องตีให้เด็กเงียบ ซึ่งการที่เด็กร้องไห้แล้วเราให้เขาสงบเอง คือการให้เขาฝึกใช้สมองในการควบคุมตัวเอง แต่ถ้าเราตีเขาเท่ากับว่าเราไปบังคับให้เขาควบคุมตัวเอง ส่งผลให้สมองเด็กไม่ได้ทำงาน ซึ่งสมองส่วนนี้คือสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions หรือ EF การที่เรากำหนดให้เด็กควบคุมตัวเองได้ เด็กก็จะรู้ว่าเมื่อเราสงบเองแล้ว เราจะคุยกับพ่อแม่ได้

การโอ๋ลูก กอดลูก ในขณะที่เด็กกำลังร้องไห้งอแงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เด็กเงียบได้จริง แต่พ่อแม่ต้องยอมรับว่า เด็กจะพึ่งพิงการโอบกอด หรือการทำให้เขาลง แปลว่าเขาไม่ได้ใช้สมองในการควบคุมตัวเอง มีโอกาสที่เขาจะเป็นเด็กขี้แย ให้คนมาโอ๋ เป็นเด็กเปราะบาง เวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะให้คนมาโอ๋

อย่างไรก็ตาม การโอบกอด ก็มีกรณีที่ควรใช้ในเด็กเช่นกัน คือเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก้าวร้าว มีความรุนแรง เด็กที่ไม่ค่อยได้รับการสัมผัสความรักความอ่อนโยน เวลาที่เขาร้องไห้อาละวาด หมอแนะนำว่าให้กอดเพื่อให้เขาได้รับสัมผัสที่เขาไม่ค่อยได้ แต่ถ้าในบ้านที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง การโอ๋ก็จะทำให้เด็กกลายเป็นคนเปราะบาง ดังนั้นเราจะต้องค่อยๆ ศึกษาพฤติกรรมเด็กแล้วเลือกใช้ตามสถานการณ์

เยียวยาด้วยการไม่กระทำความรุนแรงซ้ำ

สิ่งที่กุมารแพทย์กังวลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือสภาพของจิตใจเด็ก ที่ถูกกระทำ และเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น รวมทั้งสภาพจิตใจของผู้ปกครอง เวลาเด็กถูกความรุนแรง สมองส่วนอารมณ์จะถูกกระตุ้นเยอะ เด็กจะกลัว และเวลาที่เด็กกลัวจะเกิดภาพ ไม่ใช่แค่เสียง เด็กจะเกิดภาพขึ้นมาในหัวว่าครูกำลังจะทำเขา เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่ามีเด็กฝันร้าย หรือบางคนผ่านไปสถานที่บางแห่งก็จะเกิดภาพว่าเขาถูกกระทำ

“ความรู้สึกเจ็บปวดที่พ่อแม่มองไม่เห็นมันอยู่ข้างใน และมีแค่เด็กที่สัมผัสได้ แต่คนอื่นมองไม่เห็น ยากที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจ เพราะมันไม่เหมือนบาดแผลที่เราเห็น สิ่งที่แสดงออกมาจากเด็กคือพฤติกรรม งอแง โวยวาย และก้าวร้าวมากขึ้น บางคนอาจมีพฤติกรรม ทำท่าทางเหมือนกับที่ครูทำกับเขา ซึ่งเป็นกระบวนการระบายออกจากจิตใต้สำนึก ในระยะสั้นจะเป็นแบบนี้ไปช่วงหนึ่ง ถ้าครอบครัวเข้าใจจะไม่ไปว่าเขาว่าทำไมต้องโวยวาย ทำไมต้องดื้อ เพราะจะกลายเป็นซ้ำเติม เพราะสิ่งที่เกิดไม่ใช่เนื้อแท้ของเด็ก แต่เกิดจากประสบการณ์ที่เลวร้ายของเด็ก”

ดังนั้นตอนนี้ก็ต้องช่วยเหลือเด็ก ด้วยการที่ให้แพทย์ประเมิน ว่าต้องเข้าระบบการช่วยเหลืออย่างไร แต่ในเบื้องต้นคนในบ้านต้องช่วยโดยการทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็ก เล่นกับเด็ก เลี่ยงให้ดูสื่อโทรทัศน์ มือถือ เพราะสิ่งที่จะเยียวยาได้คือความรักและการเอาใจใส่จากครอบครัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวต่อเด็ก ขึ้นอยู่กับปริมาณความถี่ของความรุนแรงที่ได้รับมีผลทำให้ความรุนแรงฝังในตัวเด็ก แล้วถ้ามาเจอที่บ้านไม่เข้าใจและใช้ความรุนแรงอีก เช่น เห็นเด็กก้าวร้าวก็ไปตีซ้ำ ถ้าเด็กโดนซ้ำๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งแย่เพราะแผลที่ถูกกระทำไม่เคยถูกรักษาแล้วสะสมต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลไปในอนาคต โตขึ้นมาเป็นคนที่จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ดี ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า